ศุ บุญเลี้ยง
มีบ้านอยู่ที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี

      ในวัยเด็กเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักมวย
      แต่พอโดนคู่ชกตีศอกเลยฝันสลาย
      “รู้สึกว่าความฝันเราทำไมมันถึงเจ็บอย่างนี้”

      ตั้งแต่นั้นมา ศุก็เริ่มปลูกความฝันครั้งใหม่ว่าอยากเป็นนักเขียนและอีกหลายๆ ‘นัก’ รวมทั้ง ‘นักร้อง’

      ปี 2524 ได้เข้าไปเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่ไม่ค่อยได้เรียน เพราะชอบทำกิจกรรม ออกค่าย เขียนกวี แต่งเพลงไปตามเรื่อง
      เคยมีวงดนตรีของตัวเอง ชื่อ ‘เดอะ รบกวน’ ร้องเล่นในรั้วมหาวิทยาลัย และวง ‘หยดน้ำ’ เล่นหาทุนให้กับค่ายอาสาพัฒนาชนบท
      เขาเล่าถึงชีวิตในตอนนั้นว่า
      “เรียนช่วงแรกก็สนุกดี พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ ทีนี้เรียนไปสักพักกลายเป็นว่าไม่มีอะไรมาให้แปลกใจอีก จะเรียกว่าซ้ำซากก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพียงแต่รู้สึกว่าน่าจะมีอย่างอื่นมากกว่าที่เรียนๆ อยู่ คิดเอาเองว่ายังไม่พอ
      หมายความว่าอยากฟุ้งซ่านมากกว่านี้หน่อย แต่มหาวิทยาลัยไม่มีสนองน่ะ
      ถึงตอนเลือกแผนก จะเลือกวิทยุ-โทรทัศน์ แล้วเขาไม่ให้เรียน เขาบอกว่าเรียนไม่เก่ง แล้วใครจะเรียนแผนกนี้ต้องสอบพิมพ์ดีดผ่าน เราพิมพ์ดีดไม่ได้...ก็เลยไม่เลือก...เราอยากเรียน แต่เขาไม่ให้เลือกก็เลยไม่รู้จะเลือกอะไร ก็ไม่เลือก ดร็อปไปเลย ไม่เรียนก็ไม่เรียน ก็ไปนั่งพิมพ์ดีดอยู่บ้าน”

      เมื่อตัดสินใจไม่เรียนต่อ ศุก็กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะสมุยบ้านเกิด
      แต่อยู่ได้ไม่นานชีพจรก็ลงเท้า อยู่บ้านไม่ติด หลังเดินทางแสวงหาตัวตนอยู่พักใหญ่ ศุ บุญเลี้ยง ก็หวนคืนสู่ห้องเรียนอีกครั้ง
      “จากการทำงานทำให้รู้ว่าตนเองยังรู้ไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งทรัพยากรทางปัญญาที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ เท่าที่หาได้ ก็เลยกลับมาเรียนด้วยความรู้สึกว่า เรียนเพราะอยากจะรู้ในสิ่งที่ต้องการจะรู้ อยากเรียนเพราะต้องการเติมสิ่งที่ขาด”
      การกลับคืนสู่รั้วจามจุรีครั้งนี้ ศุ บุญเลี้ยง เลือกเรียนวิชาหนังสือพิมพ์ แม้จะไม่ได้ชอบหนังสือพิมพ์ แต่ว่าชอบที่เป็นข่ายงานที่มีอิสระมากกว่าข่ายงานอื่น มีเวลาพอที่เขาจะไปทำอะไรเรื่อยเปื่อยตามที่อยากจะทำ
      “ช่วงแรกก็เป็นการแบ่งเวลาเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยผ่อนหนักผ่อนเบา แล้วแต่ว่าเทอมนี้อยากเรียนมากก็ทำงานน้อยๆ อยากเรียนน้อยก็ทำงานให้มาก จะทำกิจกรรมในคณะก็ทำงานข้าง นอกน้อยลง พักหลังก็หนักไปทางจะออกมาข้างนอกเรื่อยๆ
      ในที่สุดก็หลุดออกมา หมายความว่าไม่มีเวลาไปเรียน ทั้งที่ยังสามารถไปเรียนได้ เทอมสุดท้ายจำได้ว่าไม่ได้ไปลงเรียนเลย แล้วไม่ได้ขอ ดร็อปเพราะฉะนั้นสภาพนักศึกษาก็หมดไป”

      หลังจากประภาสได้เจอกับศุ ความต้องชะตาอะไรบางอย่าง ทำให้ความคิดเรื่องการทำเทปกลับมา และเกียรติศักดิ์ก็ถูกเรียกตัวอีกครั้ง
      “พี่จิกมาบอกว่ารู้จักน้องนิเทศฯ อยู่คนหนึ่ง แต่งเพลงเป็น ร้องเพลงก็พอไหว เอามั้ย ทำอัลบั้มคู่กัน ตั้งชื่อกลุ่มว่า ‘ไปยาลใหญ่’”

      ไปยาลใหญ่ (ฯลฯ) มีความหมายเดียวกับ ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ซึ่งเป็นเพลงเอกของอัลบั้มนี้

      “เริ่มงาน เราก็ร้องกันสองคนนี่แหละ มาแบ่งกันร้อง เพลงไหนเหมาะกับใครก็เอาไปร้อง”
      เกียรติศักดิ์เล่าถึงจุดเริ่มของการทำงาน
      “แต่พอพี่จิกฟังเพลงที่ผมกับพี่จุ้ยร้องในบางเพลง คงยังไม่ถูกใจ เพราะหลายเพลงมันต้องมีวิธีการร้องแนวประชดประชันหน่อย
      อย่างเช่นเพลง ‘ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน’ ตอนแรกพี่จุ้ยเป็นคนร้อง หรือเพลง ‘รู้สึกสบายดี’ ผมเป็นคนร้อง ผมก็ร้องไปแบบเรียบๆ นุ่มๆ แต่เพลงมันต้องสนุกสนานพอสมควร”
      ส่วนศุ ก็ยังจำการพยายามร้องเพลง ‘มะลิ’ ในครั้งนั้นได้ดี
      “ร้องอยู่นั่นแหละ หอมเอย...ห้อมเอย...ห้อมมเอย พี่จิกแกได้แต่ส่ายหัว บอกฟังไงมันก็ไม่หอมว่ะจุ้ย เวลาผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ ยังร้องไม่ได้สักเพลง”
      ในที่สุดประภาสก็บอกน้องทั้ง 2 คนว่า
      “น้องเอ๋ย เห็นทีพี่ต้องเรียกเฉลียงเก่าๆ มารวมกันแล้ว”

      และเฉลียงคนแรกที่ประภาส ชลศรานนท์นึกถึงก็คือ วัชระ ปานเอี่ยม
      “จิกมันมาเล่าให้ฟังทีหลัง เมื่อเพลงเสร็จหมดแล้ว ร้องเกือบหมดแล้วด้วย” วัชระเล่า
      “ได้ยินดนตรีแล้ว เออ...ไหว เพราะเป็นเพลงเก่าที่เราเคยร้องเดโมไว้ ตอนนั้นเพิ่งจบกันมาใหม่ๆ สักต้นปี 2527 ได้ มีเพลงแต่งเล่นๆ กันไว้ก็เลยไปอัดไว้ฟังกัน เช่นเพลง ‘มะลิ’ ไอ้ดี้เล่นดนตรี เองทุกชิ้น กลอง เปียโน เบส เอามาฟังอีกทุเรศชิบเป๋ง มีส่วนขาดส่วนเกิน หรือเพลง ‘เข้าใจ’ ไอ้ดี้ร้องเอง เล่นเอง เปียโนตัวเดียว ออกเงินค่าห้องอัดเอง ที่ไพบูลย์สตูดิโอ คิดว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับชุด นี้แล้ว จนกระทั่งจิกโทร.มาหา”
      “จิกมันบอกเอาเพลงเดิมๆ ที่เคยร้องกันไว้มาทำ แต่งเพิ่มอีกเกินครึ่ง มีไอ้เกี๊ยง รู้จักใช่ไหม เออ รู้จัก มีอีกคน จุ้ย ใครวะไอ้จุ้ย ไม่รู้จัก ก็ไปเจอกันที่ห้องอัด ได้ฟังเพลงที่เกี๊ยงกับจุ้ยร้องไว้แล้ว มันไม่ตอแหลน่ะ
      เพลงตอแหลแต่มันร้องไม่ตอแหล ก็เลยไปกันไม่ค่อยได้ จิกบอกมันต้องมึงว่ะ เอ้า! โอเค”

      ขณะที่นิติพงษ์ก็กลับมาร่วมวงอีกเช่นเดิม
      “จิกถาม เฮ้ย! ดี้เอาไหม เอาสิ ให้กูทำอะไร เจี๊ยบมึงร้อง กูไม่ได้ร้องสักเพลงแต่ก็อกๆ แก็กๆ ก็ได้ เป็น ‘หัวหน้าวง’ แล้วกัน”

      เฉลียงจึงกลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2529 นั่นเอง

      เพลงที่ถูกนำมาไว้ในเทปชุดใหม่ของเฉลียง นอกจากเพลงที่ประภาสแต่งขึ้นในช่วงหลังจากออกเทปชุด ‘ปรากฏการณ์ฝน’ แล้วยังรวมทั้ง ‘กล้วยไข่’ เพลงเก่าที่ถูกตัดออกไปในครั้งแรก และเพลง ‘เข้าใจ’ ของนิติพงษ์ที่แต่งไว้ในปี 2527 เพื่อให้เพื่อนคู่หนึ่งซึ่งเป็นแฟนกัน แต่ชอบทะเลาะกันนัก
      และเฉลียงก็ได้ พี่จู๊ด-ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์ นักดนตรีฝีมือเยี่ยมอีกคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเคยร่วมงานทำเพลงโฆษณาและเพลงประกอบละครกับประภาส มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์
      ประภาสเล่าถึงการชวนพี่จู๊ดมาร่วมทำเพลงให้เฉลียงว่า
      “เคยทำงานกับพี่จู๊ดหลายชิ้น เพลงโฆษณา เพลงละคร พอจะทำ ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ก็ชวนแกว่า พี่...เราทำงานชิ้นนี้กัน ผมลงแรงเขียนเพลงทั้งหมด ผมจะออกค่าห้องอัด ค่านักดนตรีที่พี่ เรียกมาอัดเสียงเอง พี่เรียบเรียงเสียงประสานทั้ง 10 เพลงเลยนะ แต่พี่อย่าเพิ่งคิดเงินผม ถ้าผมขายได้ผมค่อยเอาเงินมาให้พี่พร้อมเปอร์เซ็นต์เทป แต่ถ้าผมขายไม่ได้ก็...ช่วยๆ กันนะพี่ พี่จู๊ดบอก...ไม่มีปัญหา ก็รับไปทำ ทำอย่างมีความสุขด้วย นะ ทำด้วยความมัน ได้ทำเพลงแปลกๆ แกบอกนะ ได้ทำเพลงแจ๊ซ ที่ชอบเล่นอยู่ แต่ไม่ค่อยได้ทำ”

      แม้เทปใกล้จะเสร็จแล้วหลังวัชระเข้ามาร่วมร้อง แต่ยังมีปัญหาอีกสองเรื่องที่แก้ไม่ตก
      เรื่องแรกคือเรื่องสมาชิกของวง ที่พวกเขารู้สึกว่ายังไม่สมบูรณ์พอ
      “เอ๊ะ...มันขาดอะไรสักอย่าง”
      “อยู่ดีๆ จะมีเทปหนึ่งชุด นักร้องมี เจี๊ยบ เกี๊ยง จุ้ย ไม่รอดแน่ๆ น่าจะเป็นแบนด์ มีวง เพราะลักษณะเพลงมันเป็นสวิงแจ๊ซ และมีเสียงแซ็กฯ อยู่ด้วยเยอะ ก็คิดกันว่าถ้าขึ้นเวทีจริงจะทำยังไง? เลยไปลากไอ้แต๋งมา”

      แต๋ง-ภูษิต ไล้ทอง รู้จักกับประภาส วัชระ และนิติพงษ์มา ตั้งแต่เมื่อทั้งหมดอยู่ปี 2 ตอนทำละครน่านเจ้า โดยภูษิตมาเล่นดนตรีประกอบให้พร้อมกับเพื่อนฝูงจากคณะครุศาสตร์ ภาควิชา ดนตรี
      หลังจากนั้นก็มาเจอกันอีกในละคร ‘ตลกเจ็บตัว’ และนับเป็นเพื่อนกันเรื่อยมา

      ประภาสเป็นคนแรกที่ชวนภูษิตมาร่วมวง เขาไปเจอกับภูษิตในการทำเพลงโฆษณาหมากฝรั่ง ช่วงนั้นภูษิตเป็นนักดนตรีอยู่ยามาฮ่าซาวนด์ ซึ่งเป็นวงบิ๊กแบนด์ เขาเล่นแซ็กโซโฟน และมารับจ๊อบเล่นดนตรีประกอบโฆษณา
      ชวนปุ๊บก็ได้รับคำตอบตกลงทันที

      ขณะที่วัชระ ปานเอี่ยมก็เล่าถึงการชวนภูษิตเข้ามาเป็นสมาชิกเฉลียงว่า
      “ไปเจอแต๋งที่สยามฯ ผมกำลังขับรถอยู่ เห็นมันเดินข้ามถนน เลยจอดรถ...พรืด เฮ้ย! แต๋ง มานี่ๆ ไอ้จิกมันจะทำเทปโว้ย รวมวงมั้ย ‘เอาสิ’ ไอ้หอก มันเอาเลย เราก็ช็อกสิ บ้า! ล้อเล่นน่ะ ชวนปั๊บมาเลย”
      ส่วนนิติพงษ์ก็ไปเจอภูษิตแถวสยามฯ เช่นกัน และเอ่ยปากชวนภูษิตมาร่วมวง โดยไม่รู้เลยว่าในเวลาเดียวกันนั้น ประภาสและวัชระก็ได้ชวนภูษิตแล้ว
      นิติพงษ์เล่าว่า
      “เดินสวนกับมันที่เอ็มเค. เฮ้ย! แต๋ง คืองี้นะ คุยกันบนฟุตปาทเลยนะ แต๋ง เอาไหมทำเฉลียงอีก มันบอกเฮ้ย! เอาสิ...ใจง่าย -ิบหาย”

      เมื่อภูษิตตอบตกลง เขาก็เข้าไปเป่าแซ็กโซโฟนลงเสียงเพิ่มเติมในเพลงที่ทำไว้เกือบเสร็จแล้วทันที
      ภูษิตพูดถึงการตัดสินใจของเขาในครั้งนั้นว่า
      “ตอนรับปากยังไม่รู้เลยว่าเพลงเป็นไงบ้าง ตอนหลังได้ฟังเพลงแรกคือ ‘รู้สึกสบายดี’ ก็เลยรู้สึกสบายใจที่ตัดสินใจไม่ผิด”

อ่านต่อ...