คำอภิปรายของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
คำอภิปรายของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล : การตลาดนำการเมือง
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544
เมื่ออ่านนโยบายรัฐบาล
เห็นว่าแนวทางการเขียนนโยบายไม่แตกต่างไปจากเดิม
โดยรัฐบาลชุดนี้เขียนโดยไม่ผูกมัดกับตัวเอง
เป็นนโยบายลอยตัว ไม่มีเป้าหมายที่เด่นชัด
และเข้าใจว่านโยบายฉบับนี้เพิ่งมีการแก้ไขก่อนการแถลงนโยบาย
เนื่องจากมีการรั่วไหลของนโยบายมาสู่สื่อมวลชน
และคิดว่าคำแถลงของนายกรัฐมนตรีคงจะเป็นผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายว่า
จะคงส่วนไหนเอาไว้ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ออกมา
ไม่คุ้มค่ากับการตั้งรัฐบาลใน 1 เดือนที่ผ่านมา
แม้รัฐบาลจะเดินทางเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างงดงาม
มีเสียงข้างมาก แต่ก็หนีไม่พ้นพันธะที่ผูกพันกับประชาชน
เราต้องการเห็นกระบวนการประชาธิปไตย
และประชาชนมาเป็นตัวกำหนดนโยบายของรัฐบาล
ผมเห็นด้วยที่เพิ่มนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติด้วย
แม้รัฐบาลจะได้ชี้แจง
แต่ผมยืนยันว่าหลายเรื่องคลาดเคลื่อน
เดิมที่เข้าใจว่านโยบายหลักหลาย 10 หน้าไม่ได้เขียนไว้
เพราะคณะรัฐมนตรีไม่มั่นใจว่าจะทำได้
หลายคนไม่ทราบว่าจะมีการเพิ่มเติมเข้ามา เช่น
นโยบายเรื่อง 30 บาทรักษาได้ทุกโรค
ปัญหาในวันนี้มีเพราะการใช้การตลาดนำการเมือง
การสร้างคำมั่นสัญญากับประชาชน
ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของประเทศ
ผมห่วงใยที่พรรคไทยรักไทยนำกลยุทธ์นี้หาเสียงกับประชาชน
เพราะหลายเรื่องสภาพความเป็นจริงตอบสนองไม่ได้
แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่มีทางเลือก
ซึ่งจะเดินหน้าได้หรือไม่นั้น
รัฐบาลจะต้องหยุดใช้หลักการตลาดนำการเมือง
สังคมไทยเป็นสังคมที่ใจกว้าง อะไรที่พูดแล้วทำไม่ได้
ถ้าบอกความจริงสังคมก็ยอมรับ
ผมหวังว่ารัฐบาลจะใช้เวทีนี้มาพูดความจริงบางเรื่อง
แต่ก็ต้องผิดหวังว่า 2 วันที่ผ่านมา
หลายเรื่องก็ยังไม่ครบถ้วน
เพราะท่านก็ยังพยายามที่จะใช้หลักของการพูดจาเพียงเพื่อเอาใจ
แล้วก็ประคับประคองสถานการณ์ไปวันต่อวัน
ผมยกตัวอย่างว่านโยบายกองทุนหมู่บ้าน
มันเป็นนโยบายที่ไปถามความเข้าใจคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
ไม่ตรงกับหลักที่ท่านกำลังจะอธิบายหรอกครับ
มีหลายนิตยสาร มีนักข่าวหลายสำนักข่าว
ทั้งไทยและต่างประเทศ ไปสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่
ความคาดหวังเขาคือ มีเงิน 1 ล้านไปที่หมู่บ้าน
แล้วเขาจะใช้จ่ายอะไร เรื่องของเขา
ประชาชนหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า คาดหวังมีมอเตอร์ไซค์
มีตู้เย็น จากนโยบายหมู่บ้านละ 1 ล้าน
ที่เขาอาจจะคิดคำนวณไปแล้วด้วยว่า
แต่ละครัวเรือนได้เท่าไหร่
เพราะมันไปสอดคล้องกับคำพูดที่บอกว่า
นโยบายนี้เป็นนโยบายซึ่งต้องการจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
นั่นหมายถึง เงินต้องใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว
แต่ว่าถ้าท่านกำลังบอกว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น จริง ๆ
แล้วท่านหมายถึงมันเป็นกองทุนพัฒนาอาชีพ
ซึ่งจะต้องเสนอโครงการมา แต่ละหมู่บ้านต้องมีความพร้อม
มีหลักมีเกณฑ์
อย่างนั้นจะหวังใช้กลไกนี้กระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่เป็นจริงครับ
เพราะกว่าท่านจะอนุมัติหลักเกณฑ์
กว่าหมู่บ้านจะเตรียมความพร้อม กว่าจะได้ใช้เงิน
มันก็ไม่ใช่สถานการณ์ในเรื่องของการที่จะไปใช้มาตรการนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ท่านจะเอาอย่างไรไม่ว่าครับ
แต่กรุณาพูดความจริงกับประชาชนเสียตั้งแต่วันนี้
นโยบายพักนี้ ก่อนเลือกตั้งในการหาเสียง
มีคำว่ารายย่อยจริง
แต่เฉพาะช่วงท้ายของการหาเสียงเท่านั้น
ถ้าท่านยืนยันจะโต้แย้ง
พวกกระผมจะนำเอกสารมาให้วันพรุ่งนี้
ว่าวาระแห่งชาติที่ท่านเคยไปประกาศในหลายภาค
ไม่มีคำว่ารายย่อยปรากฏอยู่
และประชาชนก็เข้าใจว่าที่มันเป็นความหวังเรื่องใหม่ขึ้นมา
ก็เพราะมันไม่ใช่เรื่องจะไปปรับโครงสร้างหนี้
ในเรื่องหลักเรื่องเกณฑ์ แต่เป็นมาตรการที่จะใช้กับทุกคน
นโยบายเหล่านี้ผูกพัน มีผลกระทบทั้งในเชิงบวกเชิงลบ
ต่อวัฒนธรรม ต่อประเพณี ต่อวิถีชีวิต อย่าแก้ตัว
อย่าแก้สถานการณ์ไปวันต่อวัน เริ่มต้นให้ถูกต้อง
แล้วสิ่งนั้นผมคิดว่าประชาชนจะยอมรับได้
ผมจำเป็นจะต้องลงไปในรายละเอียดของนโยบายเรื่องหนึ่ง
ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การตลาดนำการเมือง
และการใช้วิธีการโฆษณาแบบนี้ มันอันตรายอย่างไร
นโยบายนั้นคือ 30 บาทรักษาได้ทุกโรค เมื่อสักครู่
ความจริงท่านรัฐมนตรีไม่น่ารีบชี้แจงครับ
ประเดี๋ยวฟังคำอภิปรายของผมแล้วก็ไม่ต้องรีบชี้แจงครับ
กลับไปปรึกษากับท่านรัฐมนตรีช่วยสัก 1 คืน
แล้วพรุ่งนี้มาตั้งหลักกันใหม่
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน
30 บาทรักษาได้ทุกโรค มันโดนใจประชาชนเพราะอะไร
มันโดนใจประชาชนเพราะว่า นี่คือความหวังว่า
ประชาชนคนไทยทุกคน ทุกจังหวัด
จะเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบการบริการการรักษาพยาบาลระบบเดียวกัน
ไม่มีใครมีสิทธิเหนือใคร
โรงพยาบาลไม่ต้องปวดหัวแยกแยะว่า ท่านเป็นข้าราชการ
ท่านถือบัตรประกันสังคม ท่านถือบัตรประกันสุขภาพ หรือ
สปร. หรือต้องมาประเมินกันในวันนั้น ทุกคนใช้บัตรประชาชน
เดินเข้าสู่โรงพยาบาล
แล้วก็สามารถได้รับการรักษาพยาบาลด้วยมาตรฐานเดียวกัน
ถามว่านโยบายนี้ใหม่หรือไม่ ทุกพรรคการเมือง
รัฐบาลชุดก่อน
เตรียมมาแล้วเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เป็นเป้าหมายที่เราต้องการอย่างมาก
เพราะมันจะมีบุคคลซึ่งขาดหลักประกันอยู่ประมาณร้อยละ 20
ของประชากรทั้งประเทศ แต่ต้องย้ำว่า
บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่บุคคลที่ยากไร้ที่สุด
การศึกษาเรื่องนี้มีมากครับ
และผมอยากจะกราบเรียนว่าคำตอบของท่านรัฐมนตรีเมื่อสักครู่
ทำให้ผมมีความห่วงใยอย่างยิ่งว่า
ถ้าท่านไม่เข้าใจปัญหาตั้งแต่ต้น แล้วผลีผลามไปทำ
ผลเสียจะเกิดขึ้นมากมาย
เบื้องต้นต้องเข้าใจว่านโยบายนี้ต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรเพิ่มครับ
เพราะมีคนเคยศึกษามาหลายกรณี ทุกกรณี
ทุกการศึกษาวิจัยชี้ตรงกันว่า
จะต้องมีการใช้งบประมาณเพิ่ม เช่น ผมยกตัวอย่างว่า
ถ้าสมมติฐานคือ ทุกคนใช้บริการรักษาพยาบาลเหมือน 5
ปีที่แล้ว 2539
การจะให้หลักประกันถ้วนหน้าซึ่งไม่ได้บอกว่าทุกโรคนะครับ
เฉพาะชุดบริการพื้นฐานตามความจำเป็น ต้องใช้เงินประมาณ 9
หมื่นล้านบาท ถ้าขยายเป็นระบบประกันอย่างแท้จริง
คือเปิดโอกาสให้มีทางเลือก ใกล้ 1 แสนล้าน
ถ้าจะเอาบริการให้ได้ดีเหมือนกับที่ข้าราชการได้รับในปัจจุบัน
เกือบ 1 แสน 5 หมื่นล้านครับ ฉะนั้นอย่างต่ำที่สุด
เงินจะต้องเพิ่มขึ้นมาประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
เพื่อที่จะให้โครงการนี้เป็นจริง
ผู้ที่คิดนโยบายเรื่องนี้ เมื่อสักครู่ไม่ได้ชี้แจงครับ
ท่านนั่งอยู่ข้างหน้า ท่านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข
ตอนที่ท่านคิดเรื่องนี้ และทำเป็นนโยบายนั้น
มันมีรายละเอียดซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานว่า
ผู้ที่จะเข้าโครงการต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท 1
ปี 1,200 บาท
ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่คิดมาจากหลักเกณฑ์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในระบบประกันสังคม
วันนี้มันไม่มีข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหัศจรรย์หรอกครับ
ที่จะบอกว่าคนที่จะมาใช้ระบบ ซึ่งเดิมจะต้องจ่ายปีละ
1,200 บาท บัดนี้ไม่ต้องจ่ายแล้ว เงินจะลอยมาได้
เป็นไปไม่ได้ครับ คนที่เขาเคยศึกษาเรื่องนี้ว่า
อยากจะได้เงิน 3 หมื่นล้าน
เขาเคยคิดละเอียดลงไปถึงขั้นว่า
ถ้าจะต้องมีการยุบเอาเงินจากโครงการต่าง ๆ
ที่มีอยู่ในปัจจุบันบ้าง เก็บค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ บ้าง
เช่น ผู้ป่วยนอกคิด 40 บาท ผู้ป่วยในคิด 715 บาท
เก็บภาษีท้องถิ่นเพิ่มเติมแล้ว
ยังต้องการการจัดสรรเงินงบประมาณมาอีก 1
หมื่นล้านบาทจากรัฐบาลกลาง ซึ่งต้องเป็นภาษีใหม่
นี่คือความจริงที่รัฐบาลต้องบอกประชาชนให้ครบ
และเมื่อต้องบอกประชาชนแล้ว ทางเลือกก็ชัดเจนครับว่า
ถ้าท่านเลือกเอาระบบไหน
ท่านจะเลือกเอาระบบซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพ
ซึ่งเราจะต้องมีวิธีการในการจัดเก็บเงิน
เพื่อมาสมทบในกองทุนนี้ แล้วยกเว้นให้ผู้มีรายได้น้อย
ให้คนยากคนจน นั่นก็ทำได้ทางหนึ่ง แต่ต้องหาเงินครับ
และหลายคนในประเทศ คนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำ
ต้องจ่ายเงินครับ ไม่ใช่แค่ 30 บาทต่อครั้ง
หรือท่านจะยืนยันไปเลยว่า เลิกคิดแล้วระบบประกัน
เอาแบบระบบสวัสดิการทั้งหมดทั้งประเทศ ซึ่งทำได้
แต่ทั่วโลกถ้าท่านไปตรวจสอบดู
ถ้าจะให้กันเป็นระบบสวัสดิการทั้งประเทศนั้น มี 1 หรือ 2
อย่างที่เป็นทางเลือกที่จะต้องเกิดขึ้น ทางเลือกที่ 1
ก็คือว่า
ท่านคงต้องใช้เงินภาษีอากรมากกว่าในปัจจุบันค่อนข้างมาก
อัตราภาษีที่จะเก็บจากประชาชนต้องไม่ใช่ร้อยละ 20 ร้อยละ
30 ครับ ร้อยละ 50 ร้อยละ 60 บางประเทศต้องเป็นร้อยละ 70
ร้อยละ 80 ครับ ระบบนี้ถึงจะเอายู่
ท่านรัฐมนตรีคลังคงต้องไปปรึกษาที่ปรึกษาท่านครับว่า
ธุรกิจพร้อมจ่ายมั้ยในอัตราเท่านี้
เพราะระบบนี้จึงจะเป็นธรรมว่า คนมีรายได้มาก
ต้องจ่ายสมทบเข้าสู่โครงการอย่างนี้มาก
หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นระบบซึ่ง เงินไม่พอครับ
แต่เป็นเรื่องของสถานบริการนั้นต้องให้บริการกันไปเองตามที่รัฐบาลจะจัดจ่ายให้
ประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศอังกฤษพยายามทำครับ
เก็บเงินมากกว่า 30 บาทด้วย
แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นหลายท่านอาจจะทราบ
จะไปรับการรักษาพยาบาลบางโรค ผ่าตัดนั้น
ต้องเข้าคิวเป็นปี ถึงจะได้รับการบริการ
นี่คือความเป็นจริงที่รัฐบาลต้องบอกประชาชน แล้วตัดสินใจ
วันนี้เสียงข้างมากอยู่ที่ท่านครับ
จะดำเนินการต้องดำเนินการทั้งประเทศทันที
เพราะก่อนการเลือกตั้งท่านพูดด้วยซ้ำว่า
งบประมาณไม่เป็นปัญหา ท่านจะออกกกฎหมายงบประมาณ
เพื่อแก้ไขปรับลดโครงการที่ท่านว่าไม่จำเป็น
แล้วก็เดินหน้า ไม่ใช่วันนี้มาพูดว่าขอเวลาถึงตุลาคม
แล้วก่อนหน้านี้ทำ 6 จังหวัด แล้วมาบอกว่าอันนี้ขอแถมให้
ไม่ใช่ครับ ท่านบิดพริ้วไป 70 จังหวัดครับ
ไม่ใช่มาแถมให้ 6 จังหวัด
อันนี้คือความชัดเจนที่ผมอยากจะกราบเรียน
ผมกราบเรียนครับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าท่านผลีผลามทำ
ยืนยันว่าท่านจะทำระบบที่เป็นสวัสดิการทั้งหมด
แล้วเก็บแค่ 30 บาท จะเป็นอย่างไร ประการแรก
แน่นอนที่สุดครับ เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อคุณภาพ
เพราะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ที่ท่านพอจะจัดได้ขณะนี้
อาจจะเป็นเพียงประมาณ 200 หรือ 300 บาท/คน/ปี
ไม่เพียงพอหรอกครับ
ปัญหาก็จะเกิดไม่ในลักษณะที่ว่าคนต้องเข้าคิวมาก
แล้วในที่สุดคนที่รอไม่ไหวก็ต้องไปจ่ายเหมือนเดิม
หรือมากกว่าเดิม หรือคุณภาพการบริการนั้น
การรักษาพยาบาลนั้น ก็จะทำแบบจำกัดจำเขี่ย แล้วสุดท้าย
ก็จะกลายเป็นการบริการที่แย่ลงโดยลำดับ
มันเป็นการสวนทางโดยสิ้นเชิงว่า
แทนที่ท่านจะคิดเพียงเพื่อขณะนี้
ทำไมท่านไม่ให้ความเป็นธรรม และคุณภาพแก่สังคม
หลักเดิมที่เขาพยายามจะสร้างกันมาก็คือ
เราต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน
หาเงินสมทบเข้ากองทุนที่ชัดเจน
ที่คนมีมากต้องจ่ายมากกว่า
แล้วถ้าท่านทำตรงนี้อย่างเพียงพอ 30
บาทท่านก็ไม่ต้องเก็บครับ
จะเป็นหลักที่ถูกต้องเหมือนที่ท่านสมาชิกวุฒิสภาพูด
ก็คือว่าเป็นสิทธิขาดไปเลย
ว่าทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลฟรี แต่ต้องกล้าบอกความจริง
และต้องกล้าพูดกับคนในระบบประกันสังคม คนในระบบราชการว่า
เขาจะต้องเสียสละบ้าง เพื่อที่จะนำไปสู่มาตรฐานเดียวกัน
การที่ท่านคิดจะนำร่องใน 6 จังหวัด
และพยายามที่จะวาดภาพว่ามันเป็นไปได้
ผมอยากที่จะกราบเรียนเลยครับว่า
ท่านกำลังไปอาศัยการทำงานยาวนาน
และการทำงานยากของรัฐบาลที่ผ่านมา และผู้เกี่ยวข้อง เช่น
ผมเห็นท่านไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบ้านแพ้ว
โรงพยาบาลซึ่งออกนอกระบบ
ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นปีนี้ประมาณ 20 ล้าน จากเดิม 40
ล้าน ก็เป็น 60 กว่าล้าน เพื่อทดลองการออกนอกระบบ
ต้องกราบเรียนว่าช่วงที่กระผมทำเรื่องนี้
พวกท่านเคยกล่าวหาถึงว่า พวกผมเอาโรงพยาบาลไปขาย
แต่วันนี้กลายเป็นโรงพยาบาลนำร่อง ส่วนอีก 6
จังหวัดที่ท่านเลือก ไม่ได้เลือกจากไหนครับ
เลือกจากจังหวัดซึ่งเข้าโครงการปรับโครงสร้างทางสังคมของธนาคารโลก
ซึ่งจัดเงินมาให้เป็นพิเศษ
เพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อยในการรับการรักษาพยาบาล 6
จังหวัดนี้จึงทำได้ แต่ถ้าจะบอกว่า
วันนี้ขยายไปได้ทั่วประเทศ โดยไม่จัดเก็บรายได้เพิ่มเลย
เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ครับ เมื่อเป็นพันธะแล้ว
ท่านต้องตอบโจทย์ข้อนี้อย่างชัดเจนครับ
กรุณาอย่าใช้วิธีการนำร่องในบางพื้นที่
แล้วโยกงบประมาณจากที่อื่น ไม่เป็นธรรม
และไม่เป็นตามสัญญา
กรุณาอย่าไปทำลายระบบซึ่งเราพยายามสร้าง เช่น
การให้ประชาชนนั้นรับการรักษาพยาบาลตามขั้นตอน
ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าต้องไปเริ่มต้นที่สถานีอนามัย
แต่วันนี้ท่านรัฐมนตรีกลับมาบอกแล้วว่าไม่ใช่
กรุณาอย่าทำให้ระบบสาธารณสุขซึ่งควรจะเดินไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น
กลายเป็นปัญหากลับไปสู่ยุคเดิม คือการมีบริการ 2 มาตรฐาน
มาตรฐานต่ำสำหรับ 30 บาท
มาตรฐานสูงสำหรับคนที่จะหลีกเลี่ยงในการเข้าโครงการนี้
สำหรับคนที่มีรายได้มาก
นี่เป็นตัวอย่างของความเป็นจริงที่ท่านจะต้องบอกกับประชาชน
มีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ผมอยากจะกราบเรียนอยู่สักเรื่อง
2 เรื่องถ้าเวลาจะอำนวย
เรื่องบรรษัทกลางในการบริหารสินทรัพย์
เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องคิดใหม่หรอกครับ
ประเทศที่เผชิญวิกฤติการเงินในโลกใช้กันมาเยอะแล้ว
ที่น่าเป็นห่วงคือ มีการศึกษาว่า
การตั้งบรรษัทกลางในลักษณะนี้แล้ว
แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ วัดจากความสำเร็จว่า
1.ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้หรือไม่
2.ระบบธนาคารกลับมาปล่อยสินเชื่อหรือไม่
3.สถาบันการเงินกลับมามีปัญหาหรือไม่
มีคนศึกษาแล้วปรากฏว่า ทำกันมาหลายประเทศ
ดูจะประสบความสำเร็จน้อยมากครับ
ชัดเจนที่สุดมีประเทศเดียวคือ สวีเดน
แล้วท่านต้องไปดูครับว่า ทำไมสวีเดนประสบความสำเร็จ
1.จำนวนสินทรัพย์ที่เป็นหนี้เสียเทียบกับในระบบโดยรวมค่อนข้างต่ำ
2.สินทรัพย์ที่มีการจัดไปให้บรรษัทกลางบริหารเป็นสินทรัพย์ซึ่งอยู่ในภาค
เช่น อสังหาริมทรัพย์
ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางการผลิตอย่างแท้จริง
ซึ่งหมายถึงว่าการนำไปสู่การตกงาน
อย่างน้อยที่สุดในระยะชั่วคราว
3.องค์กรที่ว่านั้นเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระจากการเมือง
4.กรอบของกฎหมายเอื้อในการที่จะให้เจ้าหนี้สามารถบังคับการชำระหนี้ได้
5.มีแหล่งเงินที่จะมาเติมมาเพิ่ม
กรณีที่บริษัทที่เป็นลูกหนี้นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับทุนเพิ่มเติมเพื่อการปร
ะกอบการ
เงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ครับ
และที่สำคัญก็คือว่า
กระผมไม่แน่ใจว่าท่านจะกล้าสร้างเงื่อนไขเหล่านี้ขึ้นมาหรือไม่
ถ้าท่านกล้าก็หมายความว่า
ท่านต้องแก้กฎหมายเพื่อเอื้อเจ้าหนี้มากขึ้น
ซึ่งสวนทางกับคำกล่าวหารัฐบาลชุดก่อนมาโดยตลอด
เหมือนกับที่ผมไม่เห็นนะครับ
วันนี้กฎหมายที่ท่านเคยบอกขายชาติ 11 ฉบับต้องแก้ไข
เหตุใดไม่อยู่ในภาคผนวกว่าท่านจะดำเนินการ
ผมจึงอยากที่จะกราบเรียนนะครับว่า เรื่องเอเอ็มซีนั้น
ไม่ง่ายอย่างที่คิด และข่าวร้ายก็คือว่า
แม้แต่ในประเทศสวีเดน ที่เขาบอกประสบความสำเร็จ
ประสบความสำเร็จเฉพาะในการปรับโครงสร้างหนี้ครับ
แต่ตัวเลขจากภาพรวมของการขยายสินเชื่อของสวีเดน
หลังจากประสบความสำเร็จ ปรากฏว่า 1
ปีหลังจากที่ตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์กลาง
สินเชื่อหดตัวร้อยละ 2.38 2
ปีหลังจากที่ตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์กลาง
สินเชื่อหดตัวร้อยละ 23 เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน
อย่างที่สมาชิกหลายท่านได้พูด
สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะขออนุญาตกราบเรียนเพื่อเตือนไว้
ขอฝาก 2 คำถามที่ท่านยังไม่ได้ตอบนะครับ คำถามที่ 1
ก็คือว่า เจ้าหนี้ร่วมเกิน 3 รายหรือ 3 รายขึ้นไป
คือหลักเกณฑ์ที่ท่านพูด
ส่วนใหญ่หนี้ลักษณะนี้มีเจ้าหนี้ต่างประเทศครับ
ท่านต้องตอบมาให้ชัดวันนี้ว่า
ท่านจะเอาเงินคนไทยไปซื้อหนี้ของชาวต่างประเทศหรือไม่
ถ้าซื้อ มีเหตุผลอะไร ถ้าไม่ซื้อ
ข้อดีของการจัดตั้งโครงการอย่างนี้คือการทำให้เหลือเจ้าหนี้รายเดียว
มันก็ไม่เป็นผล
ข้อที่ 2 ราคาของสินทรัพย์ที่จะซื้อนั้น
ท่านยังไม่ได้พูดชัดครับ ท่านพูดตัวเลขที่ไปสัมมนากัน
บอกร้อยละ 51 แล้วก็คงจะมีการปรับลดราคาลงมา คำถามคือว่า
มีธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว
ตัดสินใจในการที่จะขายหนี้เพื่อไปบริหารนั้น
เขาขายกันในราคาร้อยละ 29 ทำไมไม่ใช่ร้อยละ 29
เป็นเกณฑ์ครับ ทำไมใช้ร้อยละ 51 หรือนี่คือคำตอบว่า
ทำไมบรรยากาศกับนายธนาคารจึงชื่นมื่น
ความชื่นมื่นของนายธนาคารควรเป็นความวิตกของผู้เสียภาษีอากร
เพราะถ้าท่านทำตามเกณฑ์อย่างนั้น นั่นคือการอุ้มคนรวย
แต่ถ้าท่านใช้เกณฑ์ร้อยละ 29 ธนาคารรับไหวหรือไม่
กระทบต่อทุนของเขาหรือไม่
จะเป็นปัญหาต่อการที่จะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ครับ
นี่ก็คือประเด็นที่ท่านต้องกล้าพูดความจริง
แล้วก็บอกกับประชาชน แต่อย่าเลี่ยง
อย่าเลี่ยงว่าการออกพันธบัตรไม่ใช่การกู้
อย่าเลี้ยงว่าภาระที่เกิดขึ้นจากพันธบัตรไม่ใช่หนี้ของประชาชน
เพราะหนี้ของรัฐ คือหนี้ของประชาชนครับ
แต่ว่าจะเป็นองค์กรไหนของรัฐเท่านั้น จะเป็นรัฐบาลกลาง
จะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือจะเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ
แต่ล้วนแล้วแต่เป็นหนี้ของรัฐ ของประชาชนทั้งสิ้น
จะใช้ชื่ออะไรเท่านั้นแหละครับ หนี้สาธารณะซุกไม่ได้ครับ
โครงสร้างทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากแนวคิดของท่านในการที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
แล้วก็การเขียนนโยบายเร่งด่วนของท่านนั้นคืออะไร
ประการที่ 1 จะเห็นครับว่าโครงสร้างทั้งหมดนั้น
คือการเน้นการรวมศูนย์ของการแก้ไขปัญหา
สวนทางกับหลักของการกระจายอำนาจและความหลากหลายในการแก้
เพราะหนี้เสียไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกษตรกรหรือธนาคาร
แทนที่จะเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ตกลงกัน
จะกลายมาเป็นโครงสร้างกลางของภาครัฐ
เพราะการบริหารของรัฐวิสาหกิจจะถูกรวมศูนย์โดยบริษัทร่วมทุน
ซึ่งทำงานเพียงเพื่อคำนึงถึงมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ
ไม่ใช่บริการของประชาชน
คือคิดถึงการที่จะขายทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ
และโครงสร้างที่รวมศูนย์อย่างนี้
คือโครงสร้างที่นำไปสู่การผูกขาดมากขึ้น
การสร้างขุมทรัพย์ที่เป็นผลประโยชน์มากขึ้นของผู้ที่กุมอำนาจไว้ทั้งหมด
ถ้าได้ผู้นำมีคุณธรรม ก็อาจจะแก้ไขปัญหาได้
แม้โครงสร้างไม่สู้จะสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่
แต่ถ้าได้ผู้นำซึ่งแสวงอำนาจผลประโยชน์
เหมือนนายทุนที่ต้องการจะผูกขาด
ผู้เสียประโยชน์คือประชาชน
ตรงนี้เป็นคำตอบที่ท่านรัฐมนตรีมหาดไทยถามเมื่อสักครู่เรื่องคอร์รัปชั่น
ว่าคอร์รัปชั่นขณะนี้เขาศึกษาว่า มีมากขึ้น
ถ้ามีการผูกขาดมากขึ้น....
โดยคุณ :
เขาว่าฯ - [8:26:19 17 เม.ย. 2544] |