ฉัตรชัย ดุริยประณีต
เป็นคนกรุงเทพฯ
เรียนชั้นประถมต้นที่โรงเรียนประสาทวิทยา


     ก่อนจะไปจบชั้นมัธยมที่เตรียมอุดมศึกษา และจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      เกิดและโตอยู่ในครอบครัวนักดนตรี จึงคลุกคลีกับดนตรีมาตลอดตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มเล่นดนตรีกับเครื่องดนตรีไทยเป็นครั้งแรก และมีความคิดที่จะทำเพลงของตัวเองมานาน
      สมัยเรียนธรรมศาสตร์ เคยพยายามเสนอเพลงไปตามค่ายเพลงต่างๆ สองสามค่าย
      “ทำเป็นเดโมไป แต่มันยังไม่ดีพอ ตรงจุดนั้นมันยังไม่ดีพอ ไม่พร้อมหลายๆ อย่าง”

      หลังรับปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์ ฉัตรชัยก็เข้าทำงานธนาคารไทยพาณิชย์ตามสายงานที่ร่ำเรียนมา และเขียนเพลงเสนอไปยัง ‘คีตา’ ค่ายเพลงน้องใหม่ในเวลานั้น จนกลายมาเป็น ‘ทาง’ ที่ทำให้เขาได้เดินเข้าไปร่วมงานกับเฉลียง
      “ตอนนั้นผมทำงานที่แบงก์ไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ผมมีความผูกพันกับเสียงเพลงก็จะแต่งเพลงเก็บไว้ ภายหลังนึกกระหยิ่มใจก็ส่งงานไปตามค่ายเพลงต่างๆ ในสมัยนั้น จนในที่สุดผม ส่งเทปผลงานตัวเองไปให้พี่ญานี ตราโมท ตอนนั้นพี่เขาทำงานที่แบงก์เหมือนกัน พี่ญานีก็ฝากต่อไปให้พี่ตุ้ม-ผุสชา โทณะวณิก จนสุดท้ายเทปม้วนนั้นก็มาถึงมือพี่จิก แล้วพี่จิกก็ทิ้งเทปผมไว้ที่ท้ายรถจนเวลาผ่านไปหลายเดือน
      อยู่มาวันหนึ่งพี่จิกจะขายรถ พี่เขาก็รื้อของ ก็ไปเจอเจ้าเทปม้วนนั้นนอนสงบอยู่ที่ท้ายรถ เขาคงสงสัยว่าเทปอะไรเลยเปิดฟังดู... เออใช้ได้... พี่จิกเลยเรียกผมมาช่วยทำเพลงให้คีตา”

      เพลงที่ฉัตรชัยเขียนส่งไปนั้น ได้ปรากฏอยู่ในอัลบั้มงานชุดแรกของพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ซึ่งรวมทั้งเพลง ‘ตัวสำรอง’ และ ‘อีกนาน’ เพลงรัก อกหัก คร่ำครวญ ที่โดนใจตลาดเข้าไปเต็มๆ ด้วย เมื่อเพลงดังระเบิด ก็ทำเอานักแต่งเพลงหน้าใหม่อย่าง ฉัตรชัย ดุริยประณีต ขนลุกเมื่อได้ยินคนร้องเพลงของเขาดังสนั่นในคอนเสิร์ตของพงษ์พัฒน์
      “(เพลง)ที่แต่งมา ในนั้นมันมีที่ไม่ใช่เพลงรักด้วย ผมแต่งเพลงรักไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์เลย แล้วเขาก็เลือกเอาแต่เพลงรักเพราะว่าตลาดเมืองไทย มองดูแล้วจะเห็นว่าเพลงรักคนจะรับได้ ง่ายกว่า”

      เมื่อผลงานเพลงผ่านการพิจารณาจากประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเนื้อร้องของบริษัทคีตาฯ ขณะนั้น ฉัตรชัยก็ได้รับคำชวนเข้าทำงานประจำในบริษัทคีตาฯ ทันที
      เขาจึงลาออกจากธนาคารหันมาทำงานเพลงเต็มตัว นั่งเขียนเพลงให้ศิลปินนักร้องในสังกัด ‘คีตา’ ได้พักใหญ่ๆ วันหนึ่งเขาก็ได้รับข่าวดี
      “ไปเจอพี่จิกที่ห้องอัดศรีสยาม พี่จิกก็ชวน ว่ามาอยู่เฉลียงไหม เอาไหม ก็ตกลงไป หลังจากวันนั้นพี่จิกก็พาไปรู้จักกับคนโน้นคนนี้
      ยังจำได้ วันที่พี่จิกพาไปหาพี่เจี๊ยบครั้งแรก แกเป็นพิธีกรคอนเสิร์ตเยื่อไม้อยู่ที่โรงละครแห่งชาติ เห็นครั้งแรกกลัวมาก พี่เจี๊ยบยืนเท้าสะเอวมองหน้า เจอครั้งแรกก็ประชดเลย รู้สึกว่าแกดุจัง
      พี่แต๋งเจอตั้งแต่แรกที่เข้าไปอยู่คีตา รู้สึกว่าแกใจดี ส่วนเกี๊ยงเจอกันที่ห้องอัด แรกๆ ไม่รู้จะทำยังไงกับมันเพราะมันไม่พูดอะไรเลย ดูเหมือนไม่ไว้ใจใคร
      หลังจากนั้นได้ร่วมงานกัน ก็รู้ว่าจริงๆ แล้วพี่เจี๊ยบใจดีทำเป็นดุไปงั้นเอง ส่วนการทำงานทำเพลงก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะตอนที่ไปคุยกับพี่จิกก็ทำความเข้าใจกัน เรื่องแนวเพลง เรื่องอะไร พวกนี้กันแล้ว”

      ในขณะที่ประภาสบอกเล่าถึงเหตุผลการชวนฉัตรชัยเข้ามาเป็นสมาชิกคนใหม่ของเฉลียงว่า
      “ถูกชะตาอย่างเดียวเลย ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่น คุยๆ ถูกชะตาก็ชวน ตอนนั้นคิดๆ อยู่ว่าเฉลียงจะออกเทปกันอีก แต่มีแค่ 3 คน น้อยๆ ยังไงไม่รู้ ก็คิดจะหาเพิ่มอยู่เหมือนกัน”
      แล้วฉัตรชัย ดุริยประณีต ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเฉลียง วงดนตรีที่เขาเคยฟังเพลงผ่านหูมาตั้งแต่สมัยนุ่งขาสั้น
      “ชุด ‘ปรากฏการณ์ฝน’ น่ะ เคยฟังตั้งแต่สมัยมัธยม นานมากแล้ว มันก็แปลกดี รู้สึกว่ามันตลก ชอบเพลง ‘ใยแมงมุม’ ที่สุด
      หลังจากนั้นก็ฟังนะ เฉลียงชุดหลังๆ นี่ แต่ผมไม่ได้เป็นแฟนเพลงจริงๆ ถึงขนาดขวนขวายหามาฟังให้ได้”

อ่านต่อ...