ภูษิต ไล้ทอง
เป็นคนสิงห์บุรี บ้านเดียวกับนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง

      อันได้แก่ชาย เมืองสิงห์ และธนิสร์ ศรีกลิ่นดี อดีตสมาชิก ‘คาราบาว’
      ซึ่งคนหลังนี้นอกจากจะเป็นคนบางเดียวกันแล้ว ยังถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อภูษิตอย่างล้นเหลืออีกด้วย

      ภูษิตมาจากครอบครัวข้าราชการไทยธรรมดาๆ
      เริ่มต้นชีวิตการศึกษาที่สมประสงค์วิทยา จากนั้นไปต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนสิงห์บุรี
      ในวัยเด็ก ชอบดูดนตรีมากกว่าฟัง โดยเฉพาะแตรวง ถ้าได้เห็นได้ยินเสียงเป็นต้องวิ่งปรี่เข้าไปดูใกล้ๆ
      “ผมสนใจการฟังเพลงน้อยมากเลย แต่ผมอยากเล่นดนตรี” เขากล่าวถึงความฝันในวัยเด็ก
      “ถามว่าผมชอบฟังเพลงไหม มันไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่ชอบดู มีเพลงลูกทุ่งก็ไปดูเขาเล่นแซ็กฯ ไปดูอย่างเอาจริงเอาจัง มีแตรวงผ่านหน้าบ้านงี้ ชอบดู”

      เครื่องดนตรีที่ภูษิตสนใจเป็นพิเศษคือแซ็กโซโฟน แม้ว่าในวัยเด็กจะมีกีตาร์ของพี่ชายอยู่ใกล้ตัวที่สุดก็ตาม แต่ไม่ชอบ
      “จับแล้วมันเจ็บนิ้ว เลยไม่เอา เปียโนก็ไม่เคยเห็นของจริง”
      อะไรหรือที่ดลใจให้เขาหลงใหลแซ็กโซโฟนได้ถึงขนาดนั้น ทั้งที่เป็นเครื่องดนตรีที่ไกลตัวยิ่ง
      “ผมไปเห็นในหลวงท่านทรงเป่าแซ็กฯ” ภูษิตเล่าอย่างอิ่มเอมใจ
      “เห็นแซ็กโซโฟนของพระองค์ท่านสวย เลยอยากเล่นเป็นมั่ง พอเข้าเรียนชั้นมัธยมก็ไปสมัครเล่นดนตรีเลยในวงดุริยางค์ของโรงเรียน”
      ภูษิต ไล้ทอง เคยมีความคิดที่จะเข้าไปเรียนสถาปัตย์เหมือนกัน หลังจากได้ดูวงดนตรีลูกทุ่งสถาปัตย์ทางโทรทัศน์ในสมัยรุ่นๆ แต่เปลี่ยนใจไปเลือกคณะครุศาสตร์ เพราะรักดนตรีมากกว่าการออกแบบบ้าน
      “ผมชอบอะไรอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ชอบการแสดงแบบนี้ ตลกของเขาดูแล้วขำ -ิบหายเลย แต่ของคนอื่นดูไม่ค่อยขำ เราชอบมากเลย เลยอยากเรียนสถาปัตย์ แต่พื้นความรู้ด้านฟิสิกส์ คณิต ศาสตร์ หรือวาดรูปเราไม่ค่อยดี พอไปเปิดระเบียบการสมัครสอบเอ็นทรานซ์ดู เฮ้ย...มันมีครุฯ ดนตรีโว้ย คะแนนก็ไม่เยอะ เลยเลือกอันดับ 1 ไป วิชาที่สอบก็มี ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ทั่วไปแล้วก็ความรู้ทางดนตรี เราเรียนวิทยาศาสตร์มานี่คงไม่ยากภาษาไทยเผอิญได้คะแนนดี ภาษาอังกฤษกะไปมั่วเอา...”
      แต่กว่าจะได้เข้าไปเรียนก็ทุลักทุเลพอสมควรในช่วงเตรียมการเพื่อทดสอบวิชาพื้นฐานทางด้านดนตรี โชคยังดีที่เขาเป็นคนบ้านเดียวกับอาจารย์ธนิสร์ ที่คอยจัดการให้ทุกอย่าง ตั้งแต่หาโน้ตเพลงมาให้ซ้อม ช่วยติวพื้นฐานความรู้ด้านทฤษฎีเบื้องต้นทางดนตรีให้ฟรีๆ แถมยังใจดีให้หยิบยืมแซ็กโซโฟนไปสอบอีกด้วย

      แล้วภูษิต ไล้ทอง ก็ได้เข้าไปเป็นน้องใหม่คณะครุศาสตร์ในปี 2521 สมใจ
      และได้ซื้อแซ็กโซโฟนของตัวเองเป็นครั้งแรก
      “ซื้อต่อมาจากอาจารย์ธนิสร์นั่นแหละ เป็นรุ่นที่ดีที่สุด ตอนนั้นแกอยู่คาราบาวแล้ว เริ่มมีตังค์ ไปซื้อมาจากอเมริกา แกเห็นเราไม่มีก็เลยขายให้ ตอนหลังรู้ว่าเป็นของดีจะเอาคืน
      เลยอำแกไป ถ้าจะเอาคืนเอาขลุ่ยงิ้วดำมาแลกผมสิ แกโกรธ -ิบหาย”
      “อาจารย์ธนิสร์นี่แหละที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยน” ภูษิตพูดถึงอาจารย์ธนิสร์อย่างสำนึกในบุญคุณ

      เขาเล่นดนตรีเป็นกิจวัตรตั้งแต่อยู่ชั้นปี 1 ในวงบิ๊กแบนด์แจ๊ซของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และเล่นดนตรีกับวงนี้มาตลอดควบคู่กับการเรียน
      ต่อมาเข้าร่วมกับวง ‘ยามาฮ่าซาวนด์’ ของสยามกลการฯ จนจบการศึกษาก็ยังเล่นอยู่กับวงนี้
      กระทั่งไปเจอกับ ประภาส ชลศรานนท์ อีกครั้งที่ห้องบันทึกเสียง และตกปากรับคำมาเป็น ‘เฉลียง’ คนที่ห้านั่นเอง

      เมื่อแก้ปัญหาเรื่องสมาชิกวงไปได้แล้ว ก็ยังเหลือปัญหาเรื่องการหาสังกัดที่จะออกเทปชุดใหม่นี้
      ประภาสเล่าเรื่องความพยายามในการหาสังกัดว่า
      “ไม่ใช่ง่ายๆ เลยนะ คุยกับหลายเจ้า ไปคุยกับไนท์สปอต ตอนนั้นเป็นค่ายใหม่ ทำเพลงทันสมัย กำลังทำรายการซูโม่ฯ ด้วย ไปคุยกับออนป้า คุยกับแกรมมี่ ไม่ได้คุยพร้อมกันนะ คุยทีละเจ้า หอบมาสเตอร์ที่เสร็จแล้ว 10 เพลงนี่แหละ ไปเลย เมื่อเขาไม่เอาก็จบ หอบกลับมา ไปคุยอีกเจ้า
      แต่ไม่มีใครเอา
      แกรมมี่นี่รู้จักกันอยู่ตั้งนานแล้ว พี่ไพบูลย์ พี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง เจอกันมาตั้งแต่ ‘ยิ้มใส่ไข่’ ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์แรกๆ ของแกรมมี่เลย ก็รู้จักเป็นพี่เป็นน้องกันมา (ที่แกรมมี่)
      มีคนมานั่งฟังกันเยอะเลย 5-6 คน พี่ๆ เขามานั่งฟังกัน ฟังแล้วก็ค่อยๆ เดินออกทีละคน จนเหลือคุณไพบูลย์คนเดียว เราพอจะจับอารมณ์เขาออก คงไม่ชอบ คงไม่อยากขาย ยังไม่ทำ ก็เลยพักเอาไว้ เก็บไป”

      ในช่วงนั้นเอง ประภาสก็ได้รับการติดต่อจากค่ายเพลงใหม่ ‘ครีเอเทียอาร์ติสท์’ ให้เขียนเพลงให้กับ ‘อุ้ย’-ระวิวรรณ จินดา
      ครีเอเทียฯ เพิ่งทำอัลบั้มของ ‘ปั่น’ ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ซึ่งเปิดตัวออกมาอย่างฮือฮา
      นิน-ชนินต์ โปสาภิวัฒน์ และ เก้ง-จิระ มะลิกุล คือหัวเรี่ยวหัวแรงของครีเอเทียฯ ในยุคนั้น
      “ไม่ได้ตั้งใจเอาเพลงไปเสนอเขานะ ตอนนั้นคิดว่าสงสัยจะไม่มีใครเอาแล้วมั้ง ก็เก็บๆ ไว้อยู่ อีกอย่างเขาเรียกเรามาเขียนเพลง ก็ไม่คิดว่าจะเสนอเทปอะไรเขาหรอก” ประภาสเล่าต่อ
      “ทีนี้วันนึงเห็นว่าเขาตั้งใจทำงานกันดี คิดว่าจะลองคุยดูแต่ ‘นิน’ เขาออกปากก่อน อยู่ดีๆ นินเขาก็พูดขึ้นมาว่า ได้ข่าวว่าทำเฉลียงอยู่ไม่ใช่หรือ ตัวเขาเองสนใจเพราะเคยฟังเฉลียงชุดหนึ่ง แต่เขาต้องคุยกับหุ้นส่วน คนลงทุนของเขาก่อนนะ
      ก็บอกเขาว่าพรุ่งนี้จะเอามาสเตอร์มาให้ฟัง เขาบอกไม่ต้องหรอก มีแล้ว ฟังแล้ว เฮ้ย ไปเอามาจากไหน ก็เลยรู้จากเขาว่า จุ้ยเอาไปเปิดที่นิเทศฯ ฟังกันเล่นๆ เก้งเขาก็เลยได้ไปฟังจากที่นั่น”

      เก้ง-จิระ มะลิกุล รุ่นพี่คณะนิเทศของศุ ซึ่งยังแวะเวียนไปคณะเสมอๆ แม้จะทำงานที่ครีเอเทียฯ แล้ว ได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
      “จุ้ยโทร.มาหาผม บอกว่าอยากขอไอเดียอะไรหน่อย ผมก็ไปพบเขาที่คณะฯ จำได้ว่าเขาเอาเพลงมาเปิดให้ฟัง ‘นิทานหิ่งห้อย’ แรกฟังผมก็คิดว่า นี่มันเพลงอะไรวะ ทำไมเขียนดีอย่างนี้ เขาก็บอก เพลงนี้พี่จิกเป็นคนแต่ง...ตอนนั้นแนวเพลงต่างๆ ยังน้อย พอมีอะไรแปลกๆ ดีๆ ก็เอามาแบ่งสู่กันฟัง”
      จิระชอบใจ ในเพลงที่จุ้ยบอกว่า “นี่คือเพลงของเฉลียงชุดที่ยังไม่ได้ออก” มาก จนหยิบกลับไปให้ชนินต์ฟังด้วย
      เมื่อทั้งชนินต์และจิระ รวมทั้งผู้บริหารคนอื่นๆ เห็นพ้องต้องกัน ในที่สุดเฉลียงก็ได้ร่วมงานกับครีเอเทียฯ โดยประภาสกล่าวว่า
      “ถ้าครีเอเทียฯ ไม่ทำ ก็ไม่รู้ว่าจะมีเฉลียงหรือเปล่านะ เขาเป็นคนเปิดโอกาสให้เฉลียงเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง”

      เฉลียงเริ่มงานกับครีเอเทียฯ โดยเริ่มถ่ายปก ถ่ายภาพโปรโมต และถ่ายมิวสิกวิดีโอ วัชระเล่าว่าในช่วงแรกๆ มีปัญหาเล็กน้อย โดยเฉพาะที่ตัวเขา ซึ่งกำลังดังมากจาก ‘ซูโม่สำอาง’
      “ทะเลาะกันอยู่พักใหญ่เหมือนกัน ว่าให้ผมลบความเป็นซูโม่ออกไป ซึ่งผมทำไม่ได้ ฉันเป็นฉันเองจริงๆ มันตามสูตรอยู่แล้ว ไม่ว่าใครก็ตาม ต้องพยายามแก้ภาพพจน์ของคนคนนั้นออกไป อยากทำอะไรก็ทำ แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดมันก็ต้องขายคู่ เฉลียงกับซูโม่ เวลาออกคอนเสิร์ตมันก็เหมือนโฆษณาตัวเราเอง แนะนำตัวผมเป็นใคร เราไม่พูด ไอ้แต๋งมันก็พูด ไอ้ดี้ก็พูด มันก็คือซูโม่ จนกระทั่งมีคนเรียกไอ้แต๋งว่าซูโม่แต๋ง ซูโม่เกี๊ยง ดีไอ้จุ้ยไม่ได้เป็นซูโม่ไปด้วย มันแรงมาก มันหนีกันไม่พ้นหรอก
      เพราะเฉลียงมันก็ตลก เหมือนอะไรกลมๆ อันหนึ่ง มันไปด้วยกันได้ ซูโม่ก็ได้ เฉลียงก็ได”้

      ทีสเซอร์โฆษณาชุดแรกของเฉลียง ถูกนำออกอากาศทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุยานชาแลนเจอร์ระเบิดที่สหรัฐอเมริกา โดยนำภาพข่าวตอนยานฯ ระเบิดมาประกอบคำไว้อาลัย

      “ขอแสดงความเสียใจกับโศกนาฏกรรมของโลก จากเฉลียง”

      เล่นเอาผู้คนที่ไม่เคยรู้จัก ‘เฉลียง’ ถกกันอื้ออึง ว่าไอ้เฉลียงนี่มันอะไรกันวะ แล้วโฆษณาเปิดตัวก็ตามออกมาพร้อมกับนิยามความเป็นเฉลียง ที่จิระ มะลิกุล ผู้เขียนก๊อปปี้ชุดนั้นเป็นต้นคิด

                    สถาปนิกที่ไม่ยอมสร้างบ้าน
      ครูที่ไม่ยอมสอนหนังสือเด็ก
      นักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ยอมเขียนข่าว
      รวมตัวกันเป็นตัวโน้ตอารมณ์ดี กลุ่มดนตรีนาม ‘เฉลียง’

      จิระพูดถึงการเขียนทีสเซอร์ชิ้นนี้ว่า
      “ในที่ประชุม พี่จิกเป็นคนพูดขึ้นมาว่า อยากให้มีความรู้สึกว่า ‘เฉลียง’ เป็นคนต่างๆ แล้วมาเจอกัน เป็นคนที่เกิดมาตามลุ่มดอนที่มีความคิดไม่เหมือนกัน ผมก็ลองคิดๆ ดู แล้วก็ลองเขียน ก๊อปปี้ทีสเซอร์ไปตามความรู้สึก ‘ตัวโน้ตอารมณ์ดีจากกลุ่มคนดนตรี นามเฉลียง’
      ปรากฏว่าพวกพี่ๆ ชอบประโยคนั้น ก็เลยเป็นเหมือน สโลแกนของวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

      ขณะเดียวกัน มิวสิกวิดีโอที่เริ่มออกฉายทางโทรทัศน์ก็ดูแปลกและใหม่จากที่คนเคยเห็นกัน ‘กล้วยไข่’ เป็นมิวสิกวิดีโอสีซีเปียยุคแรกของเมืองไทย เรียงร้อยภาพเด็กและสงคราม ที่แม้จะถูกเซ็นเซอร์ภาพสำคัญๆ ออกไปหลายฉาก แต่ผู้ชมก็รับอารมณ์ที่ต้องการสื่อได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นหัวข้อถกเถียงในหมู่ผู้คนทั่วไปที่พยายามจะตีความ
      ทั้งเพลงและมิวสิกวิดีโอ ‘เข้าใจ’ ประกอบหนังสั้นสไตล์เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ถ่ายทำที่หอศิลป์ถนนเจ้าฟ้า โดยมีภูษิตเป็นพระเอกครั้งแรกในชีวิต
      เขามาสารภาพภายหลังว่าเป็นความอึดอัดที่สุดในชีวิตอีกเหมือนกันเพราะไม่เคยแสดงมาก่อน
      “เล่นละครเวทีมันเล่นแล้วเล่นเลย แต่นี่อะไรวะ เดี๋ยวเทก เดี๋ยวเทก ให้วิ่งอยู่นั่นแหละ วิ่งแล้วก็บอกให้วิ่งช้าๆ เหมือนเดิน แล้วอย่างนั้นมันจะเรียกวิ่งทำไม”

      ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ นำสารพัดเรื่องมาใส่ไว้ในเรื่องเดียวกันตามชื่อเพลง
      เฉลียงใส่ชุดลายเลียนแบบนักโทษไปเดินเลาะข้างกำแพง ใส่หัวลูกโลกหัวโต เล่นภาพคนตัวเล็กตัวใหญ่ สนุกสนานมากตามความคิดอันแหวกแนวของจิระ มะลิกุล
      และ ‘เที่ยวละไม’ เป็นอีกเพลงที่ถูกนำมาทำมิวสิกวิดีโอ โดยเรื่องนี้ ศุ บุญเลี้ยง โบกรถไปเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพรในสไตล์ของเขา ทำให้คนที่ได้ดูอยากไปเที่ยวอย่างนั้นบ้างไปตามๆ กัน

      เมื่อเทปชุด ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ออกวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2529
      กระแสตอบรับที่เกิดขึ้นนั้นก็แตกต่างจากเมื่อครั้งออกเทปชุด ‘ปรากฏการณ์ฝน’ โดยสิ้นเชิง

อ่านต่อ...