กระดานความรู้สึก


มาแปะคะ ......จาก nation สุดสัปดาห์a day สอนน้อง ...มหา"ลัยชีวิตคนรุ่นใหม่..............โดย ภาวินี อินเทพ
มาแปะอีกแล้วคะ อาทิตย์ละครั้ง
ชอบอ่าน เนชั่นสุดสัปดาห์ และ มติชนสุดสัปดาห์
เห็นอะไรที่เกี่ยวข้องก้เลยเอามาฝาก เบื่อป่าวไม่รุ......
เชิญอ่านตามสะดวก
********************************

a day สอนน้อง
มหา"ลัยชีวิตคนรุ่นใหม่

ไม่ว่าบทความ เรื่อง "a day และ Summer นิตยสารทางเลือกที่อันตราย" และชื่อของผู้เขียนอย่าง "ธดา" จะสั่นสะเทือนแวดวงคนวรรณกรรม คนทำหนังสือ รวมไปถึงชาวเน็ตทั้งหลายมากเพียงใดก็ตาม

ทว่า กว่า 2 สัปดาห์แห่งวิวาทะอันคุกรุ่นระหว่างรุ่นเหล่านั้น กลับไม่มีเสียงโต้ตอบหรือการแถลงข่าวตอบโต้ใดๆ จาก a day ทั้งสิ้น เพราะ 7 ชีวิตของ a team อันนำโดย บก.โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ อยู่ระหว่างการเดินตามแผนงานที่วางไว้อย่างแน่วแน่ ด้วย a day Poets Society หรือโครงการสอนนอกตำรา ว่าด้วยวิชาที่จะหาไม่ได้ในรั้วมหา"ลัย นั่นเอง

แรกเริ่มเดิมทีของโครงการ เนื่องจาก บก.อะเดย์ มีคิวเดินสายไปพูดให้ความรู้ตามมหา"ลัยต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่วันหนึ่งก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ถ้าทำเช่นนั้นต่อไป ก็จะมีเพียงนักศึกษากลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้เข้าฟัง จึงคิดเปิดโครงการนี้ขึ้นมา ประกอบกับมองเห็นความใฝ่ดีของเด็กรุ่นใหม่ในความพร้อมที่จะรับหน่ออ่อนทางความคิดก่อนออกไปผจญโลกต่อไป

โครงการนี้ จึงประกาศรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นหลัก โดยให้แต่ละคนแสดงความตั้งใจจริงที่จะเข้าร่วมฟัง ถกเถียง และพูดคุย ผ่านไปรษณียบัตรมา ผลปรากฏว่ามีไปรษณียบัตรกว่าพันใบพุ่งตรงไปยังสำนักงาน เดย์อาฟเตอร์เดย์ ในที่สุด หลังจากความลำบากใจในการคัดเลือกเป็นที่สุด จากเดิมที ที่คิดจะเปิดรับเพียง 30 คน และมีโครงการเดียวจบแล้วจบเลย ก็ขยายถึง 4 โครงการ และประเดิมรุ่นแรกกว่า 60 คน

""ผมเพียงแต่คิดว่าสิ่งที่ผมกับคนในสาขาอาชีพต่างๆ ได้บอกเล่าไป น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กเหล่านี้ได้ แล้วจะดีมากถ้าเขาเอาแรงบันดาลใจนั้นไปเผยแพร่ต่อ""

โครงการเปิดสอนนอกตำราแบบวันเดียวจบนี้ ไม่มีการละลายพฤติกรรมก่อนเข้าห้องเรียน เมื่อเข้าห้องเรียน ก็แล้วแต่ใครจะกล้าถาม จะไม่มีการบังคับเด็ดขาด

ภายใต้การตั้งข้อสังเกตที่ว่า สังคมไทยไม่มีฮีโร่ในความคิดหรือแบบอย่างที่หลากหลายให้กับวัยรุ่น เมื่อถูกปลูกฝังด้วยสื่อที่มักให้ค่ากับสิ่งไร้สาระมากเกินไป แบบอย่างของวัยรุ่นจึงไม่ได้มีมากไปกว่าคนในแวดวงบันเทิงดารานักร้อง ทั้งๆ ที่แบบอย่างที่ดียังมีอีกมาก ดังนั้น เพื่อจะบอก "ศิษย์อะเดย์" รุ่นแรกและรุ่นๆ ต่อไปว่า สิ่งที่อะเดย์นำเสนอไปนั้น น่าจะเป็นทางหนึ่งที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นพบความต้องการภายในของแต่ละคนได้

""จะดีใจมากถ้าสิ่งที่แต่ละคนพูดไป สร้างแรงบันดาลใจให้แต่ละคน สามารถไปครุ่นคิดใคร่ครวญกับชีวิต อะเดย์เป็นหนังสือที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ผมเชื่อในพลังของแรงบันดาลใจครับว่าสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามได้ เชื่อว่าถ้าคนมีสำนึกที่ดีแล้ว มันก็จะส่งผ่านไปสู่สังคมสู่ประเทศสู่โลกได้""

เพื่อให้เห็นจำนวนวิถีชีวิตที่เลือกได้มากมายนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ว่า ณ ห้องเรียนอนุบาลห้องหนึ่ง ของโรงเรียนนานาชาติ ที่เอกมัย ซอย 12 จึงเป็นที่นัดหมายของคน 2 รุ่นได้อย่างลงตัว ระหว่างคนรุ่นหนึ่งสมัครมาเป็นนักเรียน ส่วนอีกรุ่นหนึ่งที่แก่พรรษากว่า อาสามาเป็นครูอย่างเต็มใจ

ฝ่ายนักเรียนกว่า 60 คน ประกอบด้วย นักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกด้วยเหตุผลที่อยากเข้าร่วม และเหตุผลที่อะเดย์ควรคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ

ฝ่ายครู ทั้ง 8 คน ครึ่งหนึ่งเป็นบุคคลที่ถูกระบุให้เป็น "บรรพบุรุษสายพันธุ์นี้" ตามความหมายของ "ธดา" และผู้เกี่ยวข้อง อย่าง อุดม แต้พานิช, เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย, วินทร์ เลียววารินทร์ และ ป๊อป-อารียา ร่วมด้วย วิสุทธิ์ พรนิมิตร หนุ่มตั้ม-นักวาดการ์ตูนวัยรุ่น ที่ค้นพบตัวตนและความสุขจากการวาดการ์ตูนมากที่สุดคนหนึ่ง, นันทขว้าง สิรสุนทร-นักวิจารณ์หนังที่แนะวิธีดูและวิพากษ์หนังอย่างจริงจังและสนุก, อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ-อดีตศึกษานิเทศก์วิชาภาษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ ผู้ให้กำเนิดตัวละครในแบบเรียนภาษาไทย มานี มานะ และเวบมาสเตอร์คนดังแห่งไทยมุงดอทคอม

โดยภาพลักษณ์ของครูทั้งหมด ครึ่งหนึ่งได้ก้าวเข้าไปสวมบทบาทครูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่าจะเหมือนกันมากที่สุด ก็ตรงที่ แต่ละคนผ่านการรู้จัก-ใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นมาแล้วระดับหนึ่ง จะต่างกันตรงที่ระดับการมีประสบการณ์ร้ายๆ จากภาพที่ใครๆ ก็มองว่าประสบความสำเร็จนั่นเอง

เมื่อถึงวันสำคัญ แต่ละท่านจึงเตรียมการสอนมาเต็มที่ และนี่คือบางส่วนจากห้องเรียน a day นับแต่ บก.โหน่ง เปิดห้องเป็นคนแรกด้วยการตั้งต้นให้ว่า

""ทุกคนมีความสุขจากงานของตัวเองได้ ดังนั้น หากค้นพบตัวเองเสียแต่วันนี้ ย่อมได้เปรียบ""

ครูซีไรท์ 2 สมัย สอนการคิดต่าง

จากที่เคยตั้งใจจะใช้ชื่อวิชาว่า "มองมุมกลับคิดมุมต่าง" ก่อนหน้านี้ พอถึงเวลาจริงๆ วินทร์ เลียววารินทร์ ก็เปลี่ยนมาเป็น "วิชาขบวนการใช้ความคิด" แทน พร้อมกับประเดิมหน้าห้องเป็นคนแรก ก่อนที่จะไปถึงการคิดใดๆ วินทร์ เริ่มต้นด้วยการทดลองเล็กๆ น้อยๆ ด้วยคลิปหนีบกระดาษตัวหนึ่ง

ครูถาม - ผมอยากให้ทุกคนลองดูสิว่า ด้วยคลิปที่คุณมีอยู่ คุณลองคิดว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้ นอกจากการหนีบกระดาษที่เห็นกัน ให้เวลา 3 นาที

(ห้องทั้งห้องเงียบสนิทไปตามเวลาที่ครูให้ หมดเวลานักเรียนเงยหน้าขึ้นพร้อมกัน)

นักเรียนตอบ - เขี่ยขี้หู / แคะฟัน / บีบสิว / ทำกุญแจผี / กิ๊บติดผม / เป็นอาวุธ / เข็มกลัด / ห้ามเลือด / เสาอากาศโทรศัพท์ / งานศิลปะ / เกาหลัง ฯลฯ

จากนั้นนักเขียนซีไรท์ 2 สมัย และ ART Director ก็เฉลยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิธีการคิด 2 แบบในการที่จะค้นหาไอเดียแปลกๆ ให้เกิดขึ้น นั่นคือที่เรียกว่า Generate และ Lateral เพราะตัวเขาเองนั้น ทำงานโฆษณาโดยความบังเอิญแท้ๆ นอกจากเรียนรู้จากตำราแล้ว ก็เรียนรู้จากที่ได้ไปเรียนที่เมืองนอก ซึ่งเป็นการคิดที่ทำให้เขาได้ไอเดียแปลกๆ ออกมา ว่าแล้วก็บอกกับนักเรียนว่า ได้นำไปใช้เป็นกระบวนการเขียนหนังสือด้วย

""เรามักมองทางตรรกศาสตร์เสมอ ทุกอย่างเราอยู่ในโลกของตรรกะตลอดเวลา มันเป็นที่โอเค แต่สำหรับคนที่ทำงานในวงการสร้างสรรค์แล้ว เราจะอยู่ในโลกแค่นี้ไม่พอ เราต้องการอะไรบางอย่างที่เราสามารถคิด หรือสร้างอะไรใหม่ๆ ออกมา""

พอได้ยินแค่นั้น นักเรียนหลังห้อง ไม่ว่าจะเป็น โน้ต-อุดม, ทราย-เจริญปุระ ก็ผงกหัวพร้อมๆ กัน และทำท่ายิ่งเห็นด้วยกับประโยคต่อมา ที่ว่า เวลาจะสร้างสรรค์งานอะไร จงตัดหลักตรรกะออกไปให้หมดก่อน เพราะว่ามันเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อความคิดสร้างสรรค์

ว่าแล้วก็หันมายกตัวอย่างของคลิปหนีบกระดาษอีกครั้ง ที่เน้นว่าในการทำงานสร้างสรรค์ใด ถ้า 5-10 นาทีแรก ยังไม่มีอะไรออกมาในหัวสมอง เกินเวลาจากนี้ไป ความคิดที่ได้ก็จะไม่เป็นเรื่องเป็นราวเท่าไร่ ต่อให้ใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็จะไม่ได้อะไรไปมากกว่านี้ เพราะอะไรน่ะหรือ? ครูวินทร์ ไม่ปล่อยให้ค้างคานานเกินไป

""เพราะช่วงเวลาแรกเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด หากคุณสามารถ concentrate ตั้งสติแล้วคิด แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ด้วยสิ่งที่คุณได้รับการสั่งสอนมาในสภาพสังคมที่ผูกขาด ในสภาพแวดล้อมสังคม การศึกษาที่ผูกขาดอาจทำให้คุณไม่สามารถคิดอะไรออกไปที่มากกว่าไอเดียที่คุณควรจะได้""

ว่าแล้วก็หยิบยกนิทานขึ้นมา 3 เรื่อง ให้เห็นถึงมุมมองที่ว่าด้วย ถ้าหลุดพ้นจากโลกตรรกะ หรือมองโลกที่หลุดออกไป อาจจะมีคำตอบในหลายๆ คำถามที่ไม่มีคำตอบก็เป็นได้

ส่วนวิธีการคิดอีกอย่างจะให้เห็นถึงการคิดที่คิดถึงอีกสิ่งหนึ่ง และอีกสิ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ อย่าง ถ้าคิดถึง คำว่า "คลิปหนีบกระดาษ" ก็จะได้อีกหลายๆ คำเช่น

คลิป : ลวด / โลหะ / ความร้อน / ความมันวาว / ราวตากผ้า

กระดาษ : ต้นไม้ / ป่า / สัตว์ป่า / นก / ใบไม้

เป็นการใส่ไอเดียไปเรื่อยๆ จะได้อะไรออกมาที่แตกต่างมากกว่าการคิดแบบตรรกะ ซึ่งไม่ใช่ของใหม่อะไร แต่มีข้อดีที่การผสมผสานระหว่างการคิดให้เข้ากับประโยชน์ที่ต้องการ และเป็นรูปแบบที่ครูวินทร์ ใช้ค้นหาคำเช่นกัน

""อย่างผมจะเขียนหนังสือ ก็ใช้ไอเดียอย่างนี้เหมือนกัน เวลาที่คุณคิดตัวละครออกมาแล้วคิดไม่ออก อาจจะใช้องค์ประกอบในงานศิลปะด้วย ต้องคิดว่าเราสามารถดีไซน์ให้สวยงามที่สุด แล้วแต่ละองค์ประกอบจะมีความหมาย เราดูภาพรวมและรายละเอียดลงไปเหมือนกัน มันจะทำให้คุณมองเห็นอะไรหลายอย่าง นี่คือการใช้วิธีการใช้ความคิดแบบตะวันตก ที่เหลือเป็นการปฏิบัติ ผมคิดว่าไม่เกิน 20 นาที ถ้าไม่ออกคือไม่ออก ถ้าคุณคิดบ่อยๆ จะคิดได้ยาวไปเรื่อยๆ โดยที่คุณไม่เชื่อว่ามันมาได้ยังไง เพราะฉะนั้น คุณเห็นโฆษณามากๆ ในตลาด คุณคิดไม่ออกว่าออกมาได้ยังไง บางอย่างมาจาก GENERATE IDEA อย่างนี้เหมือนกัน""

ขั้นที่ 3 เป็นขบวนการสุดท้าย เมื่อได้ไอเดียจำนวนมาก ใช้ต่อเมื่ออยากรู้ว่าความคิดไหนดีที่สุด ด้วยการทำตารางเปรียบเทียบขึ้นมา อย่างไรก็ตาม วิธีการสร้างงานของครูวินทร์ จึงไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะต้องเริ่มจากมีเรื่องหรือไม่มีก็ได้ แต่อาศัยวิธีการคิดแบบแนวข้างนี้ ก็ได้ผลเหมือนกัน ทว่า วิธีการนี้มีนักเขียนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าไม่เป็นธรรมชาติ แต่สำหรับตัวเขาเองถือว่าเป็นวิธีการเขียนวิธีหนึ่งเหมือนกัน

ด้วยความสงสัยว่าทำไมงานเขียนของครูวินทร์ ถึงมีเครื่องหมาย / ไหนๆ ก็มาแล้ว นักเรียนห้องนี้ก็ถามด้วยความข้องใจ

""มันเป็นลูกเล่นในการนำเสนอ เป็นอีกเซคชั่นหนึ่ง เวลาที่คุณมีไอเดียดีแค่ไหนก็ตาม แต่ไม่มีวิธีการนำเสนอออกไปที่ดี คนอื่นก็ไม่รู้ว่ามันดี ต้องหาศิลปะในการพรีเซนต์ให้ดีที่สุด ผมมองว่างานเขียน งานศิลปะ เป็นแบบเดียวกัน ว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นการเสนออะไรออกไปแล้ว เขาต้องเก็ท มันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งแบบสองทาง แล้วก็ดูว่าเขารับได้หรือเปล่า""

ทั้งนี้ ครูวินทร์ ย้ำว่า แม้ว่าแต่ละคนจะแก้ปัญหาต่างกัน แต่อาจจะมีคำตอบสำหรับหลายๆ อย่างโดยคิดไม่ถึง ถ้าลองใช้วิธีกระบวนการคิดแบบที่ครูใช้มาก่อน

เคล็ดลับวิชาท่องโลก ของเพลงดาบฯ

มาด้วยภาพของ "เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย" เจ้าของหนังสืออารมณ์ดีหลายเล่ม และไม่ว่าจะไปไหน เธอจะไปพร้อมสไลด์การเดินทางของเธอเสมอ โดยเฉพาะครั้งที่จะต้องมาพูดให้ "ศิษย์อะเดย์" ฟังด้วยแล้ว เธอจึงเตรียมไว้หลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็น "จบแล้วไปไหน" หรือ "การเดินทางท่องเที่ยว"

และไม่ต้องสงสัยว่าหัวข้อใดจะถูกใจลูกศิษย์สาวๆ ในห้องนั้นที่สุด สำหรับการมาของหญิงสาวที่รักการเดินทางมาตั้งแต่แบเบาะ เพราะนับจากวินาทีนั้น ภาพสวยๆ ชุดแรกจากธิเบต และภาพชุดสองจากชุดเดินทางเลบานอน-ซีเรีย-จอร์แดน จึงปรากฏ ขณะที่ "เพลงดาบฯ" ก็ยืนชี้ไปตามแผนที่โลกให้ดูอย่างแคล่วคล่อง

บรรดาลูกศิษย์สาวๆ ถูกใจเป็นยิ่งนัก จึงยิงคำถามไม่ยั้งกันเลยทีเดียว แม้คำถามจะไม่ต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มเห็นจิ๊กซอว์ภาพชีวิตและการเดินทางของเพลงดาบฯ ทีละภาพ จนเห็นเป็นรูปเป็นร่างดังนี้ เช่น

""แรงจูงใจในการเที่ยวของเพลงดาบฯ เป็นไปตามความชอบ เพราะเที่ยวมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่แบเบาะ คุณยายก็จะพาไปโน่นไปนี่ พอก็ปิดเทอมคุณยายจะพาตะลอนไปทั่วเมืองไทย พอเป็นอย่างนี้มาทั้งชีวิต ก็เลยเป็นมาเรื่อยจนถึงทุกวันนี้

""สิ่งที่เพลงดาบฯต้องการจากการท่องเที่ยว ก็คือ ต้องการไปดูไปเห็นไปรู้ เป็นความอยากส่วนตัว เท่าที่ผ่านมา ไม่เคยคิดว่าจะต้องกลับมาทำงานเขียน แต่ต่อไปไม่แน่

""ผู้หญิงเดินทางคนเดียวจะอันตรายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความระมัดระวังของแต่ละคนเอง จริงๆ ความอันตรายก็มีอยู่ ทุกครั้งก็เตรียมตัวขั้นพื้นฐานเหมือนอยู่ในเมืองไทย เช่น ไม่ไปเดินซอยเปลี่ยวยามดึก

""เท่าที่เที่ยวมา จึงไม่มีประสบการณ์อันเลวร้าย (เคาะโต๊ะ 3 ที) แต่เรื่องตกเครื่อง ตกรถ ก็ธรรมดา แต่ที่ร้ายแรงไม่เคยเจอ

""เวลาไปเที่ยวประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เพลงดาบฯ ถือว่าภาษาไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ทางที่ดีก็เลือกหาคนพูดภาษาอังกฤษได้ หรือไม่ก็ใช้ภาษาใบ้ หาคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ หรือบางทีฟังไม่รู้เรื่องก็เขียน""

แต่ละคำถาม-คำตอบจึงได้เห็นภาพของเพลงดาบฯ คนที่ออกตัวว่าถ่ายรูปคนไม่เก่งนัก เพราะเวลาจะถ่ายรูปใคร เธอรู้สึกว่าต้องขออนุญาตก่อน ได้เห็นภาพเพลงดาบฯ ที่เที่ยวไปในแบบที่ไม่ได้เที่ยวเพื่อหาปรัชญาอะไรนัก ได้เห็นเพลงดาบฯ ที่ไปถึงเมืองไหนก็เขียนโปสการ์ดกลับมาหาตัวเอง เป็นต้น

ส่วนคำถามปิดท้ายจริงๆ จะเป็นคำถามนี้ ที่ว่ารู้สึกยังไงที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกรสนิยมสาธารณ์ คือกลุ่มที่ชอบเผยแพร่การเดินทาง การค้นหาตัวเอง ความฝันของชีวิต?

""รสนิยมสาธารณ์แปลว่าอะไร (พอได้ฟังคำอธิบายแล้ว ก็อึ้งไปสักพัก) พี่อยู่ประเภทนั้นด้วยเหรอ อันนี้เขาจัดให้หรือคะ พี่ว่าด่วนสรุปไปหน่อยนะ"" (ย้ำ)

ปรัชญาการใช้-เลี้ยงชีวิต

หลังจากถูกแซวว่า เตรียมการเรียนการสอนมาสองอาทิตย์ ป๊อป-อารียา ก็เปิดสอนวิชา "ปรัชญาชีวิต ของ อารียา ชุมสายฯ" ทันที พร้อมกล่าวทีเล่นทีจริงว่าอยากเปลี่ยนบรรยากาศจากการสอนทหาร มาสอนนักเรียนที่อยากเรียนบ้าง

เมื่อต้องย้อนไปถึงวิชาที่จะสอน ครูป๊อป-อารียาจึงย้อนถึงตัวเองตั้งแต่วัยเอ๊าะๆ เพราะในวัยนั้น ช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นช่วงที่กังวลที่สุดในชีวิต เพราะเธอก็กังวลเช่นกันกับว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะหางานไม่ได้ แล้วจะยากจน จะไม่มีเงิน เพราะดื้อไม่ยอมเรียนหมอตามที่พ่อแม่แนะนำ

ว่าแล้ว ก็เล่าถึง 4 ปรัชญาชีวิตของเธอ

""หนึ่ง BURNING DESIRE แรงบันดาลใจของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในใจของเรา ขอให้มีความรู้สึกว่ามีไฟไหม้อยู่ในใจนี้ ถ้าไม่ทำ ไฟนี้จะไหม้จนร้อนเป็นไข้จะตายให้ได้""

อย่างตัวเธอเองอยากจะเขียนหนังสือสักหนึ่งเล่ม เป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กๆ จึงเลือกเข้าเรียนสื่อสารมวลชน ทั้งๆ ที่พ่อแม่อยากให้เรียนหมอ

""สอง learning from the University of Life เรียนรู้จากมหา"ลัยชีวิต เรียนที่ไม่มีการจบ คืออะไรบ้าง น้องๆ ตอนนี้อยู่ห้องเรียน ต้องนั่งท่องนั่งจำ เขาบอกให้ท่องจำ ถ้าท่องเก่งก็ได้เกรดเอ ถ้าท่องไม่เก่ง ขี้เกียจท่อง ก็ไม่ผ่าน ประมาณนี้เอง โลกไม่อยู่ในหนังสือ สิ่งที่เรียนมาบอกตรงๆ ผ่านมาแล้ว 8 ปี พูดตรงๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ จะลืมไป สิ่งที่มหา"ลัยสอนไปอย่างเดียว คือ การรับผิดชอบ""

ในสายตาป๊อป-อารียา ตั้งคำถามว่า คนเราทำงานไป..ทำเพื่ออะไรนั้น เธอจึงชอบมาที่ว่า ""การใช้ชีวิตกับการเลี้ยงชีวิต มันคนละอย่างกัน""

""สาม English for you""

ความสำคัญข้อนี้ เป็นเพราะว่า ป๊อป-รู้สึกว่า ภาษาอังกฤษสำคัญมาก และสำคัญกว่าภาษาไทยเสียอีก แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ทุกวันที่อยู่ได้ก็เพราะภาษาอังกฤษทั้งนั้น แต่ภาษาไทยไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ เคยเรียนแค่อนุบาล ก็อ่านได้แค่มานีมีตา อย่างที่ปรากฏในอะเดย์เล่มล่าสุดนั่นล่ะ

ส่วนข้อที่เธออยากแบ่งบันและถ่ายทอดออกไปมากที่สุด เห็นจะเป็นข้อนี้ เพราะถือว่าได้มาในช่วงที่ทุกข์ที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ เพราะเป็นบาดแผลนับจากที่ใครๆ ก็มองว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว จากการเป็นอะไรที่มากว่าตำแหน่งนางสาวไทย และในฐานะคนที่ชื่อป๊อป-อารียา ถึงกับยอมรับว่า โดนมาเยอะจริงๆ นั่นก็คือ "Energy In/Energy Out"

""มันเป็นภาพ ที่เขาเรียกว่าเป็นจุดสำคัญของสังคม มีทั้งข่าวดีข่าวเสีย ในชีวิตของคนที่อยากเป็นเป้าหมายของสังคม ถ้าคนแข็งแกร่ง เนื้อค่อนข้างจะหนาหน่อยหนึ่ง จะอยู่ได้นานหน่อยนึง ถ้าคนที่อ่อนแอ กลัวว่าคนนินทาหรือเชื่อข่าวสารมีความทุกข์อยู่มาก ถึงขั้นว่ามีช่วงหนึ่งถึงกับร้องไห้ ว่าทำไมเขาว่าเราอย่างนั้น เราไม่ได้ทำเลย ทำไมข่าวลือเป็นอย่างนั้น พอมีข่าวลือเดี๋ยวนี้ช่าง..."" (ฮาครืน)

ถือว่าปลงได้ระดับหนึ่ง เพราะ ทุกวันนี้ หากเต้นตามข่าว ก็จะตั้งคำถามว่า จริงๆ ชีวิตของเป็นของใครกันแน่ ของนักข่าว หรือเป็นตัวเอง ที่สำคัญเชื่อว่า ข่าววันนี้-พรุ่งนี้ก็ไม่เป็นข่าวแล้ว นั่นเอง

ถึงเวลานี้ป๊อป-อารียา ถือว่าเธอค่อนข้างใช้ชีวิตคุ้มค่ามาก และเป็นบุญอย่างยิ่งที่มีหน้าตาที่พอใช้ได้ แล้วก็มีเงินเดือนที่พอเพียง ค่อนข้างใช้ชีวิตง่ายๆ สบายๆ ก่อนทิ้งท้ายให้คิดกันเล่นๆ ว่า

""เราเกิดในโลกนี้เปล่า naked ไม่มีอะไร มาตัวเปล่า ถ้าปรัชญาของพระพุทธเจ้าเป็นจริง 2,500 ปีเราตายไปไม่มีอะไรกลับไปด้วย คนที่มีความทุกข์ตอนตายก็คือผูกมัดกับสิ่งเหล่านี้จนตาย""

20 คำถามกับโน้ต-อุดม

ในที่สุดระยะเวลาที่ทั้งครูอุดม และนักเรียน รอคอยก็มาถึง เพราะหลังจากนั่งฟังมาแล้วทั้งวันแล้ว ไม่พูดพล่ามอธิบายอะไรแม้แต่อย่างเดียว โน้ต-อุดม ก็เปิดสอน ที่ดูไม่ผิดกับเดี่ยวฯ ที่เคยเห็นมากนัก

ครั้งหนึ่งอยากทำเดี่ยวไมโครโฟน ก็ทำแล้ว อยากมีนิทรรศการอย่างที่เคยฝันไว้ตั้งแต่เด็ก ก็ทำไปแล้ว แต่จากนี้ไป ความอยากที่จะมีร้านกาแฟ-ส้มตำในร้านเดียวกัน ก็กำลังจะเปิดเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่หนังสือเล่มใหม่ของโน้ต-อุดม ก็ได้ฤกษ์วางแผง ภายใต้สำนักพิมพ์เดย์อาฟเตอร์เดย์ จากนั้น เดือนมีนาคม a dom ชื่อที่เคยได้ยินมานาน ก็จะออกวางประชันกับต้นสังกัด

เมื่อมาในฐานะครู หลังจากนั่งฟังมาค่อนวัน เมื่อถึงคิวพูด อุดม จึงไม่มีการเล่าถึงที่มาที่ไปของตัวเองมากมายนัก นอกจากเปิดให้ยิงคำถามกันแบบจะๆ ถึง 20 คำถาม ก่อนจะทิ้งท้ายไว้ด้วยคติ (ธรรม?) 5 ข้อ

1.ร้อนรู้ ไม่สู้ 1 ทำ

2.บกพร่องดีกว่าไม่สร้างสรรค์

3.ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ แล้วแต่ใครจะทำให้มันยุ่งยากเอง

4.คนเรามีความพยายามเท่ากัน แต่ใช้ไม่เท่ากัน

5.นั่งรถช่วยรักษาเวลา อ่านหนังสือช่วยรักษาชีวิต

เพราะครูอุดมถือว่าในยุคที่พระเครื่องช่วย อาจจะช่วยอะไรไม่ได้อีกต่อไป มีแต่คติที่อาจจะช่วยคนๆ หนึ่งได้ อย่างน้อยที่สุดคตินี้ก็ผ่านการเรียนรู้ของชีวิตของเขามาแล้วระดับหนึ่ง

จบคอร์สหนึ่งของอะเดย์ไปแล้ว มิรู้ว่าบรรยากาศการเรียนรู้โลกจากผู้มากประสบการณ์อย่างนี้ จะมีขึ้นอีกเมื่อไหร่.. ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร โลกของคนหนุ่มสาวยังหมุนวนไปตามกาลเวลาที่มิเคยหยุดนิ่ง
**************************
Happy Valentine's Day
โดยคุณ : jkn - [12:00:32  13 ก.พ. 2544]

ความคิดเห็นที่ 1
ในฉบับมีกลอน ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล ด้วยคะ
คอลัมน์ หัวเราะ หัวใคร่ สัปดนมากกกก.....
ใครอยากอ่านบ้าง
ไปที่
http://www.bkknews.com/weekend/20010202/weg20.shtml
ถ้าอ่านได้ ไม่น่ารังเกียจ จะเอามาแปะคราวหน้า....... : )
โดยคุณ :jkn - [12:29:44  13 ก.พ. 2544]

ความคิดเห็นที่ 2
น่ารักดี เอามาให้อ่านอีกนะจ๊ะ jkn.. @^_^@
โดยคุณ :akejung - [17:15:57  13 ก.พ. 2544]

ความคิดเห็นที่ 3
พิบูลศักดิ์ ละครพล



ฉลุย อยู่กันไป
ศ-ศาลา มาแล้ว บอกศาลา

หมูไม่ไป ไก่ไม่มา จริงไหมทั่น

อันเหล้ายา ปลาปิ้ง ควรแบ่งปัน

กระทรวง (อก) อวบอั๋น ฉันขอจอง

ษ-ฤาษี มีแรงนะ จะบอกให้

ก็สูงวุฒิ- -แค่วัย "ไอ้นั่น" คล่อง

วัยกระเตาะ เอ๊าะ-เอ๊าะอิ่ม ชอบลิ้มลอง

ป๋า ส ว-สอยไวว่อง น้องปทุม

เป็นปีซวย คุณ ฉ-ฉิ่ง เฉลิมไช

รองผู้หลัก บักใหญ่ ชอบเสี่ยงสุ่ม

คบเด็กสร้าง ม่านรูด เลยเด็กรุม

ห้าต่อหนึ่ง ฟังแล้วกลุ้ม หนุ่มยังอาย

บ้างก็ว่า เรียงหน้าไป ให้จ้ำจี้

สามนาที ต่อคน-ครั้ง ฟังแล้วหน่าย

คงนั่งเทียน เขียนข่าว เคล้านิยาย

กะเก็งเพิ่ม เติมยอดขาย ให้ฮือฮา

ฟังแล้ว แสนสงสาร ไอ้หนูนัก

ไม่ให้พัก ให้ฟื้นตัว เลยพับผ่า

ค่ำ เย็น เช้า เข้าแต่หอ ล่อกามา

หนึ่งต่อ-ห้า รึป๋าเรา เอาแค่คลำ

อีหรอบนั้น ร้อยน้องหนู ก็สู้ไหว

บ่ มิไก๊ แน่คุณป๋า เฮอะ, น่าขำ

อ้าว, แล้วไหง มีคราบไคล ให้จดจำ

เฮ้อชีช้ำ ช้ำหัวใจ ใคร "วางยา"

ลูกผู้ชาย ฆ่าได้ แต่ห้ามหยาม

เห็นไม้ล้ม โดดข้ามไว ร้อง-ไอ้หยา..

มีแต่อึ หึ่งเหม็น เห็นตำตา

กกต.เจ้าขา ช่วยข้อยที..

กินแกงเหลือง แล้วขี้ไหล แอบไปถ่าย

ขี้ (ไม่อาย) อุจจาระ เลยนะนี่..

ได้โปรดเถิด คุณตี๋ใหญ่ อย่าให้มี

แค่ได้กลิ่น ก็ร้องยี้ แล้วขี้ใคร...

ไม่เอายี้ เอาแต่แย้ ขอยืนยัน

ไม่เอามัน เอาแต่เผือก-เลือกปลาไหล

คนไม่เอา จอมหลงจู๊ รู้แก่ใจ

จะรักขี้ ดีกว่าไส้ รักใครดี...

ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อ เชื้อ-ชาติไทย

รักอะไร ก็ไม่เท่า รักเก้าอี้

รักให้มั่น รักติดหมัด-รัฐมนตรี

ฟ้าหนอฟ้า ส่งซั้วตี๋ ยียา-กู

ว่าแล้ว ดึง ห-หีบ ต้องรีบปิด

เลือกบ่อยๆ ก็หงุดหงิด นะน้องหนู

ขืนไม่ตั้ง ประเดี๋ยวหด อดลงรู

จ่าหรือหมู่ อยู่หรือไป ให้รู้กัน..

เชิญห-หีบ หนีบหน้าไมค์ เอาใจช่วย

แคม-คนสวย ควรหนีบไว้ ให้จงมั่น

แม้นโดนเปิด อภิปราย คลายหนีบครัน

เปิดหวอน้อง ให้สนั่น ลั่นสภา...

นัดสำคัญ ควรเปิดไหล่ ใส่เกาะอก

ทำนมหก รดข่าวร้าย คลายกังขา

จะผยอง กี่น้ำหนอ ฬ-จุฬา

เจอะ ห-เหิด เปิดฝ้า-น่าดูชม!

จึง อ-อ่าง (น้ำ) เนืองนอง ร้องโอ้โฮ

ฮ-นกฮูก ตาโต นโมข่ม

ยุบหนอ พองหนอ แม่โนตม

อุ๊ย วันนี้ พี่ดื่มนม แล้วรึยัง...

ลำนำหฤหรรษ์

(พระลอล้วงฉลุย)

ร่าย

0 ป๋ากระสันถึงละอ่อน ละอ่อนก็มา สี่ซ้าห้าคนผลัดปรนเปรอ บำรุงบำเรอเฉลิมอารมณ์เชยชมสนุกนึก สมใจคึกบางลำพู ดูดู๋อีหนูเอ๋ย ทรามเชยเคยกันซะที่ไหน ล้วนมือใหม่หัดขี่ ป๋าจึงเปิดวิดีโอเอ็กซ์ จนเด็กๆ ใจตุ๋มเต้น จึงค่อยเค้นค่อยคลำ นำเข้าสู่บทเรียน เวียนกันมาทีละคน ตั้งแต่ต้นจนจบ ครบสามนาทีทอง ป๋ามีของรางวัลให้ ใครมือไวล้วงได้ล้วงเอา ก้นกระเป๋ากุงเกงป๋า น้องนู๋จ๋าเชิญล้วงไว ยิ่งลึกเท่าไร เจอะแบงก์ใหญ่ แบงก์โต อีหนูร้องไชโย! โอ้โฮป๋าใจดี อย่างนี้จิ๋มรักตาย เร่งผันผายล้วงลึก หายคึกหายห่วง (ห้าห่วง) ล้วงแล้วล้วงเล่า เจ้าเจอะแต่ตั๋วจำนำ ฯ

โคลง-เครง

0 เชยชมสี่น้องน้อย ดรุณี

เสร็จสมภิรมย์ฤดี ด่าวดิ้น

เชิญเลยเงินป๋ามี มากมาย

จิ๋มจกล้วงกระเป๋าปลิ้น ปึกนั้น ตั๋วจำนำ ฯ

ปอน กระโดก
โดยคุณ :เอามาให้เลย - [21:48:38  13 ก.พ. 2544]

ความคิดเห็นที่ 4
เพลงใดต่อไปนี้ ที่พี่จิกแต่งคำร้อง
แต่ไม่ได้แต่งทำนอง

1) นิทานหิ่งห้อย
2) เอกเขนก
3) เก็บใจ
4) เร่ขายฝัน
โดยคุณ :## เกมชิงรางวัล ## - [18:33:05  29 มี.ค. 2544]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
รูปภาพ :

รายละเอียด

อาการ :



กรุณาคลิก "ส่งข้อมูล" เพียงครั้งเดียวครับ....