ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า

      หลังจากงานชุด แบ-กบาล เฉลียงพักวงไปร่วม 2 ปี ก่อนจะกลับมารวมกันอีกครั้ง
      ในระยะ เวลา 2 ปีที่เงียบหายไปนั้น เฉลียงแต่ละคนต่างแยกย้ายกันไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวงการ บันเทิงและวงการเพลง
      วัชระ ปานเอี่ยม หันไปจับงานพิธีกรโทรทัศน์
      ภูษิต ไล้ทอง ออกงานเดี่ยวเพลงบรรเลงชุด ‘ลูกลิงในหัวใจ’ และเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับประภาส ชลศรานนท์ ในงานหลายๆชุดของ ‘โคโค่แจ๊ส’ และศิลปินในสังกัด ‘คีตา’
      เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ มีอาชีพเป็นสถาปนิกในวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่ยังอดไม่ได้ที่จะใช้เวลาในวันหยุด ไปสร้างผลงานเพลงเดี่ยวชุด ‘กว้างxยาว’
      ส่วน ฉัตรชัย ดุริยประณีต ทำงานเป็นนักแต่งเพลงให้กับนักร้องและวงดนตรีในสังกัดคีตาฯ เช่นกัน

      เมื่อรู้สึกว่า ‘พร้อม’ เฉลียงจึงกลับมาอีกครั้งกับ ‘ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า’


    “ทำไมต้องตะไคร่น้ำ ทำไมต้องสุดขอบฟ้า”

      เฉลียงเขียนแถลงถึงเรื่องนี้ไว้บนปกเทปว่า
      “พืชสีเขียวต่ำต้อยที่ขึ้นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นข้างตุ่ม กำแพง หรือตีนบันได ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องดูแลรักษา ที่ไหนก็ตามที่ขอแค่เพียงชื้นและมีอากาศ ตะไคร่น้ำก็ขึ้นได้ทุกแห่งหน แต่ใครจะรู้ ว่า วันหนึ่งข้างหน้า อย่าว่าแต่ป่าไม้เลย ลำพังแต่ตะไคร่น้ำพืชสีเขียวต่ำต้อยนี้ มนุษย์อาจจะต้องตามหากันสุดขอบฟ้ายิ่งกว่าขุมทรัพย์ใดๆ
      เราคุยกันหลายครั้งถึงเนื้อหาที่จะพูดในเฉลียงชุดนี้ เพื่อนๆ ของเราหลายคนพูดว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมมันล้าสมัยแล้ว มีเพลงมากมายที่พูดเรื่องนี้ แต่พวกเรากลับมาคิดว่า เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องแฟชั่น เรื่องความเป็นความตายของธรรมชาติและมนุษยชาติไม่ใช่แฟชั่นและสำหรับวันนี้เป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงอีกไม่ได้แล้ว
      ถ้าความคาดหวังมันจะมี พวกเราคงหมายถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่ต้องเริ่มปลูกทัศนคติใหม่ว่า ต้นไม้นั้นมีค่าไม่แพ้เพชรนิลจินดาหรือคอนโดมิเนียมร่วมร้อยชั้น
      จะเป็นอย่างไรถ้า ไม่มีต้นไม้สักต้น ไม่พบแม้แต่ตะไคร่น้ำ”

      อัลบั้ม ‘ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า’ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของเฉลียง
      นับตั้งแต่แนวความคิดโดยรวมที่พูดถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการชี้ชวนให้มวลมนุษย์ตระหนักถึงการหวงแหนธรรมชาติ
      และแนวของเพลงที่เปลี่ยนจากสวิงแจ๊ซเป็นโฟล์กร็อก
      “โลกมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนผมจะพูดถึงเรื่องจิตใจ เตรียมพร้อมจะสู้ ทำจิตใจให้ร่าเริง รู้สึกสบายดี นั่นคือคอนเซ็ปต์เลยนะสำหรับเฉลียง” ประภาส ชลศรานนท์ บอกเล่าถึงความแตกต่างระหว่างแนวคิดของอัลบั้มหลังสุดนี้กับเฉลียงในยุคต้น
      “ชุดแรกๆ พยายามเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ เข้าใจตัวเองแต่คราวนี้คล้ายๆ ปัญหาใหญ่ของโลกมาถึงแล้ว ใหญ่กว่าจะพูดให้สบายดีแล้ว ไม่พอแล้ว ต้องคิดกันแล้วไง จะยังรู้สึกสบายดีเฉยๆ จะแปลกแล้วนะ”

      ในเรื่องของแนวดนตรี ฉัตรชัย ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานชุดนี้เสนอให้ใช้ดนตรีโฟล์กและโฟล์กร็อก เป็นการนำเสนอด้วยเหตุผลที่ว่า อะคูสติกมิวสิกน่าจะอธิบายเรื่องราวของธรรมชาติได้ดี และตัวเขาก็ถนัดแนวนี้มากกว่าสวิงแจ๊ซที่ติดอยู่กับเฉลียงมานมนาน
      “เพราะชุดนี้ค่อนข้างพูดถึงเรื่องธรรมชาติ และก็สิ่งแวดล้อม เหมือนกับเป็นการเตือนภัยที่เกิดจากมือมนุษย์นั่นแหละ ในแนวดนตรีที่จะทำให้สมกับเรื่องราวเหล่านี้ได้ ต้องไม่ใช่แนวที่ยากเหมือนกับแจ๊ซเหมือนกับเร็กเก้”
      “ต้องเป็นอะไรที่ง่าย ฟังง่ายหน่อย คือแนวโฟล์กร็อกอย่างนี้” ภูษิต ไล้ทองสำทับ

      แต่แนวดนตรีที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้วัชระที่อยู่กับเฉลียงมาตั้งแต่แรกค่อนข้างลำบากใจในช่วงต้น
      “สำหรับผม ตัวเพลงในงานชุดนี้ยากขึ้น ดนตรีมันแปร่งหู เป็นร็อก ที่ผมไม่ชินกับความเป็นเฉลียง มาเจอกับเพลงพัดลม มึงจะพัดทำไมวะ หรือเพลงฝันให้ไกลไปให้ถึง ที่โจ๊ะมาก อีกอย่างจิกลงมือน้อยด้วย มีเด็กใหม่เข้ามาช่วยทำ”
      ‘เด็กใหม่’ ที่วัชระกล่าวถึง เป็นรุ่นน้องจากธรรมศาสตร์ของฉัตรชัยชื่อกลุ่ม ‘ศิลา’ ซึ่งนำเพลงมาเสนอที่ ‘คีตา’ และประภาสเห็นว่าแนวทางน่าจะไปกันได้กับเทปชุดใหม่ของเฉลียงที่กำลังจะลงมือ จึงให้รวมเพลงเข้าด้วยกันเสียเลย โดยมีการแก้ไขปรับเนื้อร้องที่แต่งมาให้เข้ากับเฉลียงมากขึ้น
      ถึงแม้เพลงส่วนใหญ่ของ ‘ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า’ จะออกแนวร็อก แต่ก็ยังมีเพลงในสไตล์เฉลียงเดิมๆ ปนอยู่บ้าง อย่าง ‘พ่อกล่อมลูก...1’ เป็นเพลงที่ประภาสเขียนให้ ภูษิต ซึ่งเพิ่งมีลูกชายได้ร้อง เป็นการโชว์เสียงครั้งแรกของเขาหลังจากให้แซ็กโซโฟนส่งเสียงแทนมานาน
      และ ‘ฝากเอาไว้’ ที่ประภาสตั้งใจเขียนอย่างยิ่ง เพราะเขาเริ่มจะรู้ว่าเพื่อนๆ น้องๆ เฉลียงคงจะ “ไม่เอาอีกแล้วล่ะ”

      ‘ฝากเอาไว้’ เป็นเพลงที่ประภาสเขียนเสร็จเป็นเพลงสุดท้าย และอัดเสียงเสร็จเป็นเพลงสุดท้าย

อ่านต่อ...