ฉัตรชัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเฉลียงได้อย่างกลมกลืน

      เขาได้พบนิติพงษ์และศุ ซึ่งยังวนเวียนมาให้กำลังใจที่ห้องอัดเสมอๆ และได้สัมผัสบรรยากาศความเป็น ‘เฉลียง’ ที่สนุกสนานกันได้ตลอดเวลา
      วัชระเล่าบรรยากาศในห้องอัดอย่างที่ฉัตรชัยได้เข้ามาสัมผัสว่า
      “เวลาจะอัดชุดไหนก็ไปกันทั้งวงนั่นแหละ ไปยืนลุ้นกันอยู่ข้างๆ เราเน้นกิน เฮฮา บางทีเสียงดังจนเข้ามาในห้องอัด คนในห้องอัดต้องบอก เฮ้ย...เบาๆ หน่อย
      อย่างเพลง ‘กุ๊กไก่’ นี่ เวลาอัดสนุกมาก คือปกติเวลายืนร้องมันจะมีกระจกกั้น แต่เราก็มองเห็นคอนโทรล เห็นคนนั่งฟังอยู่ด้านนอก เราก็ร้องไป...เฮ้ย มันหายไปไหนกันหมดวะ ปรากฏมัน ลงไปนอนแถกหัวเราะกันกั้กๆ อยู่ที่พื้นห้อง ช่วงที่เราร้องปิ๊ดปิ๋วๆ...อะไรของมันวะ
      เฉลียงทำงานทุกครั้งจะกระตือรือร้น ตัวผมเองผมไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ ทุกครั้งที่จะมีเฉลียง ผมรู้สึกกระตือรือร้นเป็นพิเศษผมจะพยายามอยู่ห้องอัดให้ตลอด มีธุระอะไรผมก็จะผัดผ่อน ถึงไม่ได้ทำอะไรในห้องอัดก็ยังไป
      จริงๆ ผมจะไปนั่งฟังเพลง ไปได้รู้ มันเหมือนชุดแรกที่ผมได้ทำ มีความสุขที่ได้อยู่ห้องอัดเสียง ได้อยู่กับเครื่องดนตรี ได้อยู่กับเพื่อนฝูงที่เป็นเฉลียง ผมจะกระตือรือร้นตั้งแต่ชุดแรกจนปัจจุบันในความรู้สึกที่มีต่อเฉลียง ถึงแม้ว่ารูปแบบของวงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”

      อัลบั้มชุด แบ-กบาล ออกวางแผงในเดือนมีนาคม ปี 2532 โดยฉัตรชัย ดุริยประณีต สมาชิกใหม่ได้ฝากฝีมือการเขียนเพลงไว้ด้วยหนึ่งเพลงคือ ‘ไม่คิดถาม’
      ขณะที่ ประภาส ชลศรานนท์ ก็เขียนเพลง ‘ง่ายๆ’ มอบให้ ฉัตรชัยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่คนนี้ ซึ่งเขาต้องร้องเพลงนี้เองด้วย ทั้งที่ไม่ค่อยจะพอใจเสียงของตัวเองเท่าไรนัก เพราะรู้ตัวว่าเป็นคนเสียงบาง เสียงเล็กมาก
      ฉัตรชัยบอกว่า โดยพื้นฐานแล้วเขาอยากจะเป็นมือกีตาร์อาชีพมากกว่าการเป็นนักร้อง แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของเฉลียงก็จำเป็นต้องร้อง
      เพลงส่วนใหญ่ในเทปชุดนี้ยังเป็นฝีมือของประภาส นอกจาก ‘โลกกลมๆ’ ของ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์
      เพลงที่โดดออกมาและได้รับการพูดถึงมากคือ ‘ใจเย็นน้องชาย’ ซึ่งล้อเพลงร็อกแบบจิ๊กโก๋อกหักที่กำลังเป็นที่นิยมสุดขีดในช่วงนั้น
      โดยเฉลียงตั้งใจทำเพลงสวนกระแสไปเพื่อเตือนหนุ่มสาวให้หยุดคิด
      วัชระเล่าว่า ก่อนที่จะบรรจุเพลงนี้ลงไปในเทปของเฉลียงได้เอาไปลองเล่นหน้าคอนเสิร์ตของพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่ลานสวป. มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่คนไม่เอาด้วยเลย จึงต้องกลับมาคิดว่าจะใส่ลงไปดีไหม และในที่สุดก็ตัดสินใจใส่ลงไปตามใจตัวเอง
      “มีคนมาทักนะ เฮ้ยเฉลียงจะร็อกแล้วเหรอ ส่วนขาร็อกก็มาถาม ทำไมมีเพลงเดียวเองล่ะ”

      แม้ตัวเพลงจะทำให้คนฟังงงๆ ว่าเฉลียงจะร็อกหรือจะประชด แต่เมื่อเป็นมิวสิกวิดีโอ ‘ใจเย็นน้องชาย’ ก็ได้รางวัลชมเชยประเภทมิวสิกวิดีโอดีเด่นของคณะกรรมการโทรทัศน์ทองคำประจำ ปี 2532 มาครอบครอง
      “คิดมิวสิกวิดีโอก่อนเพลงด้วยซ้ำ” วัชระซึ่งเป็นผู้ทำมิวสิกวิดีโอเองและแสดงนำเองเล่าไว้
      “คุยๆ กันว่าเพลงตอนนั้นมีแต่จริงใจๆ เฮ้ยมันจะอะไรขนาดนั้น เราก็มีแฟนแล้ว แต่งงานแล้ว แต่ตอนเราจีบกับแฟนไม่เห็นต้องอย่างนี้เลย จิกเขาก็ไปเขียน(เพลง) ผมก็เห็นภาพเลยนะ จะต้องจับตรงนั้นตรงนี้มา ล้อเขาเลยละ โดนหมด พี่ป้อม หนุ่ย อิทธิ โดนหมด
      ตอนที่ได้รางวัล ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา (ยศสุนทร) ท่านบอก เธอ...ตลกมาก รู้ไหมว่าที่ทำตลกอยู่นั้น คือข้อสรุปของเพลงที่มีทั้งหมดในปีนี้”

      เฉลียงเริ่มออกฟรีคอนเสิร์ตและออกทัวร์คอนเสิร์ตต่างจังหวัดอีกครั้ง แต่ไม่เต็มรูปแบบเหมือนเมื่อ 2 ชุดก่อน เพราะต่างคนต่างก็มีงานประจำและหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องทำ
      ฉัตรชัยเล่าถึงประสบการณ์การขึ้นเวทีคอนเสิร์ตในฐานะเฉลียงของเขาว่า
      “คอนเสิร์ตแรกของผมคือ ฟรีคอนเสิร์ตที่เซ็นทรัลลาดพร้าววันที่ 14 ก.พ. จำได้ว่าร้องเพี้ยนน่าดู ตื่นเต้นฮะ แต่หลังๆ ก็โอเค”
      ขณะเดียวกัน วัชระ ปานเอี่ยมที่เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าวงแทนนิติพงษ์ ก็ต้องรับภาระหนักมากขึ้นโดยเฉพาะในการแสดงบนเวที
      “มันไม่ค่อยพูดกัน แต๋งนี่ต้องคอยหันไปถาม มันขาดคนรับส่งมุข นายนกนี่เค้าทำตัวเป็นคนดูเลยนะ แต่อยู่บนเวทีด้วย เราคุยอยู่หน้าเวที นี่(นก)ไปยืนโน่น ติดแบ๊กอัพ หัวเราะอย่างเดียว”

      เฉลียงออกทัวร์คอนเสิร์ตไม่กี่จังหวัด และลาเวทีกันไปในรอบนี้ด้วยคอนเสิร์ตปิดท้ายทอย ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2532
      คอนเสิร์ตครั้งนี้มีพี่ตุ้ม-ผุสชา โทณะวณิก รับเชิญมาร้องเพลงหวาน ‘รักออมชอม’ กับเกียรติศักดิ์ และมีรีวิว ประกอบเพลง แบ-กบาล จากน้องๆ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมโบกสะบัดธงชาติ เพื่อปลุกระดมใจไทยในยุคสมองไหล

อ่านต่อ...