เพลงชุดแรกของเฉลียง
เริ่มขึ้นที่ ‘กมลสุโกศล’ ห้องบันทึกเสียงชื่อดังในสมัยนั้น

      ทางด้านดนตรี เรวัตได้ชวนนักดนตรีฝีมือดีอีกหลายคนมาช่วยทำงานเรียบเรียงเสียงประสานและทำงานในห้องอัด อาทิ วิชัย อึ้งอัมพร, ปราจีน ทรงเผ่า และอุกฤษณ์ พลางกูร ใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็เสร็จเรียบร้อย
      เพลงที่ถูกเลือกให้เข้ามาอยู่ในเทป ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ประภาสแต่ง ทั้งคำร้องและทำนอง ‘ศรรัก’ ถูกนำทำนองมาใช้โดยเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ กลายเป็น ‘ใยแมงมุม’ แต่ ‘กล้วยไข่’ ถูกพี่เต๋อตัดออกไปเพราะยังทำดนตรีได้ไม่สมบูรณ์นัก
      ส่วนทำนองเพลง ‘อยากมีหมอน’ ของนิติพงษ์ยังอยู่ ทว่าไม่มีเสียงร้องของเขาอยู่ในเทปด้วยเลย

      เมื่อทำเทปมาสเตอร์เสร็จจากห้องบันทึกเสียง กมลสุโกศล ก็ถูกขายขาดให้ อโซน่า พวกเฉลียงได้แต่เทป แผ่นเสียงมาฟังกันเล่นๆ เท่านั้น ไม่ได้ส่วนแบ่งจากยอดขายด้วยซ้ำ ค่าร้องค่าแต่งอะไรก็ไม่กล้าเอาจากเจ้าของเจเอสแอล เพราะเทปขายไม่ออก
      “กับเทปชุดแรก พวกเราไม่ได้วางแผนอะไรกันอย่างเป็นทางการเลย มีแต่ความคิดอยากจะทำเท่านั้นเอง”
      เป็นคำบอกเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังของวัชระ ปานเอี่ยม
      “อยากเห็น อยากดู แล้วเราก็อยากเรียนรู้เรื่องห้องอัดเพราะเราเคยไปอัดเล่นกันเอง ส่วนใหญ่ดี้เล่นดนตรีเองเกือบทุกชิ้นทำเองเกือบหมด ก็ออกมาก๋องๆ แก๋งๆ
      ทีนี้ก็เลยอยากดูซิว่า ไอ้ที่เป็นแผ่นเสียงที่เขาขายๆ กันเขาทำกันยังไงเลยลองดู โดยไม่ได้สนใจว่าการตลาดจะเป็นยังไง ก็ไม่เห็นพี่ๆ เจเอสแอลเขาว่าอะไร เขาคงอยากลองของใหม่มั้ง”
      “เรายังไม่มีทักษะ แม้แต่ปกยังวาดเองเลย”
      เทปชุดนี้เขียนบนปกว่า ‘เฉลียง’ ประภาสเป็นคนออกแบบปกเอง
      โดยเพื่อนร่วมรุ่นที่คณะคนหนึ่งซึ่งมีฝีมือในการทำแอร์บรัช เป็นคนลงสีให้
      เป็นเทปที่ไม่มีชื่อชุด โดยประภาสเล่าถึงเรื่องนี้ว่า
      “ตอนที่ตั้งใจแต่งเพลงชุดนี้แล้วรวบรวมออกมาก็คือ ผมเลือกชื่ออยู่สองชื่อที่จะตั้งเป็นชื่ออัลบั้ม คือเพลงแรก ‘เธอกับฉันกับคนอื่นๆ’
      ในช่วงนั้น ผมตั้งชื่อนี้แล้วคิดว่าเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้ม ก็เพราะว่าในยุคนั้นรู้สึกจะมีเพลงรักออกมาเยอะมาก ไม่มีเพลงแนวอื่นอยู่เลย จนรู้สึกว่าเวลาคุยกันเนี่ย เรามักจะพูดว่ามันมีแค่เธอกับฉันหรือไงในโลกนี้จะต้องพูดถึงกัน ผมเลยแต่งเพลงนี้ขึ้นมา
      คล้ายๆ กึ่งๆ ล้อเลียน และก็คิดว่าจะตั้งเป็นชื่ออัลบั้มอยู่แต่มีคนติงๆ ว่ามันเป็นแนวความคิดซึ่งมีเนื้อหาทางเดียวคือโจมตีคนอื่น คล้ายต่อต้านเพลงรัก ก็เลยคิดว่าเป็นแนวคิดเดียวในชุดนี้
      มันก็มีอีกชื่อหนึ่งคือ ‘ปรากฏการณ์ฝน’ ซึ่งคิดว่าจะเอามาตั้งอยู่เหมือนกัน เพราะงานชิ้นนี้เราตั้งใจให้เป็นอะไรค่อนข้างใหม่หน่อย แต่ไม่ใช่แบบที่คิดว่าตัวเองจะยิ่งใหญ่มาก เพียงแต่ว่าเป็นคนใหม่ๆ ที่มองวงการแล้วอยากเข้ามาทำผมก็คิดว่าคล้ายๆ กับแค่ฝนเท่านั้นที่เป็นวัฏจักร
      ผมหมายถึงว่าเริ่มจากน้ำเนี่ยไปเป็นเมฆ แล้วมันก็ลงมาเป็นฝน มันก็คือเท่ากันหมด มองกันว่า เราเองก็อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเค้าคือเมฆหรือฝนเท่านั้นเอง
      แต่พอสุดท้ายแล้วก็มาคุยกันว่า ไม่ชอบเลยที่มันจะเป็นคอนเซ็ปต์อะไรมากมายอย่างนั้น เพราะหลายเพลงก็ไม่ได้อยู่ในแนวความคิดเท่าไหร่ ก็เลยคิดว่าไม่ตั้งชื่ออัลบั้มละ นอกจากชื่อเฉลียงเท่านั้นเอง
      แต่คนเรียกชุดนี้กันว่า ‘ปรากฏการณ์ฝน’ อยู่ดี เพราะหน้าปกมันมีรูปฝนตกด้วย คนก็เลยมองว่าเป็นชื่อชุด แล้วก็เลยสมยอมคำเหมานั้นไป”

      ‘ปรากฏการณ์ฝน’ ออกวางแผงในกลางปี 2525 อย่างเงียบเชียบ ก่อนจะจมหายไปอย่างรวดเร็วในกระแสเพลงรักที่กำลังออกมามากมายในตลาด
      “ไม่ค่อยเฟื่องฟูหรอกฮะเทปตอนนั้น คนเค้าฟัง ‘ลมรัก’ ของฮอทเปปเปอร์ซิงเกอร์กันอยู่ แล้วเฉลียงออกมา ไม่อายชาวบ้านเค้ามั่ง ผิดยุค ผิดมากๆ เลย ก็ถือว่าเราได้เรียนรู้แล้ว แล้วก็จบแค่นั้นก็แล้วกัน”
      วัชระเล่าด้วยน้ำเสียงประชดประชัน ในขณะที่ประภาส ชลศรานนท์บอกว่า
     “ไม่มีใครสนใจเลย เสียงสะท้อนไม่มีเลย แล้วก็ไม่ค่อยมีการโปรโมต สมัยนั้นไม่เหมือนตอนนี้ แต่ผมว่าต่อให้ออกตอนนี้ก็คงไม่เท่าไหร่ ค่อนข้างเป็นความคิดเพียวๆ ไปหน่อย ยังไม่ผ่านการขัดเกลา คิดอะไรแล้วซัดเลย มันไม่จับหู”

      ไม่มีใครรู้ชัดว่าเทปเฉลียง ปรากฏการณ์ฝน ขายได้กี่ม้วนกันแน่ แต่ไม่น่าจะเกิน 4,000-5,000 ม้วน

      ภาระการศึกษาในปีที่ 5 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อันหนักหน่วง ทำให้เฉลียงทั้ง 3 คนหันกลับไปปฏิบัติหน้าที่อย่างตั้งใจเพื่อจบการศึกษาให้ได้ในปีนั้น
      ส่วนพี่เล็ก-สมชาย ศักดิกุล ก็ไปเล่นดนตรีให้กับวงบาง-กอกคอนเนคชั่น
      ขณะทำวิทยานิพนธ์กันอยู่ พี่เต๋อได้มาชวนประภาสและนิติพงษ์ไปทำเพลงให้ภาพยนตร์ ‘วัยระเริง’ ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ โดยภายหลังประภาสได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

      หลังจากนั้นประภาสและวัชระก็เรียนจบออกมาก่อน ส่วนนิติพงษ์ต้องรอทำทีซิสอีกปี ประภาสเข้าไปเป็นพนักงานประจำของเจเอสแอล ในหน้าที่ดูแลการผลิตรายการโทรทัศน์ (T.V. PRODUCER)
      ขณะที่วัชระ ปานเอี่ยม ไปทำงานสถาปนิกอยู่พักหนึ่งก่อนจะย้ายไปทำงานเอเยนซี่โฆษณาและบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ กระทั่งเริ่มมีชื่อเสียงกับรายการ ‘เพชฌฆาตความเครียด’ ของกลุ่ม ‘ซูโม่สำอาง’ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
      วัชระ ปานเอี่ยมเล่าถึงความเป็นมาของรายการ ‘เพชฌฆาตความเครียด’ ว่า
      “ตอนนั้นบริษัทไนท์สปอตเขามีช่วงเวลาหลังข่าวอยู่ ซึ่งถือเป็นช่วงของรายการแดนสนธยา คือรายการไม่ค่อยมีคนดู นี่หมายถึงช่วงหลังข่าวของช่อง 9 ในตอนนั้นนะ แล้วข่าวก็ไม่ดีด้วย เขาก็ยื่นโปรเจ็กต์มาให้เรา”
      ย้อนขึ้นไปก่อนหน้านั้นหน่อย ม.ล.ปีย์ มาลากุลฯ มีรายการทีวีอยู่รายการหนึ่ง ประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งให้เด็กสถาปัตย์สร้างงานไปส่งประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ใช้ชื่อรายการ ‘ชวนชม’
      “รุ่นพี่ตู้ พี่ตานี่ละ เขาจะไปเล่นกัน เราก็คอยตามดูอยู่ทางบ้าน ตอนนั้นยังไม่ได้รู้จักกัน”
      “จนผมได้เข้าเรียนจุฬาฯ ถึงได้เล่นรายการ ‘อาทิตย์ยิ้ม’ กับเขา แล้วก็เอาดีทางด้านการบันเทิงมาเรื่อยๆ
      พอเรียนจบก็ได้ทำรายการทีวี จนกระทั่งมีโปรเจ็กต์จากไนท์สปอตมา ผมก็เลยลาออกจากบริษัทบอร์นฯ มาทำรายการ เพชฌฆาตความเครียด
      ซึ่งหัวเรือใหญ่ตอนนั้นมีกัน 4 คน คือ พี่ตู้ พี่โย(ภิญโญรู้ธรรม) ผม แล้วก็จอม(ชยา ปัญญาสุข) เพื่อนอีกคนที่ตอนนี้กลับไปเป็นสถาปนิกแล้ว”

      สำหรับนิติพงษ์ ห่อนาค หลังเรียนจบก็ตามเพื่อนๆ เข้ามาทำงานในวงการบันเทิงเช่นกัน และนอกจากงานเบื้องหลังรายการโทรทัศน์ ผลิตรายการวิทยุแล้ว นิติพงษ์ยังรับงานอิสระ แต่งเพลง ให้กับพี่เต๋อ ซึ่งเพิ่งตั้งบริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ร่วมกับไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
      ไม่มีวี่แววว่า ‘เฉลียง’ จะกลับมาอีกเลย

อ่านต่อ...