วัชระ ปานเอี่ยม
เรียนจบชั้นประถมต้นที่โรงเรียนภาสะพงษ์
แล้วไปต่อมัธยมที่สาธิตเกษตรฯ

      ผลการเรียนดีเยี่ยมมาตั้งแต่นุ่งขาสั้นอยู่ที่โรงเรียนภาสะพงษ์ สอบได้ที่ 1 ทุกปี ได้ทุนเรียนดีมาตลอด จนมาอยู่สาธิตเกษตรฯ ก็ยังสอบได้คะแนนเยี่ยม เขาเล่าให้ฟังว่า
       “ได้รับเกียรติบัตรเรียนดีทุกปี เรียบร้อยมาก เด็กเรียน ได้ทุนด้วย บางปีขึ้นรับ 3 รอบ คือเรียนดี ทำชื่อเสียงให้โรงเรียน และรับทุน”
       “มีชีวิตในโรงเรียนที่ไม่โลดโผน เป็นเด็กเรียบร้อย แต่งตัวถูกระเบียบตลอดเวลา“
       นอกจากตั้งใจเรียนแล้วเขายังชอบร้องเพลง หัดร้องมาตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เพลงที่สอนตามโรงเรียนก็เพลงไทยเดิม ลาวดวงเดือน ฯลฯ ร้องมาตั้งแต่ ป.4 ป.5 หัดร้องกับวิทยุ พวกหาดผาแดงของวินัย จุลบุษปะ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลงในหนังบ้าง ลูกเอื้อนอาจจะได้มาจากไพรวัลย์ ลูกเพชร ดังนั้นในวิชาขับร้องเขาก็จะได้ที่ 1 มาด้วย
       แต่เสียงเพลงของเขาไม่ค่อยจะถูกใจผู้ใหญ่ที่บ้านสักเท่าไหร่
       “พยายามจะหัดร้องให้เหมือนชาวบ้านเขาบ้าง แต่มันไม่เหมือน พยายามอัดเทปเปิดฟังในบ้าน (ผู้ใหญ่เขาบอก) เฮ้ย! อย่าร้อง เลย เสียงเหมือนเป็ด แบนแต๊ดแต๋ เพราะที่บ้านนี้เขาเน้นเสียงทุ้มเป็นหลัก นักร้องต้องเสียงทุ้มแบบสุเทพ วงศ์กำแหง อะไรแบบนี้”
        ในเรื่องเพลงนั้น วัชระ ปานเอี่ยมได้รับอิทธิพลจากน้าชาย มากที่สุดกว่าคนอื่นๆ ในบ้าน
       “เต็มที่เลยก็สุนทราภรณ์” เขาว่า “ตอนนั้นน้าชายเขาชอบ สุนทราภรณ์ ก็จะซื้อแผ่นเสียง ซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับสุนทราภรณ์มา อ่าน เราก็เลยเอาแผ่นมาแอบเปิดฟัง ก็เลยชอบสุนทราภรณ์”
       “กระทั่งหาวิทยุไปเปิดที่หัวนอนของตัวเองได้ เปิดไปเจอพวก ดิ อิมพอสสิเบิ้ล พี.เอ็ม.ไฟว์ของดอน สอนระเบียบ เฮ้ย! มันไม่เห็นเหมือนสุเทพ วงศ์กำแหง ไม่เห็นเหมือนชรินทร์ นันทนาคร อะไรพวกนี้ ฟังแล้วดูดีจังเลย
       “แล้วก็ชอบดูหนังไทย ชอบหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มี วงดิ อิมพอสสิเบิ้ลเล่นด้วย เช่น โทน เจ้าลอย ค่าของคน ระเริงชล
       “ชอบเสียงพี่ต้อยเศรษฐา ไม่เหมือนใครและไม่ต้องเหมือนใครด้วย ก็พยายามหัดเล่น เริ่มสนใจกีตาร์ ไปยืมกีตาร์อั๋นมาหัด แต่ไม่ได้เข้าวงกับใครเขา ตอนนั้นเพื่อนๆ เล่นเพลงฝรั่งกัน แต่เรานี่พวกดีดกีตาร์ร้อง ‘สุขาอยู่หนใด’ ให้สาวๆ ฟัง”

       ในปีการศึกษา 2521 วัชระสอบเอ็นทรานซ์ติดสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้อย่างสบายๆ
       “เลือกเรียนสถาปัตย์นี้ไม่ได้ฝันอะไรเลย เลือกตามไอ้อั๋น” เขาหมายถึงวัชระ แวววุฒินันท์ เพื่อนจากสาธิตเกษตรฯ
       “ไม่รู้จะเรียนอะไร เราเรียนวิทย์ เรียนชีวะ ฟิสิกส์ แล้วดัน ได้ดีทุกวิชา แล้วกูจะเรียนอะไรวะ
พ่อเขาให้เรียนหมอ มันยากน่ะ คงต้องใส่แว่นตาหนาๆ เลือกไป 2 แห่ง หมอเชียงใหม่ ทันตะเชียงใหม่ อีก 3 อันดับก็เลือก ตามไอ้อั๋น สถาปัตย์ จุฬาฯ, ศิลปากร, เทคโนฯ”

       

       แล้วเขาก็ได้เดินเข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ พร้อมกับ ‘ไอ้อั๋น’ คน ที่นุ่งกางเกงแดงมามหาวิทยาลัยในวันแรกพบนั่นเอง
       เมื่อรู้จักกันแล้ว บรรดาน้องใหม่ก็เริ่มจับกลุ่มกับคนที่ต้องชะตา
      นิติพงษ์กลายเป็นหัวโจกของ ‘กลุ่มเดพ’ ขาใหญ่ในชั้นปี เขาเล่าให้ฟังว่า
       “สมาชิกกลุ่มเดพจะมี ดี้ เอ๊ะ ปาน ตั้ว ไม่รู้ใครเป็นต้นคิด กลุ่มนี้ขึ้นมา ตั้งขึ้นมาหลังจากเจอกันประมาณ 3-4 เดือน ชื่อเดพ (D.E.P.T.) ก็ย่อมาจากดี้ เอ๊ะ ปาน ตั้ว นี่แหละ
       มันแปลกที่ว่าผมได้เป็นหัวโจก อยู่ที่ไหนไม่เคยได้เป็นหัว โจก มีแต่เป็นตัวลูกล่อลูกไล่ตลอด มาอยู่ที่นี่กลายมาเป็นหัวโจกได้ยังไงก็ไม่รู้”
       “แต่ 4 คนนี่แจ๋วสุดแล้ว” นิติพงษ์ย้ำอย่างกับกลัวคนฟังไม่เชื่อ “ไอ้เอ๊ะ นี่ตัวเสียงดัง กวนตีน ปานนี่ประมาณนักเลงหน่อย ใจถึง ตั้วก็เสียงดัง ชอบแซวผู้หญิง แล้วทำตัวเก๋าสุดขีดในรุ่น”
        ตั้วคนนี้คือศรัณยู วงษ์กระจ่างนั่นเอง
       “ตอนแรกๆ นี่จิกยังไม่ค่อยเกี่ยวกับพวกเราเท่าไหร่ เจอกัน วันแรกก็กวนตีน มองๆ ยิ้มๆ กันอยู่ แล้วจิกก็ไปสนิทกับอั๋น” นิติพงษ์เล่าต่อ
       “ไปรู้จักกันจริงๆ ในงานเลี้ยงน้องชั้นปี เฮ้ย! ไอ้จิกมันร้อง เพลงอะไรวะ สนุกดี ไอ้นี่มันน่ารักดีโว้ย เราก็เล่นกีตาร์กัน ตั้งแก๊งค์ ร้องเพลงกัน แล้วจิก อั๋น ก็เข้ามาอยู่ในกลุ่ม”
       เพลงที่จิกนำมาร้องเล่นกับเพื่อนๆ ใหม่ของเขาคือเพลงที่ แต่งไว้เองตั้งแต่เรียนมัธยม อย่าง ‘กล้วยไข่’ และ ‘ศรรัก’

       เมื่อ ประภาส ชลศรานนท์ กับ วัชระ แวววุฒินันท์ เข้ามา เป็นสมาชิก ชื่อกลุ่มจึงได้เปลี่ยนจาก ‘เดพ’ ไปเป็น ‘เดพ แอนด์ จู๋’
       “จู๋ คือ JU - จิกและอั๋น “
       ส่วนเจี๊ยบ-วัชระ ปานเอี่ยมนั้นตามเข้ามาทีหลัง เพราะช่วง แรกๆ เป็นเด็กดี เลิกเรียนแล้วก็กลับบ้านเลย
       “ก็เริ่มสนิทกันเรื่อยๆ ตอนหลังก็มีเจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม) อีกคนเข้ามา มันชอบร้องเพลง ไอ้จิกนี่ก็ชอบร้องเพลง ไอ้อั๋นนี่ซ่า ชอบแสดงออก พวกซ่าทั้งนั้น ก็เลยรับไว้เป็นเพื่อนแก๊งค์เดียวกันหมด” นิติพงษ์บอก
       “เป็นกลุ่มที่เละ! ที่สุด แต่ไม่ได้เละเทะแบบเลวร้ายนะ คือ กวนตีนสุดๆ กวนนี่ ไม่ใช่ก้าวร้าว คือแบบเละเทะ หยำเป โง้งเง้งๆ โป้งป้างๆ เรื่อยเปื่อยไปเรื่อย เป็นกลุ่มที่แรดที่สุดในจุฬาฯ เดินไปไหนใครก็เกลียด เพราะซ่ามาก ตัวก็เหม็น เพราะน้ำไม่อาบ
      “ เวลาไปแข่งกีฬากับคณะอื่น เราไปเชียร์ พอเราแพ้เราก็ร้องเพลง จะเอาชนะกันไปทำไมให้ป่วยการ สู้นอนอยู่กับบ้านสบายใจกว่า“
       “คือไม่สนใจ มึงชนะไปก็ไม่มีค่า กูแพ้สนุกกว่า คนก็หมั่นไส้ เป็นกองเชียร์ที่คนหมั่นไส้กันมาก จนกระทั่งหนังสือพิมพ์สติวเดนท์ วีกลีย์ เอารูปกองเชียร์ชุดนี้ไปลงว่าพวกนี้เป็นบ้าอะไรกัน ซ่ากันได้ถึงขนาดนั้น”

  

       เรื่องเรียนดูจะเป็นเรื่องรองสำหรับพวกเขาในขณะนั้น เพราะเมื่อมาถึงคณะ ก็มักจะปักหลักนั่งแช่ คุย เล่น กันอยู่ที่โรงอาหารใต้ถุนตึกเรียนหรือร้านอาหารข้างคณะเสียมากกว่า และยังเน้นทำกิจกรรมต่างๆ เป็นหลักด้วย
       เดี๋ยวออกค่าย เดี๋ยวกีฬา ละคร ลูกทุ่งสถาปัตย์ ฯลฯ มี กิจกรรมทั้งปี
       ประภาสเล่าถึงเวลาในช่วงนั้นว่า
       “แทบจะไม่ได้เรียนกันเลย เป็นพวกสปิริตแรง ทำอะไรทำด้วยกัน แต่ละคนคิดทำโน่นทำนี่ คิดต่างๆ กันไป เป็นพวกฟุ้งซ่าน
      “ เราเป็นพวกไม่มีทฤษฎี อยากทำอะไรทำเลย ไม่ต้องกลัวเสียฟอร์ม ว่าทำโน่นทำนี่ไม่ได้ ผิดทฤษฎีการละคร เราไม่มี เราบ้า
      “ เราอยากทำแบบนี้แบบนั้น ทำเลย และพวกเยอะ รู้จักพวก อักษรฯ ก็ไปดูเขาทำงาน ดนตรีก็มีเพื่อนในคณะครุฯ ดนตรี ทำโรง ละครเอง ตอกฉากเอง ทาสีเอง เอาวิชาวางแผนก่อสร้างมาใช้ในการทำงาน
      “ เช่น ไปเช่าเก้าอี้วัดมาทำเป็นอัฒจันทร์ขึ้นไปเลย ไม่มืดพอเอาผ้าดำมาคลุม ยุงชุมต้องเอาดีดีทีมาพ่น แก้ปัญหาไปทีละจุดแล้วนอนกันที่คณะเลย”
       “หนุ่มๆ รุ่นเดียวกันนิสัยใจคอคล้ายกัน รวมกันมากๆ มันเลยเหมือนกองทัพ ดูละครก็บ้ากันทั้งกลุ่ม
       “แห่กันไปดูหนังแล้วมาถกกัน บางวันดู 3 เรื่องติดกัน ออกมาเมื่อยตูดแทบตาย
      “ เป็นการลองผิดลองถูก บางทีก็ไปเล่นละครให้คณะอักษร เล่นเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็นสนามชีวิตให้ลอง ตั้งแต่ ละครเล็กๆ ในหอประชุมจุฬาฯ จนถึงสร้างโรงละครเอง
      “ ฝันกันแต่จะสร้างงานศิลป์ จากตรงนั้นเราได้อะไรเยอะมาก”

อ่านต่อ...