กระดานความรู้สึก


ย้อนรอย "โหมโรง"
บทบันทึกจากภาพยนตร์ “โหมโรง”
หนังสือแฮมเบอร์เกอร์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 35 (ปกฉัตรชัยกับพงษ์พัฒน์)
เรื่อง อิทธิสุนทร  วิชัยลักษณ์


ย้อนรอย โหมโรง
สิงหาคม 2544
ผมกำลังเขียนบทหนังรักอยู่เรื่องหนึ่ง นางเอกมีพ่อเป็นนักดนตรีไทย
เมื่อผ่านไปตามร้านหนังสือ ผมจึงลองซื้อประวัติครูดนตรีหลายๆ ท่านมาอ่านดู เผื่อจะมีข้อมูลอะไรมาใช้ในบทได้บ้าง
แต่เรื่องราวของครูดนตรีหลายท่าน กลับพาจินตนาการผมไปไกลกว่าที่คิด
ยิ่งเมื่อได้อ่านประวัติของ ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่เต็มไปด้วยฉากชีวิตที่มีสีสัน และสะท้อนภาพความเป็นมาของดนตรีไทย ในแง่มุมที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน
มันยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผมฝันถึงโปรเจกต์หนังเรื่องใหม่นี้ขึ้นมาแทน

กันยายน 2544
มีหนังเกี่ยวกับดนตรีหลายเรื่องที่ผมเคยดูไม่ว่าจะเป็น Amadeus, Crossroad, Immortal Beloved, Red Violin, Sweet & Lowdown, The Legend of 1900 หรือ Hilary & Jackie
ซึ่งทำให้ผมรู้จักกับ โมสาร์ท, บีโธเฟ่น คุ้นเคยกับเปียโน ไวโอลิน และได้รู้ที่มาที่ไปของเพลงบลู เพลงแจ๊ซ เพลงคลาสสิคมากกว่าสิ่งที่ผมรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยเสียอีก
คงดีไม่น้อย ถ้ามีหนังไทยที่พาคนดูไปรู้จักดนตรีไทยหรือนักดนตรีไทยได้อย่างนั้นบ้าง
ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน แต่ผมยังฝันถึงโปรเจกต์นี้อยู่

2 ตุลาคม 2544
การแสดงของวง BSO (Bangkok Symhony Orchestra) ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ในวันนี้ มีเพลงเอกของวงคือ “มหาราชาคอนแชร์โต” เป็นคอนแชร์โตที่แต่งขึ้นเพื่อโซโลระนาดโดยเฉพาะ
ผมได้เห็นระนาดเอกวางเด่นอยู่หน้าวงออร์เครสตร้าเกือบร้อยชิ้น มันสร้างความรู้สึกที่ทั้งยิ่งใหญ่ และตระการตา
เสียงกระหึ่มก้องของออร์เครสตร้า บรรเลงหนุนเสียงเจิดจ้าของระนาดเอก ที่บางช่วงอ่อนโยนเชื่องช้า บางช่วงดุดันรวดเร็วจนมองแทบไม่เห็นหัวไม้
ตลอดความยาว 19 นาที ของเพลงนั้น ผมตื่นตะลึงไปกับความมหัศจรรย์ของระนาดเอก
และเริ่มเชื่อในโปรเจกต์หนังเรื่องนี้มากขึ้น

8 ตุลาคม 2544
ผมแจ้งโปรดิวเซอร์ และผู้ช่วยว่า ขอพักโปรเจกต์หนังรักที่เตรียมงานกันอยู่เอาไว้ก่อน อยากลองเปลี่ยนมาเริ่มต้นโปรเจกต์ The Overture
คุณไหมและคุณปุ๋ยคงนึกด่าอยู่ในใจ ที่อยู่ๆ จะมาเปลี่ยนเป็นหนังพีเรียด แถมเป็นหนังชีวิตแล้วยังดันเป็นชีวิตนักดนตรีไทยซะอีก
แต่หลังจากเล่าโครงเรื่องของหนังให้ฟัง ทั้งสองคนเริ่มสนุกไปกับฉากต่างๆ และสุดท้ายก็กลายเป็นความตื่นเต้นที่จะได้ทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาแทน
โดยคุณ : ขอซักกระทู้ - [11:18:27  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 1
พฤศจิกายน 2544
โจทก์ข้อแรกสำหรับหนังเรื่องนี้ คือนักแสดงนำ
ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่า The Overture จะต้องเป็นนักระนาดตัวจริงเท่านั้น
ฝ่ายแคสติ้งเริ่มออกตระเวณไปทั่วทุกชมรมดนตรี ทุกสถาบันการศึกษา ทุกเวทีประกวด
นักระนาดวัยรุ่นกว่าร้อยคนทยอยมาทดสอบบทกันดังสนั่นหวั่นไหวทั่วบริษัท ส่วนใหญ่ฝีมือดนตรีนั้นหายห่วง แต่การแสดงและบุคลิกหน้าตายังไม่เจอที่โดนใจสักคน

ธันวาคม 2544
หลังแคสติ้งกันมาเดือนกว่า ทีมงานขอให้ผมเปลี่ยนวิธีโดยหานักแสดงที่บุคลิกตรงตามต้องการ แล้วค่อยมาฝึกสอนดนตรีกันทีหลัง
โอ อนุชิต นายแบบที่โดดเด่นจากโฆษณาน้ำอัดลม ผ่านเข้ารอบมาอย่างรวดเร็ว
จนมาถึงการแคสติ้งรอบที่สาม ทีมงานไปเช่าบ้านเรือนไทยถ่ายทำเพื่อให้ได้บรรยากาศ
แต่ผมยังลังเล เพราะโอไม่มีพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อนเลย

ธันวาคม 2544
ข้อมูลต่างๆ สำหรับเขียนบทและเตรียมงามจัดหามาจนเต็มบริษัท
เพื่อนพ้องที่ได้ข่าวต่างเป็นห่วงที่ผมเดินหน้าโปรเจกต์มาหลายเดือน ทั้งที่ยังไม่มีนายทุน และเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่าหน้าหนังแบบนี้ นายทุนที่ไหนจะสนใจ
ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องหน้าหนังเท่าไหร่นัก เพราะไอ้หน้าที่ว่าดีๆ ก็เห็นล้มเหลวกันไปเยอะ ไอ้ที่หน้าแปลกๆ แต่กลับเป็นที่นิยมก็มีอยู่เสมอ
หน้าหนังจึงไม่ใช่เครื่องรับประกันอะไร ผมเชื่อในหนังข้างในมากกว่า

ธันวาคม 2544
ผมไปที่โรงเรียนจิตรลดา เพื่อพบกับ อาจารย์ถาวร ศรีผ่อง ผู้เล่นระนาดเอกให้กับมหาราชาคอนแชร์โต ชวนให้มาเป็นผู้ฝึกสอนดนตรีแก่นักแสดง
ผมไม่ต้องการหลักสูตรการเรียนดนตรีปกติ แต่ต้องการหลักสูตรเร่งรัดสำหรับนักแสดง โดยให้เวลา 6 เดือน สำหรับการฝึกคนไม่เป็นดนตรีมาก่อนให้เล่นระนาดได้เหมือนอัจฉริยะ
อาจารย์มีข้อแม้ว่าต้องขอดูแววคนๆ นั้นก่อน ว่ามีทักษะทางดนตรีหรือไม่หรือมีโอกาสพัฒนาได้แค่ไหน
ถ้าไม่มีแววอาจฝึกกันไปเป็นปี โดยไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย
ทีมงานขอให้โอสละเวลาสัก 2 วัน เพื่อไปทดสอบดูแวว แต่ยังไม่รับปากว่าจะให้เล่นบทนี้หรือไม่
ภายหลังการทดสอบอาจารย์ถาวรแจ้งมาว่า โอจับไม้ครั้งแรกก็แววดีจนน่าแปลกใจ ถ้าได้เวลาอีก 6 เดือน คงจะทำได้ดีทีเดียว
นี่คงเป็นอานิสงฆ์ที่โอเป็นแดนเซอร์มาก่อน การรู้จักจังหวะของเพลง การหัดฟังเครื่องดนตรีต่างๆ อย่างแยกแยะ ช่วยให้เรียนรู้การเล่นดนตรีได้เร็วกว่าปกติ

12 มกราคม 2545
ถึงเวลาที่ควรจะมีผู้สนับสนุนเงินทุนอย่างจริงจังเสียที
ในที่สุด ผมก็หอบหิ้วโปรเจกต์เข้าไปคุบกับบริษัทพร้อมมิตรของท่านมุ้ย
ทีมงานรอลุ้นอยู่ว่า จะได้เดินหน้าทำงานต่อ หรือจะต้องหยุดชะงักรอหาทุนจากที่อื่นอีก
ผมกลับมาพร้อมข่าวดี
หม่อมกมลาตอบรับอำนวยการสร้างทันทีที่ผมเล่าโครงเรื่องให้ฟัง แทบไม่ต้องพรีเซนต์วีดิโอ หรือรูปที่เตรียมการไว้เลย
โดยคุณ :แต้ว - [11:20:00  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 2
กุมภาพันธ์ 2545
ผมเดินหน้าเต็มที่ ทีมงานฝ่ายต่างๆ ทั้งฉาก เสื้อผ้า สถานที่ ถูกตามเข้ามาเสริมจนครบทุกแผนก
ครูเอ้ อัษฎาวุธ ที่ปรึกษาทางดนตรี เริ่มทำเดโมและคัดเลือกเพลงให้ลงตัว
คุณ A และ คุณ ED สองพี่น้องนักวาดภาพประกอบมาช่วยวาดโปรดักชั่นดีไซน์ฉากสำคัญๆ
คุณติ้น มือวาดสตอรี่บอร์ดชั้นเซียนที่พี่อังเคิลแนะนำ ลงมือวาดฉากต่างๆ ให้ 20 กว่าฉาก
สตอรี่บอร์ดฉากดนตรี ถูกนำไปตัดต่อออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอ เพื่อเป็นไกด์ล่วงหน้าสำหรับการถ่ายทำ

เมษายน 2545
ผมติดต่อ คุณอ้อม ดวงกมล เพื่อให้มาช่วยดูแลการขายโปรเจกต์นี้ในต่างประเทศ
คุณอ้อมแสดงความประทับใจในเนื้อเรื่องมาก แต่ขอร่วมงานโดยนำบริษัทภาพยนตร์หรรษา (ที่เธอกำลังก่อตั้ง) เข้ามาร่วมลงทุนด้วยเลย
ทางพร้อมมิตรยินดีในข้อเสนอ The Overture จึงได้ผู้สนับสนุนเพิ่มมาอีกหนึ่งบริษัท
และไปๆ มาๆ บริษัท สหมงคลฟิล์ม ก็ก้าวเข้ามาช่วงลงทุนด้วยอีกหนึ่งแรง
โปรเจกต์หนังสวนกระแสเรื่องนี้ จึงมีค่ายหนังยักษ์ใหญ่มาร่วมสนับสนุนถึง 3 บริษัท

พฤษภาคม 2545
ฝ่ายโลเกชันเตรียมการให้ผมไปตระเวนดูสวนมะพร้าวแถวอัมพวาที่คัดเลือกไว้ราวๆ 10 แห่ง ซึ่งต้องใช้วิธีล่องเรือเข้าไปตามคลองแยกเล็กๆ
ทีมงานมอบตารางน้ำขึ้นน้ำลงเอาไว้ให้ผมเลือกวัน
ตั้งแต่เกิดมา เพิ่งจะต้องมาศึกษาเวลาน้ำขึ้นน้ำลงก็คราวนี้แหละ

มิถุนายน 2545
ฝ่ายแคสติ้ง แจ้งข่าวดีว่าพบคนที่เหมาะสมกับบทขุนอินแล้ว
หลังจากดูเทปการตีระนาดของ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า ที่ทีมงานไปถ่ายมา ผมตื่นเต้นมาก เพราะนี่คือขุนอิน เจ้าของเสียงระนาดดุดันทรงพลังตามที่ผมฝันไว้ทุกอย่าง
อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์อยู่ในตระกูลนักระนาดที่มีชื่อเสียง และเป็นมือวางอันดับหนึ่งอีกคนในวงการดนตรีไทย แต่ไอ้บทขุนอินที่ผมวางไว้นั้นค่อนข้างจะมีภาพพจน์ไปในทางร้าย ยังไม่รู้ว่าแกจะยอมมาเล่นให้หรือเปล่า
แกนั่งฟังผมอธิบายตัวละครตัวนี้ได้สักพัก ก็เป็นฝ่ายบอกเองว่า บทขุนอินนี่แหละคือตัวแก

มิถุนายน 2545
ผมโทรชวน พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ให้มารับบทนายทหารในหนัง
เกรงใจอยู่เหมือนกันที่ชวนมาเล่นแต่บทรับเชิญอยู่เรื่อย ครั้งที่ทำละครพระจันทร์ลายกระต่าย แกก็ยอมมาเล่นบทสมทบให้ บางฉากต้องนั่งเป็นแบ็กกราวนด์เฉยๆ ไม่มีบทพูดอะไรเลย
แต่บทผู้พันใน The Overture นี้ แม้จะปรากฎตัวเพียงไม่กี่ฉาก แต่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรือง ต้องการการแสดงที่เรียบง่ายแต่เข้มข้น ซึ่งถ้าผมเดาไม่ผิดคุณพงษ์พัฒน์น่าจะสนใจ

กรกฎาคม 2545
ผมนั่งทำดนตรีกับทีมงานกอไผ่ อยู่ในห้องอัดศรีสยาม เกือบถึงเช้าทุกคิว
คุณนิค ชัยภัค และวงกอไผ่ เป็นกลุ่มที่ผมหมายมั่น จะให้มาทำดนตรีไทยในหนังตั้งแต่แรก ผมตัดสินใจได้ถูกต้อง แต่พวกเขาอาจคิดผิดที่ต้องมาปวดหัวกับข้อจำกัดมากมายของงานภาพยนตร์
การเรียงเพลงในหนัง ต้งมีลำดับขั้นของอารมณ์ ต้องดูการเติบโตของตัวละคร
การเล่าเรื่องในฉากและเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องเข้มงวดกับความยาวของเพลง แค่ไหนยาวเกินไป แค่ไหนสั้นจนผิดแบบแผนดนตรีไทย
ความยากง่ายในการฟังก็เป้นปัญหาโลกแตก แบบไหนถึงจะรับได้ง่ายฟังได้ไพเราะ แบบไหนยากไปฟังไม่รู้เรื่อง แบบไหนน่าเบื่อ แบบไหนคึกคัก
บางครั้งผมจำต้องนิสัยเสีย แต่งตั้งหูของผมเป็นตัวแทนของหูคนดูหนังทั่วไปที่ไม่ได้เชียวชาญในการฟังดนตรีไทยนัก แล้วยกมือขอเป็นผู้ตัดสินใจ
ถ้ามีส่วนไหนที่ฟังแล้วไม่เข้าท่าหรือผิดที่ผิดทาง ผมคงต้องยกมือรับผิดแทนทุกคน
โดยคุณ :แต้ว - [11:22:11  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 3
กรกฎาคม 2545
ด้วยภาพพจน์ที่ดูดีมีสง่า ฝีมือการแสดงชั้นครู รวมทั้งโครงหน้าที่ใกล้เคียงกับ โอ อนุชิต คุณอาอดุลย์ ดุลยรัตน์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทีมงานหวังจะให้มารับบทพระเอกช่วงชรา
ผมกลัวว่า เงื่อนไขที่จะต้องมาฝึกดนตรีกันก่อนเป็นสิบวัน จะทำให้คุณอาปฏิเสธบทนี้
แต่ในที่สุด คุณอาก็ยินดีมาหัดเรียน ทั้งยังขอให้เราบอกยกเลิกได้ทันที ถ้าเห็นว่าฝีมือตีระนาดไปไม่รอด
วันแรกที่คุณอาเริ่มเรียน หลังจากนั่งหน้าระนาดได้ไม่นานก็เกิดอาการเหน็บชาไปทั้งขา ทีมงานใจคอไม่ดี แต่คุณยังยิ้มร่า ขอพักสักครู่ แล้วก็นั่งเรียนต่ออย่างตั้งอกตั้งใจ
ด้วยวัย 70 กว่าของคุณอา คงหานักแสดงที่ทุ่มเทให้กับงานแบบไม่ได้ง่ายๆ แน่

สิงหาคม 2545
สุเมธ องอาจ โทรมาหาผม แล้วแนะนำตัวเสียงดังฟังชัด
หลังจากนั้นก็แสดงอาการดีอกดีใจ ที่รู้ข่าวว่าผมจะทำหนังเกี่ยวกับดนตรีไทย
ผมงงๆ ไม่รู้ว่าแกจะทำไมกับผม เลยชวนมานั่งคุยที่บริษัท แล้วก็ยิ่งสับสนไปใหญ่ เมื่อนักร้องนำแห่งวง สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง เสนอตัวมาวาดสตอรี่บอร์ดให้ หรือจะให้ช่วยงานอะไรก็ได้ ผมบอกว่าผมมีทีมงานต่างๆ ครบแล้ว แต่ยังขาดตัวแสดงอยู่ตัวหนึ่งซึ่งต้องเล่นเปียโนได้
แกบ่นว่าถนัดกีต้าร์มากกว่า แต่ถ้าเพลงไม่ยากนัก เปียโนก็พอไหว
ผมจึงได้นักแสดงมาอีกคน โดยไม่ต้องเสียเวลาโทรติดต่อ ไม่นานนักก็มีคนบอกผมว่า แกลงทุนหาคีย์บอร์ดเอาไว้ทบทวนฝึกมืออยู่กับบ้านเลยทีเดียว

กันยายน 2545
กว่าจะได้เปิดกล้อง ผมก็ใช้เวลา “โหมโรง” กับโปรเจกต์นี้ไปเกือบปี
และกว่าจะปิดกล้อง ตัดต่อเสร็จ ก็คงอีกเป็นปีแน่ๆ

ธันวาคม 2546
ในที่สุด ผมก็อยู่กับจินตนาการนี้ มาถึงสองปี
มีคนเก่งๆ มากมายมาร่วมสร้งฝันอันใหญ่นี้ และมันใกล้จะเสร็จสมบูรณ์เต็มที
ผมเชื่อมั่นว่า อีกไม่นานคนดูจะมีความสุข และทุกคนจะภูมิใจไปกับมัน



ไม่รู้ว่าได้อ่านกันหรือยัง เผื่อยัง เลยเอามาฝาก ... วันอาทิตย์จะได้ดูอีกรอบพร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง ^_^
โดยคุณ :แต้ว - [11:24:02  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 4
โฮย ขยันพิมพ์จัง

ยังมีอีกหลายเล่มที่ลงสัมภาษณ์พี่อิทอะ(ไม่รู้ครบหรือเปล่า) พิมพ์ให้หมดดิ :D

สีสัน : มค.(มั้ง)
Feel free with films (ปกlast samurai) : 14 มค.
เอนเตอร์เทน (ปก Gothika) : 30 มค.- 5 กพ.
Bioscope (ปกทวิภพ) : กพ.
Flicks (ปกโหมโรง) : 6-12 กพ.

โดยคุณ :ดิโอเวอร์ทีฯ - [12:29:32  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 5
มีแฮมเล่มเดียอ่ะ แต่มีบทสัมภาษณ์กำลังพิมพ์ .. ซื้อให้ดิ จะพิมพ์ให้
โดยคุณ :the overtaew (เอามั่ง) - [12:35:35  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 6
รูปจาก Hamburger ฉบับเดียวกันค่ะ

โดยคุณ :ดิโอเวอร์ทีฯ - [12:49:25  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 7
โหวตทู้นี้ได้ไหม
โดยคุณ :picmee - [12:54:09  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 8
จากHamburger หน้าสัมภาษณ์ *_*

โดยคุณ :ดิโอเวอร์ทีฯ - [13:14:20  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 9
แวะมาชื่นชม & ขอบคุณ ^______^
โดยคุณ :ระนาดเอก - [14:24:44  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 10
Director Concerto
บรรเลงโหมโรง


จากที่คุณเล่าไว้ใน ย้อนรอย -โหมโรง- ว่าที่จริงคุณกำลังพัฒนาโปรเจกต์หนังรักอยู่ แต่เปลี่ยนใจมาทำเรื่องนี้ เพราะไปอ่านเจอรปะวัติของครูดนตรีไทยสมัยก่อนเข้า มีจุดไหนหรือที่โดนใจคุณ จนทำให้หันมาหา -โหมโรง- ?
ผมเห็นความสนุกสนาน ความเป็นอัจฉริยะ เห็นบรรยากาศของยุคสมัย เห็นจากการประชันกันตามเรื่องที่อ่านครับ อ่านเรื่องหนึ่งเห็นฉากหนึ่ง อ่าอีกเรื่องก็เจออีกฉาก โดยเฉพาะประวัติท่านครูหลวงประดิษฐ์ฯ เห็นหลายฉากมาก รวมถึงเรื่องราวในยุคมาลานำไทย ความที่ท่านผ่านชีวิตตั้งแต่สมัย ร.5 มาจนถึงผ่านยุคสงครามโลก ผ่านยุคซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่ผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของคนเคยอยู่ในยุครุ่งเรืองของดนตรีไทย แล้วต้องมาเจอะกับนโยบายบ้านเมือง ในการปรับปรุงประเทศ ปรับปรุงพลเมืองให้มีความทันสมัย ให้เป็นอารยะ ความขัดแย้งต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป้นโครงเรื่องที่สนุกและน่าสนใจได้

ก่อนหน้านี้ คุณมีความสนใจเรื่องดนตรีไทยในระดับไหน ?
ผมตามฟังเพลงต่างๆ อยู่แล้วนะครับ แต่ดนตรีไทยผมจะฟังแบบร่วมสมัยหน่อย บอยไทย ไหมไทย ฟองน้ำ อะไรอย่างนี้ ปี่พาทย์จริงๆ นี้ก็ไม่เคยได้สนใจซื้อฟัง

รู้จักครูดนตรีอาวุโสอยู่เป็นทุนบ้างหรือเปล่า ?
แค่เคยได้ยินชื่อ ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะก็เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่ก็ไม่รู้ว่าท่านคือใคร เอ๊ะ ทำไมเราได้ยินชื่อบ่อยๆ ท่านมีความสำคัญยังไง เป็นอัจฉิรยะตรงไหน ไม่รู้จักผลงาน ไม่รู้จักอะไรเลย เลยหาซื้อหนังสือมาอ่าน อ้อ ท่านเป็นครูดนตรีไทย แล้วพออ่านประวัติ อ่านผลงาน อ่นเส้นทาางชีวิตของท่าน ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราถึงไม่เคยรู้จักคนคนนี้ ทำไมเรารู้จักบิโธเฟ่น รู้จักโมซาร์ท อ๋อ เพราะเราดูหนัง เราเคยดู Amadeus, Beethoven เราดู 8 miles แป๊บเดียวเรารู้จักเอมิเนมแล้ว อัจฉริยะทางดนตรีของไทยมีมากมายหลายท่าน ภาพยนตร์นี่แหละที่เป้นหนทางที่จะทำให้คนรู้จักงานดนตรีได้ ฝรั่งทำหนังโมซาร์ทให้คนของเขาได้ชื่นชม รวมถึงเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้รู้จัก

ถ้าให้เล่าย่อๆ ตรงนี้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ คือใคร ?
ท่านเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสามารถเป็นที่ยอมรับกันในเชิงระนาด สร้างผลงานทางดนตรีสืบทอดมาทุกยุคทุกสมัย ถวายงานรับใช้พระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล ตามเสด็จไปเผยแพร่ดนตรีไทยในต่างประเทศบ้าง เมื่อแก่เฒ่าลงก็กลายมาเป็นครูดนตรี เป็นเจ้าของสำนักดนตรีไทยที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่สุดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันนี้ผลงานของท่านหลายชิ้นก็ถูกดัดแปลงไปเป็นเพลงลูกทุ่งบ้าง เพลงไทยสากลบ้าง

ฐานะของครูดนตรีสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสำคัญอย่างไร ?
รัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคทองของดนตรี นักดนตรีไทยจะมีเกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งเป็นลักษณะของศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการอุปถัมภ์โดยสถาบันเจ้านายราชวงศ์เหมือนกันทั่วโลก เป็นธรรมดาที่คนใหญ่คนโตจะอุปถัมภ์เลี้ยงดูศิลปินในแผ่นดินตัวเอง ยุคนั้นนี่ใครเป็นดนตรีไทยจะมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักรักใคร่ ไปไหนมาไหนมีเกียรติ บรรยากาศของยุคสมัยก็เต็มไปด้วยการสร้างคน การสืบสาน ถ่ายทอดดนตรีไทย มีวงปี่พาทย์ใหม่ๆ กำเนิดขึ้น เดี๋ยววังนู้นจัดการประชัน เดี๋ยววังนี้จัดแข่งขัน พัฒนาให้เกิดคนดนตรีมีฝีมือใหม่ๆ ขึ้นมา เราอ่านเจอเรื่องราวเหล่านี้แล้วรู้สึกว่า มันเป็นภาพที่น่าประทับใจ
โดยคุณ :แต้ว - [20:51:26  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 11
เป็นเรื่องเก่าที่กลายมาเป็นความรู้ใหม่
ใช่ หลายอย่างที่เรารีเสิร์ชมา แล้วเอาไปเล่าให้คนอื่นฟัง ทุกๆ คนก็จะ “มีอย่างนี้ด้วยเหรอ” เป็นอย่างนี้บ่อย โดยเฉพาะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มมีการไหลมาของวัฒนธรรมตะวันตก มีกฎระเบียนใหม่ๆ ออกมา เช่น มีนโยบายหัดเต้นลีลาศ จูบภรรยาก่อนออกจากบ้าน มันก็คือเรื่องเก่านั่นแหละ แต่กลายมาเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้ เป็นหนึ่งในหลายเรื่องของประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่คนในชาติเองกลับไม่รู้จัก

แต่ “โหมโรง” ไม่ใช่หนังอัตชีวประวัติ
ไม่ใช่ เราแค่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของท่านครูหลวงประดิษฐ์ฯ แล้วนำเกร็ดชีวิตส่วนที่น่าสนใจมาใส่ไว้ในตัวละคร แต่ว่าโดยหลักๆ แล้วมันก็คือการเขียนพล็อต เขียนเรื่อง สมมติเหตุการณ์ สมมติตัวละครแวดล้อมขึ้นใหม่ทั้งหมด รวมทั้งอิงจากเกร็ดชีวิตของครูดนตรีไทยท่านอื่นๆ ที่เราค้นคว้ามาด้วย ประกอบกับเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ยุคมาลานำไทย กับยุครัชการที่ 5 เพิ่มเติมความสนุกสนาน ใส่สีสันให้มันเป็นภาพยนตร์

ทำไมจึงเลือกที่จะวางเรื่องไว้ในสองยุคนี้ สมัยรัชกาลที่ 5 กับสมั้ยสงครามโลกครั้งที่ 2 ?
การไปอ่านเจอเหตุการณ์ใน 2 ยุคนี่แหละที่ทำให้ผมคิดว่ามันจะเป็นหนังได้ คือถ้าให้เล่าเรื่องรัชกาลที่ 5 อย่างเดียว เราอาจจะได้เล่าเรื่องความรุ่งโรจน์ของชีวิตนักดนตรี การต่อสู้ การประชันกัน แต่มันยังไม่กระตุ้นเร้าเรามากพอกระทั่งมาพบว่ามันมีอีกยุคหนึ่งที่วิถีวัฒนธรรมไทยต่างๆ มาถึงจุดหักเห ผมรู้สึกว่าการเล่าเรื่อง 2 ยุค ทำให้หนังมีพล็อตที่แข็งแรงขึ้น ยุคหนังนักดนตรี ต้องต่อสู้เพื่อความเป็นหนึ่งทางฝีมือดนตรี กับในอีกยุคนี่เขาต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมือง ที่ทำให้เขาต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น เพื่อพิสูจน์คุณค่าดนตรีไทย

ทราบมาว่าคุณเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ ทั้งที่ยังไม่มีนายทุนด้วยซ้ำ ?
ใช่ครับ ตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นหนังได้มั๊ย

อะไรที่ทำให้ไม่มั่นใจ ?
เพราะรู้สึกว่ามีเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ เอาดนตรีมาอยู่ในหนังนี่มันจะน่าสนใจขนาดไหน เราจะหานักแสดงที่มาเล่นเป็นนักดนตรีได้มั้ย หรือต้องใช้นักดนตรีจริง ก็เลยทดลองแคสติ้งกันก่อน ลองหาจากนักดนตรี เอ้า ไม่เจอ งั้นถ้าต้องเอคนที่ไม่เป็นดนตรีมาฝึกระนาด ก็ต้องเข้าไปคุยกับครูผู้ฝึกสอนดนตรีด้วยว่าเป็นไปได้แค่ไหน เราสำรวจกันหลายอย่าง หาซื้อหนังสือข้อมูลมาดูเพิ่ม กว้านซื้อซีดีเพลงไทยเดิม เพลงไทยประยุกต์ เพลงไทยโมเดิร์นมาฟังกัน เพราะเรารู้ว่าการเดินเข้าไปตัวเปล่าเข้าไปคุยนี่ ทุกที่คงปฏิเสธ เหล่านี้ทำให้เราต้องทำการบ้านไปขั้นนึง่กอนที่จะกล้าเสนอหน้าเข้าไปคุยกับผู้อำนวยการสร้าง ให้ตัวเองเห็นความเป็นไปได้ มีสิ่งที่เป็นหน้าเป็นตาไปคุยกับคนออกสตางค์ได้

เป็นเพราะว่าคิดอยู่ในใจอยู่ด้วยหรือเปล่าว่าโปรเจกต์นี้มันขายยาก ?
มันไมต้องคิดในใจ คิดนอกใจ ก็ยาก (หัวเราะ) คือเจอหน้าใครก็ 'เฮ้ย โปรเจกต์มันจะมีคนออกตังค์เหรอ' มันสวนกระแสกระจุยขนาดนั้น

ส่วนใหญ่เขาติงประเด็นไหน ?
ติเรื่องว่าหนังมันไปแตะดนตรีไทยเท่านั้นเอง ยังไม่ต้องรู้ว่าเราจะสร้างตัวละครเอกได้มีชีวิตโลดโผนขนาดไหน เพียงแค่รู้ว่าแตะดนตรีไทย ทุกคนก็หยุด ถอยหลังก่อนแล้วว่า 'เล่นงี้เลยเหรอ น่าเบื่อหรือเปล่า'
โดยคุณ :แต้ว บอกรักโหมโรง - [20:56:16  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 12
ยิ่งกลับเป็นความท้าทาย ?
มันมีความท้าทายอยู่แล้ว ยิ่งรีเสิร์ชเข้าไปยิ่งอยากทำ แล้วเราไปเจองานดนตรีไทยที่ แหม ฟังแล้วมันสนุก หรืองานดนตรีไทยที่แบบฟังแล้วเพราะได้ทันที ไม่ต้องอาศัยความคุ้นเคยอะไรมากมาย ก็เหมือนเพลงแจ๊ซ บางอย่างต้องฟังสัก 8 ปี ถึงจะเพราะ แต่บางแบบเที่ยวแรกเพราะเลยก็มี คือมีมันทั้งชั้นแอดวานซ์กับขั้นพื้นฐาน มีทั้งเพลงที่คนจะรับได้ง่ายๆ เล่นเอาครึกครื้น หลายอารมณ์อยู่เหมือนกัน ถ้ารู้จักเลือก เอามาเรียบเรียงด้วยวิธีต่างๆ มันก็ทำให้เกิดอารมณ์ที่หลากหลายได้

กลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง ทำไมคุณจึงเลือกเดินเข้าไปคุยกับพร้อมมิตรเป็นที่แรก ?
เคยมีการพูดชักชวนไว้ก่อนว่า ถ้าโปรเจกต์อะไรก็ลองเอามาเสนอนะผมพอจะมีความคุ้นเคยสนิทสนมกับทางหม่อมกมลา (ยุคล) กับท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) อยู่บ้าง เคยไปรับใช้ท่าน เล่นหนังให้ท่าน (คนเลี้ยงช้าง) อีกอย่างเราดูจากภาพรวมของบริษัท พร้อมมิตร เริ่มมีผู้กำกับคนอื่นๆ เข้าไปทำงานให้ อย่างเช่น พี่มานพ อุดมเดช ที่ไปทำ คนบาปพรหมพิราม ส่วนภาพรวมที่ว่าก็คืองานของท่านมุ้ยนั่นแหละ หลายชิ้นเป็นงานที่คงไม่มีใครกล้าทำ อย่างสมัย เสียดาย ก็ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาทำเรื่องโรคเอดส์ คิดว่าทางพร้อมมิตรน่าจะต้องการเรื่องที่ไม่มีคนคิดทำ แต่ว่าน่าสนใจ

พูดคุยกันในเรื่องอะไรบ้าง กว่าทางพร้อมมิตรจะตอบตกลงใจ ?
คุยกันในแง่ของพล็อตเรื่อง คนที่มาดูแลงานในเบื้องต้นคือหม่อมกมลา (ยุคล) หม่อมก็แสดงความสนใจทันที อยากให้มาทำด้วย แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้ว จากนั้นถึงคุยกันในเรื่องงบประมาณ ความเป็นไปได้ ช่วงเวลาในการเปิดกล้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เป็นไร สนใจที่จะให้เราทำก็โอเคแล้ว จะเปิดกล้องช่วงไหน จะมีผู้ร่วมทุนคนอื่นมั้ย งบประมาณเท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะ เป็นปัญหาที่คุยทีหลังได้

จริงหรือไม่ ที่คุณไม่ต้องการทุนสร้างที่มากเกินไปเพราะรู้สึกกดดัน ?
ใช่ แค่ 20 ล้าน นี่ก็กดดันมากแล้ว คือเรารู้ว่ายิ่งใช้เงินเยอะ ทั้งคนออกสตางค์ ทั้งคนทำ จะยิ่งกดดัน แล้วด้วยหน้าตาหนังซึ่งมันกดดันตัวมันเองอยู่แล้ว อย่ากดดันกันมากนักเลย (หัวเราะ) เราเข้าใจว่าหนังมันไม่ได้มีหน้าตาตามท้องตลาดมากนัก เพราะฉะนั้นงบประมาณก็ควรเป็นหนังที่ไม่ใช่ big budget

เกือบจะเรียกว่าเป็นหนังเชิดชูศิลปะเพื่อสังคมเลยได้ไหม ?
ด้วยประเด็นมากกว่า มันพูดถึงแก่นเรื่องที่ใหญ่ พูดถึงความเป็นรากเหง้า พูดถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม แต่ถ้าถามว่าเป็นงานอลังการไหม ไม่ใช่ลักษณะนั้น

ถ้าถ้ามว่า บุคลิกของระนาดเอกเมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีตำแหน่งอื่นๆ ในวง ? (เค้าพิมพ์งี้จริงๆ นะในหนังสือ มันเป็นคำถามปะ ? .. คนพิมพ์)
เขาเป็นพระเอก ด้วยรูปทรง ด้วยตำแหน่งการวาง มองยังไงก็เป็นพระเอก เทียบคาแรกเตอร์กับเครื่องดนตรีฝรั่งคงเหมือนกีต้าร์โซโล่ในวงร็อก คือลักษณะของวงดนตรีที่เป็นแบนด์มันต้องมีชิ้นดนตรีที่เป็นพระเอก อยู่แล้ว ทุกชิ้นไม่สามารถจะมาเด่นแข่งกันได้หมดเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ของไทยก็จะมีบุคลิกอยู่แล้ว ฆ้องวงเป็นหลักไว้ให้ทุกเครื่องไว้ยึด จะเริ่มเล่นดนตรีไทยต้องเริ่มจากฆ้องวงนะ กลองเป็นเครื่องให้จังหวะ มีระนาดทุ้มคอยสอด คอยหยอกล้อ

ช่วยเล่าการทำงานในส่วนของเพลงและดนตรีประกอบให้ฟังหน่อยได้ไหม ?
- เพลงในหนังจะแยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นดนตรีไทยกับส่วนที่เป็นสกอร์ กำกับอารมณ์หนัง ส่วนที่เป็นดนตรีไทยทำโดยคุณชัยทัต ภัทรจินดา และวงกอไผ่ ส่วนเพลงที่บรรเลงโดยขุนอิน จะเป็นฝีมือของอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า ดนตรีไทยมีทำอยู่ 2 กลุ่ม
โดยคุณ :วาเลนไทน์นี้บอกรักโหมโรงกันนะ - [21:01:39  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 13
มีทั้งหมดประมาณกี่เพลง ?
เพลงในหนังเนี่ยค่อนข้างเยอะ ประมาณ 20 เพลงมั้งครับ แต่ว่าไม่ใช่แบบมานั่งฟังกัน 20 เพลงรวดนะ บางเพลงก็เป็นเพลงซ้อม เพลงเล่นกันในวงเหล้า สั้นบ้างยาวบ้าง บางเพลงถึงจะเล่นประชันกันเป็นเรื่องเป็นราว หลากหลายสไตล์ หลากหลายอารมณ์ ซึ่งเราพยายามจะรวบรวมมาตั้งแต่ระดับเด็กหัดเล่น กระทั่งวันไหว้ครูต้องเล่นเพลงนี้ ในวังเล่นอย่างนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพลงไทยเดิมที่มีอยู่แล้วจริง นำมาเรียบเรียง จัดวางความสั้นความยาว กำหนดอารมณ์ให้ลงกับฉาก ส่วนน้อยที่แต่งขึ้นใหม่ ด้านสกอร์เป็นงานหลังจากตัดต่อหนังเรียบร้อยแล้ว ค่อยทำเข้าไปกำกับอารมณ์ต่างๆ ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นใช้เครื่องดนตรีสากลและเครื่องดนตรีไทย

ดนตรีประกอบเป็นหน้าที่รับผิดชอบของใคร
คุณป้อ – ชาติชาย พงศ์ประภาพันธุ์ (นางนาก, องคุลิมาล, โอเคเบตง) เป็นคนทำสกอร์หนังไทยที่ค่อนข้างจะะเป็นมืออาชีพที่สุดตอนนี้ คิดว่านะ ความเป็นหนังดนตรีทำให้เราตั้งใจเลยว่า เราต้องใช้คนทำงานดนตรีที่เป็นตัวจริงทุกคน

อยากให้คุณช่วยแนะนำ วงกอไผ่ สักนิดหนึ่ง เพราะว่าไม่เคยได้ยินชื่อพวกเขามาก่อนเลย
จริงๆ กอไผ่ เป็นวงที่ทำงานเพลงออกมาอยู่เรื่อยๆ นะครับ บางส่วนก็ทำในนามของมูลนิธิ แจมอยู่ในนามของวงดนตรีอื่นบ้าง เช่น อาจารยธนิตย์ หรือวงฟองน้ำ อยู่เบื้องหลังของงายพิธีการบางอย่าง งานเอเปค เป็นการรวมตัวของเพื่อนที่เหนียวแน่นกันมากว่าปียี่สิบแล้ว บนแผงเทปก็จะมีชิ้นงานของกอไผ่วางอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดกอไผ่ก็เพิ่งไปร่วมโชว์ในเทศกาลศิลปวัฒนธรรมที่ ภัทราวดี เธียเตอร์ ตัวคุณนิค-ชัยภัค เองก็มีงานดนตรีไทยร่วมสมัยค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่สมัย นางนวล ของคุณจำรัส เศวตาภรณ์แล้ว แต่เดิมผมก็ไม่รู้จัก กอไผ่หรือคุณนิคหรอก ช่วงที่เริ่มเข้าไปค้นหาความเป็นไปได้ เราซื้อซีดีเพลงไทยมาฟังเยอะมาก ก็เริ่มเจอะเพลงที่สะดุดหู ก้มลงมอง อ๋อ กอไผ่, นิค-ชัยภัค ฟังๆ ไปอีก อ้อ นิค-ชัยภัค, อ้อ กอไผ่ เลยรู้ว่าคนนี้ทำเพลงสไตล์นี้ได้ หรือว่าทำรสชาติไหนได้บ้าง แล้วเพลงเขาหลากหลาย บางเพลงมีเล่นกีต้าร์โปร่ง มีขิม มีจะเข้ เลยตัดสินใจว่าอยากได้กลุ่มนี้มาช่วยทำงาน

งานเพลงที่ยังไม่เรียบร้อยตอนนี้คือในส่วนไหน ?
มีทั้งส่วนสกอร์และการมิกซ์เพลง ด้วยความที่คนอาจจะไม่เคยได้ยินเสียงปี่พาทย์แบบเซอร์รานด์ในโรงภาพยนตร์ ตอนนี้เลยเป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องเข้าไปดูแลว่า เสียงระนาด เสียงฆ้อง กับลำโพงโรงภาพยนตร์จะออกมาเป็นยังไง และทำยังไงให้ได้เพราะที่สุด สนุกที่สุด

คุณใช้เวลาที่ยังไม่เรียบร้อยตอนนี้คือในส่วนไหน ?
เปิดกล้องกันตั้งแต่กันยายนปี 45 ถ่ายเสร็จไปสัก 3 – 4 เดือน ก็มีการเบรกกอง เพื่อเตรียมงานฉากอื่นๆ เพราะว่าหนังมันเป็นสองพีเรียด ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กับยุครัชกาลที่ 5 เราต้องทำงานทีละพีเรียด เพราะโลเกชั่นต่างๆ มันต่างกันไป ฝ่ายเสื้อผ้า ฝ่ายอุปกรณ์ประกอบฉากต้องเตรียมงานต่างกันไป

ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดฉายจากเดิมที่วางไว้วันที่ 5 ธันวาคม ใช่ไหม ?
ตอนนั้นหนังยังไม่เรียบร้อยด้วย แค่ว่างโปรแกรมกันไว้คร่าวๆ ว่า 5 ธันวาคม ก็เป็นปกติของการทำงาน มีการเลื่อน มีอะไร จริงๆ หนังควรจะเสร็จตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว เจอฝนตก เจอน้ำท่วม ก็เลื่อนมาเรื่อย
โดยคุณ :แต้ว...^___^ - [21:04:22  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 14
คุณหายหน้าไปนานพอสมควร หลังจากหนังเรื่องแรกคือ “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” กลับมาทำหนังใหญ่อีกครั้ง รู้สึกอย่างไรบ้าง ?
ตัวหนังมันค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร ลูกบ้าฯ ออกกองไปนี่แพนได้รอบตัว เพราะมันเป็นหนังปัจจุบัน โหมโรง แพนนิดก็เจอเสาไฟแล้ว ความเป็นหนังพีเรียดทำให้ต้องอาศัยรายละเอียดในการทำงานเยอะกว่ามาก แล้วยิ่งเข้ามาเกี่ยวพับกับดนตรี ตั้งแต่การ pre-production การเตรียมดนตรีที่จะบรรเลงในหนัง การเตรียมนักแสดง การจัดคอร์สเรียนดนตรี ไล่มาจนงานในกองถ่าย พอถึงฉากเล่นดนตรีปุ๊บ ทุกอย่างจะยิ่งเจาะลึกลงไปใหญ่ เพราะว่ามันมีคนที่ต้องแสดงอยู่ในวงดนตรี 6 – 7 คน เราต้องคอยดูว่าเล่นกันเป็นยังไง ใครหลุดท่อนไหน ดนตรีดีแต่อารมณ์ถูกต้องมั้ย พอมาดูพระเอกตีระนาด อ้าว ฉิ่งตีผิดจังหวะ

จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีเข้ามาช่วยด้วยหรือเปล่า ?
มีครับ บางทีต้องให้ครูเอ้ (อัษฎาวุธ สาคริก – ที่ปรึกษาด้านดนตรี) ไปช่วยดู บางทีระนาดทุ้มได้ ฆ้องตีผิด เพราะเราคิดว่าไอ้ขวัญใน แผลเก่า นี่ถ้าเป่าขลุ่ยผิด คนให้อภัย แต่ โหมโรง หนังมันพูดเรื่องดนตรีเลย ฉะนั้น พลาดไม่ได้ งานด้านนี้ต้องพิถีพันเป็นพิเศษ

นักแสดงมีส่วนในการเล่นดนตรีเองมากน้อยแค่ไหน ?
มีบางส่วนที่เราอัดสด ณ สถานที่ถ่ายทำ บางเพลงนักแสดงก็เล่นเอง แต่บางเพลงต้องใช้งานจากห้องอัดเสียง เพราะเราต้งอการระบบเสียงที่ดี เวลาอยู่ในโรง ต้องการความครบถ้วน ความเร้าใจ เครื่องดนตรีทุกชิ้นต้องใสปิ๊ง แต่ถ้าเป็นเพลงในฉากเล็กๆ นักแสดงก็เล่นเองมั่ง มีทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าอยากได้ความเนี้ยบ หรือความสด บางเพลงผิดพลาดก๊อกแก๊กๆ ได้บ้าง ไม่เป็นไร ได้อารมณ์ แต่ว่าตัวนักแสดงนำเองก็เรียนและฝึกดนตรีมาเพื่อ 10 เพลง ที่เขาต้องเล่นในหนังอย่างจริงจัง แล้วก็สามารถตีท่อนต่างๆ ใน 10 เพลงนี้ได้ด้วยตนเอง

หมายถึงทั้ง โอ-อนุชิต และคุณอาอดุลย์ ดุลยรัตน์ ?
สำหรับคุณอาอดุลย์ก็จะเป็นเพลงที่ง่ายลงไปหน่อย ไม่หวือหวา ไม่เร้าใจมาก เป็นเพลงฟังสบายๆ เพลงของคุณอาอดุลย์ในหนังมีแค่ 2 – 3 เพลงเท่านั้น

คุณคิดว่าคนดูทั่วไปจะสามารถเข้าใจดนตรีไทยในหนังได้ในระดับไหน ?
โจทย์ข้อแรกเลยคือผมซึ่งไม่ได้เติบโตคุ้นเคยมากับดนตรีไทย ขอเอาหูตัวเองตัดสินว่า อันไหนซับซ้อนไป หรืออันนี้น่าจะสนุกกว่านี้ คือเราพยายามทำตัวเป็นคนที่นานๆ ฟังเพลงไทยทีเหมือนกัน แล้วพอเพลงเสร็จออกมา เราก็เอามาให้ทีมงาน ให้ทีมคนนู้นคนนี้ซึ่งล้วนแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญดนตรีไทยทั้งนั้นฟัง ว่าเพลงไหนดี เพราะเรารู้แต่แรกว่า คนดูจะปฏิเสธเพลงไทยอยู่แล้ว ในทีว่ามันฟังยาก มันนิ่ง หรือมันซับซ้อน ไม่ก็ว่าจับท่วงทำนองไม่ได้ ฉะนั้นเพลงที่เราเลือกมา เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ เช่น เลือกเพลงที่มีท่วงทำนองจับต้องได้ง่ายหน่อย มีจังหวะจะโคนที่ฟังแล้วได้อารมณ์คล้อยตามไป เพลงที่ยากหรือซับซ้อนไปเราก็ไม่เลือกมา รวมทั้งการเรียงลำดับในหนังด้วย จากฉากแรกถึงฉากสุดท้ายเพลงมันก็จะค่อยๆ เพิ่มความยากในการฟังขึ้น หมายถึงดุเดือนขึ้น บู๊ขึ้นไปเรื่อยๆ

อยากให้ช่วยอธิบายความแตกต่างของ “โหมโรง” กับคำว่า หนังเพลง ?
หนังเพลงมันมีหลายความหมายนะ โหมโรง ไม่ใช่หนังที่แบบอยู่ๆ หยุดเล่นดนตรี แล้วร้องเพลงอะไรกัน มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับดนตรีจริงๆ หนังไทยที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับดนตรียังไม่เคยมีมาก่อน จะมีก็คือละครระนาดเอก แต่ถ้าเป็นหนังเพลงแบบ เงิน เงิน เงิน มันเป็นคนละแบบ นั่นคือหนังไม่ได้เล่าเรื่องดนตรีหรือเรื่องนักดนตรี แต่ว่าเดินเรื่องด้วยการร้องเพลงเท่านั้นเอง แบบ Annie ของฝรั่งอะไรอย่างนั้น แต่เราเป็นลักษณะของหนังที่พูดถึงความมหัศจรรย์ของนักดนตรี
โดยคุณ :แต้ว (เริ่มหมดมุข) - [21:09:43  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 15
มีข้อสังเกตว่างานเก่าของคุณทั้งสองเรื่องคือ -ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด- และละคร -พระจันทร์ลายกระต่าย- มีประเด็นที่ใส่ใจกับปัญหาสังคมอยู่พอสมควร เราจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นใน -โหมโรง- ด้วยหรือไม่ ?
มันเป็นเรื่องของความรู้สึกโดยรวมมากกว่า อย่าง ลูกบ้าฯ ผมรู้สึกว่าปัญหาการคอรับชั่น คอมมิสชัน การรับซงรับซอง มันกลายเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคมไปแล้ว นั่นคือเราอยากชี้ลงไปในความพิกลพิการที่ทุกคนเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่หนังเรื่องนี้จะมองภาพกว้างหน่อย เรารู้จัก F4 เรารู้จักเอมิเนมแต่ว่าในขณะที่เรารู้จักพวกเขาเหล่านั้น เราก็น่าจะได้รู้จักตัวเราเองด้วย น่าจะรู้จักหลวงประดิษฐ์ไพเราะฯ น่าจะรู้จักที่มาที่ไปของดนตรีไทย คือไม่ลืมว่าเรามีอะไรอยู่

ขอย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มอีกครั้ง คุณหลงรักหนังตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
ตั้งแต่เด็กๆ ครับ แบบขอตังค์แม่ไปดูหนังคนเดียว สมัยหาเบนจี้จำได้ว่าขอตังค์แม่ไปดู Benji คนเดียว แลั้วก็เริ่มไปดูหนังท่านมุ้ย เริ่มรู้จักหนังไทย เริ่มรู้จักสรพงศ์ กลับบ้านมาเก็กหน้าเป็นสรพงศ์ รู้สึกชอบดูหนัง ไปเฉลิมไทย ไปเอเธนส์ คนเดียวตั้งแต่เด็ก

การเป็นชาวสถาปัตย์ จุฬาฯ มีอิทธิพลกับความสนใจด้านงานบันเทิงของคุณบ้างไหม ?
ก็มีส่วนครับ การอยู่คณะสถาปัตย์เปิดโอกาสให้ได้คิดได้ทำกิจกรรม ทำละครเวที แล้วเพื่อนฝูงก็คิดไปในทางเดียวกัน การเรียนมันเครียดก็อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสนุกๆ ออกไปโชว์คนนอกคณะ สมัยเรียนผมทำหนังสั้นด้วย ถ่ายหนัง 8 mm. อยู่สิบกว่าเรื่อง เป็นหนังแบบแก๊กตลกสั้นๆ เอาเพื่อนไปไต่กำแพงตึกคณะวิทยาศาสตร์เป็นนินจา เอาเพื่อนไปเดินถอยหลังรอบจุฬาฯ เสร็จแล้วเอามาเพลย์เดินหน้าก็จะกลายเปล็น ไอ้นี่มันเดินหน้าอยู่คนเดียว คนทั่วจุฬาฯ เดินถอยหลังกันหมด นึกสนุกอะไรก็ทำ

ที่ถามอย่างนี้เพราะว่ามีศิษย์เก่าจากสถาปัตย์ จุฬาฯ ในวงการบันเทิงค่อนข้างเยอะ ?
เป็นช่วงๆ นะผมว่า เพราะงานสถาปัตยกรรมมันไม่บูมอยู่ตลอดเวลา ถ้า 5 ปีนี้บูม อีก 5 ปีต่อไปก็จะเริ่มดาวน์ เด็กที่จบมา 5 ปีนี้ โอ้โห บริษัทซื้อตัวกันเต็มไปหมด เด็กที่จบมาอีก 5 ปี ต่อไปก็จะเริ่มหางานยากแล้ว มันเป็นวัฏจักรอย่างนี้ เท่าที่สังเกตนะ ส่วนผมอยู่ในจังหวะที่ออกมาแล้วมันไม่บูม หางานยาก รุ่งใกล้กับกิ๊ก (เเกียรติ กิจเจริญ) กิ๊กเป็นรุ่นน้องปีนึง สัญญา (คุณากร) เป็นรุ่นน้องผมสองปี รุ่นแถวๆ นี้ ถ้ามือไม่เจ๋งก็ไม่ได้นั่งบริษัทใหญ่ๆ

ไม่มีโอกาสได้ทำงานที่เรียนมาบ้างเลยเหรือ ?
จบมาตอนนั้น ผมไม่อยากไปนั่งออฟฟิศ ซึ่งถึงไปก็ไม่ได้ดีไซน์ ต้องไปจัดขั้นบันได ไปวางอ่างล้างหน้า งานที่เหลือๆ อยู่ในออฟฟิศ จบมาก็รับงานอิสระอยู่บ้าง งานเขียน perspective บ้าง ระบายสีส่งหมู่บ้านจัดสรร ทำเองอยู่กับบ้าน ขณะเดียวก็ทำ เพชฌฆาตความเครียด ไปด้วย แล้วไอ้เพชฌฆาตความเครียด มันได้เงินเลย แต่ได้ perspective มันโดนเบี้ยว (หัวเราะ) เราเลยตอบตัวเองว่า งั้นกูทำไอ้นี่ดีกว่า

ว่ากันว่าความก้ำกึ่งระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ของวิชาคณะสถาปัตย์ เหมาะกับงานวงการบันเทิง คุณเห็นด้วยหรือเปล่า ?
สองสาเหตุแหละ ทั้งการเรียนการสอน รวมถึงกิจกรรมในคณะด้วย ที่อาจจะทำให้เด็กสถาปัตย์สามรารถเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงได้โดยไหลลื่น ด้วยวิธีคิด ด้วยมุมมองที่แปลกกว่าคนอื่น แล้วก็กิจกรรมในคณะที่มันเอื้อต่อการมีประสบการณ์ทางด้านเขียนบท ทางด้านการเล่นละคร แต่ในยุคที่งานสถาปัตย์บูมๆ ก็จะเห็นว่าไม่มีใครข้องแวะออกมาเลยนะ ทุกคนก็มุ่งหน้าไปเป็นสถาปนิกกัน ไม่ใช่ว่าทุกรุ่นจะออกมาหมด
โดยคุณ :The Over(load)taew - [21:15:24  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 16
วิธีคิดที่ว่าคืออย่างไร ?
วิธีคิดที่ว่าก็คือมุมมองต่อการทำงาน ระบบความคิดที่ถูกสอบมาให้มองรอบด้าน เขียนแปลนมันต้องเขียนแบบรูปตัดได้ เขียนรูปด้นหน้าด้านหลัง เขียนได้หมดทุกด้าน เวลามองห้องต้องมองตั้งแต่ด้านซ้ายด้านขวา ด้านหน้าด้านหลัง ด้านบน ใต้ตู้หลังเตียงเห็นอะไร อาจจะเป็นข้อได้เปรียบในการไปสร้างงาน จะมีความสามารถพิเศษในการถอยไปมองในมุมที่ไม่มีใครมอง ถอยไปมองหลังตู้เย็น ถอยไปมองข้างหน้าต่าง

10 ปีนับจาก -ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด- ถึง -โหมโรง- ทักษะและมุมมองในตัวคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ?
เรื่องทักษะนี่ระหว่างทางจาก ลูกบ้าฯ ผมก็ยังอยู่ในกองถ่ายมาตลอดนะ ไม่ว่าจะเป็นกองถ่ายละครหรือกองถ่ายหนังโฆษณา ยังได้เรียนรู้อยู่กับเครื่องไม้เครื่องมือมาตลอด จากสมัยหนุ่มที่ทำอะไรต้องเอามันด้วย เดี่ยวนี้ไม่ต้องมันแล้วก้ได้ พูดกันตรงๆ พูดกันจริงๆ

คุณยังดูหนังไทยสม่ำเสมอหรือเปล่า ?
ก็ดู เว้นแต่ช่วงงานหนักๆ

รู้สึกอย่างไรกับภาพรวมของหนังไทยในปีที่ผ่านมา ?
ปริมาณเยอะขึ้นมากนะครับ มีทั้งดีเลวปนกันออกมา ก็เป็นวัฏจักรของมัน แต่ว่าไอ้สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือเรื่องของกระแสหนังฝรั่ง เรื่องของระบบวิธีการวัดผลแบบ box office แบบแพ้คัดออก ได้เงินน้อยก็บ๊ายบาย ไปก่อนนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็้นห่วงมากกว่า เพราะหนังทุกเรื่องจะถูกตัดสินให้อยู่และไปจากรายได้อย่างเดียว แถมเป็นรายได้เฉพาะ 3 วันแรกด้วย ไม่ได้วัดผลกันอย่างจริงๆ ฉะนั้นไอ้เรื่องหน้าหนัง เรื่องของการพีอาร์ เรื่องการสร้างกระแส มันจะสำคัญกว่าตัวเนื้อหนัง อย่างหนังฝรั่งที่เราซื้อมาฉาย มันมาพร้อมการโฆษณาที่กระทำไปทั่วโลก ไปพร้อมกันทุกสื่อ ทั้งเคเบิล ทั้งมิวสิกวิดีโอ มันถึงมีศักยภาพพอที่จะทำให้ 3 วันแรกมีคนดู ระบบโรงหนังในเมืองไทยก็คือระบบของต่างประเทศ การซื้อขายหนังมันก็จะมีข้อแม้ตามมาสู่เครือโรงหนังว่า ต้องปิดแบนเนอร์ใหญ่ขนาดนี้ ต้องจัดแถลงข่าว ต้องสร้างของแจกต้องมีป๊อบคอร์น แต่หนังไทยเราไม่ได้ world wide ขนาดที่จะก่อกระแสอย่างนั้นได้ทุกเรื่อง หนังบางเรื่องต้องการเวลามากกว่า 3 วัน เพราะไม่มีหน้าตาแข็งแรงพอที่จะทำให้คนดูร้อง “โอ๊ย ต้องไปดูศุกร์แรกให้ได้”

แต่ที่สุดแล้วหนังไทยทำเงินสูงสุดของปีที่แล้ว กลับไม่ใช่หนังที่มีหน้าหนังค้าขาย อย่าง -แฟนฉัน- พอจะเป็้นกำลังใจให้กับคุณบ้างหรือเปล่า ?
แฟนฉัน เหมือนเป็นอัศวินของคนทำหนังไทยเลย เพราะความลงตัวในเนื้อหนัง แล้วด้วยวิธีการทำงานของเจ้าของหนังซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จได้ขนาดนั้น แต่อันดับแรกปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหนังมันดีมาก่อน ไม่มีใครรู้ว่า แฟนฉัน จะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ แต่เจ้าของหนังรู้อยู่แก่ใจแล้วว่ามีของดี เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเริ่มจากการทำสิ่งที่อยู่ในมือให้ดีที่สุดก่อน เรื่องการวัดผลมันต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง โปรแกรมฉายชนกับใคร ฝนตกแดดออกมั้ย

สำหรับ โหมโรง คุณเข้าไปช่วยดูแลเรื่องโปรโมตเองด้วยไหม ?
แน่นอนครับ เราก็อยากเข้าไปรู้เข้าไปเห็นว่าเขาทำอะไรยังไง ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่งานที่เราต้องลงมือปฏิบัติ แต่ว่าด้วยความที่เราสร้างมันมาเราก็ต้องดูแล เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเดินหันหลังจากมันไปเลย เอาไปโฆษณากันเอง หรืออยากทำอะไรก็ทำ เราคิดว่าเราเข้าใจทุกๆ จุดของหนังว่า มันมีจุดแข็งตรงไหน อะไรที่ควรปล่อยออกไป อะไรที่ควรซ่อนเร้นไว้ก่อน

ถ้าอย่างนั้น จุดอ่อน จุดแข็งของ -โหมโรง- อยู่ที่ตรงไหน ?
ผมคดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ มองกลับไปเราก็ยังไม่เห็นหนังที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับดนตรีเหมือนกับที่เราทำ แล้วก็คิดว่ามันจะให้ทัศนคติใหม่ๆ ต่อศิลปะดนตรีไทย เป็นการเปิดมุมมองด้วยภาพยนตร์ ทำให้คนดูได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของดนตรีไทย ได้ฟังเพลงที่เราเลือกมา ได้เห็นชิ้นดนตรี ได้เห็นความมหัศจรรย์ของดนตรี และความอัจฉริยะของนักดนตรี เป็นการเปิดของดีที่อยู่ข้างตัวที่คนไม่ค่อยได้หันไปมอง ให้เห็นกันสว่างๆ

แล้วข้อที่กังวลว่าอาจจะเป็นจุดอ่อนของมันล่ะ ?
การรับรู้ของคนทั่วไปต่อศิลปวัฒนธรรมไทย มักจะเป็นแง่ลบเสมอ เชย น่าเบื่อโบราณทำยังำงเราถึงจะชักจูงคนหรือทำให้เขามองข้ามทัศนคติแบบนั้น แล้วเข้ามาดูมันในอีกมุมมองหนึ่งได้ นั่นก็คือศึกใหญ่เลยที่เราต้องรบให้ชนะ

ถึงวันนี้เห็นอาวุธในมือตัวเองแล้ว พอจะเห็นททางชนะบ้างไหม ?
คงพูดได้แค่ว่า ถ้าพูดถึงตัวหนังแล้วคิดว่าทำสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะดนตรีไทยในหนังที่เราตั้งใจไว้เลยว่าจะทำออกมาให้ดีที่สุด แล้วก็สนุกที่สุด ซึ่งเราก็คิดว่าทำสำเร็จในระดับหนึ่ง หลายคนเห็นแล้วก็บอก ฉากดนตรีสนุก หรือ “เฮ้ย เพลงไทยมีจังหวะอย่างนี้ ด้วยเหรอ” ทั้งที่จริงๆ เขาอาจเคยได้ยินจังหวะนั้นมาแล้ว แต่มันไม่รู้สึกถึงมัน อย่างเช่น คุณฟังเพลงไทยคุณอาจไม่รู้ว่า ระนาดเอกเล่นล้อกับฆ้องวงอยู่ ฟังเพลินๆ ก็กลืนๆ หายกันไปหมด แต่พอเป็นสื่อภาพยนตร์ เราสามารถสื่อจังหวะอย่างนั้นออกมาได้ด้วยการตัดต่อ การเคลื่อนกล้อง คนน่าจะสนุกเพลิดเพลินกับการฟังดนตรีมากขึ้น

เอามาฝากอีกช่วงค่า บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ รูปประกอบช่วงสัมภาษณ์ ดิ โอเวอร์ทีฯ ได้แปะไปแล้ว ... ขอเชิญมาอิ่มเอมเปรมใจร่วมกัน ณ บัดนี้
โดยคุณ :โหมโรงจงเจริญ เย่เย่ - [21:22:51  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 17
แล้วเราไปเจองานดนตรีไทยที่ แหม ฟังแล้วมันสนุก หรืองานดนตรีไทยที่แบบฟังแล้วเพราะได้ทันที ไม่ต้องอาศัยความคุ้นเคยอะไรมากมาย ก็เหมือนเพลงแจ๊ซ บางอย่างต้องฟังสัก 8 ปี ถึงจะเพราะ แต่บางแบบเที่ยวแรกเพราะเลยก็มี คือมีมันทั้งชั้นแอดวานซ์กับขั้นพื้นฐาน มีทั้งเพลงที่คนจะรับได้ง่ายๆ เล่นเอาครึกครื้น หลายอารมณ์อยู่เหมือนกัน ถ้ารู้จักเลือก เอามาเรียบเรียงด้วยวิธีต่างๆ มันก็ทำให้เกิดอารมณ์ที่หลากหลายได้
----------------------------------

ชอบประโยคนี้ที่สุด
ตรงกับความคิดเราเรื่องดนตรีไทย และเพลงแจ๊ส
โดยคุณ :picmee - [22:25:16  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 18
รูปจาก flicks
โดยคุณ :แต้ว - [23:29:15  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 19
ขออภัยรูปบนตัดแบบเบลอๆ ไม่งามนัก
โดยคุณ :แต้ว - [23:32:57  13 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 20
ไปเจอะใน pantip.com http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2668233/A2668233.html
บทวิจารณ์ "โหมโรง" จากจุดประกายในกรุงเทพธุรกิจ โดย คุณนันทขว้าง
'โหมโรง' ของ 'อิทธิสุนทร' หนังดีมาแล้ว..ไปดูกันเถอะ ?

http://www.bangkokbiznews.com/2004/02/13/jud/index.php?news=column_11516038.html

นันทขว้าง สิรสุนทร / giengi@yahoo.com
หนังที่ดีมากอย่าง 'โหมโรง' อาจจะไม่ได้เงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าพอสิ้นปี 2547 หนังไทยเรื่องนี้ จะไมได้รางวัลทางภาพยนตร์ ตรงกันข้าม... ผมกลับรู้สึกว่า ในรายชื่อหนังไทย 5 เรื่องยอดเยี่ยมของปีนี้ โหมโรง จะเป็นหนึ่งในนั้น อย่างแน่นอน และเผลอๆ อาจจะเป็น 'หนังไทยยอดเยี่ยม' ของปีนี้...

คำพูดของ ขุนอิน (อ.ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า) มือระนาดเอกในหนัง 'โหมโรง' (The Overture) ที่บอกกับดาวรุ่งอย่าง 'ศร' (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ว่า "ขอให้ช่วยรักษาและสืบทอดดนตรีไทยไปให้นานที่สุด" นั้น...

ฟังๆ ดูก็อาจจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการส่งต่อ 'คบไฟ' จากรุ่นสู่รุ่น...

แต่ถ้าจะลองคิดสักหน่อย บางทีคำพูดประโยคนี้ในหนังของผู้กำกับ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ อาจจะมี 'นัย' ไปถึงความต้องการจะบอก 'อะไรบางอย่าง' ต่อคนดูก็เป็นได้...บางอย่างที่ว่านั้นไม่ใช่การรักษาดนตรีไทยอย่างการตีระนาด หากแต่ความหมายนั้นครอบคลุมกว้างใหญ่ถึงวัฒนธรรมไทย (culture) ที่ค่อยๆ สูญหายไป

และถ้าจะเริ่มต้นบทความด้วยการว่าด้วยนัยและประเด็นต่างๆ ในหนังนั้น ตัวของ ขุนอิน ก็คือ ตัวแทนของคนรุ่นก่อนที่มอบภารกิจในการรักษาวัฒนธรรมไทย (การตีระนาด) ต่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือตัวละครอย่าง 'ศร' นั่นเอง

แม้ในสัปดาห์นี้จะมีหนังใหม่เข้าฉายอย่างน้อย 4 เรื่อง แต่พูดอย่างเป็นกลาง ไม่มีหนังเรื่องไหนในโรงตอนนี้ที่ดีไปกว่า 'โหมโรง' ของคุณอิทธิสุนทร แม้แต่หนังของ 'สหมงคลฟิล์ม' เรื่องอื่นๆ ก็ตาม

หนัง 'โหมโรง' ของอดีตผู้กำกับ 'ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด' ได้โหมโรงมาก่อนหน้านี้แล้วในเทศกาลหนังบางกอกฟิล์มฯ ที่เพิ่งผ่านไป มีฝรั่งหลายคนที่ได้ดูเรื่องนี้และชมว่านี่คือหนังไทยที่ดี ผมอยากจะต่อคำว่าไม่ใช่ 'แค่ดี' แต่เป็น 'ดีมาก' หรือแบบสุภาพๆ ก็ dee chip hai อะไรแบบนั้น...

นี่เป็นเหตุผลที่ขัดใจผู้อ่านบางท่านที่อยากจะเขียนวิจารณ์ 'ปล้นนะยะ' ของอาร์.เอส.เหตุผลเพราะว่าหนังเรื่องนี้ของคุณพจน์ อานนท์ (จอมขยันดูหนัง) คงจะได้เงินไปมากพอสมควร พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องการขาดทุนสักเท่าไหร่ แต่สำหรับ 'โหมโรง'

ต่อให้ผมหรือนักวิจารณ์ท่านอื่นๆ พร้อมใจกันเชียร์หนังโหมโรง โอกาสที่จะถูก 'ลดโรง' ก็มีมากเหลือเกิน...

อันที่จริงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่หนังดีๆ สักเรื่องจะถูกตัดสินด้วยตัวเลขเพียงแค่ 2-3 วัน และตามมาด้วยการลดรอบหรือลดโรงเพื่อหลีกทางให้หนังทำเงินทั้งหลาย...

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกดี ก็คือ ทุกคนที่ผมเจอต่างพูดว่า "ดูโหมโรงหรือยัง..หนังดีนะ" ผมนั้นดูไปสองรอบแล้ว และกำลังจะพาคุณแม่ไปดูในวันวาไลนไทน์นี้

โดยส่วนตัวผมไม่รู้จักกับ คุณอิทธิสุนทร เลย แต่ชื่นชมมาตั้งแต่สมัยอ่านพอคเก็ตบุ๊คเล่มบางๆ ที่ตัวละครอยากจะกินหญ้า เล่นน้ำโคลนเหมือนควาย ของสำนักพิมพ์ศิษย์สะดือเมื่อ 10 กว่าปีก่อน...พอมาทำหนัง 'ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด' ในปี 2536 พี่อิทของน้องๆ ในวงการก็สร้างความทึ่งให้กับวงการและนักวิจารณ์ด้วยคุณภาพของหนังไทยเรื่องแรก จนคว้ารางวัลหนังไทยยอดเยี่ยมแห่งปีในช่วงเวลานั้น...

ปกติเวลาใครเป็นผู้กำกับหนังยอดเยี่ยมนั้น ก็มักจะมีโปรเจคใหม่มารอหน้าประตูบ้านเลย..แต่รายของคุณอิทธิสุนทร แกเงียบหายไปจากวงการหนังถึง 10 ปี ผมเข้าใจเอาว่าหนังเขาไม่ทำเงินมากพอ และเขาเองก็คงเบื่อที่จะไปอ้อนวอนใครให้ทำหนัง

กระทั่งทุกอย่างมาลงตัวกันที่ 'โหมโรง'

ตัวหนังนำเสนอเรื่องราวในปี 2429 เด็กหนุ่มชื่อ ศร ที่เติบโตมากับดนตรีไทยอย่างระนาด และมีฝีไม้ลายมือในการตีระนาดจนชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ส่วนหนึ่งเพราะ ศร มีพ่อเป็นครูสอนดนตรีไทยแห่งอัมพวา บวกกับใจรักที่จะมุ่งมั่นและเรียนรู้ศิลปะด้านนี้

จากชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า...บวกกับวัยหนุ่มที่กำลังเติบโต นั่นทำให้ ศร ฮึกเหิม และมีความเชื่อมั่นในความสามารถจนเกินเหตุ วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสได้เดินทางสู่บางกอก ศร ถูกทดสอบจากนักดนตรีระดับครูอย่าง ขุนอิน การดวลระนาดในครั้งนั้น ขุนอิน สั่งสอน ศร จนแทบจะ 'เสียผู้เสียคน' หลังจาก 'เสียความภาคภูมิใจ' ในตัวไป...

ระหว่างที่ท้อแท้ สับสน และเหมือนตกอยู่ในคืนวันอันเดียวดาย..ศร มีโอกาสได้โชว์ความสามารถในการตีระนาดให้เจ้านายในวังดู และได้รับการอุปถัมภ์ให้เป็นนักดนตรีประจำราชสำนัก

เรื่องที่เหลือเป็นอย่างไร อยากให้ทุกท่านลองไปชมกันเองครับ เพราะสัปดาห์นี้หนังเรื่องนี้ยังมีโปรแกรมอยู่...

โดยปกตินั้น หนังเรื่องหนึ่งจะมีวิธีการนำเสนอได้อยู่ 4 แบบหลักๆ คือ dramatic, realistic, exotic และ primitive คือ ดิบเถื่อนในด้านภาพ หนังโหมโรงไม่ได้ยืนอยู่ทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน แต่เกลี่ยกันอยู่ระหว่างสองแนวทางแรก โดยพยายามจะเลี่ยงความเป็นดราม่าให้มากที่สุด หรือเร้าอารมณ์คนดูแต่พองาม...นัยว่าให้ผู้ชมเข้าไปทำความเข้าใจกันเอาเอง ส่วนใครจะ 'เก็บสาร' ได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะมี 'เครื่องมืออ่านสาร' (ประสบการณ์, ทัศนคติ, มุมมอง) กันอย่างไร

ฉากเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะสนับสนุนคำพูดนี้ ก็คือ การตัดภาพหลายครั้งที่มีโอกาสจะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมอย่างมากมาย และที่ชัดที่สุด ก็คือ ผู้กำกับอิทธิสุนทร ไม่ทำให้การต่อสู้ระหว่าง ขุนอิน กับ ศร เป็นเรื่องของฮีโร่หรือ tragedy แต่เขาใช้ความพ่ายแพ้ของตัวละคร บอกธีมของหนังอันว่าด้วยการอย่าให้กระแสตะวันตกมาครอบงำหรือทำลายวัฒนธรรมไทย โดยใช้ระนาดเอกเป็นสัญลักษณ์ (symbolic)

แม้จะเป็นหนังที่เกี่ยวกับระนาดเอก (ตัวละครเป็นนักระนาด, การประชันกันทางการตีระนาด ฯลฯ) แต่ผมกลับรู้สึกว่าดูอีกมุมหนึ่ง หนังเรื่องโหมโรงไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับดนตรีอย่างระนาดเลยสักนิดน้อย...สิ่งที่หนังพูดคือการรักษาวัฒนธรรมไทย โดยใช้ระนาดมาเป็นตัวแทน การพยายามจะซ่อมแซมและดูแลเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ก็คือ การบอกให้เราปกป้องวัฒนธรรมของเรา

อันไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการดูแคลน หรือชิงชังวัฒนธรรมต่างชาติแต่อย่างใด...

นี่ก็หมายความว่า โหมโรง ไม่ได้ทำหน้าที่แค่การเป็นหนังไทยที่ดูสนุกเท่านั้น แต่ยังแฝงแง่มุมให้คิดอย่างแยบยลด้วยระดับต่างๆ ทางความคิด ฉากที่งามที่สุดเกิดขึ้นสองครั้งในความรู้สึกของผม

ครั้งแรก, ตอนที่ ศร เสียความมั่นใจและนอนเซ็งอยู่กลางทุ่งหญ้า เขามองเห็นทางมะพร้าวที่โบกไหวไปมา หนังจับภาพให้เราเห็นว่า ปัญหาของ ศร นั้นแก้ไขได้ด้วยการใช้จินตนาการ เพราะดนตรีเป็นเรื่องของศิลปะ ไม่ใช่ 'การทำงาน'

ครั้งที่สองเป็นฉากที่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า ทั้งธีมเรื่องและมุมมอง ฉากที่ว่านี้ก็คือตอนที่ลูกชายของ ศร ในยามชรา ซื้อเปียโนเข้าบ้าน และในตอนแรกเขาไม่ใคร่รู้สึกยินดีนัก แต่เมื่อให้ลูกชายลองเล่นเปียโนให้ฟัง ครูศร ก็ตีระนาดคลอกันไปด้วยเมโลดี้เดียวกัน

ถ้าเป็นผู้กำกับบางคนมาทำ เปียโนนั้นอาจจะถูก teeb หรือ ครูศร (อดุลย์ ดุลยรัตน์) อาจจะหัวฟัดหัวเหวี่ยงเอาระนาดทุ่มใส่เปียโนอะไรทำนองนั้น ภาพที่ให้เราเห็นว่า ระนาดนั้นเล่นคู่กับเปียโนได้ เป็นการบอกถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่แอนตี้ และไม่สูญเสียตัวตน...

เพราะฉะนั้น กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไหนในโลกก็ตาม กรุณาเข้าใจให้ถูกด้วยว่า การรักษาวัฒนธรรมตัวเองนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องไปทำลายของต่างชาติ...

ผมชอบความง่ายของหนัง มันงามและเคลียร์...จนแทบไม่มีฉากที่พยายามจะโชว์ออฟอะไรเลย และที่บทหนังฉลาดก็คือเขาไม่ให้ ขุนอิน ต้องตายลงในการดวลระนาด ถ้าเขาตาย ธีมหนังจะเบาลงทันที...

โหมโรง ไม่ใช่หนังที่ต้องการพูดถึงระนาด...เท่าๆ กับที่ The Insider ไม่ได้จะพูดเรื่องสารนิโคตินในบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี

วิธีเล่าเรื่องของโหมโรง เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ฉลาด และผู้กำกับรู้วิธีการที่จะเลือกใช้ พอได้ดูรอบสอง ผมรู้สึกว่าส่วนที่มีพลังมากที่สุด คือ ตอนที่หนังไม่มีคำพูดมากที่สุด นั่นก็หมายความว่า ความคิดของหนัง สำคัญกว่าการกระทำ(ของตัวละคร) หรือเปล่า ?

ผมดู โหมโรง คืนวันอาทิตย์ มีคนดูเยอะมากคือ 7 คน ครั้งที่สองเที่ยงวันอังคาร คนดูยิ่งเยอะกว่าคือ 4 คน!!

ยังนึกไม่ออกว่า คุณอิทธิสุนทร จะได้ทำหนังอีกหรือเปล่า (หรืออาจจะมาอีกครั้งปี 2557 คือทุกๆ 10 ปี) อย่างไรก็ตาม อยากจะปรบมือให้ค่ายหนังและทีมงานทุกคนที่เกี่ยวข้องในการทำหนังเรื่องนี้

และที่สำคัญ ผมอยากจะบอกไปถึง คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ว่าอย่าเสียใจถ้าหนังไม่ได้เงิน (แค่ศรเสีย self ในหนังก็พอแล้ว) ถัดจาก 'กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้' เกือบ 10 ปีก่อน โหมโรง เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ไม่ว่าใครก็ตามพูดถึง ทุกคนจะชมกันหมด แม้แต่เพื่อนที่ไม่เคยมองว่าหนังไทยนั้นดี ก็ยังหลุดปากชมหนังเรื่องนี้ (ขณะที่ 'แฟนฉัน' เด่นในแง่ของเอ็นเตอร์เทนและ 'รักน้อยนิดมหาศาล' มีคนชอบพอๆ กับคนไม่ชอบ)

หนังที่ดีมากอย่าง 'โหมโรง' อาจจะไม่ได้เงิน แต่ไม่ได้หมายความว่า พอสิ้นปี 2547 หนังไทยเรื่องนี้จะไมได้รางวัลทางภาพยนตร์ ตรงกันข้าม...ผมกลับรู้สึกว่าในรายชื่อหนังไทย 5 เรื่องยอดเยี่ยมของปีนี้ โหมโรง จะเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน และเผลอๆ อาจจะเป็นหนังไทยยอดเยี่ยมของปีนี้

ขอเอาใจช่วยคุณอิทธิสุนทร และทีมงานทุกคน

"มองโลกในแง่ดี การที่หนังโหมโรงไม่ได้เงินก็มีข้อดีเหมือนกัน.." นักวิจารณ์ที่ชอบหัก 'โหม' ดูหนังตาม 'โรง' พยายามจะหาเหตุผลมามั่วนิ่มตามฟอร์ม...

"ถ้าเกิดเรื่องนี้ได้เงินขึ้นมา ผมเกรงว่าสังคมไทยจะเกิดกระแส...เข้าคอร์สตีระนาด...คล้ายๆ เรียนเทนนิสเพราะพี่บอล...กินชาเขียว...เข้าสปา...จนทำให้ดนตรีไทยดนตรีเทศเกิดภาวะซบเซา..."

"แล้วมีสิทธิเลยว่า...ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ฉลาดมากในบ้านเรา จะออกมาบอกว่า โหมโรง เป็นหนังที่ทำลายวงการเพลงแร็พ...ระรานสิทธิดนตรีขิม...เพราะจะมีแต่คนสนใจระนาด"

"แล้วชัวร์ป๊าปว่า...ก็จะมีสินค้าใหม่ชื่อ ระนาดใส่ชาเขียว ออกมาขาย...เพราะโกเต็กใส่ชาเขียวก็มีแล้ว...ทำไมระนาดใส่ขาเขียวจะมีไม่ได้...พี่อิทของน้องๆ เห็นด้วยมั้ย.." (ฮา)
โดยคุณ :แต้ว - [0:08:18  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 21
หนังเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์จริงๆ

อย่างน้อยก็ทำให้พี่แต้วรักมัน จนต้องหลังขดหลังแข็งพิมพ์อะไรยาวๆขนาดนี้ :D
โดยคุณ :ทีฯ - [13:10:01  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 22
ช้าก่อน ทีฯ เอ๊ย อาจจะ copy & paste ก็ได้
โดยคุณ :ไม่เคยคิดถาม - [16:18:37  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 23
จากhamburgerยาวเหยียดนั่นน่ะ
พี่แต้วใช้นิ้วมืออันเรียวงาม"พิมพ์"ค่ะ
โดยคุณ :ทีฯ - [16:44:14  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 24
โอ้วว
เก็บข้อมือไว้ตีระนาดดีกว่าไม๊คะ
แหะๆ

โดยคุณ :(0_0)m_อุ้ม - [19:04:52  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 25
ขอบคุณมาก ๆ นะคะ คุณแต้วที่มาพิมพ์ให้อ่าน
โดยคุณ :คนไกลบ้าน - [20:36:17  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 26
พี่ไม่เคยฯ ... ข้องใจไรเหรอ (หาเรื่องๆ)

(0_0)m_อุ้ม คะ ... ทางของศรคือระนาด >> ทางของแต้วก็พิมพ์งานนี่ล่ะค่ะ :D

คนไกลบ้านคะ ... ยินดีพิมพ์ค่ะ ถ้ามีคนอ่าน ^_^

ทีฯ ... พี่ใช้กีบพิมพ์วะ โหะๆๆๆๆ กัดตัวเอง ปลอดภัยไม่เป็นหวัดนก ... ที่ว่าจะชวนกันไปดู โหมโรงรอบคนสนิทน่ะ ว่ายังไงเหยอ ??
โดยคุณ :แต้ว - [23:32:21  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 27
ไปดูพร้อมคนpantipดีกว่าปะ
กำลังโยนหินถามทางอยู่
กะว่า800 ที่นั่ง ดูสกาล่าไปเลย  เสียงกระหึ่ม จอเบ้ง
โดยคุณ :ทีฯ - [23:39:07  14 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 28
เอ... เข้าสกลาล่าด้วยเหรอ วันก่อนพี่ดูที่ "สยาม" นะ พรุ่งนี้อาจจะแว๊บไปดูรอบ 3
โดยคุณ :ไม่เคยคิดถาม - [0:10:40  15 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 29
ไม่เข้า แต่จะทำให้มันเข้า
โดยคุณ :ทีฯ - [0:22:45  15 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 30
ไป
โดยคุณ :แต้ว - [9:14:02  15 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 31
ไป
โดยคุณ :ไปฟ้า - [12:11:42  15 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 32
มาขอบคุณที่แต้ว..

ขอบคุณคะ
โดยคุณ :เด็กน้อยไม่ยอมเรียน - [20:36:13  15 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 33
http://www.bates.co.th/shiroverture.swf
หวานซะ น้ำตาร่วง
โดยคุณ :picmee - [9:58:34  16 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 34
น่ารักจัง ^^
โดยคุณ :แต้ว - [16:31:34  16 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 35
ถ้ามีจัดฉายโรงใหญ่อย่างที่เจ้าทีฯบอกจริงๆ...

ไปด้วยคนนะ
โดยคุณ :pitsie~~ - [17:19:10  16 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 36
ขอบคุณทุกคนที่ขยันพิมพ์ให้อ่าน

น้องทีฯทำให้มันเข้าสกาลาได้จริงๆนะ แล้วพี่จะตามไปดูมั่ง
โดยคุณ :mmm - [21:09:52  16 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 37
ผมมีแผ่นที่มี 26 เพลงด้วย ๕๕๕

เอา แผ่น CD ระนาดสายรุ้ง ของอาจารย์ ถาวร ศรีผ่อง ยัดเพิ่มเองอีก 8 เพลง
ได้ 80 นาทีพอดี

1) ลาวสวยรวย (เดี่ยวระนาดไม้นวม)
2) ลาวจ้อย (เดี่ยวระนาดไม้นวม)
3) ลาวดำเนินทราย (เดี่ยวระนาดไม้นวม)
4) ลาวเสี่ยงเทียน (เดี่ยวระนาดไม้นวม)
5) เขมรไทรโยค (เดี่ยวระนาดไม้นวม)
6) เขมรไล่ควาย (เดี่ยวระนาดไม้แข็ง)
7) ค้างคาวกินกล้วย (เดี่ยวระนาดไม้แข็ง)
8) ฉิ่งมุล่ง (เดี่ยวระนาดไม้แข็ง)
9) เชิดนอก (เดี่ยวระนาดไม้แข็ง)
โดยคุณ :ไม่เคยคิดถาม - [22:38:12  16 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 38
เยี่ยมครับ ที่พิมพ์ให่อ่านขนาดนี้
เห็นมะ พลังโหมโรง มีมากขนาดไหน
ข่าวการร่วมตัวดูหนังโหมโรง รอบพิเศษครับ
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2672027/A2672027.html
โดยคุณ :ปากี้ - [11:50:53  17 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 39
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2672027/A2672027.html
โดยคุณ :เป็นปรากฏการณ์ ^_^ - [12:53:11  17 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 40
ขอบคุณคุณปากี้ .. เลยได้ข่าว update เพิ่มเติมมาจ้า
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2672949/A2672949.html

=-=-=-= รายละเอียดล่าสุด "โหมโรง" รอบพิเศษ สำหรับชาว Pantip.com [2] =-=-=-= {แตกประเด็นจาก A2672027}

กระทู้นี้แตกประเด็นมาจาก A2672027


งานสำหรับ ชาว Pantip ทุกโต๊ะครับ

วันจัดงานมี 2 ตัวเลือก

1. อาทิตย์ 22 เช้า
2. อาทิตย์ 29 เช้า

สถานที่ โรงหนัง ใจกลางเมือง โรงใดโรงหนึ่ง (มีแนวโน้มว่าแถวๆสยามฯ)

จะมีการประชุมนัดแรกเย็นนี้
- ตัวแทนจากค่ายหนัง
- ตัวแทนมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ฯ
- ตัวแทนสมาชิก Pantip.com

แถวๆ สามเสน

- ทางมูลนิธิ พร้อมจัดได้ วันที่ 22 เลย
- ทางค่ายหนังจัดการเรื่องสถานที่ได้ แต่ยังไม่คอนเฟิร์มคิวนักแสดงว่าทัน วันที่ 22 หรือ ไม่ (มีแนวโน้มว่าได้)
- ทาง Pantip.com พร้อมดำเนินการรับลงทะเบียนประชาสัมพันธ์ได้ทันที่ได้ข้อสรุปในคืนนี้

ส่วนสำคัญที่สุด

งานนี้เจ้าภาพหรือแม่งาน จะจัดในนามสมาชิก Pantip.com ทุกคน

สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ

**** อาสาสมัครเพื่อมาเป็น STAFF จัดงาน ****

งานแรกที่ต้องทำคือเป็นตัวแทนของสมาชิก Pantip.com ไปประชุมเย็นนี้

ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ

ต้องการ "ทีมงาน" ด่วน มากถึงมากที่สุด
ใครทำอะไรได้ช่วยเสนอตัวหน่อยครับ
เพราะว่า ตอนนี้ทุกอย่างพร้อมแล้ว ขาดก็แต่ "คน" เท่านั้นเองครับ

- คนวางแผนควบคุมงาน
- คนติดต่อประสานงาน
- เบ๊ในงาน (ผมคนนึงละ)
- อื่นๆ



คน ค้น คน

ปล. มีหน่วยงานหรือ องค์กรใหนใจบุญรับเป็นผู้จัดการไม๊ครับ -_-"

แก้ไขเมื่อ 17 ก.พ. 47 11:47:33

จากคุณ : NUTS  - [ 17 ก.พ. 47 11:45:39 ]


เย้ เย้
โดยคุณ :แต้ว - [13:20:32  17 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 41
ขอบคุณค่ะที่พิมพ์มาให้อ่าน น่ารักมากเลย
ยิ่งได้อ่านยิ่งอยากไปดูไว
โดยคุณ :ไอริ - [20:01:59  17 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 42
โหมโรง


ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
บทความโดย เชิด ทรงศรี

บอกก่อนนะครับว่า ข้อเขียนนี้เชียร์หนังไทยเรื่อง "โหมโรง" อย่างชนิดที่-เอาหน้าดำดำของผม และเสียงที่เหมือนเป็ดถูกบีบคอ(อย่างที่เพื่อนผมว่า) - เชิญชวนคุณทุกคน ที่มีดนตรีในหัวใจ-ไปดู

ผมดู "โหมโรง" รอบสื่อมวลชน ก็ได้ดูก่อนวันฉายจริงแหละครับ มีชายญี่ปุ่นคนหนึ่งมานั่งดูข้างๆ ผม พอหนังจบเจอกันหน้าโรง เขาบอกผมว่า มาจากฟูกุโอกะ ชี้ให้ผมดูหางตา...

"ผมร้องไห้ ไม่ใช่ร้องไห้เพราะเศร้านะครับ แต่เป็นความรู้สึกอิ่มเอิบใจและปลื้มปิติ"

นั่นเป็นความรู้สึกเดียวกับผม คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้เขียนบทฯ และกำกับฯ หนังเรื่องนี้ นำเสนอ "โหมโรง" - เรื่องของนักดนตรีไทยรุ่นเก่า-ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยภาษาภาพยนตร์ของคนรุ่นใหม่ แต่สามารถรักษาจิตวิญญาณของความเป็นไทยไว้ได้ครบถ้วน สง่างาม อย่างที่ผมต้องยกย่องในฝีมือและเสนอหน้าการันตี

การดำเนินเรื่องฉับไว แต่ในขณะเดียวกัน-ความนุ่มนวล อ่อนหวาน สวยใส ก็คละเคล้าอยู่กับความรุนแรง-ชวนติดตาม ได้อย่างงดงามและลงตัว

ผมไม่เคยเห็นคุณอดุลย์ ดุลยรัตน์ และคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง แสดงหนังเรื่องไหนได้เลอเลิศเท่ากับเรื่องนี้ คุณอดุลย์บอกผมว่า เขาใช้เวลา 3 เดือน ฝึกตีระนาด เวลาถ่าย กว่าจะผ่านไปได้แต่ละช็อต สาหัสมาก คุณอดุลย์นั้น นอกจากจะเป็นนักแสดงประเภทเสือเก่าแล้ว ยังเป็นผู้กำกับฯ ด้วย ซึ่งเช่นกันกับคุณพงษ์พัฒน์ โปรดจับตาดูนะครับ...ลาย "เสือเก่า" งามสง่าจน-ทำเถิด ถ้าความรู้สึกของคุณอยากปรบมือ!

ปรบมือให้กับการแสดงที่ทุ่มเทด้วยชีวิตจิตใจ จนเป็นผลให้ ศิลป์ ได้ประกาศคุณค่าเป็นอนันต์ นานๆ จะมีผู้กล้าสร้างหนังไทย-โดยไม่หายใจเป็นเงินสักเรื่องหนึ่ง

ใครก็ตามที่ร่วมกันทำหนังเรื่อง "โหมโรง" คุณคือผู้สร้าง...ที่ "สร้าง" หนังไทย-ตัวจริง!!

---------------------------------------------------------------------------

จาก ... http://content.kapook.com/hilight/movies/772.html
โดยคุณ :แต้ว - [15:53:52  18 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 43
ขอแสดงความนับถืออย่างจริงใจในความพยายามพิมม์เลยเนี่ย  ไปดูมาแล้วเหมือนกันเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ชลบุรี  ทั้งโรง นับคนดูได้ไม่ขาดไม่เกิน9คนพอดี เห็นแล้วใจหายมาก
โดยคุณ :คุนิมิคุง - [16:58:48  18 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 44
ไม่รู้จะทันเปล่า วันนี้ 26 ก.พ. เจาะใจมีโหมโรงมา
โดยคุณ :ไอริ - [22:59:56  26 ก.พ. 2547]

ความคิดเห็นที่ 45

ขออนุญาติ นำไป post ให้ชาว pantip ได้อ่านกันนะคะ

เพราะอ่าน แล้ว ดีมากเลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ
โดยคุณ :ณัชร์ - [17:44:25  2 มี.ค. 2547]

ความคิดเห็นที่ 46
^_____^ ยินดีมากๆ ค่ะ คุณณัชร์ (ตามไปดูที่พันติ๊บแล้วค่า)
โดยคุณ :แต้ว - [21:29:01  2 มี.ค. 2547]

ความคิดเห็นที่ 47
ไปเอามาจาก pantip เห็นว่ามีประโยชน์ดี

http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2695573/A2695573.html

ศรอินประชันระนาด แพ้ชนะดูอย่างไร ความรู้ครับ(อิงประวัติศาสตร์ด้วย)
เอามาจากถนนนักเขียน  ห้องสมุดครับ   เพื่อนๆที่โน่นเขาชอบเขียนกวีกัน  เก่งๆทั้งนั้น
เพื่อน เฉลิมไทย  ลองไปเยี่ยมชมดู

แต่ที่ผมคิดว่าเป็นความรู้ดี  ตรงนี้ครับ

ศรอินประชันระนาด

+ + + + + + + + + + +

ขุนอินไหวลูกโป้ง.............องอาจ นักแล
ศรร่อนไหวพิลาส..............พิจิตรจ้า
ร้อยลูกโซ่โตพิฆาต............หมายพิชิต ศรแฮ
ศรซ่อนตะเข็บท้า..............สะบัดขยี้ไขว้มือ

+ + + + + + + + + + +

อธิบายศัพท์

+ + + + + + + + + + +

ไหวลูกโป้ง การตีกลอนเพลงอย่างเร็วสุดๆ
หรือที่เรียกว่าขยี้ พร้อมเสียงที่แน่น ก้อง ลึก
สง่างาม เจิดจ้า คือกะว่าแต่ละลูกที่ตีนั้น
ยิงเข้าสู่โสตประสาทของคู่ต่อสู้ให้ผวากลัว
ไม่กล้าต่อกรด้วย

ร่อนไหว = ไหวร่อน การตีกลอนเพลงอย่างเร็วสุดๆ
แม้เสียงไม่ถึงขนาดไหวลูกโป้ง แต่กลอนเพลงแฝงความ
วิจิตรบรรจง แยบคาย กว่าไหวลูกโป้ง

ร้อยลูกโซ่โตพิฆาต คือการตีกลอนเพลงแบบร้อยลูกโซ่ด้วยเสียงโต
คือเสียงดังกังวาล

ซ่อนตะเข็บ เป็นการเดินกลอนเพลงแบบหนึ่ง

สะบัด คือตีคู่แปดสามพยางค์อย่างรวดเร็ว

ขยี้ คือการตีถี่กว่าปกติสองเท่าขึ้นไป

ไขว้มือ = ตีไขว้ เป็นลีลาพิเศษสำหรับแสดงความสามารถ
ของนักระนาดที่สามารถสลับมือซ้ายขวาตีระนาดได้

+ + + + + + + + + + +

หมายเหตุ

+ + + + + + + + + + +

ทางเพลงของขุนอินน่าจะเป็นแบบเก่าจากครั้งอยุธยา
คือรวดเร็วพร้อม ๆ กับความหนักแน่นในแต่ละครั้งที่ตี
ทำให้ได้เสียงดังกังวาล สง่างาม เจิดจ้า ทรงพลัง
ติดหู น่าเลื่อมใส เนื่องจากการตีแบบนี้ใช้แรงเยอะมากๆ
ผู้ที่จะตีได้ทนหรือที่เรียกว่าไหวทนได้ต้องใช้เวลาฝึกซ้อม
อย่างสม่ำเสมอเป็นแรมปี ขุนอินคงจะเป็นตัวแทนของ
พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

ทางเพลงของศรน่าจะเป็นแบบใหม่คือเกิดในรัชกาลที่ ๕
โดยพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
ซึ่งเป็นครูระนาดของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
ที่เน้นลีลาการผูกเพลงด้วยลูกเล่นต่าง ๆ มากกว่าการ
ใช้พละกำลังหักหาญ คือเน้นความสวยงามของเพลงก็ว่าได้

ในการประลองจริง ๆ ระหว่างพระยาเสนาะฯ กับจางวางศร
เพลงต่อเพลงไม่มีใครแพ้ชนะเพราะดีคนละอย่าง คือพระยาเสนาะ
ไหวเจิดจ้า จางวางศรไหวร่อน จึงต้องตัดสินกันที่เพลงเชิดต่อตัว
คือการเล่นเพลงรับส่งกัน ถ้าส่งด้วยการตีอย่างรวดเร็ว ก็รับด้วยการตีอย่าง
รวดเร็ว ถ้าส่งด้วยการตีอย่างช้า ก็รับด้วยการตีอย่างช้า รับส่งไปเรื่อย ๆ
จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับไม่ทัน คือส่งมาเร็วแต่รับได้เร็วไม่เท่า ฝ่ายรับก็
จะแพ้ทันที การตีแบบนี้อาศัยความทน หรือที่เรียกว่าไหวทนเป็นหลัก
แน่นอนที่จางวางศรต้องเป็นฝ่ายได้เปรียบหากพระยาเสนาะฯไม่ยอมลด
ความจัดจ้าของการไหวลง เพราะจางวางศรเป็นแนวเล่นลีลาจึงออกแรงตี
น้อยกว่าเยอะ สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจในการประลองก็คือพระยาเสนาะฯ
เป็นชายชาติเสืออย่างแท้จริง เพราะแม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อยจากการตีไหว
ที่ยังคงความสง่างามเฉิดฉายตลอดการประลอง ท่านไม่ยอมลดความจัดจ้า
อันเป็นเอกลักษณ์แห่งระนาดเอกมาครั้งกรุงเก่าลง จนกระทั่งเกิดอาการมือตาย
ทำให้รับลูกส่งของจางวางศรช้ากว่าที่จางวางศรส่งมา แม้กระนั้น
เสียงระนาดท่านก็ยังดังสนั่น ก้องกังวาล องอาจ สง่างาม ซึ่งแม้แต่ตัว
จางวางศรเองก็ประทับใจไม่รู้ลืม

โดยคุณ รมย์ บุริน  จาก ถนนนักเขียน

เพื่อนๆถ้าอยากไปอ่านบทกวี  ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง โหมโรงกัน  ไปอ่านที่
http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W2678839/W2678839.html

โดยเฉพาะตรงนี้ ผมชอบมาก

คืออาวุธแห่งกวี   คีตศิลป์
คือดนตรีแห่งแผ่นดิน   ไม่สิ้นเสียง
คือสายเลือดจิตน้อม    อย่างพร้อมเพรียง
คือสำเนียงบรรพชน    ชื่อ "คนไทย"


แก้ไขเมื่อ 02 มี.ค. 47 23:57:42

จากคุณ : แดนไท  - [ 2 มี.ค. 47 23:53:37 ]  
โดยคุณ :ไอริ - [17:54:53  3 มี.ค. 2547]

ความคิดเห็นที่ 48
อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ...เมื่อลูกบ้าเริ่ม “โหมโรง” อีกครั้ง...


         ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๑ ปีก่อน คอหนังไทยหลายคนคงจำกันได้ถึงภาพยนตร์ตลกเสียดสีสังคมเรื่อง “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” ซึ่งภาพยนตร์แม้จะไม่สามารถเก็บ “เงิน” ได้มากเท่าไรนัก แต่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิงในปี พ.ศ.๒๕๓๖ รวมทั้ง “กล่อง” จากนักวิจารณ์และผู้ชมที่ยังคงพูดถึงอยู่เสมอ ก็เป็นเครื่องการันตีคุณภาพของทีมงานผู้สร้างหน้าใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหัวเรือใหญ่อย่างผู้กำกับฯหนุ่มร่างสูงนาม อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์

           เกือบ ๑๐ ปีต่อมา หลังจากเงียบหายไปกำกับภาพยนตร์โฆษณาและละครโทรทัศน์หลายชุด ชายหนุ่มคนเดิมพร้อมทีมงานชุดเก่าก็กลับมาร่วมกันสร้างผลงานภาพยนตร์อีกครั้งในแนวย้อนยุคดราม่ากับ The Overture หรือชื่อภาษาไทย “โหมโรง” วันนี้ เราจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำกับฯหนุ่มไฟแรงคนสำคัญ เป็นการ “โหมโรง” ก่อนภาพยนตร์จะเข้าฉายจริงในไม่ช้านี้

           ชีวิตบนเส้นทางผู้กับฯของอิทธิสุนทรเริ่มมาจากความที่เป็นคนชอบงานกำกับการแสดงตั้งแต่เรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คลุกคลีทำละครเวทีจนกระทั่งจบออกไปทำรายการโทรทัศน์ใน “เพชฌฆาตความเครียด” จนมาสู่รายการวิก ๐๗ และพลิกล็อค สิ่งเหล่านี้จึงเหมือนกับช่วยบอกจุดยืนในอนาคตของเขาได้เป็นอย่างดี

           “สมัยเรียน ผมก็ทำละครเวทีมาเรื่อย ทำทุกอย่างด้วยความมันเข้าว่า แต่ก็ไม่ได้คิดลึกลงไปว่า มันจะสะท้อนหรือสื่อสารอะไรหรือเปล่า แม้ว่าไปทำรายการเพชฌฆาตความเครียดแล้วก็ยังไม่ได้คิดลึก ขอเน้นมุขแบบแปลกๆแหวกๆไว้ก่อน แต่พอทำไปสักพัก เราก็เริ่มเจอบางมุขที่คิดไป มันก็จะสะท้อนอะไรบางอย่างด้วยและเราเริ่มเรียนรู้มากขึ้น เริ่มโตขึ้นด้วยวัยวุฒิ มีความนิ่งมากขึ้น ความนึกคิดในการสร้างสรรค์งานก็เริ่มเปลี่ยนไป...คือเราเริ่มรู้สึกว่า อ๋อ มันมีบางอย่างที่มันมีแก่นด้วยนะ...พอมาทำเรื่อง ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด นี่ เรื่องเลยออกมาว่า แม้จะมีความตลกฮาอยู่ แต่เราก็พยายามเสียดสีอะไรบางอย่างของสังคมด้วย หนังเรื่องนี้จะสะท้อนเรื่องราวของคนทั่วไปในปัจจุบันที่ทำงานไปวันๆ เห็นสิ่งต่างๆแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว แล้ววันหนึ่งตัวละครตัวนี้มีลูกบ้าขึ้นมาว่า อะไรผิดข้าไม่ยอมแล้วนะ ก็เลยดูกลายเป็นคนบ้าไป...

โดยคุณ :แต้ว .. แอบโพสท์ 1 - [18:37:13  20 เม.ย. 2547]

ความคิดเห็นที่ 49
            ความคิดเริ่มจริงจังมากขึ้น เมื่อได้มาทำโหมโรง ซึ่งเราได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตครูดนตรีในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะหลวงประดิษฐ์ไพเราะ...แต่ก็ไม่ใช่เป็นหนังชีวประวัติหรือประวัติศาสตร์โดยตรงเสียทีเดียว...เพราะว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะแต่งขึ้นมาจากจินตนาการ เป็นเรื่องนักดนตรีระนาดเอกที่ต่อสู้ฝ่าฟันจนได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับ ๑ เนื้อเรื่องมีทั้งการเรียนรู้ การต่อสู้ การถูกลูบคม การประชันกัน ในขณะเดียวกันก็จะสะท้อนให้เห็นว่า นักระนาดเอกคนนี้ เมื่อผ่านยุคสมัยมาจนต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่นโยบายของประเทศกำลังพาประเทศให้มีความทันสมัย แต่ละทิ้งสิ่งที่ดูเหมือนว่าโบราณคร่ำครึไปเสีย เราต้องการสื่อให้คนดูเห็นว่า เออนะ...ในยุคหนึ่งมันมีการมองวัฒนธรรมไทยเป็นอีกแบบหนึ่งนะ”

           ผู้กำกับฯหนุ่มเล่าเสริมว่า การทำงานใหม่ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากมักไม่ค่อยเห็นภาพยนตร์ไทยที่กล่าวถึงดนตรีไทยโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีการสร้างภาพดนตรีไทยให้เกิดความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ ถ่ายทอดออกมาในลักษณะของมุมกล้อง แสงสี ทันสมัย ชวนหวือหวาตื่นตามากขึ้น ซึ่งเขาใช้เวลาทั้งสิ้น ๒ ปี ในการกำกับ ดูแลเรื่องราวทั้งหมดให้มีความลงตัวและสมจริงมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคของอัจฉริยะทางด้านดนตรี การวางตัวละครจะต้องศึกษาให้มากที่สุด ต้องพยายามสังเกตว่านักดนตรียุคนั้นใช้ชีวิตอย่างไรหรือเล่นอย่างไรถึงเรียกว่าเก่ง และต้องไม่ให้มีความผิดพลาดทางด้านดนตรีไทย รวมทั้งรายละเอียดของฉาก บรรยากาศของเหตุการณ์ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคก่อนแทบทั้งหมด

           ในทัศนะของอินธิสุนทร เรื่องราวที่เข้าขึ้น “โดนใจ” นั้น ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดการทำงานบนแผ่นฟิล์มของเขา

โดยคุณ :แต้ว .. แอบโพสท์ 2 - [18:39:43  20 เม.ย. 2547]

ความคิดเห็นที่ 50
            “เรื่องราวของหนังต้องกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากทำมากๆ เป็นอันดับแรก คือ รู้สึกอยากดูเรื่องนี้ เพราะการกำกับหนังหรือละคร มันกินเวลาเราไปไม่ต่ำกว่า ๘-๑๐ เดือน คือเรียกว่ามันจะต้องมีแรงผลักแรกที่แรงพอ ไม่อย่างนั้นก็จะรู้สึกไม่พิถีพิถันกับมันเท่าไรเมื่อทำไปเรื่อยๆ หรืออาจถึงขั้นเบื่อไปเลยก็ได้ อย่างน้อยเราต้องมีจุดกำเนิดของสิ่งที่เราอยากเล่าด้วยตัวเราเอง แล้วเราจะทำเรื่องนั้นได้ดี อีกอย่างคือ เรื่องนั้นต้องมีคุณค่าในตัวของมันเอง ชิ้นงานของเราควรจะมีคุณค่าอะไรต่อผู้ชมบ้าง ทำให้เขาได้คิด ได้มองอะไรบางอย่างที่ไม่เคยมองในชีวิตประจำวัน ซึ่งถามว่าเคยท้อถอยบ้างหรือไม่กับการทำงานที่ถือได้ว่ายากตรงนี้ ก็ยอมรับว่ามีบ้าง แต่อย่างที่บอกไว้ครับว่า แรงผลักอย่างแรกจะต้องมาแรงก่อน ตัวเลือกต้องแข็งแรงสำหรับตัวเรา หันกลับมามองเรื่องแล้วเราต้องรู้สึกว่า เออ เราอยากเล่าให้มันสำเร็จนะ เพราะเป็นเรื่องที่ดี มันทำให้เรามีพลังในการทำงานต่อไปได้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาการถ่ายทำหรือการแสดงอย่างไร พอเราย้อนกลับไปมองอีกที เรายังถือเรื่องที่ดีนั้นอยู่ในมือ มันทำให้เราอุ่นใจขึ้นมาได้ ตรงจุดนี้ละครับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่าต้องทำต่อให้จบ...เป็นแก่นในการทำงานของผมเลยก็ว่าได้”

           เขายอมรับว่า วิธีการทำงานลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งมาจากนิสัยส่วนตัวของเขาเอง เพราะคิดว่าไม่มีความขยันมากพอจะกำกับหลายๆเรื่อง บางครั้งอ่านบทแล้วไม่รู้สึก “อิน” เท่าไร เลยขอปฏิเสธไป และมุ่งสร้างสรรค์งานของตัวเองเป็นหลักดีกว่า

           “จะเรียกว่าเป็นคนที่เรื่อยเปื่อยมากก็ได้ครับ ลืมโน่นลืมนี่ ขี้เกียจมาก พักผ่อนเยอะเป็นลูกผู้ชายบ่ายสามเลย (หัวเราะ) แต่พอมาทำงานกองถ่ายของตัวเอง ไม่ว่าจะตี ๓ ตี ๔ เราก็ต้องทำให้ได้ เพราะนั่นคือธรรมชาติการทำงานอยู่แล้ว...มันเป็นชีวิตหนึ่งไปเลย”

           นอกจากนี้ ทีมงานผู้คอยอยู่เบื้องหลังก็เป็นอีกส่วนสำคัญให้เกิดงานชิ้นงามตามจินตนาการของผู้กำกับฯ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้กำกับฯคนใดได้คนช่วยงานที่รู้ใจก็ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐของตัวเองได้อย่างหนึ่งเลยทีเดียว
โดยคุณ :แต้ว .. แอบโพสท์ 3 - [18:44:33  20 เม.ย. 2547]

ความคิดเห็นที่ 51
            “ผู้กำกับฯแต่ละคนก็จะมีทีมของตัวเองขึ้นมา อย่างผมก็มีบริษัทของตัวเอง (บริษัท กิมมิค จำกัด) เราสร้างทีมแล้วก็สร้างบุคลากรให้เขาแข็งแรงพอที่จะดูแลสิ่งต่างๆแทนเราได้ ถ้าเรามีทีมงานที่ไปด้วยกันได้ ผมว่าเป็นเรื่องดีมากๆเลยละครับ เพราะเราสามารถคุยกับคนที่ไว้ใจได้ คุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง...ทีมของผมแม้ว่าบางคนจะไม่ได้ทำงานประจำให้เรา แต่ทุกครั้งที่มีงานก็สามารถมาร่วมทีมได้ด้วยอาศัยคุ้นมือและคุ้นเคยกันมานาน สื่อสารเข้าใจ คอยช่วยเหลือดูแลเรื่อง ไม่เหมือนผู้กำกับฯอิสระที่ต้องไปเจอทีมงานแปลกหน้า และจูนกันทุกครั้ง ซึ่งยากและเหนื่อยกว่า...

           แต่พอทำงานกำกับจริงๆแล้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยแทบทุกคนจะต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานกำกับเยอะ ผู้กำกับฯแทบจะเป็นโปรดิวเซอร์กันทุกคนอยู่แล้ว เพราะจะต้องดูเรื่องงบประมาณ ความเป็นไปของกองถ่าย การบริหารคน ทีมงาน มันยังไม่ถึงจุดที่เป็นระบบการทำงานสวมหมวกผู้กำกับฯเพียงใบเดียว เราต้องสวมหมวกหน้าที่อื่นด้วย ซึ่งบ่อยครั้งมากๆเข้าก็เป็นเรื่องบั่นทอนพลังงานการสร้างสรรค์กำกับของเราด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นผู้กำกับฯก็คือ การต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานกำกับนั่นเองครับ (หัวเราะ)”

           แต่ถึงจะมีปัญหาการทำงานอย่างไร โครงการต่อไปของผู้กำกับฯคนนี้ก็เริ่มมีเค้าโครงให้เห็นแล้ว

           “เรื่องต่อไปตั้งใจจะทำให้ผ่อนเบาลงมาเป็นคอมเมดี้ เพราะว่าเรื่องโหมโรงก็เป็นเรื่องจริงจังค่อนข้างมาก และตัวเราเองก็เกิดมาจากแนวทางคอมเมดี้อยู่แล้ว หรือไม่ก็ไปทำงานโฆษณาให้เพื่อนฝูงไปพลางๆก่อน”

โดยคุณ :แต้ว .. แอบโพสท์ 4 - [18:45:47  20 เม.ย. 2547]

ความคิดเห็นที่ 52
            ในฐานะผู้กำกับการแสดงที่ผ่านงานมามากคนหนึ่ง อิทธิสุนทรฝากถึงผู้ที่ใฝ่ฝันจะเป็นผู้กำกับฯว่า ต้องเรียนรู้และขวนขวายให้มาก และต้องลองจากหลายอย่างมาก่อนจนเกิดความมั่นใจว่าสามารถทำได้ พยายามสร้างประเด็นของตัวเองให้ชัดเจนว่าต้องการสื่ออะไร ที่สำคัญคือ ต้องมีจินตนาการในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆออกมาให้ได้ผ่านทางแผ่นฟิล์มซึ่งต้องอาศัยการสะสมจากการดูหรือเรียนรู้ เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ตามความมุ่งหวัง

           ไหนๆก็ได้มาคุยกับผู้กำกับฯรุ่นใหม่ไฟแรงคนหนึ่งในวงการแล้ว ก่อนจากกัน เราเลยสอบถามถึงทัศนคติเกี่ยวกับภาพยนตร์ในบ้านเราจากมุมมองของผู้อยู่ในแวดวงดงหนามเตยเสียเลย

           “ผมว่ามันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบอยู่ด้วย พอคนเห็นว่าหนังแนวไหนทำเงินได้ คนก็อยากเข้ามาทำบ้าง บางเรื่องก็ดูแล้วไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของคนดูที่จะเลือกเสพแต่ว่าในแง่ที่มันมีความหลากหลายมันก็มีอยู่นะ จริงๆแล้วผมว่านี่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่มากเท่ากับที่ทุกวันนี้ธุรกิจภาพยนตร์มันเดินเข้าสู่ระบบโรงภาพยนตร์ที่คัดเลือกหนังด้วยระบบ ๓ วันแรก ว่าเรื่องใดทำรายได้ดีใน ๓ วันแรกที่เข้าฉาย ก็สามารถอยู่ต่อได้ และสามารถถอดเรื่องนั้นได้ หากไม่สามารถทำเงินได้ดีใน ๓ วันแรก คือทุกอย่างมันวัดกันด้วยตัวเลขน่ะครับ จะเรียกว่า มันเป็นสิ่งที่เรารับมาจากต่างประเทศก็ว่าได้ ธุรกิจของเขาแข็งแรงพอที่จะกระจายหนังออกไปได้ทั่วโลก ในขณะที่เราก็ยังทำหนังแบบกระท่อนกระแท่นกันอยู่อย่างนี้ แล้วยิ่งมาเจอระบบธุรกิจโรงหนังอย่างนี้ด้วยแล้ว มันก็เป็นข้อได้เปรียบสำหรับหนังต่างประเทศ เขามาทีมาด้วยกระแสโลก ไปที่ไหนคุณก็เจอหมด แต่ของเรามาด้วยกระแสหัวเขียว หัวบานเย็น (หัวเราะ) เราก็สู้ไม่ได้แล้ว”

           ลงท้ายกันอย่างนี้แล้ว ทำให้เราอดคิดเล่นๆในใจต่อไปไม่ได้ว่า หนังใหม่ “โหมโรง” ของเขาที่นำเสนอประเด็นวัฒนธรรมตะวันตกเปลี่ยนแปลงสังคมไทยนี้ มองให้ลึกลงไปอีกที...เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้านอื่นๆ ไม่เว้นแต่วงการภาพยนตร์บ้านเราด้วยใช่หรือไม่...เอาเป็นว่าคงต้องติดตามรอชมในจอเงินและในชีวิตจริงกันเอาเองดีกว่า

           จาก "สกุลไทย" ฉบับที่ 2573 ปีที่ 50 ประจำวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2004
           โพสท์แก้คิดถึง โหมโรง
โดยคุณ :แต้ว .. แอบโพสท์ 5 - [18:47:46  20 เม.ย. 2547]

ความคิดเห็นที่ 53
โพสท์ คคห. ละนิดๆ ให้พอกับภาพ ^)^ (เหมือนงวงไหม)
โดยคุณ :แต้ว - [18:49:25  20 เม.ย. 2547]

ความคิดเห็นที่ 54
เป็นอะไรที่น่าทึงมาก
โดยคุณ :ศิวพงศ์ ชัยคช - ICQ: 7452[23:24:02  18 ส.ค. 2547]

ความคิดเห็นที่ 55
ชอบมาก
โดยคุณ :jina - [13:30:03  6 พ.ย. 2547]

ความคิดเห็นที่ 56
ไม่มีตังซื่อcd โหมโรง
โดยคุณ :นารูฮิโตะ - [10:43:15  6 ธ.ค. 2547]

ความคิดเห็นที่ 57
แตร่ง แตรง แตรง แตร๊ง แตร๊ง แตร่ง แตร๊ง แตรง..... อิอิ ชอบมั่กๆ ยิ่งดูยิ่งสนุกอ่ะ รอบสองสนุกกว่ารอบแรก 55555+
โดยคุณ :ผ่านมาเจอครับ - [4:57:30  15 ก.ค. 2549]

ความคิดเห็นที่ 58
เยี่ยมยอด
โดยคุณ :เด็กนาฏศิลป เชียงใหม่ - [8:33:22  19 ก.ค. 2549]

ความคิดเห็นที่ 59
อยากให้สร้างหนังเกี่ยวกับประวัติของครูดนตรีไทยอีก
โดยคุณ :เอฟ - แจง - [8:36:03  19 ก.ค. 2549]

ความคิดเห็นที่ 60
ระนาดมีดีทุกอย่าง(รายละเอียดดี)
โดยคุณ :ทิพากร - ICQ: 100[11:06:11  7 ต.ค. 2549]

ความคิดเห็นที่ 61
พี่โอแสดงเก่งมากเลยค่ะหนูว่าพี่แสดงเก่งมาก
โดยคุณ :ปาล์ม - [19:24:02  11 พ.ค. 2550]

ความคิดเห็นที่ 62
ผมรักในทักษะที่สูงในการทำหนังในแบบมนุษนิยมวิพากษ์มนุษย์วิพากษ์สังคมด้วยเทคนิค ทักษะ ความรู้ความสามารถในการผลิตที่สูงในทุกๆด้าน และทักะการใช้ภาษาหนังที่สูง ที่สามารถทำให้หนังมีพลังที่สุดในขนาดการลงทุนของหนังใหญ่ทุนต่ำ ที่ทำให้มันออกมาดีมาก ขายและแปลก รักในงานอื่นๆที่เหลือในฐานะคนทำหนัง อย่างโฆษณา หรือเล่นดนตรี หรืองานบ้าน หรือเรื่องธุรกิจ และรักในความสำพันธ์ที่สูงกับทุกๆคนในชีวิต ในงาน

ผมจึงยอมในทักษะที่สูงในการทำหนังในแบบมนุษนิยมวิพากษ์มนุษย์วิพากษ์สังคมด้วยเทคนิค ทักษะ ความรู้ความสามารถในการผลิตที่สูงในทุกๆด้าน และทักะการใช้ภาษาหนังที่สูง ที่สามารถทำให้หนังมีพลังที่สุดในขนาดการลงทุนของหนังใหญ่ทุนต่ำ ที่ทำให้มันออกมาดีมาก ขายและแปลก ยอมรับในงานอื่นๆที่เหลือในฐานะคนทำหนัง อย่างโฆษณา หรือเล่นดนตรี หรืองานบ้าน หรือเรื่องธุรกิจ และยอมรับในความสำพันธ์ที่สูงกับทุกๆคนในชีวิต ในงาน
โดยคุณ :+44 - [0:05:17  28 ก.ค. 2550]

ความคิดเห็นที่ 63
what's the international theme of this movie?
อยากทราบว่า อะไรคือแก่นสากลของหนังเรื่องนี้ค่ะ
โดยคุณ :Kk - [20:17:55  28 ส.ค. 2550]

ความคิดเห็นที่ 64
เพิ่งดู VCD ไปอีกรอบมะคืนนี้...ดูกี่ทีก็ได้ใจนัก T^T
โดยคุณ :Orijint - [6:27:49  12 ต.ค. 2550]

ความคิดเห็นที่ 65
comment3,
โดยคุณ :name - ICQ: 217405919[13:33:59  3 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 66
Hi, http://6e1hf.myip.hu/H890x.html   What does the name jhumpa mean,  699640, http://h9gz9.myip.hu/G792q.html   French letters english meaning  1826,  65030, http://f09ja.myip.hu/V535j.html   Whats does gi mean,  32771, http://bkzsd.myip.hu/J451s.html   What does iscah mean,  >:-D, http://l6h08.myip.hu/L125i.html   What does rpe mean in a cardio workout,  pjujrf, http://6e1hf.myip.hu/Y518q.html   Meaning of ducks in catcher in the rye,  85618, http://h9gz9.myip.hu/F882e.html   Meaning of election,  6477, http://f09ja.myip.hu/E095o.html   What does 5 d in a z c mean,  254, http://bkzsd.myip.hu/N970a.html   Meaning of stitches,  >:-DD, http://l6h08.myip.hu/P468b.html   What does it mean to manage up in the business word,  :-]], http://6e1hf.myip.hu/C052x.html   Meaning of proverbs,  vgnepn, http://h9gz9.myip.hu/H101j.html   The turtle has what meaning,  149453, http://f09ja.myip.hu/O525a.html   Ring around full moon meaning,  745, http://bkzsd.myip.hu/W576q.html   What does chip on shoulder mean,  %DDD, http://l6h08.myip.hu/D227b.html   Freedom and what it means,  475704, http://6e1hf.myip.hu/S122k.html   Sadomasochistic meaning,  223, http://h9gz9.myip.hu/K624u.html   What does auld lang syne mean,  ktgckf, http://f09ja.myip.hu/T310w.html   Meaning of the renaissance,  ofgxp, http://bkzsd.myip.hu/V775j.html   Latin word meaning small resembling,  067, http://l6h08.myip.hu/G454g.html   Meaning of wedding colors silver,  bxng, http://6e1hf.myip.hu/S989e.html   The meaning of abuse,  793510, http://h9gz9.myip.hu/D594c.html   Abbreviations and meanings,  qoru, http://f09ja.myip.hu/B802v.html   What countrys name means little venice,  :-(, http://bkzsd.myip.hu/K661e.html   What does kein mean in german,  yfpxlz, http://l6h08.myip.hu/N441w.html   Meaning of ceo,  36565,
โดยคุณ : Meaning of the name paige - ICQ: 679204844[15:05:19  3 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 67
comment5, http://lfwam.myip.hu/kq1366.html   Aphorisms by charles dickens,  tue, http://5b75z.myip.hu/mc4776.html   Ford escort stalls at idle,  =]], http://d5o04.myip.hu/hf2408.html   Ford inline 6 cylinder parts,  swpvz, http://1d06o.myip.hu/ey9783.html   Charles fraud pychology,  869, http://pox2u.myip.hu/jc7778.html   Elzira charles,  ksupc, http://lfwam.myip.hu/jn6860.html   Mellon charles scotland,  697, http://5b75z.myip.hu/kt2795.html   Charles mills,  kvmw, http://d5o04.myip.hu/aj6126.html   Ford taurus diagram for all sensors,  264, http://1d06o.myip.hu/ey0508.html   Recalls on ford ranger edge trucks,  16782, http://pox2u.myip.hu/ts4120.html   Ford turas parts,  afkhyl, http://lfwam.myip.hu/wd4286.html   Ford 914 mowing deck,  40341, http://5b75z.myip.hu/vg0857.html   Michael ford christchurch new zealand,  570, http://d5o04.myip.hu/xi9020.html   Spark gap 1999 ford taurus,  %-P, http://1d06o.myip.hu/hy9063.html   What ford carb can i replace my ford variable venturi carb with,  1688, http://pox2u.myip.hu/wk0755.html   Charles wesley peterson,  qub, http://lfwam.myip.hu/lf9240.html   Prince charles agenda,  8PP, http://5b75z.myip.hu/bt1901.html   Cavalier king charles pups eugene or,  %D, http://d5o04.myip.hu/if6515.html   Contact charles frazier,  xhzs, http://1d06o.myip.hu/uy7638.html   Ford dealerships mustnags for sale,  ledw, http://pox2u.myip.hu/xj3353.html   Charles moye,  :-[[, http://lfwam.myip.hu/bk7019.html   Charles ohweiler,  698, http://5b75z.myip.hu/fc0536.html   Charles daly kbi,  ubdk, http://d5o04.myip.hu/mh7225.html   Wichita falls ford dealerships,  >:-]]], http://1d06o.myip.hu/oi2476.html   Cowboys night club in lake charles,  8-(((, http://pox2u.myip.hu/hz4331.html   Ford vin location,  9340,
โดยคุณ : Dale charles - ICQ: 216959373[17:04:34  3 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 68
Hi, http://lera0.wml.su/xs340d.html meaning of the name mephaboshall,  81275, http://lera0.wml.su/xs341d.html form and meaning in transformational theory of linguistics,  632, http://lera0.wml.su/xs342d.html shoes and their meaning,  189708, http://lera0.wml.su/xs343d.html stale chain status means,  qodoq, http://lera0.wml.su/xs344d.html the meaning of the namesalimah,  :]], http://lera0.wml.su/xs345d.html what does dreaming of my mouth full of puke mean,  =-(((, http://lera0.wml.su/xs346d.html french male puppy names and meanings,  =-))), http://lera0.wml.su/xs347d.html meaning of winter solstice,  4632, http://lera0.wml.su/xs348d.html if you are spotting does that mean you are pregnant,  6747, http://lera0.wml.su/xs349d.html meaning of christian,  592, http://lera0.wml.su/xs350d.html dictionary meaning of radulated,  226500, http://lera0.wml.su/xs351d.html meaning of open source application software,  222619, http://lera0.wml.su/xs352d.html the meaning of the name madison,  sluima, http://lera0.wml.su/xs353d.html fishhook meaning aumakua,  vkaw, http://lera0.wml.su/xs354d.html cat stevens wild world strong internal meaning,  470246, http://lera0.wml.su/xs355d.html meaning computing infrastructure,  %((, http://lera0.wml.su/xs356d.html meaning of consequence,  >:-O, http://lera0.wml.su/xs357d.html meaning of pleuricy,  yaw, http://lera0.wml.su/xs358d.html clingy meaning,  nhfngu, http://lera0.wml.su/xs359d.html meaning of roses colors,  >:-(((,
โดยคุณ :tranquillo italian meaning - ICQ: 494160851[6:01:39  4 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 69
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/goohtelrforme1973 jocbetenkeo1977
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/refuncgreenma1977 refuncgreenma1977
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/concvidelovs1979 concvidelovs1979
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/buitibbmenpa1975 buitibbmenpa1975
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/barrianingvi1978 barrianingvi1978
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/ratjanico1978 ratjanico1978
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/niturrewea1975 niturrewea1975
http://tpmcafe.talkingpointsmemo.com/talk/blogs/tamacasym1987 tamacasym1987
โดยคุณ :niturrewea - ICQ: 371042717[14:14:36  7 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 70
door.txt;20
โดยคุณ :ksdjabvlkhnb - ICQ: 654122199[1:55:34  19 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 71
door.txt;20
โดยคุณ :ksdjabvlkhnb - ICQ: 654122199[1:55:43  19 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 72
comment4,
โดยคุณ :systcalevalec - ICQ: 158537835[2:55:22  19 ส.ค. 2553]

ความคิดเห็นที่ 73
comment4,
โดยคุณ :icinkeopanoj - ICQ: 914484088[2:55:33  19 ส.ค. 2553]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
รูปภาพ :

รายละเอียด

อาการ :



กรุณาคลิก "ส่งข้อมูล" เพียงครั้งเดียวครับ....