พี่เล็ก-สมชาย ศักดิกุล
เคยเล่นดนตรีอยู่ที่มณเฑียร ที่เดียวกับเรวัต พุทธินันทน์


     โดยเล่นอยู่กับวงของอัญชลี จงคดีกิจ ก่อนจะออกไปเล่นกับวงแม็กนิฟิเซ้นท์ของอ๊อด-ศรายุทธ สุปัญโญ สมัยที่ยังไม่เป็นอินฟินิตี้ ประมาณปีเศษวงก็แตก สมชายจึงเคว้งคว้างอยู่พักใหญ่
ตั้งแต่เริ่มเล่นดนตรี สมชาย ศักดิกุลได้กำหนดจุดยืนของตัวเองไว้ว่า จะไม่เล่นเพลงตามสมัยนิยมเด็ดขาด
      “ผมเล่นเพลงไม่เหมือนชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว เพลงที่เราพรีเซนต์ออกไปเป็นเพลงแนวใหม่ จังหวะทันสมัยหน่อย อย่างเจมส์ แก๊งส์ อย่างโปรเกรสซีฟร็อก ที่มีจังหวะกระฉึกกระฉัก เต้นลำบาก คนจะต้องรู้จักเพลงจริงๆ ถึงจะเต้นได้
      ไปเล่นที่ไหนโดนขว้างตลอด!”

      หลังจบปริญญาตรีจากเชียงใหม่ สมชาย ศักดิกุลก็กระ-โดดเข้าสู่ถนนนักดนตรีอาชีพเต็มตัว และมีโอกาสได้ทำเพลงครั้งแรกในชีวิตโดยบังเอิญ ก่อนหน้าจะถูกชวนมาเป็นนักร้องนำในคราวนี้
      “ผมเคยออกเทปมาแล้วชุดหนึ่งกับวง ‘เดอะ บ๊องส์’ ของค่ายรถไฟดนตรี พี่วิรัช อยู่ถาวรเป็นคนทำ ผมร้องกับโย-โยธิน ชีรานนท์ สองคน เป็นเพลงตลก ทำนองฝรั่งหมดเลย” สมชายเล่า
      “อย่างเช่น ‘โอ ที่รักเธอจากไกล ทำให้ใจของฉันเหี่ยว’ ทำนอง ‘แบดไทม์’ ของแกรนด์ฟรังก์ เรลโรด เนื้อตลกหมดเลย เอา มาย โชโรนา (ของเดอะ แน็ค) มาแปลง ขายไม่ได้หรอก”

      และวันหนึ่งขณะที่กำลังซ้อมดนตรีอยู่ที่บ้านของโยธิน ชีรา-นนท์ แถวสุขุมวิท ก็มีคนมากดกริ่งหน้าบ้าน
      สมชายวางกีตาร์ แล้วเดินออกไปเปิดประตู
      “พี่เล็กอยู่ไหมครับ?” คนกดกริ่งถาม
      สมชายจึงถามกลับด้วยสีหน้างุนงง
      “พี่เล็กไหน? ผมเองนี่แหละเล็ก”
      คนที่ไปกดกริ่งในวันนั้นก็คือ ประภาส ชลศรานนท์ นั่นเอง
      “เจ้าจิก-ประภาสนี่แหละ...มันโหนรถเมล์ง็อกๆ แง็กๆ ออกจากจุฬาฯ หิ้วหนังสือ เอาเทปมาให้ฟัง เขาบอกว่าพี่เต๋อให้มาคุยกับผม สนใจอยากชวนไปทำเทป
      เพลงตัวอย่าง เขาอัดกันมาจากใต้ถุนคณะ เสียงมันอาจจะเจี๊ยวจ๊าวหน่อยนะ เสียงชงเสียงชามอะไรบ้าง ดนตรีก็เล่นกันด้วยกีตาร์โปร่งธรรมดาๆ แล้วก็เคาะกันป๊อกๆ แป๊กๆ
      เดโมอันนั้น เจี๊ยบ ดี้ จิก สามคนนี่มันช่วยกันร้อง กล้วยน้ำว้าเวลาสุกงอม อะไรพวกนี้ เขาบอก เพลงมันเป็นอย่างนี้นะ จิกบอกพี่ลองฟังแล้วตัดสินใจดูก็แล้วกัน ผมก็งง เอ๊ะ! อยู่ดีๆ มาหาผมได้ไง ตอนนั้นผมก็ตั้งตัวไม่ทันเหมือนกัน
      ผมชอบเพลงของเขานะ แต่ฟังแล้ว เรารู้เลยว่าออกไปแล้วนี่ ไม่แน่ใจว่าคนฟังจะรับความแปลกได้หรือเปล่า คุยกับจิกแล้วผมก็ยังไม่แน่ใจ เลยโทรศัพท์กลับไปคุยกับพี่เต๋ออีกที”

การพูดคุยระหว่างสมชาย ศักดิกุลกับเรวัต พุทธินันทน์ในค่ำคืนนั้น หากเรียบเรียงเป็นบทสนทนาอีกครั้งก็น่าจะออกมาในรูปนี้
     สมชาย - “พี่เต๋อจะให้ผมร้องเพลงพวกนี้เหรอ”
     เต๋อ - “เฮ้ย ร้องสิ ไอเดียมันดีนะเว้ย ฟังเพลงหรือยังวะ เดี๋ยวพี่เป็นโปรดิวเซอร์เอง จะทำเต็มที่เลย เล็ก...มึงเกิดแน่ๆ”
     สมชาย - “เพลงมันบ้าๆ บอๆ ยังงี้ใครจะฟังวะพี่ เพลงมันประหลาด จะเกิดยากนะ”
     เต๋อ - “เฮ่ย! ลุยเลย ลองเลย...เล็ก อยู่ว่างๆ”

      สมชาย ศักดิกุลจึงตกลงเข้าร่วมงาน ตามคำแนะนำของ เรวัต พุทธินันทน์
      “พี่เต๋อบอก ผมทำเทปชุดแรกออกมาไม่สำเร็จ ลองชุดนี้ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว ลุยเลย พี่เต๋อเขาชอบไอเดียของจิก เมื่อพี่เต๋อบอกเอา ผมก็เอา”
      เมื่อพี่เล็กตอบตกลง ก็ถึงคราวที่จะต้องคิดชื่อวงกันเสียที
      ที่คิดๆ กันไว้ในตอนแรกก็คือ ชื่อวงจะต้องใกล้เคียงกับวิชาสถาปัตย์ตามที่สมาชิกผู้ก่อตั้งวงร่ำเรียนกันมา หรือไม่ก็เป็นชื่อเครื่องดนตรีไทยไปเลย
      คิดกันไว้หลายชื่อแต่ก็ไม่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็น ฆ้องวง, เสาเข็ม และอีกหลายๆ ชื่อ
      แต่ในที่สุดก็มาลงที่ชื่อ ‘เฉลียง’

      ประภาสเล่าถึงเหตุผลที่เลือกชื่อนี้ไว้ว่า
      
“ผมต้องการสื่อถึงมนุษย์ เป็นบ้าน เป็นจิตใจ เมื่อต้องการพูดถึงตรงกลาง ที่อยู่ระหว่างข้างนอกกับข้างใน มองกลับมาที่ตัวเองก็ได้ มองออกไปข้างนอกก็ได้ ก็เลยคิดถึงส่วนที่เชื่อมข้างนอกกับข้างในบ้าน ก็พูดออกมา...เฉลียง เสียงมันคล้ายๆ เฉียงๆ คือไม่ค่อยตรงเท่าไร ได้เหมือนกันก็เลยเอา ชอบมาก...มันให้ความรู้สึกสบาย แหงนหน้าไปจะเห็นชายคาครึ่งหนึ่ง ท้องฟ้าครึ่งหนึ่ง เป็นการสะท้อนภาพ แต่ไม่ใช่สะท้อนภาพสังคม เป็นการสะท้อนภาพจิตใจ
    แล้วเฉลียงน่าจะเป็นส่วนที่สบายที่สุด จริงอยู่ เตียงนอนอาจจะสบายกว่า แต่หลับเลย ไม่ได้คิดอะไรเลย”

อ่านต่อ...