พี่คิงมาร่วมวงไพบูลย์ในเรื่องราวบนแผ่นไม้ได้อย่างไร
ผมรู้จักกับพี่ก้าตั้งแต่สมัยเรียนอยู่เชียงใหม่ ทำกิจกรรมด้วยกัน จนตอนนี้เวลาพี่ก้ามีงานก็มาให้ผมถ่ายภาพประกอบ เช่น งานถ่ายภาพประกอบหนังสือของพี่จิก ประภาส ของอาจารย์ศักดิ์สิริ ของพี่จุ้ย จนมาถึงหนังสือเรื่องราวบนแผ่นไม้ ผมก็ถ่ายประกอบทุกอย่าง ตั้งแต่ปกจนถึงเนื้อใน โดยจะมีช่างภาพอีกคนช่วยกัน ชื่อพี่แด๊ก (ชลรักษ์ เลิศอมรพงศ์) ทำจนเสร็จแล้วผมก็ไปบอกพี่ก้าว่าผมอยากถ่ายภาพคอนเสิร์ตเฉลียง ความตั้งใจของเราคือเวลาเราดูหนังสือของฝรั่ง เช่น The Beatles, Nirvana เขาจะมีช่างภาพตามศิลปินไป เราก็อยากทำอย่างนั้นบ้าง อยากตามไปเก็บภาพ พอบอกพี่ก้าไป พี่เค้าก็ไปบอกพี่เจ๊า พี่จิก เค้าก็เลยให้มาถ่าย
เริ่มถ่ายตั้งแต่ตอนไหน
ตั้งแต่ที่ซ้อมในห้องซ้อม จนย้ายไปที่ธรรมศาสตร์ ซ้อมใหญ่ รอบสื่อมวลชน จนรอบจริงอีก 3 รอบ เบ็ดเสร็จกับช่างภาพอีกคนช่วยกันถ่ายไป 95 ม้วน ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ตามตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ แล้วก็เป็นสิ่งที่คิดฝันไว้ว่าอยากทำสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ไม่คิดว่าจะได้มาทำกับวงเฉลียง ได้มาทำในคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของพี่ๆ เขา คือตอนสมัยเรียนก็จะชอบวงเฉลียงอยู่แล้ว เราฟังและยึดเฉลียง หมายถึงว่าไม่ได้ยึดแค่เฉลียง แต่เป็นซูโม่ หนังสือไปยาลใหญ่ พี่จิก คือจะยึดเอาความคิด บรรทัดฐานมาเป็นแบบอย่างในการตัดสินใจ การใช้ชีวิต ซึ่งเราเองก็คิดเล่นๆ ว่าซักวันหนึ่งจะได้มาถ่าย แต่ไม่คิดว่าจะมีโอกาส ไม่คิดว่าจะเป็นจริง แค่คิดไว้ว่าถ้าได้มาถ่ายงานเฉลียงคงมีความสุข ซึ่งพอได้ทำก็มีความสุขจริงๆ

เวลาไปถ่ายจริงๆ แล้วเป็นยังไง เคยเจอพวกพี่ๆ มาก่อนหรือเปล่า
รู้จักพี่จิกคนเดียว ตอนที่ไปถ่ายปกหนังสือ "ตัวหนังสือคุยกัน" แล้วก็มีงานของเวิร์กพอยต์ งานนักร้องของพี่จิกซึ่งยังไม่ออกมา นั่นคือติดต่อกับพี่จิกมาเรื่อย ส่วนสมาชิกวงเฉลียงนี่ก็เพิ่งเจอกันงานนี้ ไปวันแรกก็ตื่นเต้น แต่มันต้องทำงานให้ได้ ในเวลาตรงนั้นเราอยากทำให้ดีที่สุด คือรู้สึกว่าเรากำลังถ่ายประวัติศาสตร์อยู่ สิ่งที่เรากำลังบันทึก ภาพที่จะออกมา มันเป็นประวัติศาสตร์แน่นอน คนรุ่นหลังต้องได้เห็น เพราะฉะนั้น ณ ตรงนั้นเราจะทำประวัติศาสตร์ภาพให้ออกมาดีที่สุดแค่ไหน ก็เลยรู้สึกตื่นเต้น ซึ่งก็เป็นช่วงแรกๆ พอเริ่มทำงานไป ความตื่นเต้นมันก็หายไป คราวนี้มันไหลไปเอง พี่ๆ เขาก็ดี ไม่รู้สึกเหมือนกับว่าเราเกะกะ เขาก็ทำชีวิตของเขาไป ตามสบายของเขา แรกๆ อาจจะเกร็งบ้างทั้งผมทั้งพี่ๆ แต่เวลาที่เราอยู่กันบ่อยๆ เจอหน้ากันทุกวัน มันก็จะเริ่มผ่อนคลาย เริ่มสบายละ พี่ๆ ก็ไม่รู้สึกว่าผมถ่ายรูป ผมเองก็ถือกล้องไว้ตลอดเวลา ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ดูโน่นดูนี่ ฟังเพลง ดูเขาร้องเพลง ฟังเขาหัวเราะ หัวเราะไปกับเขาบ้าง แซวเขาบ้าง คือแบบสร้างความคุ้นเคยกันให้มากที่สุด ทำงานกันก็ราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไร
วาง concept ของภาพไว้อย่างไร
อยากได้ภาพที่ออกมาหวือหวา คิดไว้แค่มุมกล้อง คือใช้เลนส์ wide เป็นลักษณะเบี้ยวนิดๆ มี foreground, background นิดหน่อย แล้วก็จะไม่ใช้แฟลช จะใช้แสงธรรมชาติทั้งหมด แล้วก็พยายามหาฟิล์มให้เข้ากับสภาพแสงที่มีอยู่ เช่นในห้องซ้อม แสงจะน้อยมาก เราก็ต้องใช้ฟิล์มความไวแสงสูงมากๆ ซึ่งลักษณะแสงธรรมชาติจะช่วยให้ (นาย) แบบไม่เกร็ง สมมติว่ามีแสงแฟลชแวบขึ้นมันจะตกใจน่ะ แต่ถ้าแชะไปเรื่อยๆ จะไม่รู้สึกเกร็ง ภาพก็ออกมาธรรมชาติ ไม่แข็ง
ต้องไปศึกษาสถานที่ก่อนถ่ายไหม
ทุกอย่างจะสดหมด เกิดขึ้นเอง ณ เวลานั้น เพียงแต่ว่าผมจะไปถึงก่อนเวลาพวกพี่ๆ มาเสมอ ก็จะคอยไปเล็งๆ ไว้ก่อนว่าอยู่ตรงไหน เพราะโดยธรรมชาติที่เจอมาตั้งแต่ถ่ายหนังสือเนี่ย มันกะเก็งอะไรไม่ได้หรอก ทุกอย่างเล็งไว้ก็ไม่ได้ตามที่เล็ง มันจะเป็นแบบเจอตรงไหนก็จะถ่าย แต่ส่วนใหญ่โชคดีตรงที่ผมจะรู้สึกว่าเราไปยืนได้ถูกจังหวะ ถูกเวลาพอดี หลายๆ รูปเหมือนกับว่ามันได้ถูกกำหนดมาแล้วว่าจะต้องเกิดภาพแบบนี้ เราเป็นแค่คนที่เข้าไปอยู่ในช่วงเวลาแค่นั้น แต่เราก็คิดนะ ว่าสิ่งที่เราจะถ่ายมันมีอะไรบ้าง mood, action, feeling ของแต่ละคน ลักษณะการทำงานของพี่เขา คือเราจะคิดไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ สิ่งต่างๆ ที่เฉลียงเป็นอยู่ มันจะปรากฏออกมาเอง โดยที่เราไม่ได้ปรุงแต่งเท่าไหร่
คิดภาพของพี่แต่ละคนหรือเปล่า ว่าคนนี้จะเป็นอารมณ์นี้
ก็เป็นธรรมชาติของตัวเขา อย่างพี่เกี๊ยงก็จะหน้าตาดีอยู่แล้ว ถ่ายยังไงก็ออกมาดี พี่เจี๊ยบนี่ท่าทางแกจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งมันน่าสนใจอยู่แล้ว พี่นกจะยากนิดนึง เพราะแกเป็นคนนิ่งๆ ผมก็จะช่วยบอกหน่อยว่า พี่นกครับ จับกีตาร์หน่อย มองกล้องหน่อย แต่อย่างพี่จุ้ยนี่ไม่ต้องบอก เพราะถ้าบอกแกจะไม่ทำ (ฮา) แกอยากทำอะไรก็ตามสบาย เดี๋ยวผมถ่ายเอง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้นนะ คือตามสบายเถอะพี่ เดี๋ยวผมทำเอง จะพยายามทำให้พี่ๆ คิดว่าผมเป็นก้อนหิน ไม่ต้องสนใจผมหรอก เดี๋ยวผมทำของผมเอง
ใครเล่นกล้องมากที่สุด
พี่ดี้กับพี่เจี๊ยบจะสนุกที่สุด เขาจะขำผม เพราะเวลาเขาซ้อมร้องเพลง ผมก็จะร้องตาม ถ่ายรูปไปด้วยร้องเพลงไปด้วย เขาก็เออ…ไอ้บ้านี่ คือรูปที่เห็นนั่นน่ะผมถ่ายไปขยับปากร้องเพลงไป มีความสุข คือเป็นการทำงานที่มีความสุข
ภาพที่ออกมาพอใจไหม
พอใจมาก (ย้ำ) ในแง่ความรู้สึกคือได้อย่างใจที่สุด ได้อย่างที่อยากทำ อย่างที่คิดไว้ เหมือนที่บอกน่ะ ความฝันของเราคือถ้ามีโอกาสได้ถ่ายเราก็อยากถ่ายอย่างนี้ แล้วก็ได้อย่างที่ต้องการ แล้วพี่ๆ จะไม่มากำหนดว่าต้องมีภาพอย่างนี้ คือไม่มีภาพบังคับเลย ผมเป็นคนบังคับตัวผมเอง ก็เลยได้ดั่งใจ อยากถ่ายอะไรก็ถ่าย ขึ้นไปถ่ายบนเวที แต่ก็รู้กาลเทศะบ้างนะ อย่างรอบจริงก็ไม่ขึ้นไปถ่ายบนเวที ก็ได้อย่างที่พอใจ แล้วมันมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก แล้วเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นงาน รู้สึกว่าเออ...เราได้ฟังคอนเสิร์ตที่มากกว่าคนอื่นตั้งเยอะ ฟังไปเรื่อยๆ ไม่เบื่อสักที
ถ่ายเสร็จเอาไปล้างมาดูเป็นวันๆ หรือเปล่า
ล้างรวดเดียวเลย ไม่ดู มั่นใจว่าไม่พลาด ไม่รู้สิ คือรู้สึกมั่นใจน่ะ
พี่ๆ มองยังไงเมื่อภาพออกมาแล้ว
ก็ไม่รู้ คือมันแหม...เราเจอเขา เขาก็ต้องบอกว่าสวยน่ะ
แล้วที่นำมาจัดนิทรรศการที่ร้าน Barbali นี่ล่ะ feedback เป็นยังไง
ส่วนหนึ่งคนที่มาเป็นคนที่รักเฉลียงอยู่แล้ว เขาจะมีความรู้สึกที่ดีกับเฉลียงอยู่แล้ว ยิ่งได้มาเห็นภาพเฉลียงในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เขาก็ยิ่งดีใจ มันก็เลยเป็นฟีดแบ็กที่ดีเอามากๆ แล้วก็ชอบสีหน้าคนที่ได้ดูแล้วรู้สึกว่าเขามีความสุขที่ได้เห็น เราก็มีความสุขด้วย เพราะจุดประสงค์ในการจัดนิทรรศการก็เพื่อให้คนที่รักเฉลียงได้ดูรูปเฉลียง เขาเห็นแล้วมีความสุข สิ่งที่เราทำก็บรรลุเป้าแล้ว
ตั้งใจว่าจะจัดนิทรรศการตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า
ไม่ได้ตั้งใจ ตอนแรกที่ขอพี่จิกคือจะเก็บมาเป็น portfolio ของผมเอง เก็บเป็นสมบัติส่วนตัว แต่ไปๆ มาๆ เป็นว่าเฉลียงจ้าง ผมเป็นคนรับจ้าง เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมดเป็นของเฉลียง ทีนี้เฉลียงจะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่ ทีนี้มันทำมาเต็มที่ ทำด้วยความรู้สึกที่ดี งานออกมาพอใจ ผมชอบ แล้วก็รู้สึกว่าคนอื่นก็อยากได้ มีแฟนเพลงมาถามว่าจะอัดให้เขาได้ไหม ผมก็ตอบได้แค่ว่าต้องแล้วแต่เฉลียง ก็ไม่ได้ทำอะไร ส่วนใหญ่ใช้ไปในเรื่องของประชาสัมพันธ์ โฆษณาในเว็บไซต์ของเฉลียง ทำปกวิดีโอ-วีซีดี ซึ่งพอเห็นแล้วก็รู้สึกเสียดายที่รูปประวัติศาสตร์ รูปดีๆ อีกเยอะมันเข้าไปเก็บอยู่ในแฟ้ม ซึ่งจริงๆ มันควรจะเผยแพร่น่ะ แต่ก็ไม่รู้จะเผยแพร่ด้วยวิธีไหน ผมเข้าไปอ่านในเว็บเฉลียง ก็มีคนอยากดูอีกเพียบ ถามกันว่ารูปที่ถ่ายไปอยู่ที่ไหนหมด ผมก็ทำอะไรไม่ได้ เลยมาคิดว่าจัดนิทรรศการดีกว่า ให้คนอื่นได้ดู ตัวเองได้อวด อยากให้คนอื่นได้เห็น ได้มีความสุขแบบเราบ้าง อยากเห็นสีหน้าคนอื่นที่เวลาดูรูปแล้วมันจะเป็นยังไง
นี่คือที่มาของนิทรรศการ
ใช่ ก็เริ่มคุยกับพี่ก้า ไปขออนุญาตพี่จิกมาเผยแพร่เฉยๆ ไม่ได้ทำการค้า แล้วทุกอย่างผมเป็นคนทำหมดเลย กองทุนเฉลียงไม่ต้องทำอะไร พี่เขาก็โอเค ผมก็เริ่มเลือกรูป อัดรูป หาสถานที่ ก็พยายามหาที่ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้วก็เหมาะกับงาน ซึ่งไปหานานมาก จนท้อเลย
เข้าไปติดต่อแกลเลอรี่หรือ
ครับ แต่ส่วนใหญ่แกลเลอรี่เขาจะมองว่าถ้าจะจัดนิทรรศการ ภาพจะต้องเป็นศิลปะ เขามองว่าเฉลียงเป็นลักษณะของพาณิชย์ นักร้องนักดนตรี ไม่ใช่ศิลปะการถ่ายภาพ ซึ่งผมมีความรู้สึกว่าศิลปะมันไม่จำเป็นน่ะ มันเป็นอะไรก็ได้ที่ดูแล้วเกิดความรู้สึก ความสุข ความทุกข์ หรืออะไรก็ได้ ซึ่งก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้เขาเข้าใจได้ แล้วบางที่เขาก็ต้องคิดสตางค์ ก็ไม่ได้ บางที่ก็ฟรีแต่คิวว่างปีหน้า ก็ไม่ได้อีก เพราะคิดว่าถ้าหลังจากเดือนเมษาไม่ได้ก็ไม่ทำแล้ว ผมว่าจะไม่สนุกแล้ว จะจางไปหน่อย ตอนนี้มันยังกระตุ้นอะไรบางอย่างได้ กระตุ้นกิจกรรมให้ทำกันได้
บังเอิญโชคดีมาเจอร้าน Barbali ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นเพื่อนสมัยเรียนสวนกุหลาบ ก็เลยคุยกันว่าคิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เพื่อนก็ช่วยทุกอย่างเลย หาสปอนเซอร์ให้ หาสปอนเซอร์อัดรูปให้ด้วย จัดงานเปิด มีฟรีบาร์เลี้ยง อยากได้อะไรบอก อยากให้ส่งข่าวบอก เค้าช่วยประสานงานให้เต็มที่ ขอให้ทำงานออกมาให้ดีก็พอแล้ว
คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการเป็นยังไง
อันนี้จะเป็นไอเดียตั้งแต่แรกเลย การจัดรูป วางคอนเซ็ปต์ซึ่งผมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับบุคลิกของพี่แต่ละคน อย่างพี่จิกก็ต้องเป็นนักคิด อยู่เบื้องหลัง พี่เกี๊ยงเป็นนักดนตรี หน้าตาหล่อ พี่แต๋งเป็นนักดนตรีเครื่องเป่าที่เก่ง พี่เจี๊ยบเป็นนักแสดงที่มีอารมณ์หลากหลาย พี่ดี้จะเป็นผู้ชายใจดี พี่นกก็เป็นนักคิด นักฟัง แต่มีแง่มุมที่น่าสนใจ พี่จุ้ยจะเป็นปัจเจก นักเดินทาง นักฝัน คือแต่ละคนจะมีบุคลิกที่โดดเด่นต่างกัน ภาพก็แสดงออกถึงบุคลิกของแต่ละคน
ส่วนที่สองจะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับเฉลียง คือทุกคนรวมตัวกันมาเป็นเฉลียง เพราะฉะนั้นภาพจะเป็นลักษณะของแต่ละคนโดยใช้เพลงของเฉลียงเป็นตัวแบ่งเรื่องเล่า เช่น "เร่ขายฝัน" ก็เป็นเรื่องเล่าของเฉลียงในมุมมองที่เป็นลักษณะของการวางแผน การคิดคอนเสิร์ตครั้งนี้ขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้น "เอกเขนก" เป็นเฉลียงในแง่มุมสบายๆ เบื้องหลัง การซ้อมดนตรี "กล้วยไข่" เป็นลักษณะของทายาทเฉลียง ครอบครัวเฉลียง "คนดนตรี" เป็นภาพเฉลียงในมุมของการเล่นดนตรี ตั้งแต่ห้องซ้อมจนถึงแสดงคอนเสิร์ต "นิทานหิ่งห้อย" เป็นลักษณะดนตรี แต่ออกมาในโทนภาพเหมือนกลางคืน เล่านิทาน "เรื่องราวบนแผ่นไม้" คือภาพของความประทับใจในคอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ และอันสุดท้าย "เธอกับฉัน กับคนอื่นๆ" คือภาพของบุคคลทั้งหลายแหล่ที่มาช่วยให้คอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้สำเร็จเกิดขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นช่างไฟ ช่างเสียง นักดนตรี เวที การ์ด คนดู เพื่อนๆ เฉลียง ดาราที่มาดู
เห็นว่ามีแจกเทปเพลงให้คนดูเปิดฟังด้วย
คือตอนแยกรูปพี่แต่ละคนน่ะไม่ยาก แต่ตอนมาคิดส่วนที่ 2 นี่ยาก จะทำยังไงให้ออกมาดูสนุก เลยเอาภาพส่วนที่เหลือจากส่วนที่ 1 ทั้งหมดมากองรวมกัน คิดยังไงก็คิดไม่ออกก็เลยเปิดเพลงเฉลียง เปิดเพลงเรื่องราวบนแผ่นไม้ก็เลยเห็นว่า ถ้าสมมติเราใช้เพลงมาเรียงร้อยภาพให้สื่อความหมายถึงเพลงได้ก็คงจะดี ก็เลยเปิดเพลงแล้วเลือกรูป ยิ่งเปิดเพลงซ้ำไปซ้ำมาอารมณ์มันก็ไปกับตอนเลือกรูปด้วย จนคิดได้ สามารถแยกเพลง แยกอารมณ์ได้ ก็เลยสนุก ยิ่งทำยิ่งสนุก รู้สึกว่าใช่เลย ต้องอย่างนี้ ต้องเป็นเฉลียงแน่นอน เพราะเฉลียงคือดนตรี ถ้าไม่มีเสียงดนตรีก็ไม่ใช่เฉลียง ถ้าเราฟังเพลงเฉลียงไปด้วยดูภาพไปด้วยน่าจะครบถ้วนในความเป็นเฉลียงมากขึ้น ก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่เอาภาพมาเป็นเพลง ให้คนดูเอาซาวด์เบ้าท์มาด้วยแล้วก็มาฟัง ต่างคนต่างมีโลกของตัวเอง ดูภาพไป จินตนาการไปจากเพลง มันก็น่าจะสนุก ผมก็อัดเทปเรียงเพลงๆ ไว้ให้ ตัดเป็นแบบไม่ต้องกรอเทปไม่ต้องรีวายด์ ทำไว้แต่ละเพลง แค่เอาเทปมาใส่หูฟัง เพลงก็หมุนไปเรื่อยๆ ตามเทป แล้วรูปก็ไม่ได้วางเรียงไว้ เพราะทุกเพลงมันจะโยงเข้าหากันได้หมด แล้วแต่ว่าเราจะเลือกดูอันไหนก่อน-หลัง
มีทั้งหมดกี่เพลง
7 เพลง ลงตัว มันเป็นการจัดวางที่ผมว่าน่าจะพอดีนะ 7 คน 7 เพลง ทุกอย่างมันสมดุลกันหมด สามารถอธิบายความเป็นเฉลียงได้หมด
พี่ๆ เฉลียงดูแล้วว่าอย่างไรบ้าง
เห็นเขาดูมีความสุขนะ ก็เหมือนเด็กนิดๆ น่ะ เช่นว่าอยากให้เราวิจารณ์ว่ารูปเขาเป็นยังไง อยากรู้ความรู้สึก ก็เหมือนอย่างเราที่อยากรู้ความรู้สึกว่าเขาคิดยังไงกับงานเรา จะพยายามให้ผมอธิบายชิ้นงานที่เป็นรูปเขา ซึ่งผมอธิบายพี่นกพี่จุ้ยยังไม่เสร็จเลย ก็จะเฮ้ยๆ มึงอธิบายรูปกูใหม่ซิ (ฮา) ก็รู้สึกดี อย่างน้อยวันนั้นก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่มารวมกัน สิ่งสำคัญคือแฟนเพลงเฉลียงที่ไปร่วมงาน แฟนเพลงทำให้พี่ๆ เฉลียงรู้ว่ายังเป็นที่รักของแฟนเพลงเสมอ ก็ดูมีความสุขดี ตอนแรกบอกจะไม่ร้องเพลง ก็ขึ้นไปร้อง บอกว่าจะไม่ร้องเพลงเฉลียงก็ทนไม่ได้ ต้องร้อง
ฟีดแบ็กของแฟนๆ ล่ะ
อย่างที่บอกคือเขาก็ชอบกัน แต่ผมเองก็อยากจะฟัง comment บางอย่าง คืองานทุกอย่างมันไม่ perfect อยู่แล้ว อยากรู้ในสิ่งที่เราขาดหายไป มีอะไรผิดพลาดบ้าง น่าจะมีอะไรอีกในมุมมองของเขา วิจารณ์ได้ อยากรู้ คือมันแบบ…ดีเหลือเกิน ดีซะจนคนจัดลอย นอนหลับฝันดีเป็นอาทิตย์
มีไหมที่แบบชื่นชมว่ารูปนี้ถ่ายได้อย่างไร
ก็มีนะ ได้คุยกับแฟนเพลงเฉลียง กลุ่มชมรมคนเฉลียงเขาบอกว่า ตอนแรกตั้งใจจะมาดูเฉลียงว่าเป็นยังไง แต่พอเขาได้ดูรูป ก็บอกว่าวันหลังจะมาดูภาพว่ามีความหมายยังไงบ้าง แต่ละรูปที่ผมถ่ายออกมาหมายถึงอะไร แสดงออกอะไรบ้าง ก็เริ่มสนใจภาพมากขึ้น
มีใช้เทคนิคพิเศษในการถ่ายภาพบ้างไหม
ไม่เชิงนะ ไม่ได้คิดตรงนั้น ไม่ได้คิดจะลองของใหม่ๆ คือรู้สึกอยากทำก็ทำ สมมตินั่งๆ กัน อยู่ๆ เราก็เปลี่ยนเลนส์จาก tele มาเป็น wide แล้วก็พุ่งเข้าใส่พี่ๆ เขาเลย มันเหมือนเป็นสัญชาตญาณมากกว่า ความคิดมันออกมาทันทีว่าควรจะใช้อะไร ควรไปอยู่ตรงไหน ควรจะบอกเขายังไง แต่ก็คิดไว้ก่อนว่าจะต้องถ่ายอะไร มีภาพในหัวแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ไหลไปตามเหตุการณ์น่ะ
เป็นไปได้ไหมว่าเรารู้จักเฉลียงมาก่อน มีภาพในหัวบ้างแล้ว
ไม่ถึงขนาดนั้น รู้สึกว่าแต่ก่อน ภาพเฉลียงจะเป็นรูปเซ็ต กุ๊กกิ๊ก หวานแหวว น่ารัก ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ธรรมชาติ จุดประสงค์แรกคืออยากถ่ายอะไรที่ออกมาแล้วเป็นเฉลียงที่สุด เป็นสิ่งที่เขาเป็น แสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวพี่เขาเป็นยังไง
ด้วย character ของพี่เฉลียงทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างลงตัวหรือเปล่า
ใช่ เป็นเหตุผลสำคัญเลย เพราะบุคลิกพี่เขาเป็นอย่างนั้น อย่างที่บอกคือผมไม่ได้แต่งอะไรเลย เป็นเพราะพี่ๆ ซะมากกว่า
มีอะไรที่อยากถ่ายแล้วไม่ได้บ้างไหม
ไม่มี ไม่มีเลย จะมีนิดหน่อยเช่นคิดไว้ว่าน่าจะถ่ายรูปบนเวที อยากได้ภาพที่พวกพี่ยืนกัน จัดท่าอะไรนิดหน่อย ก็คิดไว้เฉยๆ แต่พอไปถึงแล้วหลังคอนเสิร์ตพี่เขาเหนื่อยมาก เหนื่อยเกินไป feeling ออกมาเขาก็ไม่ค่อยอยากทำแล้ว เราเองก็ไม่อยากไปบอกเขาด้วย
อย่างคอนเสิร์ตรอบสุดท้ายที่คนดูไม่ยอมลุกไปไหน พี่คิงเองเป็นอย่างไรบ้าง
น้ำตาไหลทุกรอบแหละผมน่ะ อินไง นึกออกมั้ย เหมือนถ้าจะเปรียบ ไม่รู้เป็นหรือเปล่านะ แต่เวลาเราเรียนจบแล้ว ไปงานรับปริญญาของเราเอง ก็เจอเพื่อนมากมาย พอถึงวันสุดท้ายก็ต่างคนแยกย้ายไปทำงาน ช่วงนั้นมันมีความสุขไง ก็รู้สึกเสียดายน่ะ แล้วในจังหวะคอนเสิร์ตช่วงนั้นมันกระชากน่ะ symphony มันกระชากอารมณ์มาก น้ำตาไหลตลอด ก็พยายามกลั้นๆ ความรู้สึกคือ peak แล้ว วันสุดท้ายนี่คือตี 3 ก็จบเลย ไม่มีอะไรอยากได้แล้ว ทุกอย่างได้มาหมดแล้ว ฟิล์มก็หมดเลย ซึ่งผมจะเป็นคนที่สำรองฟิล์มไว้กันเหนียว ไม่ฉุกเฉินจริงๆ จะไม่ใช้ แต่วันนั้นฉุกเฉินก็แล้วก็ยังหมด โชคดีมีคนฉุกเฉินกว่า ก็เลยพอดี คือหลังๆ ถ้าไม่เจ๋งจะไม่ถ่าย แต่อารมณ์ตอนนั้นมันไม่ได้แล้วไง พี่เกี๊ยงร้องไห้ มันไม่ถ่ายไม่ได้น่ะ เขาไม่ได้เป็นบ่อยๆ ในชีวิตนะ มันควรจะเก็บภาพไว้ พี่จิกขึ้นมาน้ำตาไหล พี่ดี้กอดกับพี่จุ้ย เห็นได้ที่ไหน ภาพอย่างนี้มันหายาก ก็เลยยิง (ถ่าย) ซะเต็มที่เลย