กระดานความรู้สึก


เหตุการณ์ประหลาดรึเปล่าน้า??
เมื่อ 2-3 วันก่อนเราคิดอะไรเล่นๆว่าคนไทยรู้จักการซื้ออาหารนอกบ้านมาทานตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นพวกขนมหรืออะไรก็ตามในเมื่อคนสมัยก่อนไม่ต้องเร่งรีบเหมือนทุกวันนี้ จะทำกินเองก็ได้ ใครกันหนอเป็นคนคิดว่าอาหารที่ตัวเองกินอยู่สามารถขายให้คนอื่นกินได้ด้วย

และเมื่อวาน นสพ.ไทยรัฐ เหมือนได้ยินความคิดของเราเลยลงประวัติการขายข้าวแกงของประเทศไทย

น่าประหลาดมาก เหมือนกับว่าตัวเองเคยเจออะไรแบบนี้อยู่หลายครั้งเหมือนกัน แบบอยากรู้แต่ไม่รู้จะถามใครอีกไม่กี่วันก็ได้คำตอบแบบคาดไม่ถึง
โดยคุณ : m&m - [13:17:21  29 ก.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 1
แล้วใครเป็นคนคิดคนแรกค่ะ....

อยากรู้ด้วย...^_____________^
โดยคุณ :เด็กน้อยไม่ยอมเรียน - [16:13:16  29 ก.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 2
ไม่ทราบว่าประหลาดไหมแต่ก็เคยเป็นเช่นกันครับ คล้าย ๆ กันในหลายกรณี อย่างครั้งหนึ่งเมื่อตอนอยู่ไกลบ้านไกลเมือง เห็นร้านอาหารไทยเยอะแยะ แล้วก็นึกว่าใครกันหนอมาเปิดร้านอาหารไทยในต่างแดนนี้เป็นเจ้าแรก ไม่นานนักนิตยสารรายเดือนของคนไทยที่นั่นก็มีประวัติว่าใครเป็นผู้มาตั้งร้านอาหารไทยเป็นคนแรก ณ แดนไกลนั้น
โดยคุณ :อดยฯ - [19:30:36  29 ก.ย. 2548]

ความคิดเห็นที่ 3
ข้าวแดงแกงร้อน

สำนวนข้าวแดงแกงร้อน มีความหมายให้นึกถึงคุณเจ้านายที่มีข้าวให้กิน เจ้านายสมัยโบราณกินข้าวขาว ส่วนพวกไพร่หรือชาวบ้านมักกินข้าวแดงครับ

แกงร้อน...ส.พลายน้อย อธิบายไว้ในหนังสือกระยานิยาย ไม่ได้หมายความว่า คนกินข้าวแดงแล้วก็ต้องกินแกงร้อน เป็นเพียงคำคล้องจองเท่านั้น

คำแกงร้อน ไม่ใช่แกงส้มแกงคั่วที่กำลังร้อน เพราะทำเสร็จใหม่ๆ

วุ้นเส้น...คนสมัยแม่ผม เรียกเส้นแกงร้อน สมัยรัชกาลที่ 1 ชาวบ้านนิยมทำถวายพระ มีหมายรับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาชามไปรับแกงร้อนจากเจ้าคุณข้างใน ซึ่งหมายถึงคุณเสือ

วันเวลาเปลี่ยนไป วันนี้แกงร้อนที่ติดอยู่กับคำว่าข้าวแดง กลายเป็นแกงจืดวุ้นเส้น มีเห็ดหูหนูหมูสับไปเสียแล้ว

มาถึงคำว่าข้าวแกง...ร้านขายข้าวแกงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีจดหมายเหตุว่า “ร้านชำหุงข้าวแกงขายคนราชการ” เห็นจะมีอยู่ใกล้พระราชวัง

ส.พลายน้อยสงสัยคำว่าข้าวแกง แสดงว่ามีข้าวกับแกงเป็นหลัก แต่จะตักขายกันแบบไหน ใช้คำว่าข้าวราดแกง ฟังดูก็แปลก น่าจะเป็นแกงราดข้าวมากกว่า

สมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้นไม่น่าจะมีร้านข้าวแกง สมัยรัชกาลที่ 2 มีโรงทานแจกอาหารคนยากจน ถึงรัชกาลที่ 3 ข้าราชการทำงานในพระบรมมหาราชวัง ก็พลอยรับเลี้ยงไปด้วย

รูปแบบร้านข้าวแกงจริงๆ คงจะมีในสมัยรัชกาลที่ 5

หนังสือพิมพ์ยุคนั้นเคยลงข่าวตาเพ็งแม่พุก ตั้งร้านขายข้าวแกงอยู่ที่สี่แยกบ้านหม้อ ไม่ใช่เพิงขายข้าวราดแกงริมถนน แต่เป็นร้านสำหรับคนชั้นสูง จัดอาหารเป็นสำรับ

ถ้าเป็นสำรับไม้หรือโต๊ะไม้ จัดกับข้าวหลายอย่าง แกง 1 ถ้วย ผัด 1 จาน น้ำพริก 1 ถ้วย ผัก 1 จาน ปลาย่าง 1 จาน พร้อมข้าวสำหรับคนกิน 2-3 คน นั่งบนเสื่อกระจูด

ราคาโต๊ะไม้แค่ 1 สลึง

สูงขึ้นไปอีกระดับเป็นโต๊ะทองเหลือง เพิ่มแกงเผ็ดหรือแกงจืด ใส่ในโตกหรือพานทองเหลืองขนาดใหญ่ ปูที่นั่งด้วยพรมเจียม มีกระโถนและขันน้ำทองเหลืองวางไว้ นี่คือโต๊ะของคนภูมิฐานมีอันจะกิน

ราคาโต๊ะละ 2 สลึง

ทุกวันจะมีลูกค้าไปอุดหนุนร้านข้าวแกงนี้มากมาย ตาเพ็งยายพุกร่ำรวยถึงขนาดมีเงินไปสร้างวัดไว้ที่บ้านเกิด บ้านบ่อโพง อยุธยา ชื่อว่าวัดราษฎร์บำเพ็ง

ส.พลายน้อยเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ครับ บ่นว่าข้าวแกงแพงขึ้นทุกวัน จานละบาท เป็น 5 บาท เป็น 10 บาท หากข้าวแกงแพงอย่างนี้ ต่อไปอาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็นข้าวน้ำแกง...

วันนี้น้ำมันลิตรละเฉียด 30 บาท ถ้าปู่ย่าตาทวดสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านกระจกแบบในเรื่องทวิภพ ของเจ๊ทมยันตี ย้อนกลับมาซื้อกาแฟยี่ห้อดังศูนย์การค้าแก้วละ 120 บาท ท่านคงตกใจ

วิ่งไปหากระจก ขอกลับไปอยู่ในภพเก่า

ภพที่เมืองไทยยังไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน ในน้ำยังมีปลา ในนายังมีข้าว ข้าวแกงสำรับละสลึง 2 สลึง แม้ชีวิตจะไม่ศิวิไลซ์สักเท่าไหร่ แต่กลิ่นอายดูยังไงๆ ก็น่าอยู่กว่า

กินข้าวแดงแกงร้อนไม่ใส่ชูรสสมัยโบราณ มีบุญคุณติดหัวใจ...ไม่เหมือนข้าว...ราดแกงสมัยนี้...คงไม่มียาง กินแล้วไม่ติดใจ อาจเป็นเพราะเจ้านายสมัยนั้น ท่านไม่โกง.

"กิเลน ประลองเชิง"
โดยคุณ :m&m - [15:03:56  2 ต.ค. 2548]

ความคิดเห็นที่ 4
เหตุการณ์แบบนี้ผมเคยเป็น 25 ปีที่แล้ว  ประเทศไทยยังไม่มีมือถือ(โทรศัพท์) แต่ผมฝันเห็นเรื่องโทรศัพท์แบบเติมเงินประจำ เวลาผ่านไปประมาณปี 2535 ประเทศไทยเริ่มมีมือถือ
โดยคุณ :น้ำนิ่งคุง - [6:43:50  25 พ.ย. 2551]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
รูปภาพ :

รายละเอียด

อาการ :



กรุณาคลิก "ส่งข้อมูล" เพียงครั้งเดียวครับ....