ความคิดเห็นที่ 8
(เพิ่งจะ) โหมโรง (หลังจากสิบปีผ่านไป)
จาก หนังสือแพรว
ไม่น่าเชื่อว่าเวลาจะผ่านไปแล้วถึงสิบปี หลังจากที่อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ทำหนังเรื่องแรก ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด จะว่าเป็นเพราะหนังไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เด็ดขาด เพราะทำรายได้ไม่เลว และยังได้รับรางวัลอีกพอสมควร โดยเฉพาะรางวัลหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิง
แต่สิบปีที่ผ่านไป ฝีมือของอิทธิสุนทรได้รับการขัดเกลาให้เฉียบคมยิ่งขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นจาก โหมโรง หนังเรื่องที่สองของเขา ถ้าการปลีกวิเวกไปอยู่ในแวดวงอื่นกลับมาทำหนังเมื่อพร้อมที่จะทำจริงๆ แล้วทำให้ได้ผลงานที่ดีอย่างนี้ ก็เป็นการสมควรอยู่ แต่ชั่วชีวิตนี้อิทธิสุนทรจะทำหนังได้สักกี่เรื่อง
อย่างที่บอกไว้ในไตเติ้ล โหมโรง ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่เนื้อเรื่องและตัวละครแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด ศรเป็นลูกของครูดนตรีบ้านนอก มีชื่อเสียงโด่งดังด้านระนาดเอก มีวิธีการเล่นเป็นทางเฉพาะของตนเอง เป็นครูดนตรีที่มีผู้นับหน้าถือตาทั่งทั้งประเทศ แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ครูศรก็ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย จนแม้เมื่อก้าวขึ้นมาจนถึงตรงนี้แล้ว ครูศรก็ยังเจอกับอุปสรรคที่คาดไม่ถึงจากนโยบายทางการเมืองอีก
เนื้อเรื่องเดินควบคู่สลับกันไประหว่างช่วยรัชสมัยของพระพุทธเจ้าหลวงกับสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 7 จนถึงยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยและสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 8 อันเป็นบั้นปลายของชีวิตของครูศร ช่วงแรกนั้นเป็นการดิ้นรนของเจ้าศร ลูกครูดนตรีจากอัมพวาที่จะเป็นมือระนาดเอก ถึงจะมีอุปสรรคอยู่บ้างก็ก้าวล่วงได้ไม่ยากนัก พ่อไม่อยากให้ศรเล่นดรตรี เพราะพี่ชายที่เป็นมือระนาดเอกเหมือนกันถูกคู่แข่งลอบทำร้ายจนตาย แต่ในที่สุดก็ต้องใจอ่อนเมื่อเห็นความมุ่งมั่นของลูกชาย และเมื่อฝึกปรือจนเข้าไคลแล้ว ศรก็ได้ไปเป็นมือระนาดเอกในวังของเสด็จพระองค์หนึ่ง ในช่วงนี้ชีวิตของครูศรก็มีแต่ผู้คนนับหน้าถือตา เมื่อเจ้าศรค้นพบแนวทางในการเล่นระนาดของตนเอง ครูศรก็เดี่ยวระนาดคู่กับเปียโนของลูกชาย
ความผกผันเกิดขึ้นเมื่อศรพบว่าแนวทางของตนนั้นถูกครูดนตรีในวังเสด็จหาว่านอกคอก และปัญหายิ่งหนักขึ้นเมื่อศรรู้ตัวว่าจะต้องประชันฝีมือกับขุนอิน มือระนาดเอกชั้นเซียนที่เคยสร้างความหวาดหวั่นให้ตนเองมาแล้วครั้งหนึ่ง ทำเอาศรเกือบจะเสียผู้เสียคนไปเลย ในขณะที่ครูศรก็ต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และระเบียบกฎเกณฑ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสมัยท่านผู้นำที่ต้องการจะให้ไทยได้เป็นมหาอำนาจด้วยวิธีการที่ดูน่าขันสำหรับคนสมัยนี้ แต่เป็นความทุกข์ยากของคนในสมัยนั้น
สุดท้ายไคลแม็กซ์ของเรื่องอยู่ที่การดวลระนาดกันระหว่างศรกับขุนอิน และครูศรเล่นระนาดกล่อมใจนายตำรวจผู้นิยมดนตรีฝรั่ง ใครจะคิดว่ามีคนไทยที่หนังที่มีไคลแม็กซ์อย่างนี้ได้เหมือนกัน
ที่ต้องชมกันเป็นปฐมก็คือความกล้าที่จะนำเรื่องแบบนี้มาทำเป็นหนัง เพราะดูจะไม่ถูกตลาดอย่างแน่นอน จุดขายเรื่องดนตรีไทยโดยเฉพาะระนาดเอกนั้น ไม่น่าจะเป็นจุดแข็งแรงในตลาดหนัง ไม่ว่าสมัยนี้หรือสมัยไหนไม่ว่าในเมืองไทยหรือต่างประเทศ จะมีก็แต่เฉพาะในแวดวงของคนดูหนังนอกกระแสเท่านั้น ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่โปรเจ็คก์ของพร้อมมิตรร่วมกับฟิล์มหรรษาและกิมมิคฟิล์มของอิทธิสุนทรเอง ก็คงจะไม่ได้สร้างหรอก ต่อมาที่ต้องชมก็คือฝีมือการเขียนบทที่นำเอาเรื่องราวสองยุคสองสมัยมาดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างน่าสนใจ สะท้อนภาพซึ่งกันและกันได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ โดยยังรักษาโครงหลักของการเดินเรื่องเอาไว้อย่างสมบูรณ์
เมื่อสักสามสี่ปีก่อน ผมเคยดูละครทีวีของบริษัท เป่าจินจง เรื่อง ทิพยดุริยางค์ ซึ่งเป็นเรื่องของดนตรีไทยเหมือนกัน เป็นละครทีวีเรื่องเดียวที่ผมติดตามดูตั้งแต่ต้นจนจบ จะขาดหายไปก็เพียงไม่กี่ตอน วันที่ละครตอนสุดท้ายจบลง ผมโทรศัพท์ไปหาแม่ของผู้กำกับ บอกท่านว่า ผมยังร้องไห้อยู่เลย แต่สำหรับความนี้ การได้ดูหนังในโรงที่ระบบเสียงสมบูรณ์กว่าทีวีบ้านผมหลายร้อยเท่า คำว่า ทิพยดุริยางค์ ก็กระจ่างชัด ผมมีความจำเป็นต้องออกจากโรงก่อนจบเครดิตตอนท้ายเรื่อง เพราะผู้ชมคนอื่นๆ เขาออกไปกันหมดแล้ว พนักงานโรงหนังก็มายืนเฝ้าคอยปิดประตูเตรียมสำหรับรอบต่อไป ก็เลยไม่มีโอกาสจะได้รู้ว่าเสียงทิพยดุริยางค์ที่ผมได้ฟังจากหนังนั้นเป็นฝีมือของใคร แต่ก็น่าปลื้มที่เรายังมีดนตรีไทยฝีมือขนาดนี้หลงเหลืออยู่ในประเทศ และก็เชื่อว่าเราคงไม่หมดกันกันแค่รุ่นนี้หรอก ส่วนที่น่าชมก็คือความวิริยสุตสาหะของผู้แสดง ทั้งอนุชิต สพันธ์พงศ์ และอดุลดย์ ดุลยรัตน์ ที่ฝึกฝนจนทำได้ถึงขั้นที่ราวกับว่าเสียงนั้นมาจากฝีมือของตนจริงๆ
ไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะมีแต่ดนตรีเพียงอย่างเดียวหรอก ยังมีความตื่นเต้นของภัยสงคราม ความคับขันจากการบีบคั้นทางการเมือง การชิงดีชิงเด่นให้คนดูได้ลุ้นระทึกกันพอสมควร แต่เหนืออื่นใดก็คือความตื่นเต้นทางดนตรี คงไม่มีใครสักกี่คนหรอกที่จะรู้ว่าดนตรีนั้นสามารถจะอ่อนหวาน พลิ้วไหว หรือดุดันจนถึงทำให้บ้าคลั่งและตายได้ ปี่พระอภัยของสุนทรภู่ไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ
แทบไม่ได้กล่าวอะไรถึงด้านเทคนิคของหนังและฝีมือในการทำหนังเลย แต่ลงถ้าทำให้ซาบซึ้งกับดนตรีได้ขนาดนี้ ฝีมือด้านการทำหนังจะพื้นๆ ได้ยังไงกันครับ
^_________^ โดยคุณ
:แต้วววว - [15:20:01 14 มี.ค. 2547] |