ประภาส ชลศรานนท์
เป็นคนเมืองชลบุรี
หลงไหลในเสียงดนตรี พอๆ กับที่รักการขีดเขียนมาแต่เยาว์วัย

        เขามีความฝันอยากมีวงดนตรีเป็นของตัวเองสักวง เหมือนกับเด็กหนุ่มๆ ที่เล่นดนตรีทั่วไปเขาฝันกัน
        รวมทั้งฝันอยากจะแต่งเพลง เพื่อให้วงดนตรีของเขามีเพลง ของตัวเองเล่นด้วย
        แต่ที่โรงเรียนเทศบาลวัดกลางดอน ความฝันเรื่องวงดนตรี ของเขายังไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหาคนเล่นดนตรี ที่หลากหลาย
        สมัยเด็กๆ ประภาสเป็นคนอ่านหนังสือมาก
        เขามีหนังสือโปรดอยู่หลายเล่ม อย่าง ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์, เจ้าชายน้อย ของ อังตวน เดอ แซงเต็ก- ซูเปรี และ ต้นส้มแสนรัก ของ โฮเซ่ วาสคอนเซลอซ
        นอกจากอ่านมาก เขายังเขียนมาก
        ได้ชื่อว่าเป็น ‘เซียนกลอน’ คนหนึ่งเลยทีเดียว ขนาดแอบ แต่งกลอนให้เพื่อนๆ เกือบทั้งชั้นส่งประกวดในวันสุนทรภู่มาแล้ว
        “ผมเป็นคนหลงใหลภาษาไทยมาก คือเรียนจากกลอนเลย นะ ดูสัมผัสอะไร ทำคะแนนได้ดีมาตลอด แล้วก็ทำโอเวอร์เขาตลอด ครูให้เขียนเรียงความก็ไปเขียนเรื่องสั้น ก็เลยตก ครูต้อง อธิบายว่า เรื่องสั้นกับเรียงความไม่เหมือนกัน ที่เราเขียนไม่ใช่เรียงความ เราก็ไม่เข้าใจแต่ดันทะลึ่งเขียนเสียแล้ว”
        เมื่อเขียนกลอนคล่องมือ เขาก็ขยับไปเขียนเพลงเชียร์กีฬาสีในโรงเรียน โดยจับเอาเพลงเชียร์ของ มศว.บางแสน มาดัดแปลง ผสมกับเพลงของ สุนทราภรณ์
        เป็นการเขียนเพลงครั้งแรกในชีวิตเมื่ออยู่ชั้นประถม ซึ่งเขาพอจะจำเพลงนั้นได้อยู่บ้าง

    ".......สีแดงแรงรื่นในอารมณ์
      พวกเราสะสมเหรียญทองประจำ
      แข่งเมื่อไหร่สีใดใจระส่ำ
      ให้สีแดงรำคอยรำปลอบใจ"

        จากโรงเรียนเทศบาลวัดกลางดอน ประภาสเข้ามาเรียน ต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ในปี 2519
        และความฝันเรื่องการตั้งวงดนตรีของเขาก็เป็นจริง เมื่อได้เจอกับเพื่อนที่เล่นดนตรีหลากหลาย ทั้งกลอง ทั้งออร์แกน จึงมีการ รวมตัวกันตั้งวงขึ้นมา ซึ่งวงดนตรีวงนี้ใช้กีตาร์ไฟฟ้าด้วย ขณะที่ เพื่อนนักเรียนวงอื่นๆ ยังใช้กีตาร์โปร่งกันอยู่
        เพลงที่วงของประภาสและเพื่อนๆ เล่นกันนั้น ส่วนใหญ่ เป็นเพลงของดิ อิมพอสสิเบิ้ล ชัยรัตน์ เทียบเทียม และชาตรี
        ช่วงนี้เองที่ประภาสลองแต่งเพลงอีกครั้ง ให้วงของเขากับ เพื่อนร้องและเล่น
        เป็นเพลงรักธรรมดาๆ เดินด้วยคอร์ดง่ายๆ ไม่กี่คอร์ด และเรียบเรียงเสียงประสานกันเอง
        เพื่อนๆ เรียกเพลงนี้ว่าเพลง 'ศรรัก' ตามคำขึ้นต้นของเนื้อร้อง

     "ศรรักปักใจ ศรใครมาปักนะ
       ตอบหน่อย ตอบหน่อยสิจ๊ะ
       ตอบสิวะ ศรใคร"

        อีกเพลงที่ประภาสแต่งในคราวเดียวกัน เป็นเพลงสนุกๆ ชื่อ ‘กล้วยไข่’ เพลงนี้ได้เนื้อส่วนหนึ่งมาจากเพลงกล่อมเด็กโบราณ ของทางใต้ ที่เขาเคยได้ยินเพื่อนของพี่ชายร้องเล่นกัน
       นอกจากเรื่องเพลงแล้ว ในสมัยเตรียมอุดมฯ ประภาสยัง ทำกิจกรรมอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตกแต่งอัฒจันทร์กีฬาสี หรือการทำหนังสือรุ่น
       เรียกว่าสนุกกับกิจกรรมจนเกือบจะเสียการเรียนเลย ทีเดียว แต่เขาก็ไม่พลาดการสอบเอ็นทรานซ์เข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ในที่สุด

อ่านต่อ...