กระดานความรู้สึก


[Post Today วันนี้] เหตุเกิดเพราะ ‘เฉลียง’ กลับมาอีกครั้ง
เหตุเกิดเพราะ ‘เฉลียง’ กลับมาอีกครั้ง
เรื่อง อัคร เกียรติอาจิณ / ภาพ ณัฎฐ์ฐิติ อำไพวรรณ

คนส่วนใหญ่ที่วัยพ้นเลข 3 ไปแล้ว ย่อมต้องรู้จัก 6 หนุ่ม (ใหญ่) เฉลียง อาจจะไม่รู้จักดีถึงขั้นเป็นแฟนคลับ แต่อย่างน้อยๆ ต้องเคยได้ยินชื่อและเรื่องราวบทบาทของพวกเขา รวมทั้งได้ฟังบทเพลงของเหล่า เฉลียง มาบ้าง ไม่ว่าจะ ปรากฏการณ์ฝน, อยากมีหมอน, เที่ยวละไม, ต้นชบากับคนตาบอด, นิทานหิ่งห้อย, เอกเขนก, คุณยายกายสิทธิ์ ฯลฯ

เฉลียง หนึ่งในวงดนตรีที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกวงการเพลงไทยเมื่อ 25 ปีที่แล้ว พวกเขาเปิดตัวครั้งแรกโดยมีสมาชิกเพียง 3 คน (นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นิติพงษ์ ห่อนาค วัชระ ปานเอี่ยม และ สมชาย ศักดิกุล ต่อมาจึงได้สมาชิกใหม่เพิ่มอีก 3 คน ภูษิต ไล้ทอง เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ และ ศุ บุญเลี้ยง รวมเป็น 5 คน (สมชาย ศักดิกุล ได้โบกมือลาจากวงไป) และมี ฉัตรชัย ดุริยประณีต มาเป็นสมาชิกคนสุดท้ายในภายหลัง


แฟนเพลงมีโอกาสชิมรสชาติอันแปลกใหม่ทั้งเนื้อหาและจังหวะดนตรีของเฉลียงครั้งแรกกับอัลบั้ม “ปรากฏการณ์ฝน” (ปี 2525) อัลบั้มนี้มี เรวัต พุทธินันทน์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ เสียงตอบรับในอัลบั้มไม่ถึงกับเปรี้ยงปร้าง แต่ก็เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนฟังเพลง


“อื่นๆ อีกมากมาย” (ปี 2529) คืออัลบั้มที่ 2 โดยยังคงยึดเนื้อหาและจังหวะดนตรี ฟังสบายแฝงสาระ ว่าด้วยชีวิต สิ่งแวดล้อม ความรัก สังคม และโลก ในมุมมองที่แตกต่าง ไม่โฉ่งฉ่าง แต่เน้นความละมุนและอบอุ่น ตามติดด้วยอัลบั้มที่ 3 (ปี 2530) “เอกเขนก” และ “เฉลียงหลังบ้าน” อัลบั้มที่ 4 (ออกมาตอนปลายปี 2530) ตอนนั้นชื่อเสียงของเฉลียงเป็นที่รู้จักในหมู่วัยรุ่นอย่างมาก ในฐานะวงดนตรีกลุ่มเบอร์หนึ่ง


หนุ่มๆ เฉลียงยังเดินหน้าทำอัลบั้มต่อ “แบกบาล” (ปี 2532) และมาปิดฉากการออกอัลบั้มสุดท้าย “ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า” (ปี 2534) พร้อมกับการล่มสลายของค่ายเทปชื่อดัง คีตา เรคคอร์ด ขณะที่เฉลียงก็ค่อยๆ หายหน้าหายตาไปจากวงการ สมาชิกทั้ง 6 ผันตัวเองไปอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้กำกับละคร เป็นโปรดิวเซอร์เพลง เป็นคนแต่งเพลง บางคนหันเหสู่หน้อจอทีวี เป็นโปรดิวเซอร์รายการ และแอบมีโผล่ในละครบ้างประปราย


จนมาถึง 7 ปีก่อน เฉลียงก็กลับมาเปิดคอนเสิร์ตภายใต้ชื่อ “เรื่องราวบนแผ่นไม้”ครั้งนั้นแฟนเพลงแห่แหนเข้าชมอย่างเนืองแน่น จนทำเอาหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทบแตก ส่วนหนึ่งเพราะความคิดถึง แต่หลักๆ ที่มากันล้นหลามขนาดนั้นเนื่องจากทางวงประกาศว่า นี่จะเป็นคอนเสิร์ตอำลาวงการของเฉลียง


บนเวทีสมาชิกทั้ง 6 ประกาศก้องด้วยน้ำเสียงทีเล่นทีจริงว่า คอนเสิร์ตของเฉลียงจะไม่เกิดขึ้นอีก สิ้นคำประกาศ เสียงพูดคุย เสียงร่ำไห้ เรื่อยไปจนถึงเสียงตะโกน เอาอีก...เอาอีก... ดังก้องไปทั่วหอประชุม อึงอลผสมโรงจนกลายเป็นความอลหม่าน แต่ไม่นานทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ เป็นธรรมดาของงานเลี้ยง ต่อให้สนุกปานใดก็ย่อมมีวันเลิกรา และสมาชิกเฉลียงก็แยกย้ายกันเดินในเส้นทางของตน


เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก หลังหยุดทำงานในนาม เฉลียง มานานปี ที่สุดสมาชิกทั้ง 6 ชีวิต คือ นิติพงษ์ วัชระ ภูษิต เกียรติศักดิ์ ศุ และ ฉัตรชัย ก็จะกลับมาโชว์ความสามารถทางดนตรีให้แฟนๆ ของพวกเขาได้สนุกและเต็มอิ่มในคอนเสิร์ตสุดพิเศษ “เหตุเกิดที่...เฉลียง” ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 มิ.ย. นี้


เฉลียงกลับมาพร้อมคอนเสิร์ตตระการตาด้วยรูปแบบการแสดงและแขกรับเชิญที่พาเหรดมาร่วมสร้างสีสันมากมาย เช่น วิยะดา โกมารกุล ณ นคร นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ศรินทิพย์ หาญประดิษฐ์ วง Laundry (หนึ่งในสมาชิกคือลูกชายของ ภูษิต ไล้ทอง)


ในฐานะวงดนตรีที่ยังคงเป็นขวัญใจแฟนเพลงเสมอมา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีเสียงเรียกร้องให้พวกเขาทั้ง 6 กลับขึ้นเวที และก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเฉลียงจะกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อความสุขของแฟนเพลง


* ทั้งๆ ที่เฉลียงก็เคยประกาศว่าจะไม่มีคอนเสิร์ตอีกแล้ว แต่ทำไมเสียงเรียกร้องของแฟนเพลงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ศุ : ถ้าเมื่อไหร่เลิกไปด้วยดี ก็จะเป็นเรื่องธรรมดาที่แรงดึงดูดของโลกจะเรียกร้องให้กลับมาอีกครั้ง มีคนคิดถึงตลอด เมื่อไหร่ที่อำลาไปด้วยดี ความรักนั้นก็ยังจะคงอยู่ ยิ่งถ้าการแสดงครั้งล่าสุดมันทำให้เขาอิ่มเต็มกับรสชาติดนตรีที่เฉลียงมอบให้ ความรู้สึกอยากให้กลับมามันก็จะเพิ่มเป็นทวี เหมือนเวลาที่เราไปกินอาหารร้านหนึ่ง เราอยากไปกินบ่อยๆ เพราะอาหารดี บรรยากาศดี บริการดี เราก็เลยต้องไปที่นั่นบ่อยๆ แม้ว่าคนทำอาจจะบอกว่าไม่ต้องมากินแล้วนะ ไม่ทำอีกแล้ว


เกียรติศักดิ์ : ความแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์นี่ละที่ทำให้เฉลียงถูกเรียกร้องให้กลับมา เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีวงดนตรีวงไหนจะเลียนแบบและประสบความสำเร็จเหมือนเฉลียงได้เลย เนื้อหาเพลงก็มีมุมมองวิธีคิดที่ไม่เหมือนชาวบ้าน สมัยนั้นคนอื่นก็ออกเพลงรักเพลงหวาน แต่เฉลียงก็พยายามจะทำเพลงที่คนอื่นไม่ทำกัน


วัชระ : มันเหมือนพอเพลงโดนใจก็เลยผูกพัน หรือบางคนที่เกิดรุ่นหลังๆ พอหยิบเพลงของคุณพ่อคุณแม่มาฟัง ก็เกิดการสืบหาว่าเพลงนี้เป็นของใคร พอรู้ว่าเป็นของเฉลียง ทีนี้เลยเป็นเรื่องใหญ่ กลายเป็นแรงดึงดูดอยากให้เฉลียงกลับมา


*บอกชัดๆ อีกทีได้ไหมว่าทำไมเฉลียงถึงยุบวง


ศุ : เหตุผลของการยุบวงของเฉลียงนี่ ผมว่าเป็นเรื่องอารมณ์มากกว่า เพราะตั้งแต่การตั้งวงก็ไม่มีเป้าหมายจะยืนหยัดนานๆ ในฐานะนักร้องหรือนักดนตรีอยู่แล้ว รวมตัวด้วยสูตรเคมีบางอย่างที่พอมีอะไรมากระทบแต่ละคนก็พร้อมจะสลายตัวออกไป โดนความร้อน หรือความเย็นก็พร้อมจะสลาย ไม่มีเงื่อนไข หรือสัญญาตายตัว ไม่ได้ถูกออกแบบว่าต้องเป็นแบบที่วงอื่นๆ เขาเป็นกัน


นิติพงษ์ : เราเกิดจากความสนุกอย่างเดียว ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง การที่วงจะถูกยุบจึงตัดเรื่องเหล่านี้ไปได้เลย เพราะที่ผ่านมาเวลาเปิดคอนเสิร์ตเราก็ไม่ค่อยได้ตังค์กันอยู่แล้ว เล่นเพราะอยากเล่น


วัชระ : เฉลียงเกิดขึ้นเพราะความสนุกสนาน แล้วก็เลิกราไปเพราะมันไม่สนุก หมดเรื่องคุย มีภาระหน้าที่อันอื่นรับผิดชอบ ต้องมากระโดดโลดเต้น ต้องออกเทป คอนเสิร์ตต้องมีไอ้โน่นไอ้นี่ เลยรู้สึกว่ามันเริ่มเลยเถิดแล้วนะ สุดท้ายก็เลิกกันไป


* การขึ้นเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้ความสนุกยังจะเหมือน 7 ปีก่อน หรือเหมือนสมัยที่เฉลียงยังหนุ่มแน่นไหม


นิติพงษ์ : ไม่มีเลยความกดดัน เพราะเฉลียงเวลาขึ้นเวทีเป็นธรรมชาติมากๆ ถ้ามีใครมากดดันมันจะไม่ใช่คอนเสิร์ตเฉลียงแล้วละ เราไม่ใช่คนที่เป็นเซียนกีตาร์ หรือเซียนดนตรี เลิกมานานแล้วกลับมา เฉลียงไม่ใช่แบบนั้น แต่มันจะเป็นแบบที่เราถนัด


ศุ : ผมว่าครั้งนี้มันแบกรับความคาดหวังของคนดูพอสมควร คนดูที่ซื้อบัตรในราคาสูง ไปดูในที่ที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงด้วยการรวมตัวของพวกเราในเวลาที่จำกัด ความยากมันเลยมากระจุกอยู่ตรงนี้ ผมกลัวคนดูจะรู้สึกพอแล้วเหรอ จบแล้วเหรอ แค่เนี้ย มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่เป็นกลุ่มแฟนคลับเล็กๆ คุยอะไรกันก็รับมุกกันทั้งคนดูคนเล่น แล้วมันก็เป็นที่เล็กๆ แต่นี่มันเป็นคอนเสิร์ตที่ต้องการเงิน เพื่อการกุศล เลยกลายเป็นโจทย์ที่ยากมาก


เกียรติศักดิ์ : คงไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากหรอก เพลงก็เพลงเก่า ผมเชื่อนะว่าคนที่มาดูก็อยากจะดูสิ่งเก่าๆ ของเฉลียง และส่วนใหญ่คือคนที่เป็นแฟนเหนียวแน่นของเฉลียง คงไม่ได้หวังจะมาดูความเปลี่ยนไป แค่อยากมาดูพวกเราคุยกันมากกว่าจะฟังเพลงด้วยซ้ำ กดดันน่าจะอยู่ที่เรื่องไม่มีเวลารวมกันซ้อม แต่ทำไงได้เมื่อหลายๆ เสียงเรียกร้องต้องกลับมา ก็ปฏิเสธไม่ได้


วัชระ : ครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนจังหวะนิดหน่อย เพื่อไม่ให้ซ้ำกับคอนเสิร์ต 7 ปีที่แล้ว เพราะนั่นทำไว้ดีแล้ว ซึ่งไม่ควรทำแบบนั้นอีก เดี๋ยวจะโดนโห่เปล่าๆ


* ถ้าตัดคำว่าการกุศลออกไป สมาชิกทั้ง 6 ของเฉลียงอยากขึ้นเวทีอีกครั้งไหม


ศุ : ลึกๆ นะผมว่าอยาก ดูง่ายๆ ก็ได้ พอมีคนมาจุดไม้ขีดปุ๊บ ทีนี้ก็ลามไปใหญ่ ปากบอกไม่ว่างๆ แต่พอเอาเข้าจริงก็รวมกันได้ทุกที ส่วนหนึ่งผมว่าพวกเรายุบวงเพราะไม่ได้ทะเลาะกัน ถ้าทะเลาะกันคงยากที่จะรวมตัวกันได้อีก แต่นี่เหมือนทุกคนก็อยากโหยหาเสียงปรบมือ แววตา อารมณ์ของคนดู คงไปเสพติดรสชาติบรรยากาศแบบนั้นพอสมควร เลยรักษาไม่หาย พอมีคนมาชวนก็ไป แต่ถ้าถามว่าทำไมนานๆ ถึงมีละ ก็เพราะไม่มีคนชวนไง ลองมีคนมาชวนสิรวมตัวได้แน่ๆ แต่ต้องมีคนมาจัดการ เพราะเฉลียงขาดตรงนี้ ส่วนเรื่องอื่นไม่เหนือบ่ากว่าแรง


นิติพงษ์ : ส่วนตัวผมต้องดูเพื่อนฝูงด้วยว่าพร้อมไหม แต่ส่วนตัวไม่คิดจะทำอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ยังไม่มีคอนเสิร์ตหรืออัลบั้ม พวกเราไม่ได้รอให้เกิดกระแสเรียกร้องแล้วค่อยจะมี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าครั้งก่อนโน้น หรือครั้งนี้มันคือนอกรอบ ไม่ใช่แมตช์ชิงชนะเลิศ แต่การแสดงก็ยังเต็มที่ตามวิถีทางของเฉลียงเหมือนเดิม


* มีคนมาบอกว่า เฉลียงคือ ตำนาน รู้สึกอย่างไร


ศุ : ก็ดีใจนะครับที่มีคนรู้สึกอย่างนั้นกับพวกเรา เพราะเท่าที่ไปประเมินดูว่าวงดนตรีมีชื่อเสียงมีเยอะ แต่วงดนตรีที่จะถูกเรียกว่าเป็นตำนานน่าจะมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างรวมกันแล้ว อย่างน้อยๆ ก็น่าจะผ่านกาลเวลา หรืออาจจะต้องมีเอกลักษณ์ ซึ่งเฉลียงน่าจะมีตรงนี้ชัดเจน และในเอกลักษณ์นั้นตัวศิลปินก็คือองค์ประกอบหนึ่ง เฉลียงมีตัวศิลปินที่มีรสชาติแปลกๆ เพราะตัวตนของแต่ละคนค่อนข้างแตกต่างกัน หรือการใช้เครื่องดนตรีเป่า เฉลียงก็ถือว่ามีความชัดเจน การแสดงบนเวทีก็มีลักษณะเฉพาะ เป็นส่วนผสมที่ให้รสชาติแปลกๆ เพราะฉะนั้นเลยไม่แปลกที่แฟนเพลงจะยกให้เฉลียงเป็นตำนานบทหนึ่งของวงการเพลงไทย


เกียรติศักดิ์ : พูดตามตรงนะครับ ดีใจแต่ไม่น่าจะถึงขนาดเป็นตำนาน เพราะพวกเราไม่ใช่นักดนตรีโดยอาชีพ ไม่ได้เล่นไม่อะไรเลย ยกเว้นพี่แต๋ง (ภูษิต) เท่านั้นที่เป็นนักดนตรีจริงๆ คนอื่นเล่นเพราะอยากเล่น แต่เฉลียงก็มีบุคลิกหลายๆ อย่างที่เผอิญว่าไปโดนใจแฟนเพลง คนนี้เงียบๆ เป็นสากกะเบือ คนนั้นก็ช่างจ้อ ส่วนคนโน้นก็เล่นดนตรีเก่ง มันเลยลงตัว


วัชระ : อันนี้ก็แล้วแต่คนมองนะ อยู่ที่ว่าเขาจะยกย่อง แต่เราคงไม่รู้สึกว่าเราเป็นตำนาน หรือตำไม่นาน (หัวเราะ) เพราะไม่คิดว่าจะทำให้เป็นตำนานอะไรหรอก ผมว่าเพลงของเฉลียงคงมีคนชอบมากๆ ได้ยินแล้วโอ้โฮ! มีเพลงแบบนี้ในประเทศนี้ด้วยเหรอ





ล้อมกรอบ


คอนเสิร์ต “เหตุเกิดที่...เฉลียง” เปิดแสดงวันเสาร์ 30 มิ.ย. นี้ มี 2 รอบ เวลา 13.00 น. กับ 19.00 น. ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี บัตรราคา 600, 1,000, 1,500, 2,000 และ 2,500 บาท จองบัตร Major Ticketing Center เคาน์เตอร์หน้าโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. 02-515-5555

http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=magazine&id=175095
โดยคุณ : ลี้น้อยในร่างแมงมุมในชุดบิกินี่อีกที - [15:42:59  27 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 1
ขอบคุณน้ำใจ "ลี้น้อยในร่างแมงมุมในชุดบิกินี่อีกที" ที่นำมาโพสต์นะจ๊ะ

*ชื่อยาวจังลี้ฯ
โดยคุณ :เหมือนจะไม่คิดตึ๊งๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ - [16:19:49  27 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 2
ขอบคุณค่ะ ที่นำเรื่องดี ๆ มาแบ่งปัน ... ใจดีจังเลย ย้าว .. ยาว ด้วย (บทสัมภาษณ์น่ะ อย่าคิดมาก ไม่ได้ทะลึ่ง)
โดยคุณ :Pinkie - [17:59:07  27 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 3
อ่านจนตาลายเลย ยาวดีจัง.... ขอบคุณที่นำข่าวดีดี อ่านได้สบายใจมาฝากกันนะครับ
โดยคุณ :JuLaJuP :P - [23:11:36  27 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 4
ปกติก็ชอบเฉลียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่พอได้มาอ่านมีความรู้สึก ชอบเฉลียงมากขึ้นไปอีก
โดยคุณ :gay - [9:21:49  28 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 5
T________T  ซื้อบัตรไว้แล้ว............ แต่อดไป.......... จะมีใครเศร้าเท่าผมอีกไหมเนี่ย
โดยคุณ :แฟนปอนด์ - [11:00:38  28 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 6
"คนนี้เงียบๆ เป็นสากกะเบือ คนนั้นก็ช่างจ้อ ส่วนคนโน้นก็เล่นดนตรีเก่ง มันเลยลงตัว"

พี่เกี๊ยงหมายถึงใครบ้าง ?
โดยคุณ :ดุ๊ก - [12:03:36  28 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 7
ดีใจที่ได้อ่านค่ะ  ขอบคุณมากค่ะ  รักเฉลียงจังเลย
โดยคุณ :nn - [12:53:57  28 มิ.ย. 2550]

ความคิดเห็นที่ 8
ขอบคุณครับ ดีใจที่แฟนเฉลียงมีอะไรก็นำมาแบ่งปันกัน
โดยคุณ :tuchetu - [13:23:40  28 มิ.ย. 2550]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
รูปภาพ :

รายละเอียด

อาการ :



กรุณาคลิก "ส่งข้อมูล" เพียงครั้งเดียวครับ....