ต้นปี 2530
หลังพักยกไปราว 6-7 เดือน
เฉลียงก็กลับมาอีกครั้งด้วยเทปชุดที่ 3 ‘เอกเขนก’


      คราวนี้เฉลียงย้ายไปทำงานกับคีตาแผ่นเสียงและเทปที่เพิ่งตั้งขึ้นมา
      โดยประภาสกับภูษิตได้เข้ามาทำงานประจำอยู่ก่อนแล้ว
      และได้ทีมช่วยทำงานโปรโมชั่นเป็นคนคุ้นเคย อย่างเพื่อนร่วมรุ่น อั๋น-วัชระ แวววุฒินันท์ หงุ่น-นันท์ วิทยดำรง และรุ่นน้องสถาปัตย์ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ที่ก้าวเดินมาในสายบันเทิงทางเดียวกัน
      ประภาส ชวน พี่จู๊ด-ทรงวุฒิ อีกครั้ง ให้มาร่วมดูแลการผลิตและสร้างทำนองเพลงหลายเพลง

      เฉลียงทุกคนก็ได้ฝากฝีมือในเทปชุดนี้กันถ้วนหน้า
      ภูษิตโชว์ฝีมือการประพันธ์เพลงและบรรเลงเดี่ยวใน ‘ผึ่งพุง’
      ศุ เขียนเพลง ‘แค่มี’ ที่ใครได้ฟังก็ต้องบอกว่า นี่แหละตัวเขาเองจริงๆ
      วัชระ ส่ง ‘ไม่เข้าใจ’ ลงเทป เหมือนจะล้อ ‘เข้าใจ’ ของนิติ-พงษ์ในชุด อื่นๆ อีกมากมาย
      ส่วนนิติพงษ์แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนองถึง 2 เพลง ‘พระจันทร์’ และ ‘ค่ำคืนฉันยืน’ รวมทั้งได้โชว์เสียงลงเทปด้วยในเพลง ‘นายไข่เจียว’ หลังจากร่วมวงด้วยแต่ไม่ได้ร้องกับเขาสักทีมาสอง ชุดแล้ว
      ซึ่งกว่าจะเป็นเพลงนายไข่เจียว อย่างที่ได้ฟังกันก็มีเบื้องหลังในห้องอัด ‘บัตเตอร์ฟลาย’ ที่สนุกสนานจนยังต้องมาไล่เตะกันถึงทุกวันนี้
      นิติพงษ์เล่าว่า
      “ก็ร้องเพี้ยนน่ะสิ ไม่มีใครท้วงสักคน ไอ้เวร ไม่มีใครบอกเลย พวกมันเอาแต่กินกันอยู่ในห้องคอนโทรลนั่นแหละ เราก็ร้องไปเรื่อย ร้องเสร็จก็ออกมากินกับพวกมัน ไม่รู้สักคนว่าเพี้ยน จนเสร็จเป็นเทปนั่นแหละ”
      ภูษิต ก็มีความหลังโชกเลือดกับเพลงนี้เหมือนกัน
      “เป่าแซ็กฯ จนเลือดกบปาก ข้างนอกก็ไม่ได้ยิน ช่างเสียงบอกเสียงเบาๆ ไอ้เราก็เป่าแรงอีกๆ ข้างนอกก็บอกเสียงเบาๆ อยู่นั่น จนปากแตกเลือดไหลซิบ ที่ไหนได้ เดินออกมาปรากฏไมค์เสีย”

      ‘เอกเขนก’ โดนใจคนฟังด้วยเนื้อร้อง-ทำนองที่แสนจะเป็น เฉลียง
      คือทำนองฟังสบายๆ แต่สอดแทรกแง่คิดไว้ในเนื้อร้องเช่นเดียวกับเทปชุดแรก
      และที่ได้รับการกล่าวขวัญกันมาก ก็คือมิวสิกวิดีโอเพลง ‘เร่ขายฝัน’ ที่ออกฉายทางโทรทัศน์หลังจากเทปวางแผงได้ไม่นาน
      ประภาส ชลศรานนท์ ทำหน้าที่เขียนบทและกำกับการแสดงมิวสิกวิดีโอเพลงนี้เอง โดยได้ เกรียงไกร กาญจนโภคิน และ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ มาเป็นผู้ช่วย
      ‘เร่ขายฝัน’ เป็นมิวสิกวิดีโอที่ยาวถึง 9 นาที เพื่อจะเล่าสิ่งที่ประภาสคิดไว้แต่ใส่ลงไปในเพลงไม่หมด
      ใช้ทีมงานและผู้แสดงรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 200 คน และใช้งบประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งแม้จะค่อนข้างมากแต่ก็ไม่เพียงพอต่อโปรดักชั่นขนาดใหญ่อย่างนั้น
      สถานที่ อารมณ์ เหตุการณ์ คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ได้รับอิทธิพลมาจากหนังฝรั่ง 2 เรื่อง คือ MAD MAX ผสมผสานกับ ESCAPE FROM NEWYORK
      “จะว่าเลียนก็ใช่ ล้อเลียนเลย” ประภาสบอก
      “ผมว่าจุดนี้เป็นภาพที่คนยอมรับ ผมไม่ต้องบอกเลยว่า ในปี 2800 มีสงคราม ผมไม่ต้องบอกเลย พอเห็นแต่งตัวยังเงี้ย ทุกคนรู้เลยว่า มันมาจากซากอะไรซักอย่าง”

      มิวสิกวิดีโอ ‘เร่ขายฝัน’ นอกจากสมาชิกทั้ง 5 คนของเฉลียงจะเป็นตัวนำแสดงแล้ว ยังมีตัวประกอบเป็นน้องๆ จากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และจากมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกส่วนหนึ่งเป็นนัก ศึกษาจากระยอง และยังไปจ้างนักกล้ามอีก 2-3 คน ให้เดินไปเดินมาผ่านหน้ากล้องด้วย
      ประภาสบอกว่า “ส่วนใหญ่ใช้ชวนๆ เอา มา...มาสนุกกัน น้องๆ ศิลปากร น้องๆ ที่ระยอง ไม่มีค่าตัวนะ เสร็จแล้วเดี๋ยวไปกินเหล้ากัน ประมาณนั้น”
การถ่ายทำใช้สถานที่บริเวณเขาลูกรังริมเส้นทางสนามพัทยาเซอร์กิต จังหวัดชลบุรี เขตติดต่อกับจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่แห้งแล้ง เหมาะเจาะกับบรรยากาศแห้งแล้งในเรื่อง โดยมีการลากซากเครื่องบินเก่าจากกรุงเทพฯ ไปประกอบฉาก และใช้ไม้เสาเข็มจำนวนมากสร้างเมืองจำลอง
      ใช้เวลาถ่ายทำกันถึง 2 วันเต็มๆ ท่ามกลางอุปสรรคมากมายรวมทั้งฝน ที่ทำให้ภาพความแห้งแล้งที่ต้องการกลับกลายเป็นโคลนเฉอะแฉะ
      ประภาส ชลศรานนท์อธิบายเกี่ยวกับความคิดในการสร้างสรรค์มิวสิกวิดีโอเรื่องนี้ว่า
      “คนเราทุกคนมีความฝันที่ต่างกัน ไม่ต้องฝันไกลอะไรมาก อย่างนาย ก. นี่อาจอยากกินสเต๊กมาก ไม่เคยมีโอกาสได้กินเลย ถ้าได้กินนั่นคือฝันเค้าเลยละ ซึ่งกับนาย ข. อาจกินทุกวันเลยก็ได้ ในสิ่งหนึ่งเนี่ยอาจจะเป็นความฝันของใครอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้
      ผมจึงสมมติ ให้สิ่งหนึ่งเป็นความฝันของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสำหรับเราอาจจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

      ผมสร้างลูกโป่งขึ้นมา ผมมองว่าลูกโป่งนี่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ยางอันนึง แล้วก็อัดลมเข้าไปแล้วก็ลอย ลอยเหมือนสังคมนึงในยุคหนึ่ง อาจจะเห็นเป็นเทพเจ้า เหมือนกับที่เราเห็นอะไรบางอย่าง เป็นเทพเจ้า ก็เลยสมมติสถานการณ์อันหนึ่งขึ้นมา
      ทางสากลเขายอมรับว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 3 จะไม่เหลืออะไรแล้ว จริงๆ ไม่รู้เป็นยังไง แต่หนังกี่เรื่องๆ ก็ออกมาอย่างนี้ ไอ้เทคโนโลยีเนี่ยมันอาจจะเหลือเครื่องบิน ซึ่งชนรุ่นหลังไม่รู้ แล้วว่ามันเป็นอะไร อาจจะคิดว่าเป็นสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่ง
      พวกเฉลียงก็เป็นพวกเร่ขายของเก่าๆ อะไรเรื่อยเปื่อย แต่ของในนั้นมีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งเขาก็คิดว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรมากคือลูกโป่ง แต่มันไปพ้องกับความฝันของพวกเขา (คนเถื่อน) ซึ่ง เขาเคยเห็นแต่บนผนัง แล้วก็นับถือว่ามันเป็นเทพเจ้า ก็เกิดเรื่องราวอะไรขึ้นมา”

      แล้วทีมงานทุกคนก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง หลังจากทุ่มเทแรงกายและแรงสมองในการทำงาน
      เมื่อมิวสิกวิดีโอเพลง ‘เร่ขายฝัน’ ได้รับรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมจากคณะกรรมการโทรทัศน์ทองคำ และได้รับรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมของสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D.Awards) ประจำปี 2530
      ขณะที่ปกเทปซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของพิเศษ ไทยา-นันท์ ก็ได้รับรางวัล Packaging ดีเด่นจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D.Awards) เช่นกัน

อ่านต่อ...