ยุคที่พวกเขาเข้าไปเรียนที่คณะสถาปัตย์นั่นเป็นยุคละครถาปัดกำลังเฟื่อง
พวกรุ่นพี่ พี่ตู้(จรัสพงศ์ สุรัสวดี) พี่ตา(ปัญญา นิรันดร์กุล) แม้จะจบไปแล้ว แต่ยังกลับมาทำละครที่คณะ พวกเขา ที่เพิ่งเข้าเป็นเด็กปีหนึ่งก็ไปช่วยก๊อกๆ แก๊กๆ ตั้งแต่ตอกฉาก ทำอุปกรณ์ และเป็นตัวประกอบเล็กๆ น้อยๆ
        พอขึ้นปีสองก็เริ่มทำละครกันเอง และมีโอกาสได้ร่วมงาน ละครใหญ่ของพี่เก่าในปลายปีนั้น
        ละครเรื่อง ‘น่านเจ้า’ ของกลุ่มสยามมัธยัสถ์
       นอกจากจะได้นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันของคณะสถาปัตย์ในขณะนั้นมาช่วย กันทำงานแล้ว ยังได้เพื่อนร่วมสถาบันจากคณะอื่นๆ อีกหลายคณะเข้ามาช่วยด้วย ทั้งอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และครุศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มนักดนตรีจากครุฯ ดนตรี

       หลัง ‘น่านเจ้า’ กลุ่มสยามมัธยัสถ์ ยังมีละคร ‘ตลกเจ็บตัว’ ที่เป็นเหมือนละครเพลงกลายๆ ตามมาอีกเรื่อง ซึ่งก็ได้ความร่วมมือ จากชาวครุฯ ดนตรี และเพื่อนต่างคณะอื่นๆ อีกเช่นเดิม
       เมื่อว่างเว้นจากการทำละคร นิติพงษ์ วัชระ ประภาส และเพื่อนร่วมกลุ่มก็หันไปรื้อฟื้น ‘ลูกทุ่งสถาปัตย์’ ขึ้นมา ด้วยความรัก ในเสียงเพลง ที่ต่างมีอยู่เป็นทุนเดิม
       นิติพงษ์ผู้ที่เล่นเครื่องดนตรีได้ทั้งไทยและสากลจนถูกเพื่อนอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้าวงลูกทุ่งสถาปัตย์ เล่าให้ฟังว่า
       “คือลูกทุ่งสถาปัตย์มันมีมาตั้งแต่สมัยพี่โย-ญานี ตราโมท ประมาณสิบกว่าปีก่อนที่เราจะเข้าไปแล้วก็เงียบหายกันไป ไม่มีใคร ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เขาเล่นเพลงฝรั่งกัน ไม่ได้มีใครบ้าบอคอแตกไง
     
        “พอมาถึงรุ่นผมก็บ้าบอคอแตก ขนาดพวกเรา 8-9 คน ว่าบ้าบอคอแตกแล้ว ที่เหลือมันยังเต็มใจมาเล่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเรียนหรือเด็กไฮโซฯ มาแต่งชุดผู้หญิงเต้น
      “ มันชอบพวกเรามาก เพราะพวกเราสนุก แล้วพวกเราไม่มี ทำร้ายใคร หรือด่าว่าให้ร้ายใครมากมาย อาจจะงอนๆ บ้าง โมโหคนอื่นบ้าง คนที่ไม่ค่อยช่วยทำกิจกรรม เพราะเขาเรียนหนังสือกัน แต่พอหลังจากงานนี้พวกเรากลมเกลียวกันมาก รักกันมาก”
       ลูกทุ่งสถาปัตย์ในยุคนิติพงษ์ ห่อนาค ใช้ชื่อ ‘กระเทียมเจียว’  แม้จะไม่เต็มวงและดูยิ่งใหญ่เหมือนในสมัยของญานี ตราโมท แต่ก็เรียกความคึกคักกลับคืนมาได้ไม่น้อย
       “ในคณะมันมีเครื่องดนตรีอยู่ก่อนแล้ว เป็นของรุ่นพี่ ของ อาจารย์เขาซื้อทิ้งไว้สำหรับเล่นในงานคณะ แต่เป็นเครื่องดนตรีเก่าๆ โทรมๆ ผมกับดี้เข้าไปช่วยกันพัฒนา เอาสายแจ๊กมานั่งต่อ ซื้อหนัง กลองมาใส่ใหม่ ออกเงินกันเอง ทำใหม่หมด ตกแต่งห้องด้วย จนน่าเล่น ทีนี้คนอื่นก็แห่กันมาเล่น ตั้วยังมาช่วยเล่นเบสเป็นที่สนุกสนาน” วัชระเล่าอย่างภาคภูมิอกภูมิใจ
       “กินข้าวเสร็จทำอะไรกัน? (ไป) ซ้อมดนตรี โอ้โฮ! ตาลุกวาว เลย ซ้อมดนตรี ตอนนั้นบนโรงหนังลิโดมีห้องซ้อมดนตรี ชั่วโมงละ 50 คนละ 10 บาท แหกปากกันลั่น เสร็จก็ลงมากินกันต่อ
       จิกนี่เอาหมด เดี๋ยวจับกีตาร์ เดี๋ยวกระโดดขึ้นตีกลอง ปั้บๆๆ ขี่กลอง มีเซนส์กันพอสมควรในเรื่องดนตรี แล้วพอมีกิจกรรมในคณะก็เอาวะ รวมวงกัน”
       ทีนี้ไม่ได้แกะเพลงเล่นธรรมดาแล้ว มีเทคนิคด้วย
       “เอาอินโทรฯ เพลงฝรั่งมาต่อท้ายด้วยเพลงลูกทุ่ง เป็นเพลง ที่คนในคณะรู้จัก แต่ในวงไม่มีใครรู้จักกันเลย เพราะไม่ได้มาสายลูกทุ่งกันสักคน แต่ก็พยายาม ใครร้องเพลงนี้ ร้องไงวะ ก็มาสอนๆ กัน ทำเป็นเมดเลย์ยาว 13 เพลงต่อกัน”
       “ขึ้นอินโทรฯเพลงฝรั่ง ก็กรี๊ดกันแล้ว”
       “พอดีช่วงนั้นแกรนด์เอ็กซ์ทำ ‘ลูกทุ่งดิสโก้’ ออกมาประชันกันพอดีเลย สนุกมากไม่รู้ใครลอกใคร เขาเล่นอาชีพ แต่เราเล่นกันในคณะ”
       วงลูกทุ่งสถาปัตย์วงนี้มีวัชระ ปานเอี่ยมเป็นนักร้องนำ ทั้งที่ใจจริงแล้วก็อยากเล่นกีตาร์อยู่เหมือนกัน
       “มักจะเป็นอย่างนั้น” วัชระยอมรับสภาพ
       “เพราะเป็นคน จำเนื้อได้เยอะ แต่เพลงฝรั่งจะแย่หน่อย ต้องปล่อยให้ดี้หรือเพื่อนคนอื่นเขาไป
       “อีกอย่างไปแย่งเขาเล่นกีตาร์ไม่ทันด้วย คือวัยรุ่นทุกคนเขาจะเล่นกีตาร์กัน จับกีตาร์กันคนละตัวสองตัว อ้าว! หมดแล้ว”
      
       วงดนตรีของพวกเขาประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมมากใน หมู่ชาวจุฬาฯ ยุคนั้น
       ในฐานะหัวหน้าวง นิติพงษ์เล่าถึงบรรยากาศของการทำ วงดนตรีสมัครเล่นนี้อย่างเฮฮาว่า
       “ก็เล่นไปเรื่อย ใครให้เล่นก็เล่น งานสมาคมนิสิตเก่าก็เล่น และยังเคยไปออกทีวีครั้งหนึ่ง แต่งานนั้นเสียฟอร์ม เพราะไม่ตลก
      “ เราเคยไปเล่นที่ประสานมิตรทีหนึ่ง ได้ค่าตัวทั้งวงสองร้อยบาท แต่หัวหน้าวงคือผมเบี้ยว เอาเงินไปใช้เอง เพราะตอนนั้นไม่มี ตังค์ใช้ จนทุกวันนี้พวกมันยังแซวกันอยู่เลย โดยเฉพาะเจี๊ยบ เฮ้ย! เอาสองร้อยคืนมา”

       ลูกทุ่งสถาปัตย์คืนชีพขึ้นมาในช่วงสั้นๆ เท่านั้น
       วัชระ ปานเอี่ยมเล่าว่า พวกเขาพยายามจะทำต่อกันอย่าง สุดความสามารถแล้ว แต่มันต่อไม่ติดจริงๆ
       “เราแรดก็จริง แต่ไม่ได้กว้างขวางมากขนาดรวบรวมคนมาได้ เรายังเป็นแค่เด็กปี 1 ปี 2 ก็เอาแค่เพื่อนที่รู้จักกันมาเล่น คิดทำนองกันใหม่ ทำกันเอง เผด็จการนิดหน่อย คณะอื่นๆ เวลาเขามีงานก็ เฮ้ย! เอาลูกทุ่งสถาปัตย์ เรียกเราไปใช้งาน
      “ เพื่อนมาเล่นกันหมด ดี้ จิก อั๋น ตั้ว โค้ก (เสนาโค้ก-สมชายเปรมประภาพงษ์) ไม่ได้ร้องก็มาเต้นเป็นหางเครื่อง เป็นรีวิวประกอบ ละคร งานโรงเรียนราชินีก็เคยไปเล่นกัน ขึ้นเวทีใหญ่โตมโหฬารเพลงน่ะไม่เท่าไหร่หรอก แต่ไปทำตลกหน้าเวทีกันซะมากกว่า ออกโชว์กันทีเหนื่อยชิบเป๋ง มานั่งหาเสื้อผ้ากัน ไอ้อั๋นมานั่งทำชุดหางเครื่อง เอาลูกโป่งใส่น้ำมาทำนม ทำอยู่ 3 ปีก็เลิก มันรู้สึกตัวเองว่าแก่ มันไม่ไปไหนซะที
      “ เลยทิ้งทวนกันด้วยชุดใหญ่ เมดเลย์ยาวเฟื้อย เล่นกันให้ กรี๊ดไปข้าง และมันมีกิจกรรมอื่นต้องทำ คือทำละครเวที มันใหญ่กว่าเยอะ”        หลังจากนั้นเรื่องเล่นดนตรีของพวกเขาจึงเหลือเพียงล้อมวงเล่นกีตาร์ และร้องเพลงเล่นกันเองเมื่อไปค้างตามบ้านเพื่อน-บ้านตั้ว บ้านอั๋น หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด
       ดีดกีตาร์ร้องเพลง คุยกันจนถึงเช้า
       และสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการดีดกีตาร์ ร้องเพลง พูดคุย และนั่งคิดนั่งเขียนอะไรกันนั้น ก็นำไปสู่เค้าร่างของปรากฏการณ์บางอย่าง ในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน

อ่านต่อ...