กระดานความรู้สึก


รายงานพิเศษ: ตามรอยเหมืองแร่ ......วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ / มติชนสุดสัปดาห์
ตามรอยเหมืองแร่ (1)

 
คลิกชมภาพประกอบ


เสียงรวนจากเหมืองร้าง

ผมจำได้ ลุงอาจินต์ทำผมร้องไห้ตอนอายุ 13

เปล่า แกไม่ได้ตีผมหรอกครับ แต่แกให้เงิน เงิน 50 บาท เป็นค่าต้นฉบับการ์ตูนล้อการเมืองที่ผมเขียนส่งไปหาแก สมัยผมยังเป็นเด็กชายผู้ใฝ่ฝันอยากวาดการ์ตูน แกให้คำชม ให้คำสอน และให้กำลังใจ

ผมจึงร้องไห้ด้วยความปลื้มปีติ

เดี๋ยวนี้วัยกลับเป็น 31 ได้ทำงานขีดเขียน กระแทกแป้นพิมพ์สมใจ ลุงอาจินต์ก็ทำผมเสียน้ำตาอีกครั้ง

เที่ยวนี้แกใช้วิธียืมมือพี่เก้ง จิระ มะลิกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ 15 ค่ำ เดือน 11 ที่ลุงชื่นชอบมาก ขนาดมอบสัมปทานหนังสือรวมเรื่องสั้นสุดรัก ชุด "เหมืองแร่" ให้ไปสร้างเป็นหนัง ทั้งที่ได้ลั่นวาจาผ่านตัวหนังสือเอาไว้ในคำนำหนังสือตัวเองว่า

เรื่องชุดเหมืองแร่ของข้าพเจ้าไม่มีแอ๊คชั่นสำหรับการแสดง แต่มันเป็นเรื่องอีโมชั่นสำหรับการอ่าน

แต่แล้วในระหว่างที่ผมและผู้สื่อข่าว 70 กว่าคนมีโอกาสเดินทางเยี่ยมชมโลเกชั่นของผู้กำกับฯ จิระ ที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา ผมในฐานะนักข่าวคนหนึ่งของนิตยสาร FLICKS ได้มีโอกาสชมภาพตัวอย่างบางส่วนของ "มหา"ลัย เหมืองแร่" พร้อมดนตรีประกอบสั้นๆ ความยาวราว 5 นาที

อารมณ์ตอนนั้นทุกคนต่างตื่นเต้นที่เห็นฉากที่อยู่รอบตัวปรากฏออกมาเป็นหนัง แต่สำหรับผม สิ่งที่เห็นทำให้น้ำตาผมไหลออกมา

ผมรู้จักลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักประพันธ์อาวุโส ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 มานานกว่า 22 ปี แต่ทุกครั้งที่ผมอ่านเรื่องชุดเหมืองแร่ สมองขาดจินตนาการของผม นึกไม่ออกว่าคนหนุ่มวัย 22 ที่ต้องเผชิญกับความเหนื่อยยากของชีวิตในเหมืองแร่ และความเหงาตลอด 4 ปีนั้นเป็นอย่างไร ?

ภาพอาจินต์วัยหนุ่มและตัวละครหลักในเหมืองแร่ เรียกน้ำตาแห่งความเข้าใจส่วนตัวของผมออกมา ภาพสั้นๆ กัดกินความเข้าใจของผมอย่างรวดเร็ว

นี่แหละภาพที่ผมอยากเห็น ผมรู้แล้วว่าตอนเป็นหนุ่มชีวิตของลุงอาจินต์เป็นอย่างไร ? ตลอดมาผมอยู่กับใคร ? คนที่คอยสอนผมมีชีวิตสาหัสอย่างนี้หรือ ? วินาทีนั้น ผมอยากจะกลับไปหาลุงอาจินต์ทันทีเพื่อบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อรอฟังคำสอนใหม่ๆ ที่ลุงคงมอบให้ผม

แต่ผมอยู่ไกลถึงพังงงา



กลับสู่กรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ผมก็ได้รับข่าวดีในบ่ายวันหนึ่ง คณะเดินทางของ GTH มีแผนจะล่องใต้เพื่อถ่ายทำสารคดีตามรอยเส้นทางการทำงานของกองถ่าย "มหา"ลัย เหมืองแร่" และผมได้รับเชิญให้เป็นผู้กด-เก็บ-เกี่ยว ประสบการณ์ 3 วัน 2 คืน ใน ภูเก็ต-กระบี่-พังงา มาเล่าสู่ผู้อ่าน

ผมจะได้กลับไปค้นหาภูมิประเทศของเหมืองกระโสม ค้นหาสถานที่และผู้คนจริงในหนังสือของลุงอาจินต์ ที่สำคัญ ค้นหา ไอ้ไข่ ตัวละครขวัญใจของผม ไอ้ไข่ลูกมือรังวัด ผู้ช่วยคนสำคัญของอาจินต์ ผู้มีปากเหมือนบ่อแห่งการยิ้ม ไอ้ไข่คนที่ขโมยทุเรียนนายฝรั่งมาฉีกให้อาจินต์กิน ตัวละครเพียงตัวเดียวจากเรื่องสั้นทั้ง 142 ตอน นอกจากลุงอาจินต์ ที่ยังมีชีวิตอยู่

คณะสำรวจอดีตของเรามีกัน 7 ชีวิตประกอบด้วย สุวิมล เตชะสุปินันท์ Line-Producer ของ มหา"ลัย เหมืองแร่ เข้าใจว่าเธอผู้นี้เป็นผู้กุมเงินและคุมงบของหนัง ดังนั้น เราจึงยกตำแหน่งหัวหน้าคณะเดินทางให้โดยสมัครใจ คนต่อมา บรรพต งามขำ Art Director ผู้ช่ำชองถนนหนทางกว่าใคร เพราะเป็นหนึ่งในทีม Production Design ของ เอก เอี่ยมชื่น ซึ่งลงมาลุยพื้นที่กันตั้งแต่ต้นปี 47 เขาจึงเหมาหน้าที่ไกด์ไป, วิชชา โกจิ๋ว 1 ใน 6 ผู้กำกับฯ แฟนฉัน กับคู่หู ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค นักตัดต่อตัวอย่างภาพยนตร์ แว่วว่าทั้งสองเป็นศิษย์รักของ วิสูตร พูลวรลักษณ์, รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ประชาสัมพันธ์และตากล้องของคณะ โดยมี ราชวัลลภ ศรีทองอินทร์ สถาปนิกอิสระผู้พิสมัยฝีมือการออกแบบเรือขุดแร่ของ "วิศวกรศิลปากร เอก" และ ผม - วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ เป็นตัวแถม

ระหว่างเดินทางบนอากาศ 53 นาที ผมถามย้ำกับบรรพตเพื่อความแน่ใจว่า เราจะไปหาลุงไข่ด้วยใช่ไหม ไก๊ด์ผู้ไว้หนวดทรงหางกุ้งพยักหน้ายิ้มรับ แล้วว่า ไม่ต้องห่วง เคยไปคุยกับแกมาเที่ยวหนึ่งแล้ว

จนกระทั่งเครื่องบนลงจอดที่สนามบินภูเก็ต รถตู้ของชาวคณะจึงบ่ายหน้ามุ่งสู่เหมืองกระโสม โดยมีเส้นทางดังนี้ ออกจากภูเก็ต ข้ามสะพานสารสิน เข้าสู่พังงา ผ่านท้ายเหมือง เลยโคกกลอย ขึ้นไปจบ ต.ตะกั่วทุ่ง

ในเวลาเฉียด 2 ชั่วโมง ป้ายเขียวๆ ที่เขียนว่า บ้านกระโสม ก็เห็นเด่นชัดเป็นจุดหมายแรก ผมตื่นเต้นและหัวใจพองโตด้วยว่าตนเองมาสัมผัสเหมืองแร่จริงๆ แล้ว พอรถเลี้ยวเข้าถนนบ้านกระโสม ป้ายงานวัดและคณะดนตรีของ เอกชัย ศรวิชัย ตั้งต้อนรับอยู่

"จุดที่ตั้งป้ายงานวัดที่เห็นนั่น คาดว่าแต่เดิมคือที่ตั้งป้ายทางเข้าเหมืองกระโสม ถ้าดูในหนังก็จะเห็นมีป้ายกระโสมทิน เดรดยิ่ง" บรรพตบอก "ส่วนถนนตรงข้ามเป็นเส้นทางที่คุณอาจินต์แกจะเดินด้วยเท้าเข้าไปในตลาด เพื่อซื้อเสื้อผ้าราคาถูกๆ มาใส่ทำงาน ใส่จนขาดแล้วทิ้งเลย เพราะทำงานตลอดเวลา ไม่มีเวลาซักผ้า" คนนำทางหนวดขาวอธิบาย "แต่ก่อนถนนเส้นนี้เป็นถนนดินแดง นานครั้งจะมีรถประจำเหมืองแล่นออกมา ส่วนที่ดินแถวนี้เป็นที่ของชาวบ้าน พอฝรั่งได้สัมปทานก็จ้างชาวบ้านทำเหมือง ใครว่างจากท้องนาก็มารับจ้างวันละ 11 บาท"

จากป้ายเอกชัย เอ๊ย เหมืองกระโสม รถวิ่งไปได้ 15 นาที บรรพตก็สั่งหยุดอีกครั้ง ผมและเพื่อนร่วมทีมลงไปยืนเหรอหราอยู่กลางสามแยก เขาจึงแถลงให้ทราบว่า จุดที่ยืนอออยู่นั้น คือ ศูนย์กลางของเหมืองกระโสม

"ตรงนั้นเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟโกต๋อง หรือชื่อที่ชาวเหมืองรู้จักก็คือโกเตี๋ยน" บรรพตชี้ตำแหน่งแรกฝั่งตรงข้ามถนน ผมสังเกตดูแนวดินราบเรียบข้างหน้า แล้วชวนให้นึกถึงโรงกาแฟหลังคามุงจากในหนังตัวอย่างของพี่เก้ง ลองจินตนาการดูว่ามันพอจะเอามาสวมทับไว้ตรงนั้นได้พอดีไหม

จากนั้นบรรพตไม่รอช้า เดินนำเราเลี้ยวซ้าย ลงไปยังสะพานที่สามารถชี้ให้ดูจุดที่เรือขุดเคยแล่นผ่าน "เห็นทางซ้ายที่นั่นไหม ?" คณะมองตามและเห็นบ้านคนที่มีเล้าไก่อยู่หน้าบ้าน "เราคาดว่าจะเป็นที่ตั้งของออฟฟิศเหมืองกระโสม เยื้องขึ้นมาทางขวา ตรงนั้นคาดว่าเป็นโรงล้างแร่" ผมกวาดตาไปยังลานปูนเบื้องหน้า เห็นแต่ยางแผ่นตากอยู่

เราจ้ำกันต่อมาถึงสะพานที่มีคลองขนาดเล็กตัดผ่าน น้ำแห้งเป็นหย่อมๆ เห็นแนวทรายชัด บางจุดก็เป็นแอ่งน้ำใสแจ๋ว บนสะพานเป็นจุดที่สามารถวาดเส้นทางเดินเรือขุดขึ้นมาได้รางๆ ด้วยแนวคลองโค้งจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่ง หากมองตรงไปทางขวาก็จะเห็นภูเขาตั้งอยู่ลูกหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าทัวร์กระซิบเรียกน้ำย่อยไว้ว่าอ้อมหลังเขาไป ก็จะเป็นตรงที่เรือขุดไปหยุดล่ม อันเป็นโปรแกรมสุดท้ายของวันนี้

ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน ข้ามถนนจากฝั่งเรือขุดมาก็จะเป็นบ้านพักนายฝรั่ง ซึ่งบัดนี้กลายสภาพเป็นเนินเขาลาดๆ มีหญ้าคาปกคลุม ด้านหลังเป็นรอยระเบิดหิน มันแหว่งจนมองเห็นเป็นแนวตัดอย่างชัดเจน ไม่เหลือเงาของบังกะโลทรงยุโรป กรอบหน้าต่างเขียว อย่างที่ลุงอาจินต์บรรยายไว้ในหนังสือแม้แต่น้อย

"แล้วบ้านคุณอาจินต์อยู่ตรงไหน ?" ผมถาม

"โน่น" บรรพตลากเสียงยาวตอบ "อยู่ตรงป่ารกๆ ลับตานั่น"

ภาพที่เห็นก็คือ เนินป่ารกๆ แถมทางขึ้นก็รกเรื้อด้วยหญ้าป่าหนาทึบ "มีอีกทางหนึ่ง เดี๋ยวลองอ้อมไปเข้าด้านหลัง ตอนที่มากับพี่เอกคนที่นั่นบอกว่ายังเหลือซากปูนอยู่บ้าง" ความหวังที่จะได้เห็นเศษซากของประวัติศาสตร์ยังไม่มอดเสียทีเดียว เราเดินกันมาตามถนน ซึ่งทางด้านซ้ายจะเป็นป่าช้าและศาลาร้าง

ผมมองดูแล้วก็นึกภาพตามลุงอาจินต์เขียนถึงว่า เมื่อเดินลงจากเนินแล้วจะต้องผ่านป่าช้าก่อนจะมาถึงร้านกาแฟ ลุยดงร้องไล่เสือปลาไปอีกระยะจึงจะถึงที่พักของแก

"เวลานายฝรั่งนั่งรถผ่านป่าช้า แกจะถอดหมวกทุกครั้ง ครั้งหนึ่งตอนกลางคืน สัปเหร่อสุมไฟเผาศพกันอย่างสะเพร่า ติดไฟแดงอยู่ นายฝรั่งลงไปตรวจและช่วยโยนแขนศพข้างหนึ่งที่กระเด็นออกมาให้เข้ากองไฟ ทำเอาแหม่มของแกแยกห้องนอนและโต๊ะกินข้าวกับแกร่วมเดือน"

เราสับเท้าผ่านป่าช้ากันอย่างเร็วมาถึงบริเวณทางขึ้นบ้านที่เคยเป็นบ้านพักลุงอาจินต์ด้วยความโล่งใจ แต่ทางเข้าที่เห็นรกชัฏเกินไป จะแหวกหญ้าขึ้นไปดูนั้นก็เกรงว่างูจะตื่นกันเปล่าๆ จึงได้แต่มองดูอย่างเสียดาย

ขากลับ เราลัดออกมาอีกทาง เลาะตามแนวลำธารที่อาจินต์ชอบมาอาบน้ำ

ลำธารนี้นายเจียงคนงานของเหมืองชอบมานอนดูเมฆ เวลานั้นมันเป็นธารน้ำใสแจ๋วมองเห็นพื้นหินกรวด แต่เวลานี้มันน่ากลัวอย่างมาก

ลำธารเป็นสีดำเขียวและมีต้นเฟิร์นประหลาดๆ ขึ้นคลุมไปหมด มองไม่เห็นท้องน้ำอีกต่อไป สิ่งที่ยังคงเค้าเดิมก็แค่เมฆหมอกที่ยังลอยอ้อยอิ่งอยู่ไม่ผิดกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

กาลเวลาให้อะไรหลายอย่างแก่เรา แต่มันก็พรากหลายอย่างไปจากเรา



เมื่อรถวิ่งกลับออกไปจนเกือบจะถึงปากทางเข้าเหมือง บรรพตบอกให้คนขับจอดที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง ป้าคนหนึ่งนั่งทำขนมอยู่หน้าบ้าน ไก๊ด์เหมืองแร่เร่เข้าไปสวัสดีป้าอย่างคุ้นเคย แล้วก็ถามหาลุงไข่ ได้ความว่าแกออกไปซื้อเสื้อผ้าข้างนอก กำลังให้คนไปตาม

ในที่สุด ผมก็จะได้พบคนเหมืองแร่ตัวจริงเสียที

เราถือวิสาสะเดินดูเครื่องมือเหมืองแร่ในโรงเก็บของข้างบ้าน ซึ่งบรรพตอวดว่ามีคีมยักษ์ขนาดสูงกว่าตัวคนที่ลุงไข่เก็บมาเป็นที่ระลึกจากเหมืองกระโสม เมื่อเหมืองเลิก คนเหมืองกระจัดกระจายกันไป เครื่องไม้เครื่องมือส่วนใหญ่ ถูกทิ้งร้างชนิดไม่แยแส แต่ตอนนี้มันหายไปแล้ว

เรานั่งรอกันอยู่สักพัก ลุงไข่ก็เดินเข้ามา

"ลุงคือลุงไข่ ?" จำไม่ได้ว่า ผมหรือวิชชาที่โพล่งขึ้นก่อน แกตอบว่า ใช่

"ลุงรู้จัก อาจินต์มั้ยครับ" คราวนี้วิชชาไวกว่าผมอย่างเห็นได้ชัด

"รู้จักซิ อยู่กับแกมาไม่รู้จักได้รึ !"

แล้วลูกมือรังวัดคนสำคัญก็เริ่มลำดับประวัติของแกให้พวกเราฟังว่า แกชื่อ ไข่ ชื่อจริง ซุ้ย คชรักษ์ เกิดที่กระโสม เข้ามาทำงานในเหมืองตั้งแต่อายุ 12 ทำทุกอย่าง เป็นจับกังทำถนน ใส่ฟืนหม้อไฟเรือขุด เฝ้าบั๊กเก็ตก็เคย บรรยากาศการทำเหมืองแร่นั้น แกว่าคนงานเยอะ มีหลายแขนง คนงานหนักก็มาก คนงานเบาก็มีไม่น้อย

"คนมีความรู้มันก็เบาไป เป็นนายหัวปั่น" แกหมายถึงหัวหน้ากะคนงาน ลุงไข่บอกว่ารู้จักทุกคนแต่ใกล้ชิดกับอาจินต์ "เจออาจินต์ที่ร้านโกเตี๋ยน คุยกันครั้งแรกก็ชอบใจคอ อาจินต์แกดี เป็นเสมียนรังวัด แกอยู่คนเดียว เมาทุกคืน"

"รู้จักพี่เลียมหรือเปล่า เป็นคนยังไง ? พี่เลียมที่ว่าก็คือ พี่จอนในหนังสือ

"รู้ แกเป็นคนครึ่งชาติ เชื้อฝรั่ง ร่างใหญ่ แต่ว่าแกอยู่ดำ ไม่ขาว" ในที่นี้ "อยู่" ก็คือ "is" ของภาษาปักษ์ใต้นั่นเอง "เมียของแกชื่อจูลี่ ลูกของแกชื่อแม่รี่" ลุงไข่เสริมต่อเสร็จสรรพ

ลุงไข่ท่านนี้ออกจะแปลกตาสำหรับผม เพราะว่าก่อนจะเดินทางมา ลุงอาจินต์ฝากรูปไอ้ไข่ของแกมาให้ผม ระหว่างที่ชาวคณะซักถามข้อมูล ผมแอบเปิดซองรูปลุงไข่ ซึ่งหน้าซองเขียนด้วยลายมือของป้าแน่งน้อยภรรยาลุงอาจินต์ว่า นายแอ้ม ทองสกุล ผมแปลกใจที่สุด

"ลุงเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่า เหมืองเลิกไปกี่ปีแล้ว สภาพมันเป็นยังไง แล้วเดี๋ยวนี้มันกลายเป็นอะไรบ้าง ?" เสียงสุวิมลถามขึ้น ดึงผมกลับสู่วงสนทนาอีกครั้ง "มันหลายปีแล้ว ตอนเลิกไปมันปีมะเส็ง วันที่เท่าไหร่ไม่รู้ พออายุ 15 เหมืองเลิก ลุงทำก็ทำไร่ทำนาตามแถวนี้"

อายุ 15 เอ๊ะ...ตายละ

ผมจำได้ไม่เลอะเลือน เพราะคุณอาจินต์แกเขียนไว้ละเอียดว่า แกเอาชีวิตไปหั่นในเหมืองแร่เมื่ออายุย่างเข้า 22 และกลับกรุงเทพฯ เมื่อเหมืองล่ม รวมเวลา 4 ปีเต็ม มีผู้ช่วยคนสนิทเป็นเด็กหนุ่มพื้นบ้านอายุ 17 !

ตอนที่เหมืองเลิกนั้น ข้าพเจ้าอายุ 26 ไข่อายุ 21 - บรรทัดแรกจากตอน ไอ้ไข่กลายเป็นนายช่างไข่ ใครไม่เชื่อเชิญไปเปิดพิสูจน์ดู

นี่มันไข่คนละใบนี่หว่า !

เอาละซิ ลุงอาจินต์เกือบทำผมน้ำตาตกซ้ำสอง ผมควรสังหรณ์ใจ ก็ถ้าโกเตี๋ยนยังกลายเป็น โกต๋อง, พี่เลียมกลับเป็นพี่จอน แล้วทำไม นายแอ้ม ลูกมือจอมกะล่อนของแกจะใช้ชื่อ ไอ้ไข่ ไม่ได้

พวกเราชาวกรุงทั้ง 7 ไม่กล้าเฉลยความหน้าแตก ผมค่อยๆ อ้อมแอ้มถามลุงไข่ตัวจริง แต่เป็นไข่เทียมกับในหนังสือ "แล้วลุงรู้จักลุงแอ้มหรือเปล่า" ลุงไข่คนใหม่บอกว่ารู้จักสิ เมื่อคืนก็เพิ่งเจอกัน

"อย่างนั้นลุงช่วยพาไปหาลุงแอ้มหน่อยนะ"



รถตู้พาเราไปตามถนนสายเดิมก่อนจะหักเลี้ยวเข้าป่ายาง เพื่อมาหยุดหน้าบ้านที่สร้างเป็นบ้านปูนชั้นเดียว หลังสีขาว มีจานดาวเทียมแหงนหน้าโดดเด่นอยู่หน้าบ้าน ลุงไข่ลงจากรถแล้วเดินไปเคาะประตูบ้าน ส่งสำเนียงใต้ บอกว่ามีคนกรุงเทพฯ มาหา จากนั้นสักอึดใจ เจ้าของบ้านก็เปิดประตูออกมา

แกเป็นชายชราตัวเล็กวัย 72 โครงร่างบึกบึน สมัยรุ่นๆ น่าจะกำยำพอตัว แกย่องออกมานั่งอย่างอายๆ ลุงแอ้มหรือ แอ้ม สกุลทอง เกิดและโตอยู่ที่ อ.ถ้ำ เป็นลูก นายดวน ทองสกุล ในวัยหนุ่มมาเป็นกรรมกรในเหมืองกระโสม ทำงานเป็นคนปักไม้รังวัดให้อาจินต์

ลุงแอ้มรำลึกอดีตอย่างสบายๆ ดวงตาของแกดูจะมีความสุขตลอดเวลา ทุกครั้งที่พูด แก้มของแกเหมือนจะแตกเป็นริ้วๆ ด้วยรอยยิ้ม โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงนายเก่าของแก

"นายฝรั่งให้บ้านพักบนควนกับอาจินต์ บ้านพักผีดุ แต่อาจินต์กินเหล้ามาก กินแล้วไม่กลัวผี แกจบมหาวิทยาลัยมา แกไม่กลัวผี"

"อาจินต์เป็นคนไม่ยอมคน" ลุงแอ้มว่า "พ่อของแก (ลุงแอ้มหมายถึงนายฝรั่ง) รักมาก ตอนทำเข็มทิศตกน้ำนายใหญ่ก็ไม่ว่า คนในเหมืองรักอาจินต์ทั้งนั้น"

ตอนที่เหมืองเลิกลุงแอ้มไปทำเหมืองแร่กับบริษัทนานทวี รับรื้อเรือขุดแล้วเอาเหล็กไปชั่งกิโลขาย ทำอยู่หลายปีก็ไปทำเหมืองเป็นเหมืองฉีด พอขาดทุนก็บวชอยู่ 10 กว่าปี น่าเสียดายรูปถ่ายกับอาจินต์สักใบก็ไม่มี มีแต่ที่อยู่ใบเดียว

"วันที่เรือขุดล่มนั้น เรือมันรั่ว ท้องเรือมีห้องเป็นห้องๆ น้ำมันรั่วเข้ามา 2 ห้อง เรือก็เอียง แล้วก็วูบลงน้ำ" ลุงแอ้มว่านายฝรั่งบัญชาการให้ช่วยกันกู้เรือขึ้น โดยสร้างทำนบกั้น แล้วดูดเอาน้ำออก ปะเรือแล้วก็ปล่อยให้น้ำเข้ามาหนุนเรือให้ลอยและเดินหน้า แต่พอทำงานต่อไปได้สักพัก บันไดเรือขุดก็งอเสียจนใช้การไม่ได้ คราวนี้ต้องรื้อบันไดเอาลูกบั๊กเก็ตขนาดเท่าโอ่งออกมาวางกอง ซ่อมกันจนใช้การได้ แต่ชะตาของเหมืองก็จบลงอยู่ดี

"เรือมันโทรมเต็มที พอมาถึงที่ตรงแร่หมด บริษัทใหญ่ทางสิงคโปร์ก็เลยสั่งให้หยุดขุด เหมืองก็ปิด" คนงานสี่ห้าร้อยที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันบนพื้นที่นับพันไร่ จึงต้องแยกกันไปเหมือนผึ้งแตกรัง

บริเวณที่เรือขุดล่มเป็นเนินเขาโค้ง เค้าโครงของเรือขุดใหญ่โตอลังการที่เคยมาหยุดสิ้นลม ไม่เหลืออีกต่อไป ภาพเบื้องหน้าเป็นเพียงป่าหญ้าหนาทึบ มีเพียงแนวกว้างๆ ให้เห็น

ลุงแอ้มและลุงไข่ต่างยืนมองเหมืองแห่งความหลังกันอยู่ ผมเห็นลมพัดต้นปาล์มไกลๆ บรรยากาศดีก็เลยถามลุงสองคนว่า คิดถึงเหมืองแร่บ้างหรือเปล่า ?

"คิดถึงเหมืองแร่นะ เราเคยทำงานอยู่ คิดถึงซิ" ลุงไข่ว่า

"แล้วรักลุงอาจินต์มากแค่ไหน ?" ผมถามลุงแอ้ม

"รักมาก เหมือนเป็นพี่เรา" ชายชราวัย 72 ยิ้มอายๆ

"ลุงอาจินต์ก็ว่าลุงแอ้มเหมือนน้องชาย" ผมถ่ายทอดคำที่เคยได้ยิน "รักถึงขนาดให้เหล้ากินฟรีทุกมื้อ" ลุงแอ้มกับลุงไข่ผสมโรงหัวเราะชอบใจกันใหญ่

กาลเวลาพรากอายุ แต่มันก็ให้ความทรงจำที่มีค่า และมันยังให้ประวัติศาสตร์ในขมับที่ไม่มีใครยึดคืนไปได้ ประวัติศาสตร์ของเหมืองแร่จบลงแล้ว แก้ไขไม่ได้ แต่อาจเพิ่มเติมได้

และคนที่มีสิทธิ์เพิ่มเติมประวัติศาสตร์เหมืองแร่ให้กับลุงอาจินต์ ก็เห็นจะเป็น จิระ มะลิกุล ผู้กำกับฯ ที่หยิบ Emotion ของลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ ออกมาสั่ง Action



บ้านนายฝรั่ง








ลุงแอ้ม



------------------------------------------------------------
ฉบับที่ 1289
วันที่ 29 เมษายน 2548
โดยคุณ : picmee - [1:33:46  31 พ.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 1
ตามรอยเหมืองแร่ (2) หม้อข้าวชาวเหมือง




ตอนเช้าอีกวัน คณะตามรอย มหา"ลัย เหมืองแร่ ของเรานั่งกินข้าวเช้าอยู่ในเมืองพังงา มุมทานอาหารช่างเจริญตาอย่างยิ่ง เห็นเทือกเขาพังงาตั้งอยู่ตรงหน้า เป็นวิวเสริมอาหารเยี่ยมจริงๆ อากาศร้อนแรงกำลังดี ลมพัดสดใส ช่วยทำให้ผมเจริญอาหารกว่าเมื่อคืน

ทันใดนั้น รถจิ๊ปคันหนึ่งก็แล่นปราดเข้ามาใกล้มาก ปานจะมาจอดอยู่บนโต๊ะกินข้าวของพวกเรา

ชายฉกรรจ์ 3 คนในรถเปิดประตูลงมา พี่จอน พี่ก้อง พี่แหว็ง ! หรือนั่น

เปล่า ผิดถนัด พวกเขาคือ เอก เอี่ยมชื่น โปรดักชั่นดีไซเนอร์ เศรษฐีตุ๊กตาทองของวงการหนังไทย กับ 2 ผู้ช่วยคนสำคัญ พวกเขามาสมทบกับบรรพตรับหน้าที่หัวหน้าทัวร์เที่ยวเหมืองให้กับคณะเราชั่วคราว

พวกเราจึงชวนคนทั้ง 3 หาอะไรรองท้องด้วยกันก่อนออกบุกเรือขุดในวันนี้

เอก เอี่ยมชื่น เป็นเจ้าของผลงานออกแบบงานสร้างหนังเด่นๆ มากมายหลายเรื่องอย่าง นางนาก, 2499 อันธพาลครองเมือง, 15 ค่ำ เดือน 11, โอ.เค.เบตง, The Letter และล่าสุด เขาคือคีย์แมนคนสำคัญของ มหา"ลัย เหมืองแร่ ผมกับเขาไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่อาหารเช้าช่วยให้ผมป้อนคำถามกับเขาง่ายขึ้น

"พี่เอกรู้จักเรื่องเหมืองแร่มาตั้งแต่เมื่อไรครับ ?"

"เกิดมาก็เห็นหนังสือเหมืองแร่ของพี่อาจินต์อยู่ในบ้านแล้ว ชอบงานของแกเพราะเรื่องสั้นทุกเรื่องมันจะมีพลิกล็อคตอนท้าย ตอนแรกผมไม่คิดว่าหนังสือชุดนี้จะเป็นหนังได้ แต่แล้วก็พลิกล็อค เพราะโดนพี่เก้งเล่นมุขฝากชีวิต"

"ยังไงครับ" ผมสนใจ ยกช้อนค้างคาปาก

"พี่เก้งว่า "เราต้องร่วมมือกัน ถ้าคุณไม่ทำ ผมก็ไม่ทำ"

จุดเริ่มต้นของการร่วมงานกันครั้งที่สองระหว่างเอกกับ จิระ มะลิกุล เกิดขึ้นในขณะที่เอกกำลังทำหนัง 15 ค่ำ เดือน 11 ให้ฝ่ายหลังซึ่งไฟแรงเสียจน ยังถ่ายเรื่องแรกไม่จบก็ดอดจีบเอกให้รับปากว่าจะทำ "เหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์" หนังสือที่เขาอยากทำเป็นหนังมานานแสนนานด้วยกัน

"เสร็จจาก The Letter เราก็ปรึกษาเรื่องเวลากัน เพราะพี่เก้งบอกว่าต้องลงมือแล้ว แต่ผมขอตั้งหลักก่อน ด้วยการตะลุยอ่านเหมืองแร่ทั้ง 142 ตอนอีกรอบ จากนั้นก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับดีบุกและการทำเหมือง เพื่อหาความรู้กว้างๆ ในสิ่งที่จะต้องทำ"

"ความยากในการรีเสิร์ชเหมืองแร่ มันโหดตรงที่...ตอนนี้มันไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว"

เอกนับหนึ่งด้วยการกลับไปดูเหมืองกระโสมของจริง และพบว่ามันมีแต่ซากและภาพที่ไม่เหมือนกับตัวหนังสืออีกต่อไปซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราประจักษ์มาแล้ว

"มันสวยแต่ไม่พอที่จะเป็นหนัง" เอกว่า ดังนั้น ความหวังที่จะได้ถ่ายในสถานที่จริงจึงตัดไป



โจทย์ข้อแรก โลเกชั่น

เหมืองแร่ คือตู้ใส่กับข้าวใบสุดท้ายที่บังคับให้ข้าพเจ้าประคองกระเพาะอันอิดโรยไปหามัน มันบังคับให้ไปหา ไม่ใช่ขอร้องให้ไป มันต้อนข้าพเจ้ามากกว่าต้อนรับ - จาก "มือที่เปิดประตูเหมือง"

เอกออกตามหาเหมืองทุกเหมืองทั่วภาคใต้ที่พอจะเก็บความหลังเอามาเล่าใหม่ แต่ไม่ใช่ง่าย ส่วนใหญ่แปรสภาพไปสารพัด บางแห่งกลายเป็นหมู่บ้าน บางแห่งกลายเป็นโรงงาน

กระทั่งมาเจอเหมืองเก่าแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพังงา เหมืองร้างแห่งนี้มีทั้งโรงล้างแร่ มีบ้านพักเสมียนปลูกเรียงรายเป็นหลังๆ ตามลำดับชั้น มีบังกะโลเอนจิเนียร์ฝรั่ง เหมือนมันได้ตบแต่งตัวเองไว้รอท่ากองถ่ายหนัง

"นอกจากนั้นยังมีป่าทรายด้วย" ป่าทราย คือแนวที่เกิดจากเรือขุดแร่ลากตัวผ่านแล้วคายหิน คายกรวด ทิ้งออกมาทางท้ายทำให้เกิดเหมือนเป็นชายหาดในป่า "เรียกว่าเพอร์เฟ็กต์ นอกจากจะเป็นเหมืองจริงแล้ว ยังเคยมีเรือขุดตั้งอยู่จริงๆ"

ตอนนี้เราอิ่มข้าวกันทุกคนแล้ว จึงตกลงกันว่าจะไปดูสถานที่สวรรค์ส่งมา โดยมีเอกนำทางกลับไปสู่โลเกชั่นในฝัน ที่สุดท้ายพลิกล็อกไม่ได้อยู่ในหนัง เพราะอะไรนะหรือ ? เดี๋ยวไปถึงที่แล้วผมจะให้เขาเล่าให้ฟัง

เราเดินทางขึ้นเหนือ ตรงมายังสถานที่ราชการแห่งหนึ่งซึ่งถูกก่อสร้างขึ้นภายในอาณาบริเวณเหมืองเก่าชื่อ กัมมุนติง หรือ Kammunting Tin Dredging ชาวบ้านเรียกว่าเหมืองเหนือ ผมเพิ่งปะติดปะต่อเรื่องราวถูก เหมืองแห่งนี้เองคือ เหมืองใจร้ายที่เรียกลุงอาจินต์ตีเหล็กจนคอแตกเป็นเลือด จนต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่เหมืองที่เล็กและกันดารกว่าอย่าง เหมืองกระโสม

ผมเห็นเครื่องปั่นไฟเก่าขนาดใหญ่ซึ่งผมคิดว่าในสมัยนั้นคงสามารถปั่นไฟใช้ในเมืองพังงาได้สบายๆ ส่วนด้านล่างของเหมืองเป็น "ขุมเหมือง" หรือที่ตั้งของเรือขุดนั่นเอง

"มันสวย ผมเห็นแล้วชอบเลย พี่เก้งมาดูแล้วก็ชอบ อยากจะถ่ายหน้าฝน เพราะจะเห็นหมอกบนเขาพังงาที่สวยมากๆ เราเลยลงมือขุด "อู่เรือขุด" หรือบ่อเลี้ยงน้ำรอบเรือขุดขนาดความกว้าง 3 ไร่ ทันที"

"พวกเราเพลิดเพลินกันมาก"เอกหวนนึกถึงความสุขอันแสนสั้นกับ 2 ผู้ช่วยที่เผชิญวาตภัยครั้งสำคัญ มาด้วยกัน "เราขุดอู่เอาไว้เรียบร้อย กำลังจะลงตอม่อ แล้วฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมา 3 วัน 3 คืน น้ำเต็มบ่อ ต้องเอาเครื่องสูบเอาน้ำออกไป แต่ไอ้น้ำอีกทางมันลากเอาแรงดันมหาศาลมาด้วย เชื่อมั้ย แนวดินที่ทำกั้นน้ำกว้างขนาดรถสิบล้อวิ่งได้ โดนน้ำที่มันวิ่งมาจากโค้งข้างหน้า" เอกชี้ให้เราดูหัวโค้งที่มีรากไม้ยักษ์ถูกลากมาเป็นหลักฐานให้เห็นกันจะจะ

"มันวิ่งตั้งฉากเจาะแนวดินมาหาเรา น่ากลัวมาก น้ำในบ่อหมุนเป็นวงขนาดเท่ารถตู้ ถอนเครื่องสูบน้ำหนีแทบไม่ทัน ถ้าลงเรือขุดไปแล้ว...ไม่อยากนึก แค่เฉพาะอู่ที่ขุดไป หมดไปเกือบครึ่งล้าน"

"เราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ ก็เลยหนีดีกว่า"

โลเกชั่นฟ้าประทานโดนกระชากกลับไป เอกและลูกทีมกลับมาหนักใจกับโจทย์ข้อแรกเป็นคำรบสอง เวลาเปิดกล้องงวดเข้ามาทุกที "คราวนี้คิดไว้เลยว่า ต้องห่างน้ำหน่อย แต่หาให้เป็นที่น้ำซับเพื่อวางเรือขุด" น้ำซับ หมายถึงที่น้ำผุดขึ้นมาจากดินโดยไม่ต้องสูบน้ำมาใส่บ่อ

"แล้วเราก็มาพบรักใหม่ที่ อ.คุระบุรี ฉากที่คุณไปเห็นผมยืนบรรยายให้ฟังนั่นแหละ" เขาหมายถึงงานเพรสทัวร์ของ มหา"ลัย เหมืองแร่ ที่นำนักข่าวร่วมร้อยเยี่ยมชมเมื่อต้นปี

"แหม ที่ใหม่ มันตรงตามต้องการทั้งนั้นเลย พื้นที่มีเขาล้อมรอบ ที่ตั้งเรือขุดเป็นแอ่งกระทะ ดินสีแดง ทางสีดำ ที่ตั้งร้านกาแฟ ลำธารอยู่ทางด้านหลัง มันเป็นโลเกชั่น กรุ๊ป ครบตามหนังสือ แล้วที่ประหลาดใจมากคือ บ้านพี่อาจินต์ต้องอยู่บนเนิน หลังบ้านมีต้นขุน มันก็มีควนต้นขนุนขึ้นมาให้อีก ตรงกับที่พี่อาจินต์เขียนไว้ นี่มันอะไรกัน มันเกินไปแล้วนะ ใส่พานมาเลย !"

"วาสนาของผู้กำกับเขาจริงๆ" พวกเรามองขึ้นฟ้าหาสวรรค์แล้วสรุปกันเบาๆ ขอบคุณโชคดีที่มาถึงผู้รอคอยจนได้



โจทย์ข้อสอง เรือขุด

เรือขุดแร่ มันมีลักษณะเหมือนโรงสีสามชั้นลอยน้ำได้นั่นเอง มันเคลื่อนตัวช้าๆ ไปทางซ้ายทางขวา และเดินหน้าเหมือนสัตว์ใหญ่ๆ ที่อุ้ยอ้าย พลางส่งเสียงครางฟืดฟาดด้วยสตีมโบลว์ออกมาตามท่อ - จาก "ความพยาบาทของตาชื่น"

"แล้วการสร้างเรือขุดนี่เริ่มต้นยังไงครับ" ผมถามขณะปีนกลับขึ้นจี๊ปคันสีครีมปนเขียวของเอก จุดหมายของเราคือ อ.คุระบุรี ที่ที่ผลงานชิ้นสำคัญของเขารออวดโฉมอยู่

"แค่ตอนนึกภาพมันก็ผิดแล้ว" เอกคิดว่ามันคือเรือ เพราะสรรพนามนำหน้าว่าเรือ

"ผมค้นเจอหนังสือของกรมทรัพย์ ปกเป็นรูปเรือขุดแร่หลายสมัย ก็เลยเอาให้บรรพตดู ชี้ให้ดูว่ารูปเรือขุดที่เราจะทำเป็นอย่างนี้ แต่ความจริงยังมีอีกรูปอยู่ข้างๆ เรานึกว่าเป็นออฟฟิศของเรือขุด ดูไปดูมามันยังกะโรงสี อ้าว มันก็ตรงกับพี่อาจินต์เขียน โอ้โห มันใหญ่โตกว่ารูปเรือขุดที่ว่า 3-4 เท่า"

"พอจำแบบได้แล้วก็สบายใจ คิดว่าเดี๋ยวไปหากัน เอาเรือเก่าๆ ที่เลิกใช้แล้วมาซ่อมแซม ปรับให้เป็นเรือแล้วเอาทีมหนังขึ้นไปถ่าย พอกลับมาจากภูเก็ต หงายท้องเลย ไม่มีเรือขุดแร่เหลืออยู่ในประเทศไทยเลยสักลำ"

"สรุปว่าต้องสร้างเรือขุดขึ้นมาใหม่"

ในเมื่อเรือขุดแร่ลำสุดท้ายถูกตัดทิ้งเป็นเศษเหล็กไปแล้วเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เอกและเพื่อนร่วมงานจึงต้องคลำทางกันจากศูนย์ "พี่อาจินต์ให้รูปมา 4 ใบ รูปแกยืนแอ็กหน้าบ้านพัก, รูปจากปกหนังสือเหมืองแร่ 2 ปก, แล้วรูปนายฝรั่ง ซีร็อกซ์ดำปี๋ แกให้เราเอามาสร้างเหมืองแร่" เอกพูดอย่างเศร้าจนผมเห็นคิ้วของเขา 2 ฝั่งตกลงอย่างน่าเห็นใจ

"เราต้องต้องหารูปเรือขุดหลายๆ รุ่นมาประมวลให้ได้ภาพเรือขุดของแก พอยิ่งค้นก็พบว่าเรือขุดของพี่อาจินต์ดัดแปลงมาอีกจากเรือขุดสันดอนที่มาจากสิงคโปร์ เป็นเรือขุด 50 บั๊กเก็ต นี่เรียกขนาดตามจำนวนมือตักแร่ของเรือขุด มันใหญ่จึงยากขึ้น"

เอกบอกว่าเป็นการเขียนแบบแปลนที่ยากที่สุด โครงสร้างไม่ยาก แต่ทำอย่างไรให้เหมือนจริงและทำงานได้ "เรือจะทำงานอย่างไร แรงจากกำลังสตีมหม้อน้ำจะส่งแรงยกลูกบั๊กเก็ตขึ้นไปยังตามบันไดเรือยังไง ? เขียนไปแก้ปัญหาไป ถามเพื่อนซึ่งเป็นวิศวกรให้ช่วยอธิบายว่าพวกจักรกลภายในทำงานกันอย่างไรด้วย"

"ตอนเขียนต้องไม่พูดกับใครเลยนะ เดี๋ยวลืม"

"เขียนเสร็จก็หอบไปปรึกษาพี่อาจินต์ กางแบบให้แกดู" ผมรู้มาว่าลุงอาจินต์แกเป็นเซียนเขียนดรออิงก์เครื่องจักรกลสมัยเรียนจุฬาฯ ผมดีใจแทนที่เอกได้ที่ปรึกษาชั้นเยี่ยม

"แกแก้หมดเลย แกบอกว่า โอ้ยตรงนั้นมันใหญ่กว่านี้ ตรงโน้นมันอยู่ตรงนี้ เอาดินสอมากาๆ ขีด ฆ่า ผมจะบอกก็ไม่ทันว่า ที่พี่อาจินต์ขีดอยู่นั่นต้นฉบับนะครับ ผมไม่มีก๊อบปี้ไว้" เอกเล่าเหมือนจะร้องไห้จริงๆ ครับผมสาบาน

เอกหอบงานกลับมาทบทวนความทรงจำกับลุงอาจินต์อีกหลายรอบ ร่างท้ายๆ เรือขุดของเขามีส้วมเพิ่มขึ้นมาด้วย เขียนแก้ไขจนเสร็จ คราวนี้ให้พวกผู้ร่วมงานดู แต่มันซับซ้อนเกินจะเข้าใจ ดังนั้นเอก เอี่ยมชื่น นักเรียนศิลปะจากศิลปากร ได้กลายเป็น "วิศวกรศิลปากร" ที่ตอนนี้ควบหน้าที่สถาปนิกไปในตัว เลยตัดสินใจสร้างเรือขุดจำลองขึ้นมา ใช้เวลา 2 เดือน ราคา 2 แสน ความใหญ่เท่าสนามแบดฯ

ปล้ำกันอยู่หลายเที่ยว ผลการทดลองโมเดลเรือขุดของเอกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ "เราสร้างของจริงตามแบบเป็นส่วนๆ แล้วบรรทุกรถ 18 ล้อส่งไปยังคุระบุรี"



โจทย์ข้อสาม หนีตาย

"ถึงแล้วคุระบุรี" บรรพตสวมวิญญาณไกด์รายงานมาจากที่นั่งคนขับ

"งานที่คุระบุรีราบรื่นกันดีหรือครับ ?" ผมเสนอหน้า แทรกถามขึ้นระหว่างเบาะ

"ลื่นกันซะมากกว่า พอเริ่มงานในป่า มันไม่มีมีพัก เวลาฝนตกลงมาต้องยืนตากฝน มันเป็นพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในประเทศ ช่าง 60 กว่าคนยืนตากฝน รถปูนมาส่งโดนความเย็นของฝนจนปูนในถังแข็ง" เอกเว้นจังหวะหายใจ สูดลมเข้าปอดเพื่อบรรยายความหนักหนาสาหัสต่อ "บ่อที่ขุดไว้ก็ต้องสูบน้ำออกตลอดเวลา พอขุดดินขึ้นมาก็ดันเจอโตน เป็นโขดหินใหญ่ ก็ต้องเอารถแบ๊คโฮมาขุดโตนออกไป ขุดไปๆ คราวนี้เจอโคตรโตน ใหญ่กว่าห้องเรียนอีก โตนนั้น โตนนี้ เจอกันทุกวัน ปล้ำกันอยู่นาน" ผมฟังแล้วถอนหายใจเฮือกราวกับมีโตนก้อนใหญ่ติดอยู่ในคอ

"แล้วตอนที่เซอร์เวย์มีนักธรณีวิทยามาช่วยดูมั้ยครับ" ผมถามแบบเอาใจหาคนช่วย

"ไม่มีหรอกครับ มีนักธรณีผม กับ นักธรณีกุ้ง (บรรพต) นี่แหละ" เอกกลายเป็นนักธรณีไปอีกหนึ่ง ด้วยความชำนาญทางกว่าใคร รถจี๊ปของเอกก็มาจอดรออยู่หน้าโลเกชั่นของ มหา"ลัย เหมืองแร่ เป็นคันแรกจากนั้นรถตู้อีกคันก็ตามมา

เอกพาพวกเราลอดสังกะสีเข้ามาสู่โลเกชั่นร้าง เรือขุดแร่ตั้งอยู่ตรงหน้า เวลานี้เรือขุดของเอกตกเป็นของเจ้าของที่ ไม่แน่ว่าเขาจะทิ้งไว้ทั้งอย่างนี้เป็นอนุสรณ์ หรือ ถือโอกาสจัดทัวร์โรงถ่ายแข่งกับยูนิเวอร์แซล เรายังสงสัย แต่ที่แน่ๆ ในสายตาผม เรือขุดลำนี้สวยน้อยกว่าที่ผมเห็นคราวมาเยี่ยมกองถ่ายจนน่าใจหาย น้ำแห้งขอดทรายกลบอู่ตื้นเขิน

สวัสดีโรงสีเก่า ผมทักในใจ

"ดูแล้วมันยังแข็งแรงอยู่มาก" ผมว่า ไม่กล้าวิจารณ์ออกมาตรงๆ ว่ามันสวยสดลดลง เอกซึ่งกำลังยืนมองเรือลำใหญ่ งานชิ้นโบว์แดงของเขาเงียบๆ หันกลับมาเล่าว่า "มีอยู่วันหนึ่งมันไม่แข็งแรงอย่างที่เห็นนะซิ"

"วันนั้นเป็นฉากเรือล่ม"เอกบอก มีการเตรียมการเป็นอย่างดี มีการสร้างระบบดันเรือให้ลอยแล้วทำให้จมเป็นอย่างที่พอใจ พอวันถ่ายมาถึง เช้าถ่ายฉากชาวเหมืองยืนมองดูเรือขุดจม

"เช้าผ่านไป พอตอนบ่าย เราเริ่มเห็นตัวเรือมันโค้งนิดๆ แต่พอเข้าคิวที่ 2 มันก็มีเสียงเหล็กลั่น" ตอนนั้นบนฝั่งกำลังวางดอลลี่ "ผมกับพี่เก้งยืนอยู่บนฝั่งยังนึกว่าใครกระโดดเล่นบนเรือก็ให้ผู้ช่วย ว. บอกว่า อย่าเล่นกัน ไม่ทันไร ได้ยินเสียงน็อตมันดีดตัวออกจากเสาเหล็ก กระเด้งไปชนสังกะสี ดังก้อง โป้ง โป้ง โป้ง" รู้กันทีหลังว่าเหล็กเชื่อมขาด

"เรือมันหักกลาง" ตอนนั้นเอกหนักใจสุดสุด "ผมก็วิ่งไปทางด้านหน้าหมายจะช่วยอะไรสักอย่าง ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรได้ เสียงสลิงฟาดกันไปมา คนบนเรือมันก็ถอยร่นกันมาข้างลำ

"มันหัก เสียงกร็อบ !!" เอกควักขนมปังกรอบจากจานอาหารเช้ามาหักให้ดู เสียงเล็กๆ ดังก้องเหมืองร้างอย่างน่ากลัว

"มีเสียงบอกให้โดด โดดเลยๆ" ข่าวว่าบรรพตเป็นคนนำทีมโดด และว่ายป่ายขึ้นตลิ่งได้ก่อนใครนักแสดง ทีมงาน ตัวประกอบโดดน้ำหนีสุดชีวิต นักแสดงท้องถิ่นที่เป็นกรรมกรให้การว่า ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ไม่รู้มาถึงฝั่งได้ยังไง

"ขาผมสั่นดิกเลย ข้างหนึ่งมันแหย่เข้าไปในตารางแล้ว คือเราจะต้องรับผิดชอบ หากใครเป็นอะไรขึ้นมา"

"แล้วมีใครเป็นอะไรมั้ยครับ" ผมถามลุ้นอย่างสยองใจ

"โชคดีมาก ที่เรือด้านที่หักมันหล่นลงมาวางที่คานเหมือนเก่า ไม่งั้นไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เสียงกึ้งทีแทบจะเป็นลม พอเหตุการณ์ผ่านไป ควันธูปงี้คลุ้งเลย ผมนี่แหละกำธูปเข้าป่าไหว้เจ้าที่เป็นคนแรกเลย" เอกคลายยิ้มออกมาจนได้

เราทั้งหมดมองดู เรือสังกะสีโรงใหญ่เบื้องหน้ากันเงียบๆ สักพัก จึงเอ่ยชวนกันกลับ ผมเอ่ยลาเอกและลูกทีมทั้งสาม จากนี้พวกเขาจะแยกกับทีมตามรอยของเรา ไปรับไม้จากหนังเรื่องใหม่

บรรยากาศเหมืองแร่ ไม่มีอีกต่อไป ไม่มีคนขุดแร่ ไม่มีคนถ่ายหนัง

เรือขุดที่ไม่มีคน ก็เหมือนหม้อหุงข้าวที่ไม่มีไฟ มันไม่อาจหุงหา เติมความอิ่มในกับกระเพาะใครได้ ผมก้าวขึ้นรถตู้ที่ค่อยแล่นเอื่อย กระเด้งกระดอนบนถนนลูกรังออกสู่ถนนใหญ่

อาทิตย์ตรงหัว เที่ยงแล้ว ท้องร้องหิว ใจผมถวิลข้าวอุ่นๆ สักหม้อหนึ่ง

------------------------------------------------------------
ฉบับที่ 1290
วันที่ 6 พฤษภาคม 2548
โดยคุณ :picmee - [1:36:45  31 พ.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 2
นักเลงนอกเหมือง


ผมอ่านเรื่องสั้นชุด "เหมืองแร่" มาตั้งแต่อายุ 13 ด้วยความใกล้ชิดที่ไปสมัครขอลุงอาจินต์ช่วยตรวจต้นฉบับการ์ตูนล้อการเมืองให้ เวลาเดินทางไป-กลับบ้านลุงอาจินต์ ผมมักจะพกหนังสือเหมืองแร่ติดตัวอยู่เสมอ เจอใครๆ ผมก็จะเล่าเรื่องสั้นให้ฟัง เล่ามาแล้วแทบทุกตอน แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผมเล่าบ่อยที่สุด ทั้งเผื่อแผ่คนอื่น ทั้งกล่อมตัวเองเวลาอยู่คนเดียว

ผมชอบเรื่องนี้มาก อ่านมาหลายสิบรอบ คือตอน หนีหรือสู้

"ยศ เพื่อนของข้าพเจ้าขยันและสุภาพ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยสูบบุหรี่ เขาเป็นเด็กหนุ่มผู้เคราะห์ร้าย เช้าวันนั้นอาจารย์ฟิสิกส์เห็นควันบุหรี่ลอยกรุ่นอยู่ที่โต๊ะหนึ่ง ท่านชี้ไปที่ยศซึ่งนั่งใกล้ชิดกับควันบุหรี่แล้วเชิญให้ออกนอกห้อง เขาคงนึกถึงนิทานเกี่ยวกับความเสียสละจึงยอมออกไปนอกห้องแต่โดยดี ส่วนเจ้าคนที่เป็นเจ้าของควันบุหรี่ตัวจริงนั่งตีหน้าตาย มีสิทธิได้ฟังเล็กเชอร์ชั่วโมงนั้นต่อไป

"ข้าพเจ้าได้เห็นความเป็นลูกผู้ชายทอแสงเรืองออกมาจากตัวเขาตั้งแต่ครั้งนั้น"

อายุ 13 ผมเด็กเกินกว่าจะเข้าใจคำว่าลูกผู้ชาย มันช่างง่ายที่จะพบคำตอบว่า ทำไมผมถึงรักตัวละครตัวนี้เหลือเกิน เพราะเขาชื่อเหมือนผมเท่านั้นเอง

จะว่าไปแล้ว ผมคิดจะทำเหมืองแร่ออกมาเป็นหนังตั้งแต่อายุ 13 เลยทีเดียว ผมเคยขอเหมืองแร่ลุงอาจินต์เอาทำหนังเหมือนกัน แต่โดนเขกกะโหลกกลับมา

ช่วงอายุ 22-26 ผมฝันว่า หากมีใครเอาเหมืองแร่ไปดัดแปลงเป็นหนัง ผมจะลองไปทดสอบหน้ากล้องรับบทตัวละครหนุ่มที่ยืนถ่ายรูปตัวเองเล่นที่หน้าบ้านพักกลางเหมืองแร่ ครั้นเวลาผ่านไป พี่เก้ง- จิระ มะลิกุล ประกาศสร้าง มหา"ลัย เหมืองแร่ แต่ผมรอจนอายุเกินวัยเสียแล้วจึงหมดหวัง ไม่กล้าไปสมัครเป็นพระเอก กลัวพี่เก้งเขกกบาลเข้าให้

แล้วตัวละครต่างๆ ของลุงอาจินต์ก็ทยอยกันเดินออกมาจากตัวหนังสือเหมืองแร่ โดยปราศจากผม



คนแรกที่ผมเห็นแล้วตกใจตาค้างเลยคือนายฝรั่ง เทพบุตรแห่งการทำงานที่ลุงอาจินต์บรรยายว่า

"แกชื่อมิสเตอร์แซม เป็นฝรั่งเหมืองแร่คนเดียวในโลกที่นุ่งกางเกงขายาวทำงาน ล่ำใหญ่ สูง 6 ฟุต ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว กางเกงผ้าเนื้อหนักสีเทา รองเท้าโลตัสสีน้ำตาลแข็งแรงบึ้กบั้กราวกับกระดาน สวมหมวกทหารออสเตรเลีย คร่ำคร่าปีกกว้างหยิบร่องตรงกลาง"

ผมเห็นแกครั้งแรกในกองถ่าย มหา"ลัยเหมืองแร่ ขนลุกเลยครับ ช่างสรรหากันมาได้เหมือนชนิดก้าวต่อก้าว บรรทัดต่อบรรทัดเลยทีเดียว ในวันนั้นแกเดินอย่างสง่าทักทายผู้มาเยือนเสมือนเจ้าบ้านผู้ใจดี มิสเตอร์แอนโทนี่ โฮวาร์ด กูลด์ คือ ผู้รับบทนายนายฝรั่ง

คุณแอนโทนี่ อยู่เมืองไทยมากว่า 14 ปีแล้ว เป็นเจ้าของบริษัทและสวนผลไม้ 40 ไร่ ใน จ.หนองคาย ขณะเดียวกันก็เป็นนักซื้อขายหุ้นทางอินเตอร์เน็ตสำหรับนักลงทุนชาวต่างประเทศ "ผมเป็นบอส เลยเข้าใจความเป็นบอส เมื่อตอนที่ผมเข้าทำงานแรกๆ ผมก็อายุเท่ากับอาจินต์ และผมก็มีบอสใจดีและเข้าใจอาจินต์อย่างนายฝรั่ง" หนุ่มใหญ่วัย 55 เล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลชัดเจน บ่งบอกความภาคภูมิต่อความเข้าถึงจิตใจตัวละครที่สวมบทบาท

ต่างกับปากคำฟาก จิ๊บ - จารุภัส ปัทมะศิริ Casting Director เป็นคนละมุม (ไม่ต้องแปลกใจหากรู้สึกคุ้นหน้า เพราะเธอคือ นางสาว จิ๋มใหญ่ จาก แจ๋ว) เล่าว่า "ตอนเทสแกเล่นตัวแข็งมาก ใครเห็นก็หมดหวัง แต่พี่เก้งชอบมากเพราะตรงกับโมเดลที่ตั้งไว้ในใจ ก็เลยพาไปเรียนแคสติ้ง แรกๆ จิ๊บว่าแกเหมือนสายลับรัสเซีย K.G.B. เลย ดุมาก"

"แล้วไปเจอแกได้ยังไงครับ ?" ผมถามขึ้นเมื่อสบโอกาสได้คุยกับเจ้าของสายตาแคสติ้งคมกริบ

"หากันตาเหลือกตาปลิ้น ใจจิ๊บอยากได้ฝรั่งสำเนียงปักษ์ใต้ ก็เลยไปศูนย์รวมฝรั่งภาคใต้อย่าง ภูเก็ต ก่อน ปิดประกาศตามสุมทุมพุ่มไม้ มุมตึก แปะหมด ออกอากาศตามสถานีวิทยุภูเก็ตทุกวัน แคสฝรั่งคนไหนก็ถามหากันต่อๆ แคสเป็น 100 คน จนปวดหัว แต่ก็ไม่ได้"

กระทั่งกำหนดเปิดกล้องมาจ่ออยู่อีก 10 วัน จารุภัสก็อวดครวญให้เพื่อนรุ่นพี่ที่บริษัทฟังว่ายังหานายฝรั่งไม่ได้ โชคจึงเป็นของเธอ พี่คนนี้ชื่ออุ้ม - พอดีพี่อุ้มมีเพื่อน - เพื่อนพี่อุ้มมีพี่เขย - พี่เขยเพื่อนพี่อุ้มมีเพื่อน- เพื่อนพี่เขยเพื่อนพี่อุ้ม คือคุณแอนโทนี่ "5 มรดกตกทอด กว่าจะถึงตัว"

"แต่เหมือนมากครับ" ผมเอ่ยชม ลุงอาจินต์เองเมื่อแรกพบยังประทับตราความเหมือนของนายฝรั่งคนนี้ให้ ด้วยการทักคุณแอนโทนี่ โดยไม่ต้องมีใครแนะนำว่า

"นายฝรั่งใช่ไหม ?" ขนาดนั้น !



มหา"ลัย เหมืองแร่ น่าจะได้รับการบันทึกในฐานะหนังไทยที่มีตัวละครหลักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง นอกจาก อาจินต์ -รับบทโดย บี พิชญะ วัชจิตพันธ์, ไอ้ไข่ - สนธยา (เดอะ สตาร์) ชิตมณี และ นายฝรั่งแล้ว ตัวประกอบเฉพาะที่มีบทพูดนั้นมากมายถึง 50 ชีวิต ยิ่งผู้กำกับเก้งสั่งลองของ อยากทำหนัง "แหลงใต้ อ่านซับฯ" ด้วยแล้ว ภาระอันน่าหนักใจทั้งมวลจึงตกอยู่กับจารุภัส

จารุภัสหนีบสองผู้ช่วยตระเวนทุกหัวจังหวัดในปักษ์ใต้ เป้าหมาย คือนักแสดงท้องถิ่นจำนวนครึ่งร้อย เธอใช้วิธีติดป้ายประกาศตามสถานที่ที่สามารถติดต่อกลับสะดวกๆ เช่น ร้านถ่ายรูป ใครเข้ามาในร้านก็ขอร้องช่างภาพให้ยุมาถ่ายรูปส่งมาเทส โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ร้านรวง มีป้ายให้อ่านหมด

"วันหนึ่งเราไปเกาะปันหยี ตั้งใจจะไปหาแม่ละเอียด เขาบอกว่าผู้หญิงปันหยีสวยทุกคน แต่พอไปถึงมีแต่ แม่ ยายและเด็กอยู่กันเต็มไปหมด ถามว่าผู้หญิงสวยไปไหนหมด คุณยายว่าไปเรียนหนังสือ แล้วผู้ชายล่ะ คุณยายก็บอกอีกว่า ออกไปพายเรือรับจ้างกันหมด" วันนั้นทีมแคสติ้งเลยได้สร้อยมุกกับผ้าถุงมาแทนนางเอก

สีหน้าเธอเหนื่อยอ่อนน่าเชื่อถือจริงๆ เมื่อรำลึกถึงงานงมเพชรที่ผ่านพ้น

"แต่พบนะคะ เพชรเลย ขุดมาจากปลัก"

บทตาหมา ตาแก่ขี้เมาเพื่อนกินเหล้าของอาจินต์ที่ถูกไอ้ไข่ถอนหงอกเอาประจำ เป็นตัวเลือกหนึ่งเดียวที่จารุภัสและทีมแคสติ้งชื่นชอบมากที่สุด

ตาหมา ชื่อจริงเพราะพริ้งว่า ส้าฝวี โลหโชติกุล เป็นคนอิสลาม ส่วนชื่อเล่นจริงๆ คือ ตาปี๋ แต่คนถนัดเรียกแกว่า บังเลง มาจากสมญา บังนักเลง ผู้โหดและห้าวในสมัยหนุ่ม

"บังเลงเป็นคนคุยสนุก ยิ้มง่าย เมื่อคุยกับแกจะรู้ได้ทันทีเลยว่า แกเป็นคนจิตใจดี น่ารัก น่าแกล้ง ช่างต่อกร เจ้าลิ้นเจ้าคำ ฟันฟางหักพร้อม" จารุภัสว่า บังเลงเป็นชายผู้มีวิญญาณของตาหมาอาศัยอยู่เต็มตัว และยังเป็นคนเมตตาต่อสัตว์ เพราะแกมีอาชีพเลี้ยงควายอยู่บ้านคลี จ.พังงา

"คุณจิ๊บเขามาถามกำนันว่า แถวนี้มีคนแบบนี้ๆ หรือเปล่า ? กำนันแกก็บอกว่า อ๋อมี มีคนบ้าอยู่คนหนึ่ง เลี้ยงควายอยู่ในทุ่งโน่น แกก็เลยให้คนไปตามผมมา" บังเลงเล่าเผยรอยยิ้มประทับใจ

ถึงตรงนี้ ผมทบทวนคร่าวๆ ตามในใจ อาจินต์เป็นนักเรียนอเมริกา นายฝรั่งมาจากหนองคาย ไอ้ไข่เป็นเด็กหาดใหญ่ ตาหมาเคยยิ่งใหญ่แถบพังงา

"โห ยังมีจังหวัดไหนอีกเนี่ยครับพี่" ผมทึ่ง

"กระบี่ มีอีกสองคน พี่ก้องช่างฟิต กับ พี่เหว็งช่างเชื่อม"

ศรชัย จุลลางกูร ที่ใครๆ เรียกว่า พี่แดง เป็นกัปตันบาร์เบียร์อยู่ไร่เลย์ เขาเป็นเสมือนนายสถานีชุมทางตามหานักแสดงของทีมแคสติ้ง เพราะรู้จักกันเป็นส่วนตัวกับจารุภัส แต่ด้วยความรักในการเมามาย งานจ๊อบตามหาคนก็เลยเป็นอันล้มเหลว ดังนั้นจารุภัสจึงชวนให้มาเล่นเป็นพี่ก้องเสียเลย

"อย่าให้พี่เป็นราคีกล้องน้องเลย อย่าให้พี่ไปแปดเปื้อนฟิล์มของน้อง" พี่แดงครวญครางด้วยฤทธิ์เมา แต่คารมขนาดนี้ เคราครึ้มขนาดนี้ จารุภัสรีบยัดเยียดตำแหน่งสมุนมือซ้ายของพี่จอนให้โดยพลัน

ด้านบทพี่เหว็ง สมุนมือขวาของพี่จอน มีที่มาแปลกไม่น้อยหน้าเพราะจิ๋มใหญ่แคสติ้งคนเก่งจีบมาจากคิวรถที่กระบี่ "วันนั้นจิ๊บถูกวินมอเตอร์ไซค์ที่จ้างไว้ช่วยหานักแสดงมาเทสเบี้ยว ก็เลยเดินโมโหข้ามถนนจะมาวินแท็กซี่ บังเอิญเจอบังดีนเตร่อยู่แถวนั้น ก็เอาวะ คนนี้แหละ แคสตรงป้ายรถมันเล้ย บังดีนก็เอาด้วย"

เหตุการณ์นี้ผมนึกตามแล้วสนุกมากครับ เพราะจิ๋ม เอ๊ย จิ๊บ เธอมีทริกในการทดสอบนักแสดงชายมือใหม่ ให้ลองเล่น อารมณ์ทั้ง 10 รวมเรียกว่า บัญญัติ 10 ประการ ดังนี้

เมียมา-เมาเหล้า-แซวหญิง- แทงหวย-เชียร์มวย-ถูกลอตเตอรี่-ปวดขี้-กลัวผี-ดีใจ-บ้านไฟไหม้

ของฝ่ายหญิงนั้นผมลืมถาม ใครเจอคุณจิ๊บซักเอาได้จากเจ้าตัว

"ยอมตาย ดีกว่าขายหน้า" บังดีน หรือ สุทธิพงศ์ นุ้ยสุชล เจ้าของวินแท็กซี่รับส่งนักท่องเที่ยวจึงกลายมาเป็น พี่เหว็งด้วยลูกบ้าเช่นนี้เอง

เอาละ ลูกน้องครบครันแล้ว มาว่ากันที่ลูกพี่บ้าง พี่จอนตัวไฮไลท์นั้นขอเก็บไว้ก่อน ลูกพี่เรือขุดใน มหา"ลัย เหมืองแร่ ยังมีอีกคน คือ พี่เลิศ ตัวละครตัวนี้ลุงอาจินต์บรรยายว่า เขาเป็นชายวัยกลางคนท่าทางแข็งแรง แต่งตัวเข้าท่า ทำงานจัด หน้าตาเคร่งเครียด ไม่กลัวใคร

นักแสดงที่รับบท พี่เลิศ ชื่อ สุวัฒน์ พรหมนะ เป็นเจ้าของกิจการขายเสื้อผ้าเคลื่อนที่ ตามตลาดนัดมือสอง ปกติวิ่งรอกระหว่างตลาดอรัญกับกระบี่

วันหนึ่งขณะสุวัฒน์กำลังจะขับรถไปขายเสื้อผ้าในตลาดนัด วันนั้นเขาบังเอิญเปิดวิทยุได้ยินประกาศต้องการรับนักแสดง เขาบอกเลิกพื้นที่ขายของ วกรถกลับมาที่บริษัท สามารถ มิวสิค แล้วมานั่งเขียนใบสมัครด้วยตัวเอง ข่าวว่าลีลาของคนคุมแผงจากอรัญในหนังนั้น เท่เหลือร้ายทีเดียว



"ยากที่สุด ต้องพี่จอน เพราะพี่เก้งบรีฟมาตามหนังสือคุณอาจินต์เป๊ะๆ แล้วคุณอาจินต์แกเขียนไว้ละเอียดมาก" จิ๊บเน้นเสียง ผมคัดลอกมาบอกต่อ "พี่จอน ลูกครึ่งฝรั่ง พ่อนอร์เวย์ แม่มลายู หัวล้านเหมือนลูกตำลึงสุกงอม ผิวขาวผ่องราวกับนางสาวไทย แต่ขนยับไปทั้งตัว รูปร่างเตี้ยมั่กกั๊ก มือใหญ่ นิ้วทู่ สวมนาฬิกามือขวา"

จิ๊บค้นหาพี่จอนมาตั้งแต่เชียงใหม่จรดแหลมมาลายู ก็ยังไม่เจอนายแห่งนายเรือขุดผู้นี้ จวบจนวันที่เธอไปช็อปปิ้งที่จตุจักร

พ่อค้ากางเกงยีนส์คนหนึ่ง นั่งกระดิกเท้าบัญญชาการแผงอยู่ หน้าตาครึ่งชาติ ตัวเตี้ย แขนโต ขนยุบ และนั่น...ใส่นาฬิกามือขวา!

"คุณจิ๊บเขาเดินมาแล้วรอบหนึ่ง เขามองผม" นิรันต์ ซัตตาร์ หนุ่มใหญ่ลูกครึ่งอิตาลี-ปาทาน เล่า "แล้วเขาก็เดินกลับมา แล้วเขาก็เดินไป แล้วเขาก็กลับมา คงคิดว่า เอาละวะ แล้วถึงเดินเข้ามา ยื่นนามบัตรให้"

เด็กในร้านนึกว่าเป็นลูกค้าพยายามมาช่วยสื่อสารให้ เพราะเห็นลูกพี่ตนนั่งเงียบ ปิดปากสนิท

มาดหนุ่มลูกครึ่งสูสีกันระหว่างน่ารักกับน่าชังในสายตาจิ๊บ "พี่เขาไม่พูดเลย ให้ลูกจ้างกรอกแบบฟอร์มนักแสดงให้ด้วย ถามอะไรก็ไม่ตอบ เราก็ชักไม่แน่ใจ" สุดท้ายจิ๊บเลยต้องกลั้นใจถาม

"ตกลงพี่จะเล่นหนังมั้ยคะ?"

นิรันต์ ผู้มีชื่อเล่นจริงๆ ว่า จอห์น ละม้าย พี่จอน ตอบเรียบๆ อย่างไว้ท่าว่า

"เล่น"



เมื่อครั้งลุงอาจินต์ได้มีโอกาสพบนักแสดง มหา"ลัย เหมืองแร่ เป็นครั้งแรกนั้น แกออกจะตกใจอยู่ที่ บี-พิชญะ นักเรียนชีววิทยาที่มาเล่นเป็นตัวแกสมัยเรียนวิศวะ สูงตั้ง 185 เซ็นฯ เพราะตัวแก หายใจเข้าสุดปอด แอ่นอกเต็มที่ ก็ยังวัดส่วนสูงได้แค่ 155 เซ็นฯ เท่านั้น

ผมผู้ซึ่งสูงกว่า 155 แต่ยอมแพ้ ยกบทอาจินต์ให้หนุ่มหน้าอ่อนของพี่เก้งไปแล้ว ลุ้นแทบขาดใจ อีตอนที่พี่เก้งหันไปถามลุงอาจินต์กลางเวทีแถลงข่าวว่า อาจินต์ 2548 เหมือน อาจินต์ 2492 ไหม

"เป็นไงครับพี่อาจินต์ เหมือนไหม" ผมนับถือใจนักเลงของพี่เก้งมาจนวันนี้

"ไม่เหมือน..." เงียบกันไปทั้งฮอลล์

"ไม่เหมือน...แต่ใช่"

หลายวันต่อมา ลุงอาจินต์ได้ดูตัวอย่างหนัง มหา" ลัยเหมืองแร่ แกบอกผมว่า

"ดูตัวเองแล้วสะดุ้ง"

นายฝรั่ง 2492 กับ นายฝรั่ง 2548


ในจอ พี่เลิศคือนายเรือขุดคนใหม่ นอกจอ พี่เลิศคือนายแผงเสื้อโรงเกลือ


(จากซ้าย) พี่ก้อง พี่จอน พี่หวัง สามขุนพลเอกแห่งเหมืองแร่ ชีวิตจริงเป็นกัปตันบาร์เบียร์, เจ้าของแผงยีนส์จตุจักร และ วินแท็กซี่จากกระบี่ ตามลำดับ


จิ๋มใหญ่


------------------------------------------------------------
ฉบับที่ 1292
วันที่ 20 พฤษภาคม 2548
โดยคุณ :picmee - [1:43:06  31 พ.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 3
ตามรอยเหมืองแร่ (4:ตอนจบ) - ความหลังที่หวงแหน


การเดินทางตามรอยเหมืองแร่มาถึงก้าวสุดท้ายแล้ว ผมเก็บภาพประทับใจเอาไว้ทั้งในหัวและในกล้อง Digital จนเต็มปรี่ สมัยนี้กล้องตัวบางจิ๋วสามารถบันทึกภาพได้เป็นร้อยๆ ผิดกับรุ่นพ่อ รุ่นปู่ที่อัตราจุของเครื่องมือเก็บความประทับใจนั้นอัตคัดกว่า

คืนสุดท้าย พวกเราชาวตามรอยฯ ทั้ง 7 นัดสั่งลาทัวร์เหมืองแร่ 3 วัน 2 คืนกันที่อ่าวนาง เรานั่งฟังทะเลซัดหาดทรายยาวเหยียด สลับกับการแลกเปลี่ยนความหลังที่มีต่อการทำงานในกองถ่าย "มหา'ลัย เหมืองแร่" ต่างคนต่างสะสมมา ไม่เท่ากัน สุดแต่ใครลงแรงลงเวลาไปหนักหน่วงกว่า แต่ที่น้อยกว่าใครเพื่อนเห็นจะเป็นผมอย่างไม่ต้องสงสัย ผมจึงอาสาทำหน้าที่ผู้ฟังที่ดีและผู้เล่าต่อในที่นี้

บรรพตไกด์หนวดกุ้งของคณะประทับใจตอนเอก เอี่ยมชื่นโกยอ้าวหนีน้ำป่าตาเหลือก กับตอนที่รู้ว่าลุงอาจินต์จะแวะลงไปเยี่ยมกองถ่ายเมื่อตุลาปีกลายเป็นพิเศษ เหตุการณ์แรกเขาชอบเพราะได้เห็นลูกพี่หน้าซีดตกใจปาฏิหาริย์น้ำป่าที่รวมใจมาเข้าฉากให้ฟรีจนล้นตลิ่ง ส่วนเหตุการณ์หลังคิดทีไรก็ขำตัวเองกับเพื่อนร่วมทีมอาร์ตที่กลัวลุงอาจินต์ลนลาน ขนาดหลบไปภาวนากันอยู่หลังฉาก

"สวดว่าอะไรครับพี่" ผมสู่รู้

"ขอร้องอย่ามาเลย แก้แน่ๆ กู" บรรพตเรียกเสียงฮาได้ลั่นวง

ฝ่ายสุวิมล Line Producer ติดใจเหมืองร้างแห่งหนึ่งในภูเก็ตชื่อ เหมืองเจ้าฟ้า เข้าใจว่าเป็นความชื่นชอบอันเกิดจากวิญญาณโปรดิวเซอร์ ประเภททะเลเรียกพี่ คือถูกใจที่ได้หยิบยืมอุปกรณ์มาเข้าฉากโดยไม่เสียสตางค์ "ทุกอย่างมันยังวางอยู่ที่เดิมหมด เหมือนกับเหมืองเลิกแล้วทุกคนก็เดินออกไปตัวเปล่า ทิ้งข้าวของอยู่ครบมาจนเดี๋ยวนี้" คนที่โลดโผนหน่อยก็ชอบวินาทีที่เรือขุดหักต่อหน้าต่อตา นักแสดงและทีมงานโดดน้ำหนีตายจ้าละหวั่น

แต่คืนนั้นพวกเราต่างลงคะแนนว่า สุดยอดความประทับใจอันดับหนึ่งจากการกรำงานหนักตลอด 3 เดือนของการถ่ายทำ มหา"ลัย เหมืองแร่ ต้องยกให้ การค้นพบสมุดภาพเก่าแก่สองเล่ม

มันเป็นสมุดภาพที่ถูกเก็บรักษาอย่างดีมาตั้งปี 2497 ขนาดเท่าสมุดวาดเขียนเล่มโตๆ ภายในบรรจุกรุภาพขาว-ดำ จำนวนนับร้อยภาพ ปกเป็นลายแถบเขียว เหลือง แดง คล้ายสีบนกลักฟิล์มโกดัก

หน้าแรกเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า

"The Memory of Krasom Tin Dredging"

หน้าถัดมา เป็นรูปของชายหนุ่มคู่หนึ่ง ด้านหลังมีลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัดกำกับว่า "BAMRUNG & ACHIN" อ่านว่า "บำรุง แอนด์ อาจินต์" ลงวันที่ 8 เมษายน 2494

ภาพจริงของลุงอาจินต์และเหมืองกระโสม ปรากฏขึ้นกลางกองถ่าย โดยไม่มีใครรู้เนื้อรู้ตัว

ราวกับรู้คุณค่าของตัวเองว่า มันเป็นมรดกที่จะเรียกน้ำตาแห่งความเชื่อมั่นและศรัทธาของทีมงานให้แรงกล้าขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ



เราไม่ไปหามัน มันเลยมาหาเรา

ธวัช ณ นคร เป็นเด็กพังงาโดยกำเนิด อายุเพิ่ง 19 ปี จึงไม่ทันเห็นเหมืองแร่ของจริง

วันหนึ่งพ่อของเขาเหน็บใบสมัครนักแสดงมาจากศาลากลางจังหวัด บอกให้ไปลองทดสอบดู จากนั้นก็ควักเงินให้ไปถ่ายรูป ธวัชลังเลอยู่สักพัก เพราะไม่เคยคิดอยากเล่นหนัง และไม่รู้ด้วยว่าหนังที่พ่อส่งเข้าประกวดเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร

ระหว่างรอทดสอบการแสดง ทีมงานเล่าให้เขาฟังว่า มหา"ลัย เหมืองแร่ เป็นเรื่องของเหมืองกระโสม เหมืองเก่าใน อ. ตะกั่วทุ่ง นี่เอง วันนั้นเขาผ่านการแคสติ้ง โดยได้รับเลือกให้รับบท ไอ้หวน เด็กกรรมกรเรือขุดซึ่งคอยวิ่งซื้อโกปี๊ (กาแฟ) ให้พี่จอน

วันต่อมาเป็นวันเวิร์กช็อป นักแสดงจะได้ลองซ้อมจริงกับฉาก ธวัชตะลึงกับฉากที่ทีมงานสร้างขึ้นมามาก ความใหญ่โตสมจริงสมจัง นั่นประการหนึ่ง เรือขุด ออฟฟิศ โรงล้างแร่ โรงกาแฟ ไม่เหมือนสิ่งก่อสร้างปลูกใหม่ เขารู้สึกคล้ายเคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาแล้ว แต่ยังไม่กล้าบอกใคร

กลับมาบ้านคืนนั้น เขารีบไปขอยืมสมุดภาพจากปู่ สมุดภาพสองเล่มนี้อยู่ในบ้านเขามาตั้งแต่จำความได้ ไม่คิดว่าจะสำคัญอะไร แต่เมื่อได้มาพลิกพินิจให้ถนัดอีกรอบ เขาก็แน่ใจว่า รูปเหมืองแร่ที่บรรจุอยู่ภายในเป็นหนึ่งเดียวกันกับ เหมืองแร่ของกองถ่ายภาพยนตร์ ทั้งสถานที่ คือ เหมืองกระโสมทิน เดรดยิ่ง และ เวลา คือ หลังสงครามโลก ช่วงปี 1949-1953 หรือเทียบเท่ากับ พ.ศ.2492-2496 ซึ่งแฟนหนังสือ เหมืองแร่ คงจำกันได้แม่นว่ามันคือ 4 ปีที่ลุงอาจินต์เอาชีวิตไปหั่นในเหมืองแร่พอดิบพอดี

ภาพขาว-ดำ ที่ล้างอัดเก็บเข้าเล่มไว้อย่างดีทั้งหมด ถ่ายด้วยฝีมือคุณทวดของเขา มันเป็นสมบัติหวงแหนที่คุณทวดสั่งเสียไว้ว่า ห้ามนำออกจากบ้านเป็นอันขาด

ดังนั้น ไม่ว่าธวัชจะรบเร้าปู่ของเขาอย่างไร โสภณ ณ นคร บุตรชายของ บำรุง ณ นคร เสมียนใหญ่ฝ่ายต่างประเทศของเหมืองกระโสม ก็ไม่ยอมให้เหลนเอาสมบัติสุดรักของทวดไปให้กองถ่าย

ธวัชรู้สึกว่าอาจเป็นคุณทวดที่เป็นแรงดลใจให้เขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับรู้การทำงาน รับรู้กิจวัตรของคนเหมืองแร่ เขาผู้ซึ่งเป็นข้อต่อของความหลังอายุ 50 ปีกับปัจจุบัน มีหน้าที่ต้องเปิดเผยมัน ธวัชสัญญากับปู่ว่าจะขอยืมความหลังของคุณทวดเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ปู่จึงยอมอ่อนข้อ

เขารีบคว้าสมุดภาพสองเล่มใหญ่ โดดขึ้นมอเตอร์ไซค์

ตรงไปร้านซีร็อกซ์ !



"คุณโสภณเคยอ่านเรื่องเหมืองแร่หรือเปล่าครับ ?"

ผมถามขึ้น เมื่อธวัชนำคณะตามรอยฯ ของเราไปคุยกับคุณโสภณ ปู่ของเขา

สองแขนของผมหอบกระดาษซีร็อกซ์ภาพเหมืองกระโสมไว้แน่น ฝ่ายคุณโสภณมีสมุดภาพเหมืองกระโสมเล่มจริงที่ผมตามมาขอพิสูจน์ให้เห็นกับตาตัวเอง

"ผมเป็นแฟนเหมืองแร่มาตั้งแต่ลงในชาวกรุง ตามอ่านมาเรื่อย" ผู้ครอบครองภาพประวัติศาสตร์คนปัจจุบันเล่า

สมัยเด็กคุณโสภณเคยไปเที่ยวที่กระโสมเวลาปิดเทอม เพราะคุณป๋า (สรรพนามที่คุณโสภณเรียกคุณพ่อบำรุง) มีบ้านพักอยู่ที่นั่น เสาร์อาทิตย์จึงถีบจักรยานกลับมาบ้านที่ในตลาด แม้มีโอกาสสัมผัสกับเหมืองกระโสมเพียงไม่นานเหมืองก็ล่ม แต่การเก็บรักษาภาพชีวิตแทนคุณพ่อมาอย่างยาวนาน ทำให้คุณโสภณมีความหลังผูกพันกับเหมืองแร่ไม่น้อย

"น้อยใจอย่างเดียว ทำไมคุณอาจินต์ถึงไม่เคยเขียนถึงคุณป๋าเลย ? " ผมอ้ำอึ้ง ดูจากรูปคุณบำรุงกับลุงอาจินต์น่าจะรักใคร่ชอบพอกันมาก ทำไมลุงจึงละเลยรุ่นพี่เหมืองผู้นี้ ผมจนคำตอบ

คุณโสภณเล่าว่า คุณบำรุงเป็นลูกข้าราชการชั้นสูงในจังหวัดพังงา เป็นนักเรียน ม.8 สวนกุหลาบฯ มีความรู้ภาษาอังกฤษสูงมาก เพราะมีฝรั่ง 3 คนเป็นครู วิชาการแปลและการล่ามจึงติดตัวเรื่อยมา จบ ม.8 ก็ไปเรียนภาษาต่อที่ปีนัง (สิงคโปร์) ก่อนจะมาสมัครทำงานที่เหมืองเหนือเป็นแห่งแรก

"คุณป๋าทำงานเป็นศุลกากรก่อนจะย้ายมาเป็นเสมียนเหมืองแร่ที่เหมืองเหนือ จากนั้นก็มาเป็นล่ามที่เหมืองกระโสม และเหมืองพังงา ทิน (บริษัทใต้) เป็นที่สุดท้าย กระทั่งอายุมากจึงลาออกมาอยู่บ้าน ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคก้อนเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อ 30 ปีมาแล้ว"

ความเป็นนักเล่นกล้องของคุณบำรุงนั้น เลื่องลือทั่วพังงาและภูเก็ตมาตั้งแต่เป็นหนุ่ม ยามว่างจะออกมาถ่ายรูปตามที่ต่างๆ ตอนแรกคุณบำรุงมีกล้องเล็กของญี่ปุ่น วันหนึ่งนายฝรั่งมาเจอเข้า ความที่นายฝรั่งเคยเป็นเชลยศึกญี่ปุ่นสมัยสงครามโลก แกเกลียดญี่ปุ่นเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเห็นกล้องเมด อินอาทิตย์อุทัยอยู่ในเหมือง แกเลยขอไปขว้างทิ้ง บอกจะซื้อตัวใหม่ให้

แล้วกล้อง KODAK MEDALIST II รุ่น verichome kodacoler Infrad Film no 620 ผลิตโดยบริษัท Eastman Kodak co,ในอเมริกาซึ่งนายฝรั่งสั่งตรงมาจากออสเตรเลียก็ตกมาถึงมือคุณบำรุง

กล้องใหญ่ตัวนี้มีน้ำหนักคร่าวๆ ประมาณ 3 กิโล โฟกัสของกล้องเป็นกระจกสะท้อนในวิวไฟเดอร์เล็กๆ ซ้อนกันสองใบ หากเวลาถ่ายโฟกัสภาพบนและภาพล่างไม่ต่อกันเป็นรูปเดียว ภาพที่ถ่ายออกมาก็จะไม่ชัดเจน

กล้องอเมริกันตัวนี้คุณบำรุงติดตัวตลอด ใช้บันทึกการทำงาน สถานการณ์และความคืบหน้าของเหมืองเสนอนายฝรั่งบ้าง บันทึกภาพชีวิตของคนงานเหมืองกันเองบ้าง ในจำนวนนั้นมีลุงอาจินต์วัยหนุ่มเก๊กท่าเป็นนักเลงอยู่กับเขาด้วย

นั่น นายฝรั่งกับน้องชายมิสเตอร์ทอม - นั่น คนงานเหมืองซ่อมสะพานข้ามลำธาร - นั่น บันไดบั๊กเก็ตเรือขุดหัก - นั่น เรือขุดล่มเอียงเทเร่จมน้ำ

ความทรงจำเรื่องเหมืองแร่ทั้ง 142 ตอนของลุงอาจินต์กลายเป็นภาพประกอบคมชัดตรงหน้าผม ผมเปิดผ่านหน้าต่อหน้า เหมือนเดินผ่านอดีต

ตอนนี้ผมนั่งอยู่ในบ้านคุณบำรุง แต่ท่านเสียไปแล้วนานหลายสิบปี เหมืองกระโสมสูญหายไปกับกาลเวลา ผู้คนที่เคยมีชีวิตโลดแล่น เหลือแต่ภาพขาว-ดำ ในสมุดเล่มแข็ง

เย็นนั้นผมลากลับโดยมอบเรื่องเหมืองแร่ครบชุดให้คุณโสภณไว้เป็นที่ระลึก ระหว่างทางมุ่งสู่เมืองกรุง ผมหยิบหนังสือเหมืองแร่ขึ้นมาอ่านซ้ำอย่างละเอียดอีกเที่ยว

ผมพบย่อหน้านี้ในตอน ฝูงชนกำเนิดคล้ายคลึงกัน

"พี่สวัสดิ์ เสมียนออฟฟิศของเรา เป็นผู้มีสกุลชั้นดีเยี่ยมของจังหวัด นามสกุลของแกขึ้นต้นว่า ณ ... พี่สวัสดิ์อายุ 47 ปี แกเป็นความภูมิใจในเหมืองของเรา แกเก่งรอบตัว งานแปล งานล่าม งานคิดภาษีเงินได้ คิดเงินเดือน จนกระทั่งงานอดิเรกของแกคือเล่นแก้วิทยุและถ่ายรูป ล้างอัดขยายเท่ามืออาชีพ บัดนี้ทุกคนทั้งในเมือง ในอำเภอ ในจังหวัดเรียกแกว่าคุณ ญาติๆ เรียกแกว่าพี่หรือน้องแล้วแต่การเทียบวัย"

หวังว่าคุณโสภณอ่านแล้วจะคุ้น



คุณบำรุงเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ลุงอาจินต์นับถือที่สุด นับถือทั้งความรู้และนับถือน้ำใจ คุณบำรุงนั้นเลี้ยงข้าวปลาอาหารลุงอาจินต์ทุกมื้อ กระทั่งลุงอาจินต์เกรงใจจนหนีไปกินข้าวกับคนยาม

"ผมไม่ต้องการเขียนเรื่องของพี่บำรุงเพราะว่า พี่บำรุงเป็นคนมีเกียรติมาก ผมมีแต่ความคารวะที่เขียนอยู่ในใจ" ลุงอาจินต์ให้คำตอบแก่ผม เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ

นับถือจนไม่เขียน เข้าใจไหม ?

ก่อนหน้าผมจะเดินทางไปพังงา 1 วัน ลุงอาจินต์เรียกให้ผมแวะไปหา แกอ่านพบบทสัมภาษณ์ของพี่เก้ง-จิระที่ว่าเจอภาพเก่าเหมืองกระโสม เป็นสมบัติสุดหวงของเสมียนเหมืองแร่คนหนึ่ง ภาพชุดนี้ ตัวแกเองก็ไม่เคยเห็น (ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้เห็น เนื่องจากพี่เก้งกะเก็บไว้เซอร์ไพรส์ลุงอาจินต์ในหนัง)

บำรุง ณ นคร เป็นชื่อเดียวที่นึกออก

แกถามผมว่าสามารถค้นหาบ้านพี่บำรุงของแกได้หรือเปล่า ถ้าพบฝากจดหมายให้ด้วย

ก่อนมอบให้ทายาทคุณบำรุง ผมแอบเปิดจดหมายนั้นออกด้วยความเคารพ ผมอ่านและค่อยแอบปิดซองอย่างมีมารยาท ฝากฝังคุณโสภณให้ช่วยเหน็บจดหมายลุงอาจินต์ไว้คู่กับสมุดภาพชุดนั้นเสมอ

กราบพี่บำรุงที่เคารพรัก

ผมเพิ่งทราบว่าพี่บำรุงได้ถ่ายรูปความเป็นไปในเหมืองกระโสมให้พวกถ่ายหนังได้ดู รูปเรือขุด, นายฝรั่ง, พี่จอน, และคนต่างๆ ที่ตำบลกระโสมของเรา ผมอยากได้ภาพเหล่านั้นมาเป็นภาพประกอบเหมืองแร่ที่ผมเขียน อย่างน้อยให้ผมขอยืมมาก๊อปปี้รูปเรือขุดแร่ของเรา หลายๆ มุม หลายๆ ช็อต ก็จะเป็นพระคุณแก่ผมอย่างยิ่ง ผมยังนึกถึงพระคุณพี่บำรุงที่เลี้ยงข้าวเย็นแก่ผมเสมอ ผมขอภาวนาให้พี่บำรุงมีสุขภาพดีและขอให้ครอบครัวมีความสุขตลอดกาล

กราบมาด้วยความเคารพ

อาจินต์ ปัญจพรรค์

ถึงลุงอาจินต์ครับ คุณบำรุงฝากรูปเหมืองแร่มาให้แล้วครับ

ถึงคุณบำรุงครับ ภาพถ่ายของคุณบำรุงกำลังจะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วครับ

กราบมาด้วยความเคารพ

วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์

------------------------------------------------------------
ฉบับที่ 1293
วันที่ 27 พฤษภาคม 2548
โดยคุณ :picmee - [1:45:56  31 พ.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 4
ขออนุญาต และขอขอบคุณ

วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ - เรื่อง
รวมพร ถาวรอธิวาสน์ -ภาพ
และมติชนสุดสัปดาห์ ไว้ ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ
โดยคุณ :picmee - [1:47:45  31 พ.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 5
ยาวจัง - -'
โดยคุณ :akejung - [22:55:54  31 พ.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 6
ขอบคุณที่เอามาฝาก ^_^
โดยคุณ :akejung - [23:02:39  31 พ.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 7
ขอบคุณพี่ picmee ครับ...

หนังเรื่องนี้ภาพสวยมาก ... ชอบจัง
โดยคุณ :เด็กน้อยไม่ยอมเรียน - [9:24:36  1 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 8
"นายฝรั่งให้บ้านพักบนควนกับอาจินต์ บ้านพักผีดุ แต่อาจินต์กินเหล้ามาก กินแล้วไม่กลัวผี แกจบมหาวิทยาลัยมา แกไม่กลัวผี"
------------------------------------------------------------
ฉบับที่ 1289
วันที่ 29 เมษายน 2548


ก๊ากกกกก...

อยากตอบมากกว่านี้ แต่ยังอ่านไม่จบ
โดยคุณ :- [17:01:52  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 9
ดูภาพสวยๆแล้ว มาดูภาพไม่สวยบ้าง
เมื่อกี้ไปโลตัสบางกะปิมา
เค้ามีงานนี้

โดยคุณ :ทีฯ - [17:03:54  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 10
...
โดยคุณ :- [17:06:23  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 11
ตลกทั้งในจอนอกจอ
โดยคุณ :- [17:08:29  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 12
พี่จอนผมดก

โดยคุณ :- [17:09:08  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 13
นอกจอเธอก็แย่งซีน

โดยคุณ :- [17:09:46  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 14
ที : "แฟนคลับเยอะแล้วสิ"
บี : [ถ่อม]"ยังไม่มีเลยครับ"[/ถ่อม]
ที : "ในpantipก็ไม่เบานะ"
บี : "ผม..ไม่ค่อยได้เดินเข้าไปดู"
ที : "..."

ชั้นไม่ได้หมายถึงพันธุ์ทิพย์พลาซ่าประตูน้ำ TT



โดยคุณ :- [17:14:56  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 15
เสื้อเหมืองแร่ ของจริงต้องคอย้วยทุกตัว
ตอนนี้ได้ข่าวว่า มีขายที่ร้านพี่จอน สวนจตุจักรโครงการ 16

โดยคุณ :- [17:37:29  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 16
อ๊ากกกส์ .... น้องบี
ตาร้อนผะผ่าว
โดยคุณ :akejung - [20:37:47  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 17
พี่เอก ถ้าสนใจน้องบี
น้องสนเค้าบอกให้ดูรายการ"โอ้โห" หรือ "อู้หู" นี่แหละ ช่องitv น้องสนประชาสัมพันธ์ให้เสร็จ ว่าสนุกมาก
อีกรายการก็ "คอซองส์เกม" ช่อง 5
ไม่รู้ว่ามาวันไหนบ้าง

ถ้าดูแล้วมีแต่น้องสน ไม่มีน้องบี ..อันนี้เรียกไอ้ไข่แย่งซีน
โดยคุณ :น้องทีฯ - [22:25:44  4 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 18
ขอบใจจ้า ^^
โดยคุณ :akejung - [13:48:22  5 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 19
ดูรูป คห. ที่ ๑๕ แล้ว...หยั่งกะรูปแอบถ่าย :-P
โดยคุณ :The แป้ก - [11:11:01  6 มิ.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 20
...พังางา(แร่)หมื่นล้าน  บ้านกลางน้ำ  ถ้ำงามตา ภูผาแปลก  แมกไม้จำปูน  บริบูรณ์ทรัพยากร...

เดี๋ยวนี้...

...แร่หมดฉาด  ตลาดเงียบเหงา  ภูเขาหัวโล้น หวยหุ้นเต็มเมือง เปลืองผู้ว่า     พม่าก่าเอ...
โดยคุณ :ชาวพังงา - [19:34:05  4 ต.ค. 2550]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
รูปภาพ :

รายละเอียด

อาการ :



กรุณาคลิก "ส่งข้อมูล" เพียงครั้งเดียวครับ....