ความโด่งดังจาก ‘อื่นๆ อีกมากมาย’
ตามด้วย ‘เอกเขนก’

ทำให้เฉลียงกลายเป็นวงดนตรีระดับแนวหน้าของเมืองไทยไปเสียแล้ว

      ขึ้นปก ลงสัมภาษณ์ ถ่ายแฟชั่นในนิตยสารวัยรุ่น และนิตยสารบันเทิงทุกฉบับของเมืองไทย
      รวมทั้งหนังสือผู้หญิงระดับแนวหน้าอย่าง ‘แพรวสุดสัปดาห์’ และ ‘ดิฉัน’
      กระทั่งเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับน้ำอัดลมเป๊ปซี่ ซึ่งคัดเลือกเฉพาะศิลปินนักร้องดังๆ ระดับโลกเท่านั้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา อย่างไมเคิล แจ๊กสัน, ทีน่า เทอร์เนอร์ ฯลฯ

      ในการถ่ายทำโฆษณาเป๊ปซี่ เฉลียงก็ยังคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น คือเรื่องมากจนครีเอทีฟโฆษณาเวียนหัว
      ศุเล่าถึงเรื่องนี้ว่า
      “เขาจะให้เต้นก็ไม่ยอมเต้น จะให้ทำอะไรก็ไม่ทำ ไม่ยอมทำตามก๊อปปี้เขา จะเอาของเราอย่างเนียะ”
      แต่เมื่อโฆษณาออกมาก็เป็นที่ชื่นชมและพูดถึงกันในวงการโฆษณารวมทั้งผู้ชมทั่วไป และจิงเกิลเพลงประกอบโฆษณาซึ่งดัดแปลงมาจากเพลง ‘รู้สึกสบายดี’ ก็ได้รับรางวัลจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D.Awards) ด้วยอีกรางวัลหนึ่ง

      ในช่วงเวลาของ ‘เอกเขนก’ เฉลียงออกแสดงคอนเสิร์ตมากที่สุด
      ทั้งคอนเสิร์ตโปรโมตเทป คอนเสิร์ตต่างจังหวัด คอนเสิร์ตส่วนตัว และคอนเสิร์ตการกุศล 5 พฤษภาคม 2530
      เฉลียงทำคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มเอกเขนก หรือมักเรียกกันเล่นๆ อีกชื่อหนึ่งว่า ‘คอนเสิร์ตปูเสื่อ’ ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง
      “ตัวโน้ตอารมณ์ดีทั้งห้า ร้องเพลงสลับจี้เส้นตลอดรายการ ใครที่หวังจะฟังเฉลียงร้องและเล่นดนตรีให้เลอเลิศประเสริฐศรีแบบมืออาชีพนั้นเห็นทีจะอกหัก แต่ถ้ามาดูคอนเสิร์ตที่สนุกสนาน ให้ความเป็นกันเองในแบบสบายๆ แล้วละก็ บอกได้ว่าคุ้ม”
      คือรายงานข่าวจากนิตยสารวัยฝัน ฉบับปักษ์หลังในเดือนเดียวกันนั้น

      28 มิถุนายน 2530 เฉลียงใส่เสื้อตาหมากรุกและกางเกงยีนแบบคาวบอยขึ้นเวทีโลกดนตรี ช่วงนั้นเกียรติศักดิ์กำลังจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ที่เฉลียงทุกคนร่วมกันภูมิใจราวกับได้เกียรตินิยมเสียเอง

      หลังจากนั้นก็มีทัวร์คอนเสิร์ตต่างจังหวัดตามมาอีกมากมาย ซึ่งแม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ภูษิตก็บอกว่าสนุกนัก
      “คือมันสนุกที่ได้อยู่ด้วยกัน เรื่องเล่นดนตรีน่ะแป๊บเดียว โอกาสสนุกกันเองเยอะกว่า แต่ไม่ได้ไปไหนหรอกนะ เรื่องไปเที่ยวกลางคงกลางคืนนี่ไม่ได้เลย เล่นเสร็จก็กลับโรงแรม สั่งอะไรมากินในห้อง คุยกัน พวกแบ๊กอัพสิ โอ๊ยเธคไหน บาร์ไหน ไปกันหมด แต่เราไปไม่ได้ ถูกรุมแย่ ไม่ไหวหรอก
      มีเรื่องสนุกเยอะ ช่วงทัวร์คอนเสิร์ต นายเกี๊ยงเขาเนื้อหอมสุด จะมีเด็กๆ น้องๆ มาหาเยอะ แต่เป็นแบบเด็กดีๆ ทั้งนั้นนะ ไปเรียนพิเศษเสร็จแล้วถึงมาหาพี่เกี๊ยง มาขอคำแนะนำเรื่องเอ็นทรานซ์อะไรพรรค์นั้น
      ที่ภูเก็ต คนดูนิ่งๆ ไม่ขำกันเลย มาสัก 300 มั้ง แต่เจ้าภาพน่ารักมาก อยากเอาใจ อยากพาเที่ยว แต่พวกเราก็เรื่องมาก ดี้จะไปที่ไม่ร้อน เกี๊ยงที่ไหนก็ได้แต่ต้องติดทะเล จุ้ยขอธรรมชาติๆ หน่อย เจี๊ยบขอที่ไม่มีคนเยอะ แต๋งขอให้อาหารอร่อย ฯลฯ เขาก็พยายามจะพาไปทุกที่
      แต่หาดใหญ่โรงเกือบพัง คนละอารมณ์กับภูเก็ตเลย เหมือนในหนังของเดอะบีเทิลส์ที่เคยดู คนรุมกันแน่นหน้าโรง จุ้ยต้องออกไปยืนพูดภาษาใต้ ว่าโปรดอยู่ในความสงบ อย่าเบียดกัน
      ที่สงขลา เล่นในมหาวิทยาลัย จัดเวทีสวยเป็นแอมฟิเธียเตอร์ริมทะเล พวกนักศึกษาที่เป็นคนจัดเขาเตรียมกางเกงเลไว้ ให้นุ่ง สวยมาก เป็นที่ที่ประทับใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง
      ไปเล่น มศว.บางแสน คนมาดูไม่ถึงร้อย ขาดทุนยับ คนจัดตอนเช้าก็ใส่ทองดีๆ อยู่ พอตอนเลิกมาเคลียร์กัน ทองหายไปเสียแล้ว ทีแรกพวกเราก็ทำท่าเข้ม เด็กคนจัดงี้น้ำตาคลอ แต่ในที่สุดก็ไม่เอาค่าตัวกัน บอกให้น้อง...ไปเอาทองคืนมาซะ
      ที่อุบลฯ หรืออุดรฯ จำไม่ได้ มีคนดูมาสัก 60 คน ทีมงานเยอะกว่าคนดูอีกมั้ง
      บางที่เจอรุ่นพี่จุฬาฯ เขาจะเหนียวแน่นมาก เราเป็นรุ่นน้องสถาบันมาถึงถิ่นก็ต้องต้อนรับ เลี้ยงอาหาร 3 มื้อเลยนะ จัดโต๊ะเลี้ยงให้ที่บ้าน เล่นคอนเสิร์ตเสร็จยังมีข้าวต้มรอบดึก เช้ามาแต่เช้า รับไปกินข้าวอีก”

      และศุ มีความทรงจำส่วนตัวที่ไม่รู้เลือน
      “ตอนนั้นเฉลียงดังมาก ญาติพี่แต๋งเขาอยากให้ไปเล่นที่สิงห์บุรี จะเอาไปอวดใครๆ
      ทีนี้ไม่มีใครว่าง ผมก็ไปกับพี่แต๋ง ขึ้นไปร้อง ‘เที่ยวละไม’ ได้ท่อนเดียวนี่ต้องลงท่อนจบเลยนะ เพราะเขา ออกมาลีลาศกัน”

      นอกจากคอนเสิร์ตต่างจังหวัดแล้ว เฉลียงก็ยังมีคอนเสิร์ตใหญ่ในกรุงเทพฯ ตลอดช่วงเวลานั้นด้วย
      “เล่นคอนเสิร์ตร่มไม้รายทางที่มาบุญครอง งานนั้นมีนักร้องหลายๆ คนนะ แต่ตอนเฉลียงออกนี่คนกรี๊ดดังสุด ยืนยันได้” วัชระบอก
      “เล่นคอนเสิร์ตอินเตอร์ด้วย ก็เป็นพรีเซ็นเตอร์ของเป๊ปซี่เขา ทีนี้เขาเอานักร้องฝรั่งเข้ามาแสดง กลอเรีย เอสเตฟาน เฉลียงก็เลยได้ขึ้นเวทีด้วย แต่ขึ้นคนละทีนะ ไม่พร้อมกันหรอก ไม่ได้เจอกันเลยด้วยซ้ำ
      และมีคอนเสิร์ตสายใจไทยอีกที คราวนี้ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ไปร้องอย่างเดียว กับวงของราชนาวีวงใหญ่เลย”

      แต่ทั้งที่กำลังมีชื่อเสียง เฉลียงกลับเริ่มเฟดกิจกรรมของพวกเขาลง
      “มันก็มีงานประจำกัน ตรงนี้มันไม่ใช่อาชีพ เกี๊ยงก็ทำงานสถาปนิกในบริษัท ต้องลางานต้องอะไร” วัชระบอก
      ขณะที่ศุบอกว่า “ถ้า(เทป)ขายได้เป็นล้านก็ไม่แน่นะ อาจเอาจริงกันกว่านี้ แต่นี่เล่น(คอนเสิร์ต)ไป ก็ขายได้เท่าเดิมนั่นแหละ”

      พวกเขาจึงแยกย้ายไปทำงานของตนเองชั่วขณะ และเมื่อถึงวาระที่ควรจะมีเทปชุดใหม่ออก ในปลายปีนั้นเฉลียงก็เข็นเทปชุด ‘เฉลียงหลังบ้าน’ ออกมา
      ‘เฉลียงหลังบ้าน’ หรือที่มักเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘เฉลียงรวมเพลงไม่ฮิต’ หยิบเอาเพลงเก่าที่ไม่ค่อยดังในชุดแรกมาเรียบเรียงและขับร้องใหม่คือ หวาน, หาฝัน, อยากมีหมอน, ใยแมงมุม, เธอกับฉันกับคนอื่นๆ และ รู้สึกสบายดี ในภาคดัดแปลงท่อนต้นเล็กน้อย และได้นำไปใช้โฆษณาเป๊ปซี่ก่อนหน้านี้ ก็ถูกนำมาใส่ไว้ด้วย อีกทั้งยังเก็บเอาเพลง ‘เก็บใจ’ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘รักตะลุมบอน’ เพลงประกอบละครโทรทัศน์ ‘เทวดาตกสวรรค์’ ‘นายแพทย์สนุกสนาน’ และ ‘คุณยายกายสิทธิ์’ มารวมไว้เช่นกัน
      พวกเขาบอกเล่าความคิดโดยรวมของงานชุดนี้เอาไว้บนปกเทปและแผ่นเสียงว่า
      “เฉลียงหลังบ้านคนไทยนั้น มักใช้เป็นที่เก็บข้าวของที่แขกไม่เห็น แต่ของที่อยู่หลังบ้านนั้นล้วนเป็นของจำเป็นทั้งสิ้น เช่น ครก ไห ตุ่ม รองเท้าแตะ กะละมังแช่กางเกงใน
      ในขณะที่เฉลียงหน้าบ้านเป็นที่ที่ใครผ่านไปมาก็พบเห็น แต่สำหรับญาติมิตรที่สนิทสนมแล้ว คนไทยก็พาไปรับแขกถึงเฉลียงหลังบ้านกันทีเดียว
      และคราวนี้เฉลียงก็เปิดหลังบ้านมาให้ดูกันละ ว่าเคยทำอะไรที่ใคร ๆ ไม่เคยเห็นบ้าง ที่จริงยังไม่หมดเสียทีเดียว
      แต่อันว่าคนเรานั้น กะละมังแช่กางเกงใน ซากรองเท้าขาดๆ ก็ควรจะเก็บให้มิดชิดสักหน่อยจริงไหม”
แม้จะเคยได้ยินเพลงส่วนใหญ่มาแล้ว

      แฟนเฉลียงต่างสงสัยไปตามๆ กัน เมื่องานชุด ‘เฉลียงหลังบ้าน’ วางแผง
      เพราะจู่ๆ ก็มีเพลง ‘กล้วยไข่ ภาค 3’ ปรากฏออกมาอย่างน่าแปลกใจ
      เนื่องจากที่ผ่านมา เฉลียงไม่เคยมี ‘กล้วยไข่ ภาค 2’ มาก่อน แล้วภาค 3 มาได้อย่างไร?
      เรื่องนี้ ประภาส ชลศรานนท์แถลงเอาไว้ว่า
      “ภาค 2 ไม่มี มีแต่ภาค 3 เพลงนี้ไม่ใช่ภาคต่อของกล้วยไข่ แต่เอากล้วยหวีหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากับตัวหารของคนมาเป็นสัญลักษณ์...ผมชอบคำกล่าวของ คานธี อยู่ประโยคหนึ่ง ท่านบอกว่า โลกนี้มีทรัพยากรมากพอที่จะเลี้ยงคนทั้งโลก แต่มีไม่มากพอที่จะสนองตัณหาของคนเพียงคนเดียว”

      กิจกรรมทางการตลาด-การโปรโมตเทปของ ‘เฉลียงหลังบ้าน’ น้อยลงกว่า ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ และ ‘เอกเขนก’ เพราะเริ่ม ‘ไม่ค่อยว่าง’ กันมากขึ้น
      มีการทำมิวสิกวิดีโอเพียงเพลง ‘เก็บใจ’ ที่สวยซึ้งฮือฮาที่สุดในยุคนั้น เพราะได้พี่ต๊อบ-สหัสชัย ชุมรุม มาเล่นกับพี่แว้-ภาวดี พยุงเวช และ เพลง ‘คุณยายกายสิทธิ์’ ซึ่งถ่ายทำที่บ้านบางแค
      ช่วงนั้นเฉลียงกลายเป็นที่เอ็นดูของคนชรา เพราะไปถ่าย 2-3 เที่ยว และหลังๆ ยังไปเยี่ยมกันอีกหลายครั้ง
      ส่วนเพลงเทวดาตกสวรรค์ ก็ใช้การตัดต่อจากละครที่ออกฉายไปแล้วก่อนหน้านั้น

      เฉลียงปิดหลังบ้านลงด้วยคอนเสิร์ต ‘หัวบันไดไม่แห้ง’ ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531
      เป็นคอนเสิร์ตครั้งที่มีแขกรับเชิญมากที่สุด เพราะแต่ละคนต่างก็เชิญแขกของตัว เกียรติศักดิ์ เชิญ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ผู้แสดงเป็น ‘เทวดา’ ในละคร มาร้องเพลง ‘เทวดาตกสวรรค์’
      ศุ ผู้ชื่นชอบเพลง ‘รางวัลแด่คนช่างฝัน’ เป็นพิเศษ ได้เชิญ จรัล มโนเพ็ชร เจ้าของเพลงมาร่วมร้อง และจรัลก็แถมเพลง ‘มิดะ’ ให้ โดยศุเป่าเมาท์ออร์แกนคลอ
      วัชระ ชวน พี่ตู้-จรัสพงศ์ สุรัสวดี ที่เคยโด่งดังใน ‘เพชฌฆาตความเครียด’ ด้วยกัน มาเล่นโฟล์กซองทบทวนความหลัง
      นิติพงษ์ได้รับเกียรติจาก บุษยา รังสี มาร้องเพลงคู่สไตล์ สุนทราภรณ์ ให้รุ่นหลานๆ ฟัง
      และภูษิต ก็ดวลเพลงบรรเลงกับ พี่ต๋อง-เทวัญ ทรัพย์แสนยากร แบบที่ผู้กำกับรายการคอนเสิร์ตถึงกับเหงื่อตก เพราะกลัวเล่นกันไม่เลิก

      แต่งานเลี้ยงงานฉลองใดๆ ถึงสนุกแค่ไหน ก็ไม่เคยที่จะไม่เลิกรา


อ่านต่อ...