ต่างบ้าน ต่างคน บนเฉลียง

      ต้นปี 2542 ประภาสได้รับการติดต่อ มีคนอยากขอนำเพลงเฉลียงมาร้องใหม่ เป็น Tribute(ทริบิวท์) แด่เฉลียง โดยให้นักร้องรุ่นใหม่ที่มีความชื่นชอบในเฉลียงอยู่เป็นทุนมาร้องเพลงเหล่านั้น
      ไม่มีเรื่องค่าย ไม่มีสังกัด มากันด้วยใจจริงๆ
      เขาตอบตกลงไปด้วยความรู้สึกที่ว่า
      “ก็อยากฟังเท่านั้นเอง การที่ศิลปินคนหนึ่งเอางานของศิลปินอีกคนไปทำต่อ มันเหมือนการตีความ การตีความของงานศิลปะเราไม่ควรไปไกด์ ไปแนะแนว รู้สึกว่าตื่นเต้นกระหายที่จะฟัง ว่าเขาตีความของเราออกมาเป็นยังไงมากกว่า”

      เฉลียงคนอื่นๆ รับข่าวนี้ด้วยความรู้สึกคล้ายๆ กัน ภูษิตให้ความเห็นว่า
      “ผมเชื่อว่า อะไรก็ตามที่ทำด้วยความศรัทธา มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย มันคงตอบสนองในผลงานนั้นดีพอสมควร อาจจะดีมากขึ้นไปอีกเพราะว่าคนที่มาร้องไม่ใช่เฉลียง อาจจะดีกว่าก็ได้เพราะไม่ใช่แปลว่าเฉลียงดีที่สุด
      ไม่ได้คิดว่า(เฉลียง)จะเป็นประวัติศาสตร์อะไรหรอก เพียงแต่ว่าในขณะนั้นเรารวมกันได้ รวมความคิดกัน คนแต่งเพลงเขาแต่งออกมาชนิดหนึ่ง เราก็พรีเซนต์ออกไปให้ตรงความคิด คนเขามองว่าไม่เหมือนคนอื่นมั้ง เขาก็คงให้เป็นประวัติศาสตร์ แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรให้ดนตรีเมืองไทยหรอก...”

      ส่วนเกียรติศักดิ์นั้นไม่แปลกใจแต่ตื่นเต้น เพราะ
      “เคยคิดไว้ตั้งนานแล้วว่าสักวันหนึ่งคงจะมาถึง เพราะในต่างประเทศก็เป็นอย่างนี้ คือวงเก่าๆ ไป พอสักวันก็จะมีรุ่นใหม่ๆ เอาเพลงมาทำใหม่แล้วก็มีสีสันแปลกออกไป ซึ่งสนุกดี เพราะว่า มันต่างจากของเดิมค่อนข้างจะสิ้นเชิง แล้วก็มีสีสันเพิ่มเข้ามาเยอะก็เลยคิดในใจว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาของเฉลียง...ก็ตื่นเต้นว่า เอ้อ! จะได้ฟังแล้วที่มีคนอื่นเอาไปทำ เพราะอยากจะฟังเหมือนกัน...”

      ขณะที่นิติพงษ์บอกว่า
      “ความจริงพวกเราร่วมทำกันอย่างสนุกๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นมาสเตอร์พีซหรืออะไร แต่มันจะเป็นก็โอเค ก็ขอบคุณที่เห็นราคามัน”

      และศุให้ความเห็นว่า
      “ไม่คาดหวัง...ก็รอฟัง เราก็เป็นคนฟังคนหนึ่ง...ก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่ที่ยกย่อง ก็ต้องดูว่าเขายกย่องจริงไหม บางคนเขาบอกว่า(เฉลียง)ปัญญาอ่อนดี ตลกดี ก็ยกย่องที่เนื้อหา...ถ้าชอบจริงก็ดีเพราะมันก็น่าชอบอยู่หรอก”
.......................

      เมื่อ ‘ทริบิวท์เฉลียง’ สำเร็จออกมา ประภาสได้ให้ทรรศนะหลังจากฟังเพลงทุกเพลงแล้วว่า
      “รู้สึกเหมือนมีของแข็งๆ มากระแทกใส่ท้ายทอย เป็นงานศิลป์ที่โลดโผนโจนทะยานทีเดียว”

      ‘ทริบิวท์เฉลียง’ ใช้ชื่ออัลบั้มว่า ‘คนอื่นๆ อีกมากมาย ต่างบ้าน ต่างคน บนเฉลียง’ อำนวยการผลิตโดย โรจน์ชนา วโรภาษ
เพลงที่ถูกเลือกมาบรรจุไว้ก็คือ
     ต้นชบากับคนตาบอด : ร้องโดย Nursery Sound
     เข้าใจ : ร้องโดย เดอะมัสต์
      นิทานหิ่งห้อย : ร้องโดย สุภัทรา อินทรภักดี
      เก็บใจ : ร้องโดย สี่เต่าเธอ
      รู้สึกสบายดี: ร้องโดย วรรธนา วีรยวรรธน
      ยังมี : ร้องโดย เชษฐา ยารสเอก
      กล้วยไข่ : ร้องโดย วงซับใน
      อื่นๆ อีกมากมาย : ร้องโดย จิโรจ วรากุลนุเคราะห์
      นายไข่เจียว : ร้องโดย สลัด
      เที่ยวละไม : ร้องโดย บุ๋มบิ๋ม
      เธอกับฉันกับคนอื่นๆ : ร้องโดย ละอองฟอง
      คนดนตรี : ร้องโดย ซิลลูเอท
      หวาน : ร้องโดย ป้อม ออโตบาห์น และปื๊ด อินโนเซนต์
      ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน : ร้องโดย มาม่า บลูส์
      เข้าใจ : ร้องโดย ระวิวรรณ จินดา
      ง่ายๆ : ร้องโดย บ็อกเซอร์
      อยากมีหมอน : ร้องโดย ธานินทร์ เคนโพธิ์
      เอกเขนก : ร้องโดย คิดเนปเปอร์
      ถูกโฉลกเธอ : ร้องโดย วาสนา
      กว่าจะถึงพรุ่งนี้ : ร้องโดย เล็ก วงพราว
     ฝากเอาไว้ : ร้องโดย วิยะดา โกมารกุล ณ นคร
     เร่ขายฝัน : ร้องโดย น็อน ทอคซิก

....................

      ปลายปี 2542 สถานีโทรทัศน์ช่องเพลง Channel V ทำรายการ Music History ขึ้น เพื่อกล่าวถึงนักดนตรีและวงดนตรีที่มีบทบาทต่อเพลงไทยยุคใหม่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
      เป็นการ ‘สรุป นักดนตรีผู้มีบทบาทและสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้นในวงการเพลงไทย’ ก่อนที่ศตวรรษที่ 20 จะผ่านไป
      และเฉลียงคือหนึ่งในนักดนตรีที่ Channel V หยิบยกขึ้นมาทำรายการ 1 ตอน เช่นเดียวกับ เรวัต พุทธินันทน์ ธงไชย แมคอินไตย์ อัญชลี จงคดีกิจ ไมโคร ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ คาราบาว คาราวาน โมเดิร์นด็อก ฯลฯ

      บทเกริ่นนำและคำปิดท้ายของ Music History ตอน ‘เฉลียง’ เป็นความเดียวกันคือ
      “เพลงแบบเฉลียง ดนตรีแบบเฉลียง ภาษาแบบเฉลียง อารมณ์ขัน สาระความคิดไม่สิ้นสุด ครั้งหนึ่งเพลงไทยเคยมีเพลงแบบเฉลียง และจนถึง วันนี้ สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นอีกครั้ง หรือแม้แต่ใกล้เคียง”

อ่านต่อ...