เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
เป็นคนหนองคาย
เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดอรุณรังสี จังหวัดหนองคาย

      แต่ไปจบมัธยมต้นที่โรงเรียนปทุมเทพวิทยาการแล้วไปต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยในขอนแก่น  ในวัยเด็กเขาแทบไม่สนใจฟังเพลงเลย เพราะไม่มีเพลงไทยในแบบที่ตัวเองชอบ ยุคนั้นจะมีแต่เพลงสำหรับผู้ใหญ่ อย่างสุนทราภรณ์ สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร ฯลฯ เขาบอกว่า
      “ผมก็ฟังไปเรื่อยๆ ไม่สะดุดกับเพลงไหน ฟังแล้วมันคล้ายๆ กันไปหมด”
      เริ่มมาสะดุดกับเพลงจริงๆ ก็จากการ์ตูนโทรทัศน์ ‘หน้ากากเสือ’ อันโด่งดังในยุคนั้น
      “บอกตามตรงเลยผมชอบฟังเพลงเพราะหนังการ์ตูน ‘หน้ากากเสือ’ ตอนเด็กๆ ดูแล้วชอบมากเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของมัน หรืออะไรก็แล้วแต่ ‘หน้ากากเสือ’ เป็นฮีโร่ของผม ชอบวาดรูป ก็จากการ์ตูนเรื่องนี้แหละ”
      หลังจากนั้นมาเกียรติศักดิ์ก็ฟังเพลงมากขึ้น และเริ่มหัดเล่นกีตาร์ วงดนตรีที่มีอิทธิพลต่อเขามากที่สุดในช่วงนี้ก็คือ ‘อิสซึ่น’ ของสองพี่น้อง อัสนี-วสันต์ โชติกุล
      “ตอนที่หัดกีตาร์นี่ เค้าคล้ายๆ เป็นครูกีตาร์ได้ดีเลย เพลงของเค้าไม่ใช่สอนให้เราเล่นแบบธรรมดาๆ นะ มันมีลูกเล่นให้ฝึกฝนเต็มไปหมด แม้จะดูเป็นเพลงง่ายๆ ก็เถอะ”

      ช่วงเรียนมัธยมที่หนองคายและขอนแก่น เกียรติศักดิ์ร่วมเล่นดนตรีในวงของโรงเรียนมาตลอด ในตำแหน่งกีตาร์บ้าง เบสบ้างสลับกับเพื่อนๆ ในวง และจากเด็กบ้านนอกริมโขงที่หลงใหลในเสียงดนตรี เกียรติศักดิ์เดินทางเข้ามาเป็นน้องใหม่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ในปีการศึกษา 2525
      ปีเดียวกับที่ ‘เฉลียง’ ออกเทปชุดแรก ‘ปรากฏการณ์ฝน’
      นิสิตปี 1 สถาปัตย์ รวมทั้งเกียรติศักดิ์ จึงฟังเพลงชุดนี้ของพวกพี่ๆ กันอย่างชุ่มหู ถึงขนาดเรียกได้ว่า ‘ปรากฏการณ์ฝน’ เป็น ‘เทปสามัญประจำคณะ’ เลยก็ว่าได้
      เกียรติศักดิ์เล่าถึงช่วงนั้นว่า
      “ตอนนั้นผมเข้าสถาปัตย์ จุฬาฯ แล้ว เรียนอยู่ปี 1 พวกพี่จิก พี่ดี้ พี่เจี๊ยบ อยู่ปี 5 แล้ว พวกผมเห่อเทปม้วนนี้กันมากเพราะรุ่นพี่ออกเทป ทั้งคณะจะเห่อมาก แทบทุกคนเลยมีเทปม้วนนี้ เด็กปี 1 จะเห่อทั้งนั้น ซื้อเทปมาฟังกัน ตอนทำงานในสตูดิโอ ฟังแล้วก็ร้องได้ทุกเพลง”

      เพราะมีฝีมือดนตรีอยู่แล้ว ครั้นเข้ามาอยู่สถาปัตย์ เกียรติศักดิ์จึงเข้าร่วมตั้งวงของน้องปี 1 จนได้เข้าไปคลุกคลีกับพี่ๆ บางคนใน ‘เฉลียง’ ในห้องซ้อมดนตรีของคณะ
      “ที่คณะสถาปัตย์มีห้องซ้อมดนตรี ผมไปที่นั่นบ่อย แล้วก็ได้เจอกับพี่ดี้ เขาชอบไปเล่นดนตรี เราก็ไปเล่นด้วยเหมือนกัน ไปแจมดนตรีกันตอนเลิกเรียน พี่จิกนี่นานๆ จะโผล่มาที ที่มาบ่อย จะเป็นพี่ดี้ สนิทกับพี่ดี้ก่อน” เกียรติศักดิ์เล่า
      พอขยับขึ้นชั้นปี 2 เท่านั้น เขาได้รับข่าวดีทางโทรศัพท์ในคืนหนึ่ง
      “พี่จิกโทร.มาหาผม ถามว่าอยากจะร้องเพลงโฆษณาไหม เกี๊ยง ดนตรีเสร็จหมดแล้ว เหลือร้องอย่างเดียว”
      เกียรติศักดิ์เล่า
      “โห...แทบไม่ต้องคิดอะไรเลย เพราะมันเป็นโอกาสที่ดีมาก ตอบพี่จิกไปว่าเอาเลยพี่ ผมอยากทำอยู่แล้วตอนนั้น อยากหารายได้ให้ตัวเองด้วย...ไม่ได้คิดมากเลย ก็เลยไปร้องเพลงโฆษณากับพี่จิก พี่จิกก็นัดแนะไปเลยที่ห้องอัดเอสพี สตูดิโอ แถวๆ ซอยอารีย์ฯ”
      เพลงโฆษณาที่เกียรติศักดิ์ได้ร้องเป็นเพลงแรกคือโฆษณาปากกา ‘บิค’ ตามด้วยโฆษณาเอสโซ่ ซึ่งทำให้ผู้คนทั่วไปเริ่มคุ้นกับเสียงนุ่มๆ ของเขา
      “ถ้าคิดกลับไปถึงตอนนั้น พูดได้เต็มปากว่าไม่ได้คาดฝันเหมือนกัน เคยคิด แต่ไม่ได้คิดจริงจัง คิดแต่ว่าวันหนึ่งอาจจะได้ทำเพลงของตัวเอง แต่ไม่ได้คิดว่าจะได้มาทำเพลงประมาณนี้”
      เป็นคำสารภาพของเกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ เมื่อให้เกียรติศักดิ์ทำงานเพลงด้วยกันหลายชิ้น ประภาส ก็มองเห็นแววบางอย่างในตัวรุ่นน้องคนนี้ จึงคิดจะเอาเพลงที่แต่งเก็บๆ ไว้มาให้เกียรติศักดิ์ออกเทปในลักษณะของศิลปินเดี่ยว
      แต่ความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน ทำให้งานชุดนี้ไม่ได้เริ่มต้น
      “เสนอค่ายเทปแนวหน้าตอนนั้นไปบ้าง ดูว่าค่ายที่ออกจะเป็นคนใหม่ๆ หน่อย จะได้ไปกันได้กับแนวเพลง ปรากฏว่าไม่ผ่านก็เก็บไป” ประภาสบอก

      และเพลงชุดเดียวกันนี้ได้ถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ ‘จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง’ หอบความฝันขึ้นรถเมล์จากจุฬาฯ ไปหาประภาส ชลศรานนท์ ที่บริษัทเจเอสแอล

      ศุ เป็นหนึ่งในคนจำนวน 4,000-5,000 คน ที่ได้ซื้อหา เทปชุด ‘ปรากฏการณ์ฝน’ มาฟัง
      เพลงที่เขาชื่นชอบที่สุดคือ ‘เที่ยวละไม’

      เพลงนี้ ประภาส ชลศรานนท์ได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านธรรมชาติของป่าเขามาจาก อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร แห่งคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ กอปรกับที่เขาเป็นคนชอบเที่ยวป่าเที่ยวทะเลด้วย จึงสั่งสมความคิดมาเรื่อยๆ โดยตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาเป็นเพลงสักวันหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียน กระทั่งขึ้นชั้นปีที่ 3
      เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับป่าเขา ลำเนาไพรกับเพื่อนๆ ในคณะบ่อยครั้งเข้า จึงเริ่มลงมือเขียนเพลงนี้จากการเที่ยวแบบเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ น้ำท่าไม่ต้องอาบ เขียนด้วยความรู้สึกที่ดีมาก แบบ ‘ต้นไม้ ทราย คลอง พี่น้องกัน’
      ประภาสเขียน ‘เที่ยวละไม’ เสร็จขณะอยู่ชั้นปีที่ 4 และ บรรจุมันลงไปในเทปเฉลียงชุดแรกด้วย

      นอกจากจะหลงรักเพลง ‘เที่ยวละไม’ แล้ว ศุ-บุญเลี้ยง ยังศรัทธา ประภาส ชลศรานนท์ คนแต่งเพลงนี้เป็นส่วนตัวอีก
      เขาเล่าว่า
      “สมัยแก(ประภาส)อยู่ปั้นจั่นสำอาง เคยดูละครที่แกเล่น เห็นแกเล่นก็ตลกดี เขียนบทก็เออ!!!! มันดี มาได้ยินเพลงที่พี่จิกแต่ง เพลงที่ แหวน (ฐิติมา สุตสุนทร) ร้อง สุรสีห์ (สุรสีห์ อิทธิกุล) ร้องในหนัง ‘วัยระเริง’ หรือแม้แต่ที่เขียนให้เฉลียงในยุคแรก ฟังแล้วมีเสน่ห์น่าสนใจมาก
      พี่จิกเป็นศิลปินที่สร้างงานแบบกลมกล่อมลงตัว มีเสน่ห์ แล้วมีไอเดียแบบพิเศษ ถ้าจะบ้าก็บ้าแบบน่ารัก เป็นศิลปินที่ไม่ไว้ผมยาว ไม่ต้องคิดโดยการอัดบุหรี่เข้าไปเต็มปอด คือสามารถที่จะ นอนตีลังกาคิดก็ได้”

      ศุ บุญเลี้ยงยังจำวันที่เขาเดินเข้าไปหาประภาส ชลศรานนท์ ได้เป็นอย่างดี โดยเขียนไว้ในมติชนรายวัน เซ็กชั่น ‘มติซนหน้า 14 วันอาทิตย์’ ในนาม สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก เมื่อต้นปี 2543 ว่า

      ตอนวัยรุ่นผมอยากคุยกับประภาสมาก เฝ้าหาโอกาสเนื่องจากผมเคยดูละครที่ประภาสแสดง เคยดูภาพยนตร์ที่ประภาสเขียนบท เคยฟังเพลงที่ประภาสแต่ง ตอนนั้นประภาสคือฮีโร่ของผมดีๆ นี่เอง ดีที่เป็นผู้ชายด้วยกันทั้งคู่ ไม่งั้นผมคงร้องกรี๊ด...เวลาเห็นตัวจริงประภาส
      ตอนนั้นสมจุ้ยยังเป็นนักศึกษา ประภาสเป็นรุ่นพี่ที่จุฬาฯ แต่ไม่รู้จะไปคุยกับประภาสได้ที่ไหน ทั้งๆ ที่ประภาสคงอยู่ที่คณะสถาปัตย์ จนมีมิตรสหายบางรายบอกว่า ได้พบประภาสเข้าแล้ว ทำงานอยู่ที่บริษัทเจเอสแอลแถวลาดพร้าว ท่าทางเป็นไงวะ ผมตื่นเต้นมาก ช่วยฝากถามให้ทีว่า จะรังเกียจไหม ถ้ามีน้องสักคนสนใจจะคุยด้วย สหายก็เลยนัดให้
      ถึงวันนัดผมนั่งรถเมล์จากจุฬาฯ ไปคุยกับประภาสที่เจเอสแอล
      ทุกวันนี้ถ้าใครถามว่าเข้าวงการมาได้ยังไง ผมก็ตอบตามตรงว่า นั่งรถเมล์ไป
      และตั้งแต่วันนั้น องศาความคิดและการเดินของชีวิตผม ก็เปลี่ยนไป จากฮีโร่ ประภาสกลายเป็นพี่ชายที่แสนดี และกลายเป็นอาจารย์สอนหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดและการเขียน ผมนึกเสมอว่า วันนั้นโชคดีที่ตัดสินใจไปคุยกับประภาส เพื่อแสวงหาบางสิ่งแทนที่จะเลือกคุยกับจิตแพทย์
      ตอนนี้ บ้านและงานผมไกลจากประภาส แต่หากมีโอกาส ผมก็ยังอยากแวบไปหา ไปปรึกษา สนทนากับประภาส ตั้งแต่เรื่องจักรยานไปจนจักรวาล

      ในวันนั้นนอกจากจะไปคุยแล้ว ศุ บุญเลี้ยงยังได้หอบเอาเพลงที่ตัวเองแต่งไปให้ประภาส ชลศรานนท์ฟังด้วย
     “ซึ่งใช้ไม่ได้เลย” ศุ เล่าแกมหัวเราะ

อ่านต่อ...