'เฉลียง' แม้จะเลิกราวงไป แต่พวกเขาก็เจอกันเสมอๆ

นอกรอบบ้าง ในงานบ้าง แทบทุกเดือนต้องมีการได้เจอกัน ไม่คนนั้นเจอคนนี้ ก็คนนี้เจอคนโน้น
นานๆ จึงจะเจอกันครบๆ เสียที
         ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ทุกครั้งที่เจอ ก็จะเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้ง ก่อนที่จะ 'แก่เกิน'
        ทว่าธุระการงานของแต่ละคน ทำให้ปี 2541 ผ่านไปเป็น 42 แล้วก็มาลงตัวที่ปี 43
        จากการรวมตัวเฉพาะกิจอย่างหลวมๆ คราว 'รวมมิตรให้มัน'
        ภาพที่ปรากฎบนเวทีนั้นให้ความรู้สึกว่า น่าจะถึงเวลาที่ 'เฉลียง' จะกลับมาขึ้นเวทีด้วยกันอีกสักหน
        คนดูเองก็เรียกร้อง … อยากดูแล้วละ
       คนเล่นเองก็คิดว่า .. คงไม่เลวนักถ้าจะมีการมารวมตัวกันอีกสักครา
        ซึ่งอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ?
        แล้วเฉลียงก็ตกลงใจที่จะมีคอนเสิร์ตอีกครั้ง
        บนโต๊ะชุมนุมสุมหัวคิดชื่อคอนเสิร์ต วลี 'ย้ำคิดย้ำฝัน' ถูกใครสักคนส่งเข้าประกวด แม้จะไม่ได้กลายเป็นชื่อคอนเสิร์ต แต่ก็ได้จุดประกายความคิดให้กับประภาสแต่งเพลงขึ้นมา
        เช่นเดียวกับท่วงทีของหนังสือเล่าเรื่อง 'เฉลียง' ซึ่งจะทำเพื่อบันทึกเรื่องราวของวันเก่า ที่น่าจะเป็นการบอกกล่าว 'เรื่องราวบนแผ่นไม้'
        และในการประชุมครั้งต่อมา ประภาสก็มีเพลงใหม่ที่ 'เฉลียง'จะได้ร้องบนคอนเสิร์ตครั้งหลังสุดมาให้ทุกคนได้ฟัง

       ประภาสเล่าถึงที่มาของเพลงนี้ไว้
      "เฉลียงพูดถึงความฝันมาตั้งแต่ชุดแรก เป็นธรรมดาที่เมื่อเราพูดถึงความใฝ่ฝัน เรามักจะนึกภาพออกแต่คนหนุ่มสาว ผมเขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อตอกย้ำความคิดที่ว่า ความฝันนั้นมันไม่เกี่ยวข้องกับอายุ ไม่เกี่ยวกับเวลา ไม่เกี่ยวกับรอยตีนกาแต่อย่างใด
       "คำมันล้อเลียนคำว่า 'ย้ำคิดย้ำทำ' ของคนแก่อยู่ และก็เขียนขึ้นมาอำคนร้องคือเจี๊ยบ ที่พุงเริ่มกลมขึ้นทุกวัน
       "จะว่าไปแฟนเพลงรุ่นแรกๆ ของเฉลียงก็คงเริ่มจะมีตีนกากันบ้างแล้ว คิดเสียว่าผมเขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อทั้งล้อเลียน และกระตุ้นความฝันที่ยังค้างอยู่ของคนเลยวัยหนุ่มสาวก็แล้วกัน"

ย้ำคิดย้ำฝัน
ไม่เกี่ยวกับรอบเอว ไม่เกี่ยวกับหางตา
ไม่เกี่ยวกับคืนวันที่ผ่านไปจะอ่อนใจจะเพลียเหนื่อยล้า
ถ้ายังอยากหาโลกในใจ ให้มันเจอ

ไม่เกี่ยวกับเรี่ยวแรง ไม่เกี่ยวกับบ้านไกล
ไม่เกี่ยวกับดวงดาวที่แวววาวสุกสกาวจะจริงแค่ไหน
ไม่เลยไม่สายที่จะฝัน

คนคนหนึ่งเคยยืนมองไปบนฟ้าอันกว้างใหญ่
วันเวลาเวียนไปก็ยังมองฟ้าตรงที่เก่า
ใครจะมองว่าเราเป็นคนชอบย้ำก็ช่างเขา
คงมีดาวบางดาวรอเรามองซ้ำบ้างใช่ไหม
ให้ย้ำมันต่อไป ให้ฝันมันต่อไป

(ถึงมัน)จะหงอกก็ช่างมัน อย่าหยุดก็แล้วกัน
จะเปลี่ยนจะเดียวดายไม่มีใครอยู่เคียงกายสักคนหนึ่งนั้น
ให้ใจมีฝันอยู่อยู่เคียงใจ
……………….. เพราะมัน …………………

        'เรื่องราวบนแผ่นไม้' เป็นชื่อที่มีมานานแล้ว
        เฉลียงเคยใช้เป็นชื่อบทความเล่าเรื่องราวของพวกเขาไว้ในสูจิบัตรคอนเสิร์ตของอัลบั้มชุด 'เอกเขนก' เมื่อปี พ.ศ. 2530
        ประภาสเองก็ประทับใจกับวลีนี้มานานเช่นกัน และเคยคิดอยากจะเขียนเพลง แต่เขียนไม่ออกสักที
        ครั้นเมื่อเฉลียงมาเริ่มคุยกันว่าจะทำคอนเสิร์ตอีกสักครั้ง ได้มาเจอกันอีกบ่อยๆ มาร่วมประชุมกัน ก็เรียกบรรยากาศเดิมๆ กลับมา ให้ได้หวนคิดถึงคนเก่าๆ ที่เคยร่วมงาน
        เป็นอดีตที่มีทั้งความสุขปนเหงาๆ ผสมอยู่
        ประภาสจึงจับอารมณ์นั้นมาเรียงร้อย โดยให้ตัวละครในเพลงของเฉลียงหลายๆ เพลงมาเป็นเสมือนตัวแทนของคนที่เคยมีบทบาทอยู่กับเฉลียง แค่คนทั่วไปอาจไม่รู้จักคนเหล่านั้น
        และเป็นโอกาสที่จะได้สรุปความหมายและนิยามของเฉลียงที่ทำงานเพลงร่วมกันมาสิบกว่าปี

เรื่องราวบนแผ่นไม้
แผ่นไม้ดูไกลๆ เหมือนเดิม
ถูกเสริมเป็นบางแผ่น
เฉลียงดูเอียงๆ เหมือนแอ่น
แต่ไม้ยังแกร่งทน
ห่างหายไปก็นานหลายปี
ได้หวนคืนมาอีกหน
เอนหลังนั่งพิงราวถามถึงผู้คน
อยากรู้เป็นอย่างไร
มะลิยังอบอวลชวนดม
ยินเสียงเจียงไข่ดังไกลๆ
นึกถึงคนหนึ่งคนเอมใจ
ชายตาบอดกับชบาต้นนี้
ถามถึงคนอีกคนหนึ่ง
เดี๋ยวนี้เธอเป็นครูประถมสี่
เด็กเรียกคุณครูใจดี
สารภีคือชื่อเธอ
มุดหาลงใต้ราวระเบียง
ถามหาเจ้าแมงมุมชักใย
ท่อน้ำที่พาดขวางข้างใน
มันหยดซึมจนมีตะไคร่น้ำ
ไม้นี้คงเก่าไปตามกาล
ชีวิตคงเก่าไปด้วยกรรม
เรื่องราวบนแผ่นไม้ถูกทำ
ให้เราไว้นั่งดู
(เรื่องราวบนแผ่นไม้จดจำ ให้เราไว้นั่งดู)

อ่านต่อ...